ปัญหามลพิษจากการเร่งกู้นิคมฯ

ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

รัฐบาลได้ประกาศจะกู้นิคมอุตสาหกรรมโดยเร่งด่วน  ทั้งนี้ก็เพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมให้กลับมายืนขึ้นได้โดยเร็ว  ซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจชาติโดยรวม  อันนี้ไม่มีใครเถียงและคงยกมือสนับสนุนกันถ้วนหน้า เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแล้วยังแก้ปัญหาทางสังคม เช่น ด้านแรงงาน ด้านขโมยขโจรที่จะมีตามมาหากไม่มีงานทำ ฯลฯ ได้อีกด้วย  แต่ที่อาจมีปัญหาคือการเร่งกู้โดยไม่รอบคอบ  ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลตามมาโดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ  การที่หน่วยงานราชการบางแห่งที่รับผิดชอบดูแลเรื่องมลพิษให้กับประเทศออกมาบอกว่า ให้กู้ไปก่อนโดยสูบหรือปล่อยระบายน้ำทิ้งออกจากบริเวณนิคมฯไปก่อน  แล้วจะเฝ้าตรวจคุณภาพน้ำตามไป  หากมีปัญหาตรงไหนก็จะหามาตรการแก้ไขเป็นกรณีไป

คำตอบหรือมาตรการแบบนี้คงยอมรับไม่ได้ในเชิงสิ่งแวดล้อม เพราะจากปัญหาที่เป็นเฉพาะจุดและอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้(บ้าง)อย่างในกำแพงดินรอบนิคมฯ  กลายมาเป็นปัญหาที่กินบริเวณทุ่งกว้างแบบหาขอบเขตไม่ได้  ซึ่งในทางวิชาการวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเขาเรียกว่า diffused pollution (หรือมลพิษแพร่) หรือ non-point source (แหล่งที่หาจุดกำเนิดไม่เจอ) ซึ่งเขาไม่ทำกัน

สิ่งที่ควรทำก่อน ณ ขณะนี้ คือการสำรวจว่ามวลน้ำที่ขังอยู่ในนิคมฯและต้องการสูบหรือระบายออกนั้นมีมลพิษปะปนอยู่มากน้อยเพียงใด  หากมีน้อยก็สามารถเร่งกู้ได้ทันที  แต่หากมีมากเกินที่สิ่งแวดล้อมจะรองรับได้ก็ควรกักเก็บไว้ก่อนและหาทางบำบัดให้ดีขึ้นก่อนจะปล่อยระบายออกนอกบริเวณ  ประสบการณ์ในการกู้มลพิษเมื่อมีพายุขึ้นฝั่งที่เมืองนิวออร์ลีนส์ในสหรัฐอเมริกา  ซึ่งเขาใช้หลากหลายวิธี เช่น การเอาถุงทรายกักตะกอน การใส่สารเคมีเพื่อตกตะกอนมลพิษ ฯลฯ เป็นบทเรียนรู้ที่เราสามารถเรียนรู้จากเขาได้อย่างเร็ว

สำหรับการที่จะวิเคราะห์ว่าสามารถระบายน้ำออกจากนิคมฯได้หรือไม่ มีปัจจัยที่ควรเพ่งเล็งอยู่ 4 ปัจจัย คือ 1) อัตราการเจือจางจากน้ำที่เจิ่งนองอยู่ในทุ่งเมื่อเทียบกับน้ำที่จะปล่อยออกมาว่ามีมากน้อยเพียงใด  หากการเจือจางมากพอก็อาจจะไม่มีปัญหา ทั้งนี้หากนิคมฯมีขนาด 3X3 ตารางกิโลเมตร และน้ำท่วมสูง 2 เมตร จะมีปริมาตรน้ำประมาณ 3X3X1,000,000X2 หรือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร  ซึ่งน่าจะน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในทุ่งที่มีอยู่หลายพันล้านลูกบาศก์เมตร  ถ้ามี 5 นิคมฯที่ต้องกู้ก็รวมปริมาตรได้ประมาณ 18X5 = 90 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ยังน้อยกว่าน้ำในทุ่งมาก  ข้อมูลนี้อาจทำให้เราเบาใจลงได้บ้าง  แต่ถึงกระนั้นก็ต้องพิจารณาต่อไปยังปัจจัยที่สอง คือ 2) ความเข้มข้นหรือปริมาณของสารมลพิษที่จะปล่อยระบายออกไป  หากปล่อยออกมากอัตราการเจือจางที่ว่ามากๆนั้นก็อาจไม่พอ  เราจึงต้องรู้ก่อนว่ามีปริมาณสารมลพิษที่จะปล่อยออกไปมากน้อยเพียงใด  ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครรู้  3) ชนิดของสารมลพิษก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาเพราะหากปล่อยออกไปไม่มาก รวมทั้งมีอัตราการเจือจางสูง ก็ทำให้เหลือความเข้มข้นของสารมลพิษนั้นๆต่ำ  แต่การ‘ต่ำ’นั้น ก็อาจไม่ต่ำพอหากสารนั้นมีความเป็นพิษรุนแรง อย่างเช่นสารปรอท จะถูกกำหนดให้ต่ำมาก คือมีได้แค่ประมาณ 0.002 มิลลิกรัมต่อลิตร  คือในน้ำ 1 ลิตร จะยอมให้มีปรอทได้ไม่เกินเพียง 0.002 มิลลิกรัม  ซึ่งน้อยยิ่งกว่าน้อยเสียอีก

คราวนี้ก็มาถึงปัจจัยที่ 4 คือ ชนิดสารมลพิษ ที่ต้องรู้ว่ามีอยู่ที่นั่นหรือไม่  ณ ขณะนี้กรมต่างๆได้วิเคราะห์เพียงชนิดสารที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานน้ำทิ้ง(ซึ่งพบว่ายังปลอดภัยอยู่)  แต่สารที่วิเคราะห์ได้นี้อาจแตกต่างไปจากสิ่งที่ปะปนอยู่ในน้ำในตอนนี้เพราะมาตรฐานน้ำทิ้งที่กำหนดขึ้นนั้นได้กำหนดจากสิ่งที่ควรมีอยู่ในน้ำเสียมาแต่แรก  แต่สารที่ใช้ในกระบวนการผลิตและอาจเป็นพิษ  แต่ไม่ได้ปล่อยออกไปกับน้ำเสียในภาวะปกติจะไม่อยู่ในรายการมาตรฐานน้ำทิ้ง  ในภาวการณ์ปัจจุบันจึงสามารถไปปะปนอยู่กับน้ำที่ท่วมขังในบริเวณนิคมฯได้  รวมทั้งน้ำที่ท่วมขังอยู่ในเขตนิคมฯนี้ยังสามารถไปชะละลายเอาสารต่างๆที่กองเก็บอยู่บนพื้นดินในนิคมฯมาปะปนกับน้ำที่ขังนองนี้ได้อีกประการหนึ่งด้วยเช่นกัน  ดังนั้นการที่ไม่ได้วิเคราะห์สารที่ไม่รู้ว่าอาจมีปะปนอยู่  จึงไม่สามารถบอกได้ว่ามีหรือไม่มี และมีอยู่ในปริมาณมากน้อยเพียงใด รวมทั้งมีความเป็นพิษมากน้อยเพียงใด  สิ่งนี้จึงเป็นความเสี่ยงที่ไม่น่าเสี่ยงเพราะผลกระทบนั้นมีได้มากมหาศาล

จาก 4 ปัจจัยนี้จะเห็นว่าที่เราพอจะคำนวณหาตัวเลขได้มีอยู่เพียงข้อเดียวคือ ข้อที่ 1  ส่วนที่เหลืออีก 3 ปัจจัยเรายังไม่รู้อะไรเลย และสิ่งนี้เราแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยในทันทีในภาวการณ์ ณ ปัจจุบัน  ดังนั้นเราจะต้องเร่งใช้มาตรการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ความโปร่งใสของการปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของทุกภาคี CSR และพรบ.ข้อมูลข่าวสาร  เพื่อชักจูงหรือบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมส่งข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและปริมาณสารมลพิษที่มีอยู่ในการครอบครองของตนมาให้คณะกรรมการเฉพาะกิจ  ซึ่งควรมีตัวแทนของภาคประชาชนและภาควิชาการเป็นกรรมการอยู่ด้วย  รวมทั้งไม่ควรมีตัวแทนทางด้านการเมืองมาเกี่ยวข้อง  พิจารณาว่าควรเก็บตัวอย่างน้ำที่บริเวณใด เก็บอย่างไร ปริมาณเท่าใด ฯลฯ (ซึ่งต้องออกแบบกระบวนการและขั้นตอนการเก็บตัวอย่างให้ดี มิฉะนั้นข้อมูลจะไร้ความหมาย) และนำส่งห้องปฏิบัติการที่เป็นกลางสัก 3 แห่ง เพื่อนำข้อมูลมาตรวจสอบยืนยันข้ามกันและกันถึงความแม่นยำ

          ด้วยวิธีนี้เท่านั้นเราถึงจะมีข้อมูลมากพอที่จะสรุปว่า เราจะเร่งระบายน้ำออกจากนิคมฯได้ทันทีหรือไม่  การที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะระบายออกจากทุกนิคมฯให้หมดภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้จะทำได้หรือไม่  ซึ่งแน่นอนหากใช้วิธีการที่นำเสนอนี้ก็ไม่น่าจะทำให้เป้าหมาย 30 พฤศจิกายนนี้สำเร็จได้  แต่การดื้อดึงเดินหน้าต่อไปให้ได้โดยไม่ชะลอไปก่อนนั้น จะทำสำเร็จได้ก็เฉพาะในแง่‘ปริมาณน้ำ’ที่จะสูบออกเท่านั้น  แต่จะไม่มีทางการันตีได้เลยว่าจะทำได้ดีในแง่ของ ‘คุณภาพน้ำ’

          ผมจึงมีข้อเสนอว่า ถ้ารอไม่ได้รัฐบาลก็ต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาสักสองหมื่นล้านบาทมาเป็น กองทุนเฉพาะกิจพิเศษ ที่ชื่อว่า กองทุนรับประกันคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Guarantee Fund)  หรือกองทุนรับประกันสุขภาพ (Health Guarantee Fund) เอาไว้ใช้ชดเชยเยียวยาฟื้นฟูหรือทำอะไรก็แล้วแต่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้สามารถมีชีวิตที่ปลอดภัยและดีขึ้นกว่าเดิม  ซึ่งแน่นอนกระบวนการนี้ต้องมีการปรึกษาหารือกันกับภาคประชาชน อันอาจต้องใช้เวลานานพอสมควรเช่นกัน  แต่อย่างน้อยก็พอจะมีคำตอบด้านกองทุนฯให้ประชาชนมีความหวังได้ และเป็นสิ่งที่ต้องทำ  ส่วนจะทำได้เร็วหรือช้า นั่นขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาลครับ