ปัญหาแรงงานอ้อมน้อยฯส่อบานปลาย นายจ้างไดนามิคยื้ออุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจ พนักงานเคว้งบริษัทปิดประกาศปรับปรุงเลื่อนเปิดโรงงาน ขณะโรงงานทอผ้าลูกไม้อ้างน้ำท่วมประกาศย้ายโรงงานแต่เปิดโอทีตลอด ทำเท่สมัครใจออกรับเงินแล้วให้ทำงานไม่ต้องปั๊มบัตร ให้บริษัทเครือญาติรับช่วงคนงานแต่นับอายุงานใหม่
นางสาว นิรัตน์ การบูรณ์ กรรมการสหภาพแรงงานไดนามิคพลาส กล่าวถึงปัญหาของคนงานบริษัทไดนามิคโปรโมชั่น จำกัด ในเขต ต. อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ในงานสัมมนาเรื่อง “ชีวิตแรงงานหญิงหลังเผชิญวิกฤติปัญหาอุกภัยปี54” จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 55 ว่า บริษัทสั่งหยุดงานตั้งแต่ 2 พ.ย.54 ถึงปัจจุบันโดยคนงานไม่ได้รับค่าจ้างเลย มีการติดประกาศหน้าโรงงานว่าปิดปรับปรุงเนื่องจากน้ำท่วม สร้างความเดือดร้อนให้พนักงานมากเพราะต้องรับผิดชอบค่าเช่าห้อง ดูแลพ่อแม่ทางบ้าน มีลูกที่ต้องเรียน ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างจำนวน 27 คน ได้ไปกรอก คร.7 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ต่อมา พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งเลิกจ้าง 5 คน ส่วนอีก 22 คนมีคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่าย แต่บริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
ล่าสุดบริษัทได้ติดประกาศปิดปรับปรุงอีกครั้งจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 55 แต่คนงานส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความมั่นใจว่าบริษัทจะเปิดทำงานเพราะเลื่อนการเปิดมาโดยตลอด
ด้านนางสาว อรัญญา ไชยมี กรรมการสหภาพแรงงานสิ่งทอสมุทรสาคร กล่าวถึงบริษัทสุปราณีฯ และบริษัทโอเรียนตัลฯ เขต ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ว่า บริษัทฯถูกน้ำท่วมตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 นายจ้างได้สั่งหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้าง 75 % เป็นเวลา 1 เดือน และได้เปิดทำงานในเดือนธันวาคม โดยมีการให้พนักงานทำงานล่วงเวลา(โอที)จนถึงปัจจุบัน และในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ทางบริษัทฯได้ติดประกาศ ปิดโรงงานและย้ายกิจการ โดยอ้างสาเหตุว่าเครื่องจักรเสียหายจากน้ำ

ท่วมไม่สามารถดำเนินกิจการได้ จึงประกาศ ปิดและย้ายโรงงาน รวมทั้งเลิกจ้างพนักงานที่ไม่สามารถย้ายไปทำงานที่ใหม่ในจังหวัดลำพูนได้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะประกาศดังกล่าว ทางบริษัทฯได้ยื่นข้อเสนอให้คนงานลาออกตามความสมัครใจ และรับเงินตั้งแต่ 20,000-60,000 บาท และบริษัทฯยินยอมให้ทำงานต่อโดยไม่ต้องปั้มบัตรเข้าทำงาน แต่ใช้วิธีเซ็นชื่อ เข้า-ออก มีพนักงานสมัครใจลาออกและรับเงินตามข้อเสนอของบริษัทฯ จำนวน 30 คน แต่สมัครทำงานต่อประมาณ 5 คน การกระทำดังกล่าวเสมือนเป็นการเตรียมการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งพนักงานที่สมัครใจลาออกเอง มีอายุงานมากกว่า 10 ปี
นางสาวอรัญญา ได้ตั้งข้อสังเกตุเพิ่มเติมว่า บริษัทเอสยู เท็กส์ไทล์ ที่อยู่ในรั้วเดียวกัน ใช้เครื่องจักรร่วมกัน ที่สำคัญทั้ง 3 บริษัทเป็นเครือญาติกัน และยังมีการดำเนินกิจการตามปกติ โดยหากพนักงานทั้ง 2 บริษัทฯที่ถูกเลิกจ้าง มาสมัครงาน ก็ยินดีที่รับเข้าเป็นพนักงานของบริษัทเอส ยูฯ โดยเริ่มนับอายุงานใหม่
วิษณุ มลิวัลย์ นักสื่อสารแรงงานอ้มน้อย- อ้อมใหญ่ รายงาน