ปัญหาไม่บังคับใช้กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)

โดย บัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ
มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 (กอช.) เกิดขึ้นโดยการผลักดันของกระทรวงการคลัง ยุครัฐบาลนรม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อเป็นกองทุนแบบสมัครใจดูแลหลักประกันยามชราภาพของประชาชนหรือแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ ซึ่งกลไกของกอช.กำหนดให้แรงงานออมเงินของตนเองด้วยวิธีส่งเงินสะสมเข้ากอช.และรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบร่วมด้วยตามระดับอายุและอัตราที่กฎหมายระบุ โดยกอช.จะจ่ายคืนเป็นบำนาญรายเดือน (เงินเลี้ยงชีพ) เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์จนกว่าจะเสียชีวิต

พ.ร.บ.กอช.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป ยกเว้น หมวด 3 เรื่องสมาชิกและสิทธิประโยชน์สมาชิก จะบังคับใช้เมื่อพ้น 365 วัน ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คุณสมบัติบุคคลที่สมัครเป็นสมาชิกกอช.ได้คือ

          1. มีสัญชาติไทย

          2. อายุ 15-60 ปี รวมถึงข้าราชการและลูกจ้างภาคเอกชนที่เกษียณอายุแล้ว

          3. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ที่ส่งเงินสมทบเพื่อได้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (ปัจจุบัน คือ สิทธิประโยชน์มาตรา 40 ชุด 2 จ่าย 150 บาท/เดือนและได้บำเหน็จ) รวมถึง สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีการจ่ายเงินสมทบโดยรัฐบาลหรือนายจ้าง

          4. ต้องเริ่มสะสมเงินงวดแรก พร้อมการสมัครสมาชิก อย่างน้อยเดือนละ 50 บาท โดยไม่ต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน หรือเท่ากันทุกเดือน และรวมกันไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี

หากปีใดไม่ส่งเงินสะสม รัฐบาลก็จะไม่ส่งเงินสมทบ  หรือเมื่อสมาชิกได้งานเป็นแรงงานในระบบและสมัครเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนอื่นตามข้อ 3 รัฐบาลก็จะไม่ส่งเงินสมทบให้ แต่กอช.จะยังคงสิทธิความเป็นสมาชิกและบัญชีรายบุคคลของผู้นั้นไว้

หนังสือเรื่อง กองทุนการออมแห่งชาติ “เกษียณสุขใจมีบำนาญใช้กับกอช.” (น.7) จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังระบุว่า กอช.มีกำหนดโดยประมาณที่จะเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป

แต่มีกระแสข่าวว่า กอช.ล่าช้า เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิติรัตน์ ณ ระนอง จะปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยมีข้อสรุปว่าจะร่างกฎหมายกอช.ฉบับใหม่เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และประกาศใช้ในปีหน้า โดยมีประเด็นที่จะปรับปรุง ดังนี้

กฎหมายกอช.ปัจจุบัน

ร่างกฎหมายใหม่

1. การรับเงินสะสมคืน

   ให้รับเฉพาะบำนาญรายเดือนเท่านั้น

 

   ให้เลือกรับเป็นบำนาญหรือบำเหน็จ

ปัญหา 1. ไม่เห็นเงื่อนไขการเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญคืออะไร ? ได้เท่าไร ?

          2. ผิดเจตนารมณ์กฎหมายกอช.ที่ให้รับบำนาญรายเดือนเท่านั้น ยกเว้น ลาออกจากกอช.ก่อน 60 ปีบริบูรณ์จะได้เฉพาะเงินสะสมและดอกผลเงินสะสมเท่านั้น หรือทุพพลภาพก่อนอายุ 60 ปี ก็จะได้เงินสะสมและดอกผลเท่านั้น ส่วนเงินสมทบและดอกผลเงินสมทบ จะได้รับเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์

2. อายุสมาชิก

   อายุ 15-60 ปีบริบูรณ์

 

   เพิ่มในบทเฉพาะกาล ให้สมาชิกที่อายุเกิน 60 ปี และยังสามารถประกอบอาชีพได้ ส่งเงินสะสมต่อไปได้ และรัฐจะส่งเงินสมทบให้ด้วย

3. การออมเงินขั้นต่ำ

   ขั้นต่ำเดือนละ 50 บาทและรวมกันไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี

 

   คงขั้นต่ำไว้ แต่เปิดเพดานส่งเงินรวมกันได้มากกว่า 13,200 บาทต่อปี

4. เงินสมทบจากฝายรัฐบาล

   มี 3 อัตรา ตามลำดับอายุของสมาชิกที่จ่ายเงินสะสม คือ

อายุ 15-30 ปี

รัฐจ่าย 50%ของเงินสะสม ไม่เกิน600/ปี

     เกิน 30 ปี ไม่เกิน 50ปี

รัฐจ่าย 80%ของเงินสะสม  ไม่เกิน 960/ปี

เกิน 50 ปี

รัฐจ่าย 100% ของเงินสะสม  ไม่เกิน 1,200/ปี

 

 

   รัฐสมทบอัตราเดียว 100% เท่ากับเงินสะสมของสมาชิก ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี โดยไม่สัมพันธ์กับระดับอายุของสมาชิก

5. กรณีทุพพลภาพ

   สมาชิกได้คืนเงินสะสมและผลประโยชน์เท่านั้น

 

  

ได้คืนเงินทั้งหมด คือทั้งเงินสะสมและเงินสมทบของรัฐบาลด้วย

6. การลงทุน

   – ให้ลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง อย่างน้อยต้อกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

   – กฎหมายรับรองผลตอบแทนให้สมาชิกไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งและธนาคารรัฐ 2 แห่ง คือ ธ.ออมสิน และ ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

 

   เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมั่นคงสูง หรือเน้นฝากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก จะไม่ลงทุนในหุ้น

7. ที่มาของเลขาธิการ กอช.

   คณะกรรมการ กอช.แต่งตั้งเลขาธิการกอช.โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี โดยเลขาธิการมีคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด

 

   ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ควบตำแหน่งเลขาธิการ กอช.ด้วย

   ปัญหา คือ ผู้อำนวยการสศค. ซึ่งเป็นข้าราชการประจำต้องอยู่ภายใต้อำนาจฝ่ายการเมือง จะมีความสามารถควรอิสระคล่องตัวในการบริหารตอบสนองแก่สมาชิกกอช.อย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่เพียงใด ?

เมื่อพิจารณา 7 ประเด็นที่จะปรับปรุงแก้ไขใหม่ตามตารางข้างต้น มี 3 ประเด็นที่ไม่ต้องปรับปรุงพระบัญญัติกอช. โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังผู้รักษาการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีอำนาจพิจารณาตรากฎกระทรวง เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบ ได้แก่

          (1) จำนวนเงินสะสมสูงสุด

เพราะกฎหมายกอช.กำหนดให้จำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนของสมาชิกไม่น้อยกว่าเดือนละ 50 บาท แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดโดยกฎกระทรวง (มาตรา 31 วรรคแรก)

          (2) จำนวนเงินสมทบสูงสุด

เพราะกฎหมาย กอช.กำหนดให้เงินสมทบรวมกันในปีหนึ่งๆต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบสูงสุดที่กำหนดโดยกฎกระทรวงซึ่งต้องไม่เกินเงินสมทบสูงสุดตามบัญชีเงินสมทบท้ายพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 32 วรรคสอง)

          (3) การลงทุน

เพราะกฎหมายกอช.ให้เงินของกองทุนลงทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ซึ่งอย่างน้อยลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 (มาตรา 43)

สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกและการจ่ายเงินสะสม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกอช. ประกาศกำหนด (มาตรา 31 วรรคสอง) ซึ่งคณะกรรมการกอช.ที่มาจากกรรมการส่วนราชการโดยตำแหน่ง โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการทำหน้าที่ไปพลางก่อนได้ (มาตรา 67)

บทเฉพาะกาล ของพ.ร.บ.กอช. พ.ศ.2554กำหนดหน้าที่รัฐบาลและสศค. คือ

          1. ในวาระเริ่มแรกให้รัฐบาลจัดสรรเงินเข้าบัญชีเงินกองกลาง 1,000 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน

          2. ในวาระเริ่มแรกให้มีคณะกรมการ 1 คณะ ที่ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ทำหน้าที่คณะกรรมการกอช. และผู้อำนวยการสศค.ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการกอช.ไปพลางก่อน

          3. คณะกรรมการตามข้อ 2 เลือกกรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คนคือ ด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ด้านการเงินและการลงทุน และด้านสวัสดิการชุมชนด้านละ 1 คน และแต่งตั้งเลขาธิการกอช.ภายใน 90 วันนับแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ (ตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป) และหลังจากนั้นเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกภายใน 360 วันนับแต่วันที่กองทุนเปิดรับสมาชิก

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้

          4. ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กองทุนเปิดรับสมาชิก หากมีสมาชิกคนใดอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้นั้นมีสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนต่อไปได้อีก 10 ปี

ปัญหา คือ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกินระยะเวลาที่ควรเปิดสมัครสมาชิกกอช.ไปนานมากแล้ว ทำให้ แรงงานนอกระบบจำนวนมากไม่สามารถสมัครสมาชิก กอช.เพื่อเตรียมรับบำนาญในอนาคตได้ ซึ่งโดยความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรต้องบังคับใช้พ.ร.บ.กอช.ไปก่อน และดำเนินการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายกอช. โดยเปิดเวทีประชาเสวนาพร้อมกันไปด้วย

เพราะกระบวนการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ถ้ารัฐมนตรี และรัฐบาลไม่มีนโยบายและปฏิบัติการชัดเจน ที่จะดำเนินการโดยเร่งด่วนอย่างแท้จริง

/////////////////////////