ปิดฉากเวทีอาเซียนพลังภาคประชาชน ปลอดรัฐครอบงำ

ปิดฉากเวทีอาเซียนภาคประชาชนประสบความสำเร็จแม้ รัฐบาลกีดกันเสรีภาพ – ประชาธิปไตย ! ทุกภาคส่วนร่วมระดมทุนผนึกกำลังแสดงพลังความเข้มแข็งขบวนการประชาสังคม เตรียมฟ้องศาลปกครอง เอาผิด พม. ฐานก็อบบี้ เวที ACSC/APF 2019 แบบไร้ยางอาย พร้อมจี้รื้อ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน เหตุไร้น้ำยาไร้กลไกคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน เสนอตั้ง สภาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ปลอดการครอบงำจากรัฐบาล
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต การประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน ACSC/APF 2019 ระหว่างวันที่ 9 – 12 ก.ย. 2562 ที่มีเครือข่ายภาคประชาสังคมประเทศอาเซียนเข้าร่วมนับพันคนได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อนำข้อเรียกร้องของแต่ละประเทศเสนอต่อรัฐบาลอาเซียน 11 ชาติ สำหรับการประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน ACSC/APF 2020 ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานร่วมจัดงานฯ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จแม้จะมีปัญหาอุปสรรคมากมาย เนื่องจากรัฐบาลไทยโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของภาคประชาสังคมอาเซียน ด้วยการจัดเวทีคู่ขนานจนทำให้ภาคประชาสังคมอาเซียนต้องย้ายสถานที่มาจัดเวทีการประชุมที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ รังสิต โดยลำพังปราศจากการสนับสนุน แต่ในที่สุดกลับประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และ บรรยากาศเป็นไปด้วยพลังจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งคนไทย และ ต่างประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งเพื่อแสดงพลังภาคประชาชน แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยก็ตาม แต่สามารถระดมทุนจากแหล่งทุนต่างๆที่เห็นใจขบวนการประชาชนอาเซียน
นางสุนทรีย์ หัตถี เซ่งกิ่ง ประธานร่วมจัดงานฯ  กล่าวว่าคณะกรรมการมหกรรมประชาชนอาเซียน เตรียมฟ้องศาลปกครอง เพื่อดำเนินการเอาผิดต่อผู้บริหารกระทรวง พม. เนื่องจากจัดเวทีคู่ขนานกับภาคประชาสังคมอาเซียน ลอกเลียนแบบการจัดเวที การตั้งชื่อการจัดงาน การประชุมกลุ่มย่อย หรือแม้แต่หัวข้องาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ภาคประชาสังคมอาเซียนยอมรับไม่ได้ ที่สำคัญในการประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน ปีนี้ถือว่า ประชาธิปไตยตกต่ำที่สุด เพราะไม่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนอาเซียนได้นำเสนอปัญหา ทางออกแ หรือ ทางแก้ปัญหา ด้วยการปฏิเสธเวทีภาคประชาชนอาเซียน จนไม่สามารถนำไปสู่การกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาในภูมิภาค หรือ การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้น พม.ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ประชาธิปไตยในอาเซียนถดถอยหลังไปไกลกว่า10 ปีก่อน เพราะในอดีตเลขาธิการอาเซียน ยังเข้ามาร่วมงาน แต่ปัจจุบันบรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย
นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.) กล่าวว่าในเวทีการประชุมครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ในภูมิภาคอาเซียน จากการประสบการณ์การทำงาน 10 กว่าปีที่ผ่านมา  รวมถึงการสรุปข้อเสนอ 7 เวที 7 ประเด็นจาก 11 ประเทศอาเซียน เพื่อนำไปเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลอาเซียนโดยเฉพาะการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ หรือ เชื้อชาติ ด้วยการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ภาคประชาสังคมอาเซียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะคนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันวาระภาคประชาชนอาเซียนต่อไปในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลต้องสนับสนุนส่งเสริมนิสิตนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายสาธารณะ โดยต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม ถือเป็นหนึ่งในข้อเสนอต่อรัฐบาลอาเซียนนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานอาเซียน
นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีการประชุมครั้งนี้ คือ การสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาสังคมอาเซียนให้มีการเรียนรู้ร่วมกันจากเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ ดังนั้นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามประเทศ และ ข้ามวัฒนธรรม ถือเป็นบรรยากาศความร่วมมือที่ดีอย่างแท้จริง   และ ในเวทีภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งนี้ มีการเรียกร้องให้มีการรื้อและปรับโครงสร้าง คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐว่าด้วยสิทธิมนุุษยชน ที่ปัจจุบัน ไทยเป็นประธาน คือ ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องและการกลไกคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันคณะกรรมาธิการฯดังกล่าวมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลอาเซียน จึงปราศจากความเป็นกลางและอิสระ จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง “ศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน” หรือ “สภาสิทธิมนุษยชนอาเซียน” ที่มาจากตัวแทนภาคประชาสังคมอาเซียนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ถูกครอบงำจากรัฐบาลอาเซียน โดยเฉพาะกรณี “อุ้มหาย” นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ถือเป็นคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในการดำเนินคดีหรือค้นหาตัวผู้กระทำผิดต้องไม่มีอายุความ
ทั้งนี้ภาคประชาสังคมในนามประเทศไทย เสนอให้การบังคับให้สาบสูญจากการถูกอุ้มหาย โดยเฉพาะกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ  หรือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อ 5 ปีก่อน หรือ กรณี นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ต้องมีมาตรการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน เพราะถือเป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลอาเซียนต้องให้การยอมรับและเคารพ