โดย…ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
12 กรกฎาคม 2011
1. ประเทศไทยกับพัฒนาการที่ถอยหลังลงคลองจากสังคมค่าจ้างสูงสู่สังคมค่าจ้างต่ำ
เศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้พัฒนาและขยายตัวในสังคมไทยภายหลังการทำสนธิสัญญาเพื่อเปิดให้มีการค้าเสรีกับนานาประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานรับจ้างจำนวนมาก แต่ขณะนั้นสยามมีประชากรค่อนข้างน้อยและคนไทยยังอยู่ภายใต้ระบบการเกณฑ์แรงงานโดยรัฐที่เรียกว่าระบบไพร่ ประชาชนไทยไม่มีอิสระและเสรีภาพที่จะไปเป็นแรงงานรับจ้างให้กับโรงงานหรือสถานประกอบการต่าง ๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นได้ ทำให้ต้องมีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนจำนวนมาก แรงงานจีนจึงถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกในประเทศไทยและแม้ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงาน แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงพอใจกับรายได้และการใช้ชีวิตอยู่บนไร่นา เพราะภายหลังการเปิดประเทศข้าวได้กลายเป็นสินค้าออกสำคัญของไทย ซึ่งได้พันธนาการแรงงานไทยส่วนใหญ่ไว้กับการใช้ชีวิตอยู่บนผืนนาอีกยาวนานนับศตวรรษเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าแรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนจึงยังคงเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานไทยอีกนานนับศตวรรษเช่นกัน การขาดแคลนแรงงานทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้[1]
แรงงานไทยมาเคลื่อนย้ายออกจากชนบทเข้าหางานทำในเขตอุตสาหกรรมในเมืองอย่างจริงจังเอาก็ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ในปี 1958 ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากเดิมที่เป็น “เศรษฐกิจชาตินิยม”[2] ที่รัฐเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง มาเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ที่หันมาเน้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ตามคำชี้แนะของสหรัฐอเมริกาและธนาคารโลกโดยทอดทิ้งภาคเกษตรกรรม เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ออกมาตรการและสร้างกลไกหลายอย่างเพื่อส่งเสริมธุรกิจเอกชน สร้างสิ่งที่เรียกว่า “บรรยากาศในการลงทุน” โดยได้ทุ่มเทงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุน สร้างนิคมอุตสาหกรรม ให้สิทธิพิเศษอย่างมากมายมหาศาลแก่นักลุงทุน เช่นยกเว้นการเก็บภาษีเป็นต้น ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด บรรษัทข้ามชาติพากันหลั่งไหลเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทย ขณะที่ส่งเสริมฝ่ายทุนรัฐกลับใช้นโยบายควบคุมและจำกัดสิทธิของฝ่ายแรงงาน มีการประกาศยกเลิกกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับแรกของไทยซึ่งเพิ่งประกาศใช้ไม่ถึงสองปีก่อนหน้า (1956) ประกาศให้สหภาพแรงงานกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมถูกริดรอน การนัดหยุดงานเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด และนี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำพาประเทศมาสู่การเป็นสังคมค่าจ้างต่ำในที่สุด
แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มจากใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าก่อนในช่วงแรก ต่อมาไทยได้หันมาใช้กลยุทธการพัฒนาเพื่อเน้นการส่งออก ซึ่งได้ทำให้เศรษฐกิจไทยไร้เสถียรภาพ ต้องพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศในอัตราส่วนที่สูงมากตลอดมา มาถึงทศวรรษที่ 1980s ไทยได้กลายเป็นฐานการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมส่งออกของนักลงทุนจากต่างชาติ ในช่วงเดียวกันนี้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมตามชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) มีการกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เริ่มหันมาการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs มีการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรม (Industrial Cluster)
เมื่อประเทศไทยประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1997 ต้องเข้ารับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งถูกกดดันให้ต้องดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งนำไปสู่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export-oriented Industry) ที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากขึ้น การส่งออกของไทยมีสัดส่วนสูงถึง 70 % ของGDP รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยไปเป็นแบบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น คนงานจำนวนมากถูกผลักออกไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบมากขึ้น คนงานขาดความมั่นคงในการทำงาน อำนาจการต่อรองของฝ่ายแรงงานซึ่งต่ำอยู่แล้วยิ่งตกต่ำมากยิ่งขึ้น ทิศทางการกำหนดค่าจ้างเป็นไปในแนวทางที่ฝ่ายอุตสาหกรรมและรัฐต้องการมากกว่าคำนึงถึงความจำเป็นและเหตุผลทางเศรษฐกิจของคนงาน รศ. ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้วิเคราะห์สถานภาพของแรงงานในประเทศไทยภายใต้ระบบเศรษฐกิจไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไทยอาศัยการใช้แรงงานราคาถูกแบบ 3 L คือ ค่าจ้างแรงงานถูก Low Wage ผลิตภาพแรงงานต่ำ Low Productivity และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน Long Working Hour ทำให้แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ แรงงานไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย”[3]
2. ค่าจ้างขั้นต่ำ: มาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองแรงงานหรือกลไกในการขูดรีดแรงงาน?
ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ในปี 1972 กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย (ขณะนั้นเป็นกระทรวงที่กำกับดูแลเรื่องแรงงาน)ออกประกาศกระทรวง เรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีทำหน้าที่พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นบังคับใช้ คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการค่าจ้างชุดแรก ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1973 และได้มีการประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบังคับใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1973 เมื่อแรกมีค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย กฎหมายได้ให้นิยามของคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนั้นไว้ดังนี้ “…คืออัตราค่าจ้างที่ช่วยให้แรงงานพร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คน มีรายได้เพียงพอเพื่อการใช้จ่ายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคม” แต่ต่อมาในการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในปี 1975 หรืออีกสองปีถัดมารัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงนิยามของคำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เสียใหม่ให้หมายถึง “…อัตราค่าจ้างตามความจำเป็นที่ลูกจ้างคนเดียว (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว) ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้...” และนับจากนั้นเป็นต้นมาการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำก็ได้ยึดถือนิยามนี้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเสมอมา
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกที่ได้มีการประกาศใช้ในประเทศไทยคืออัตราค่าจ้างวันละ 12 บาท เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 1973 ค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อแรกใช้มีผลบังคับใช้เฉพาะใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญในขณะนั้น ซึ่งกรมแรงงานประมาณว่ามีลูกจ้าง ได้รับประโยชน์จากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกนี้ประมาณ 100,000 คน แต่จากการศึกษาของอารมณ์ พงศ์พงันผู้นำแรงงานคนสำคัญของไทยขณะนั้นพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดในครั้งแรกยังคงต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพของผู้ใช้แรงงานอย่างมาก สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เสนอรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปี 1973 พบว่าผู้ใช้แรงงานสมควรมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 25 บาทจึงจะดำรงชีพอยู่ได้[4]
ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเมื่อเริ่มต้นบังคับใช้เป็นอัตราเดียวและบังคับใช้เฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 4 จังหวัดเท่านั้น ต่อมาตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 1974 ได้เพิ่มพื้นที่บังคับใช้เป็น 6 จังหวัด (คือ เพิ่มสมุทรสาครและนครปฐม) และขยายการบังคับใช้ครบทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1974 เป็นต้นมา
ในช่วงระหว่างปี 1974 – 1983 อัตราค่าจ้างข้นต่ำที่กำหนดใหม่จะประกาศให้มีผลบังคับใช้ เริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม ของแต่ละปี (ตามรอบปีงบประมาณรัฐบาล) แต่หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาประกาศให้มีผลบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ทุกวันที่ 1 มกราคม หรือวันที่ 1 เมษายน (วันปีใหม่ของไทย) วาระการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีระบุไว้ชัดเจนในกฎหมาย แต่โดยปกติจะปรับปีละ 1 ครั้ง แต่ก็มีบางปีที่ปรับมากกว่า 1 ครั้ง หรือบางปีไม่ปรับเลยก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ นโยบายทางการเมืองและอำนาจการต่อรองของขบวนการแรงงานในช่วงเวลานั้น ๆ
ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงินครั้งใหญ่ในประเทศไทยในปี 1997 ซึ่งมีผลทำให้สถานประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการลง และมีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก รัฐบาลไทยต้องเข้ารับการช่วยเหลือทางด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จึงมีการทำหนังสือแจ้งความจำนงฯ(Letter of Intent) เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจยื่นกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ลงวันที่ 14 สิงหาคม 1997 มีข้อหนึ่งของหนังสือระบุเกี่ยวกับนโยบายค่าจ้างไว้ว่า "เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อราคาอันอาจจะเกิดขึ้นจากการอ่อนลงของค่าเงินบาท ทางการจะเข้มงวดในการปรับเงินเดือนภาครัฐ โดยให้มีการปรับเพิ่มได้ไม่เกินอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่านั้น และต้องดูแลให้การปรับเงินเดือน และค่าจ้างภาคเอกชนให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน" นอกจากนี้ กรอบนโยบายด้านตลาดแรงงานและสวัสดิการสังคมที่รัฐบาลไทยตกลงกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ยังมีเงื่อนไขที่จะไม่ให้มีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในปี 1998 เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดแรงงาน ทำให้มีการแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำยาวนานถึง 3 ปี(มกราคม 1998 – 31 ธันวาคม 2000) เพื่อควบคุมต้นทุนแรงงานให้กับสถานประกอบการต่าง ๆ [5]
ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่มีการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมหาศาลและขบวนการสหภาพแรงงานอยู่ในสภาวะอ่อนแอ สูญเสียอำนาจต่อรอง ทั้งค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างแรงงานอยู่ในสภาพถูกแช่แข็ง นอกจากรัฐบาลพยายามจะควบคุมไม่ให้ค่าจ้างขยายตัวเพื่อเอาใจฝ่ายผู้ประกอบการแล้วยังได้ฉวยโอกาสทำการเปลี่ยนแปลงระบบและหลักเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเสียใหม่ เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือเพื่อทำให้บางพื้นที่ของประเทศมีค่าจ้างที่ต่ำเพื่อเปิดช่องให้ผู้ประกอบการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากแรงงานราคาถูก สิ่งที่รัฐบาลทำคือหันไปใช้วิธีการกระจายอำนาจการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปในระดับจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นการกำหนดจากองค์กรไตรภาคีระดับชาติ รัฐบาลรู้ดีว่าแรงงานในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่มีการรวมตัวกัน จึงมีอำนาจต่อรองน้อย และคาดได้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำในหลายจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานจะไม่มีการปรับตัวหรือมีการปรับตัวน้อย รัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องนี้โดยออกเป็นประกาศของกระทรวงแรงงานก่อนในปี 1997 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเชาวลิต มีนายมนตรี ด่านไพบูลย์เป็นรัฐมนตรี แม้จะมีเสียงคัดค้านจากฝ่ายสหภาพแรงงานแต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา และต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ในปี 1998 จึงได้นำเอาหลักการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่นี้บรรจุเข้าไว้ในกฎหมายดังกล่าว การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่นี้ทำให้อัตราค่าจ้างที่แต่เดิมส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 อัตราคือ กลุ่มที่ 1. กรุงเทพฯ, 5 จังหวัดปริมลฑลและภูเก็ต กลุ่มที่ 2. จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา ระนอง และสระบุรี และกลุ่มที่ 3 ได้แก่ 63 จังหวัดที่เหลือ แต่ระบบใหม่นี้ได้ทำให้เกิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกันหลายอัตรา ปัจจุบันมีถึง 32 อัตรา
3. มาทำความรู้จักกระบวนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
หลักการสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามกกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 1998 ซึ่งยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมีสาระสำคัญดังนี้ [6]
1. ความหมายของ "ค่าจ้าง"
มีการเปลี่ยนนิยามของคำว่า "ค่าจ้าง" จากหลักการเดิมที่ว่า “ค่าจ้าง” อาจหมายถึงเงินหรือเงินและสิ่งของ โดยนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันล่วงหน้าได้ หลักการใหม่ให้ความหมายว่า “ค่าจ้างหมายถึง “เงิน” ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่าจะจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง” ความหมายที่เปลี่ยนไปนี้มีผลทำให้นายจ้างไม่อาจจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยหักเป็นค่าสวัสดิการบางอย่างที่จัดให้แก่ลูกจ้างตามความพอใจได้ เช่น อาหาร ที่พัก แบบที่เคยทำ เป็นต้น
2. ขอบเขตการบังคับใช้
ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างเอกชนทั่วไป แต่ยกเว้นไม่บังคับใช้กับลูกจ้างของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ลูกจ้างที่ทำงานเกษตรกรรม ได้แก่ งานเพาะปลูก งานประมง งานป่าไม้ งานเลี้ยงสัตว์ ลูกจ้างที่รับงานไปทำที่บ้าน ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน อันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างที่ทำงานอันมิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
3. ประเภทของค่าจ้างขั้นต่ำ
กฎหมายได้กำหนดให้มีอัตรค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 2 ประเภท คืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานคือ อัตราค่าจ้างซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างกลางจะเป็นผู้กำหนด เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งจะต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานไม่ได้ และเสนอให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคืออัตราค่าจ้างซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างกลางกำหนด หรือคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง แล้วแต่กรณี และเสนอให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
4. เกณฑ์ในการพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย
พิจารณาจากองค์ประกอบ 3 ประการคือ
1. องค์ประกอบด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง มี 5 หลักเกณฑ์ได้แก่
1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่
2. อัชนีค่าครองชีพ
3. อัตราเงินเฟื้อ
4. ราคาของสินค้า
5. มาตรฐานการครองชีพ
2. องค์ประกอบด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งมี 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
1. ต้นทุนการผลิต
2. ความสามารถของธุรกิจ
3. ผลิตภาพแรงงาน
3. องค์ประกอบด้สนเศรษฐกิจและสังคม มี 2 หลักเกณฑ์ ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
2. สภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
5. โครงสร้างของคณะกรรมการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง 2 ประเภท คือ คณะกรรมการค่าจ้างกลางและคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด
1 คณะกรรมการค่าจ้างกลาง ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสองคน ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเจ็ดคน และหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างของกระทรวงแรงงานเป็นเลขานุการ
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่มาของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างนั้นตามกฎหมายเดิมที่มาของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างไม่มีหลักเกณฑ์วิธีการแน่นอน บางครั้งมาจากการแต่งตั้งโดยตรงของรัฐมนตรี บางครั้งมาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนสหภาพแรงงานและสมาคมนายจ้างแล้วจึงเสนอชื่อให้รัฐมนตรีประกาศแต่งตั้ง แต่สำหรับที่มาของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้างตามกฎหมายใหม่นี้ได้กำหนดให้สภาองค์การลูกจ้าง [7]เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และสภาองค์การนายจ้างเสนอรายชื่อผู้สมัครเพื่อเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง จากนั้นให้สหภาพหรือสมาคมนายจ้างเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้ง โดยใช้หลัก 1 องค์กร 1 เสียงเท่ากันหมด ไม่ว่าจะมีสมาชิกมากน้อยต่างกันเพียงใด
กฎหมายได้กำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายค่าจ้าง
(2) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ข้อแนะนำภาค เอกชนเกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างและการปรับค่าจ้างประจำปี
(3) กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน
(4) กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ลูกจ้างควรได้รับตามความ เหมาะสมแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม
(5) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาระบบค่าจ้าง
(6) ให้คำแนะนำด้านวิชาการและแนวทางการประสาน ประโยชน์แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในภาคเอกชน
(7) รายงานเสนอรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละครั้งเกี่ยวกับภาวะ ค่าจ้างและแนวโน้มของค่าจ้างตลอดจน มาตราการที่ควรจะได้ ดำเนินการ
(8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมาย อื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างหรือ ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย
ในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการค่าจ้าง จะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรายได้ของประเทศด้วยก็ได้
2 คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด มีจำนวนไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด แรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัด และผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยประจำภาค หรือผู้แทนศูนย์พัฒนาภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทนส่วนราชการอื่นตามที่จังหวัดเห็นสมควร ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายละเท่ากับจำนวนผู้แทนภาครัฐ
วิธีการสรรหาอนุกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ให้สำนักงานแรงงานจังหวัดแจ้งให้สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้างหรือองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้างในจังหวัดทราบ กรณีไม่มีองค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้างในจังหวัด ให้สำนักงานแรงงานจังหวัดประกาศให้นายจ้างและลูกจ้างอื่นๆ ให้ทราบทั่วกัน เพื่อเสนอชื่อผู้แทนหรือยื่นใบสมัครเข้ารับการคัดเลือกภายในระยะเวลาและสถานที่ที่คณะกรรมการสรรหาคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนด
6. การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
1. ให้คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างในจังหวัดได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นๆ ในจังหวัด ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม สภาพเศรษฐกิจและสังคม
2. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางกำหนด
3. ก่อนพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดควรสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้าง มาตรฐานการครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงทางสังคมและเศรษฐกิจในจังหวัด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด
4. เมื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดแล้ว ให้คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดนำเสนอผลการพิจารณาพร้อมรายละเอียดตามที่เห็นสมควร ให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาลงนามประกาศใช้บังคับ
4. ปัญหาของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย
ที่ผ่านมาด้วยนโยบายรัฐที่ต้องการรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการควบคุมต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานให้ต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความอ่อนแอไม่เป็นเอกภาพของขบวนการแรงงานในประเทศไทยทำให้อัตราการเติบโตของค่าจ้างในประเทศไทยมีอัตราที่ช้ามาก จากการวิเคราะห์ของสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงานพบว่าเมื่อเปรียบเทียบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ ตั้งแต่ ปี 2002 – 2011 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศสะสม 10 ปี มีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศสะสม อยู่ร้อยละ 1.9 กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศสะสม มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งประเทศสะสม มีการปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 25.7 นั่นคืออัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ มีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งประเทศเฉลี่ยต่อปี อยู่ร้อยละ 0.19 กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อมีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.76 ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.57 ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดูภาพประกอบที่ 1
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศและอัตราการเปลี่ยนแปลงของ GDP 10 ปีย้อนหลัง (ตั้งแต่ปี 2002 – 2011) |
||||
ปี |
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ |
อัตราการเปลี่ยนแปลง |
อัตราเงินเฟ้อ (ร้อยละ) |
อัตราผลิตภัณฑ์รวม ณ ราคาปัจจุบัน |
เฉลี่ยทั้งประเทศ (บาท) |
ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ร้อยละ) |
|||
2002 |
137.0 |
0.2 |
0.7 |
6.2 |
2003 |
138.3 |
0.9 |
1.8 |
8.6 |
2004 |
139.7 |
1.0 |
2.7 |
9.7 |
2005 |
148.1 |
6.0 |
4.5 |
9.3 |
2006 |
149.4 |
0.9 |
4.7 |
10.6 |
2007 |
154.0 |
3.1 |
2.3 |
8.7 |
2008 |
162.1 |
5.3 |
5.5 |
6.5 |
2009 |
162.1 |
0.0 |
-0.9 |
-0.4 |
2010 |
165.3 |
2.0 |
3.3 |
11.8 |
2011 (1 มี.ค.) |
175.8 |
6.4 |
3.0 |
7.0 |
รวม (2002 – 2011) |
25.7 |
27.6 |
78 |
|
เฉลี่ยต่อปี |
2.57 |
2.76 |
7.8 |
ภาพที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราเงินเฟ้อ และ GDP
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
ล่าสุดประเทศไทยได้ประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2011 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งล่าสุดนี้นับว่าเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับการปรับครั้งก่อนหน้า ด้วยเหตุผลของการให้สัญญาณจากรัฐบาลที่ต้องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มอำนาจซื้อภายในประเทศ เหตุผลอีกประการคือใกล้การเลือกตั้ง การปรับขึ้นค่าจ้างจะทำให้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากแรงงานไร้ฝีมือซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง
ตารางที่ 2 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2011
อัตราที่1 |
จังหวัด |
ค่าจ้าง |
|
ภูเก็ต |
221 |
|
กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร |
215 |
|
ชลบุรี |
196 |
|
ฉะเชิงเทรา และสระบุรี |
193 |
|
พระนครศรีอยุธยา |
190 |
|
ระยอง |
189 |
|
พังงา |
186 |
|
ระนอง |
185 |
|
กระบี่ |
184 |
|
นครราชสีมา และปราจีนบุรี |
183 |
|
ลพบุรี |
182 |
|
กาญจนบุรี |
181 |
|
เชียงใหม่ และราชบุรี |
180 |
|
จันทบุรี และเพชรบุรี |
179 |
|
สงขลา และสิงห์บุรี |
176 |
|
ตรัง |
175 |
|
นครศรีธรรมราช และอ่างทอง |
174 |
|
ชุมพร พัทลุง เลย สตูล และสระแก้ว |
173 |
|
ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา สมุทรสงคราม และสุราษฎร์ธานี |
172 |
|
นราธิวาส อุดรธานี และอุบลราชธานี |
171 |
|
นครนายก และปัตตานี |
170 |
|
ตราด ลำพูน และหนองคาย |
169 |
|
กำแพงเพชร และอุทัยธานี |
168 |
|
กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท และสุพรรณบุรี |
167 |
|
เชียงราย นครสวรรค์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และสกลนคร |
166 |
|
ชัยภูมิ มุกดาหาร ลำปาง สุโขทัย และหนองบัวลำภู |
165 |
|
นครพนม |
164 |
|
พิจิตร พิษณุโลก แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ |
163 |
|
ตาก และสุรินทร์ |
162 |
|
น่าน |
161 |
|
ศรีสะเกษ |
160 |
|
พะเยา |
159 |
ที่มา: ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 5)
การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี2011 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2011 เป็นการปรับเพิ่มขึ้น เฉลี่ยทั่วประเทศวันละ 10.5 บาท จากวันละ 165.3 บาท เป็นวันละ 175.8 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ได้มีการคำนวนจากสำนักงานค่าจ้าง กระทรวงแรงงานพบว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะมีผลทำให้แรงงานจำนวนประมาณ 4,281,056 คน (ผู้ประกันตน/แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ได้รับการผ่อนผันหรือหลบเลี่ยงการทำงาน) ได้รับประโยชน์จากการปรับค่าจ้างในครั้งนี้คิดเป็นเงิน 47.1 ล้านบาทต่อวัน หรือ 1,224.5 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 14,694 ล้านบาทต่อปี และจะส่งผลให้รายได้ทั้งหมดของครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.422 จากรายได้ ประมาณ 20,903 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 20,991.21 บาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 88.21 บาท/เดือน
ระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบกระจายอำนาจไปที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัดได้ทำให้เกิดค่าจ้างขั้นต่ำหลายอัตรา ปัจจุบันมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกันมากถึง 32 อัตรา ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ค่าครองชีพโดยทั่วไปในแต่ละพื้นที่มิได้มีความแตกต่างกันมากนัก จังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานก็จะไม่มีตัวแทนคนงานที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดค่าจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากประสบการณ์ที่เป็นจริงหลายพื้นที่ที่ไม่มีสหภาพไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือมีการปรับขึ้นในอัตราที่น้อยมาก ตัวแทนแรงงานที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำงานจึงเป็นได้แค่ไม้ประดับ การตัดสินใจจึงไปตกอยู่กับตัวแทนฝ่ายนายจ้างและรัฐบาลซึ่งมักจะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และเมื่ออนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดพิจารณาเสร็จแล้วยังต้องส่งไปให้คณะกรรมการค่างจ้างกลางเป็นคนตัดในใจอีกครั้ง ทำให้อนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดถูกวิจารณ์โดยสหภาพแรงงานว่าเป็นการกระจายอำนาจจอมปลอม เพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำได้จริง ต้องเสนอข้อมูลและมติอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด เข้าสู่คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสินใจ ยังพบว่าในการคัดสรรอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดยังขาดความโปร่งใสชัดเจน พบว่าผู้แทนลูกจ้างที่แสดงความเห็นมาก กล้าโต้เถียงกับนายจ้างและตัวแทนของรัฐ มีโอกาสไม่ได้รับแต่งตั้งให้กลับเข้าไปเป็นอนุกรรมการอีกครั้ง มิหนำซ้ำอนุกรรมการค่าจ้างมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีทั้งความอาวุโส คุณวุฒิและอำนาจมากมาย ทำให้ไม่เกิดการบรรยากาศการปรึกษาหารือที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน
แม้จะมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ชัดเจน แต่ในความเป็นจริง การกำหนดค่าจ้างเป็นไปตามนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลและอำนาจการต่อรองของฝ่ายแรงงาน
ฝ่ายแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัดไม่มีความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้างได้อย่างครบถ้วนเพียงพอ เมื่อเทียบกับทางฝ่ายรัฐและฝ่ายนายจ้างซึ่งมีความพร้อมกว่า บางจังหวัดมีพื้นที่อยู่ติดกัน แต่กลับมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่างกัน ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างกัน ปัญหาอีกประการหนึ่งคือความแตกแยกไม่เป็นเอกภาพในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของขบวนการแรงงาน หลายครั้งที่แต่ละองค์กรเสนอตัวเลขให้รัฐบาลปรับไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่มีพลังในการต่อรองกับรัฐบาล และจากการที่แรงงานไทยไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากนัก ทำให้สถานประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีการเจรจาต่อรองเพื่อปรับค่าจ้าง สภาพการจ้างและสวัสดิการ ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำ ได้กลายเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูง หรือเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปีให้กับแรงงานระดับล่างของสถานประกอบการจำนวนมาก จากการสำรวจของกระทรวงแรงงานพบว่ามีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างอยู่ในระดับเดียวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำราว 2 ล้านคน และมีอีกจำนวนมากที่ได้สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐกำหนดเพียงเล็กน้อย
ปัจจุบันพบว่านายจ้างบางส่วนหันไปจ้างแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมที่มิได้ขาดแคลนแรงงานเช่น ยานยนตร์ ชิ้นส่วนรถยนตร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งทอ โดยมีการเลิกจ้างแรงงานไทยเนื่องจากเห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีอำนาจการต่อรองต่ำกว่าแรงงานไทยมาก ทำให้อำนาจการต่อรองของแรงงานไทยลดต่ำลง นำไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย้งระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติในบางพื้นที่
5. ค่าจ้างไม่เป็นธรรมคือรากเหง้าของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ เห็นว่าประชาธิปไตยจะความหมายจริงได้ก็ต่อเมื่อ ขยายเขตวงของมันออกไปยังปริมณฑลทางเศรษฐกิจ นั่นคือการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า Industrial Democracy ขึ้นมา ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ถือว่าในระบบทุนนิยมนั้น ทุนและแรงงานเป็นหุ้นส่วนทางสังคมกัน (Social Partnership) แม้จะมีผลประโยชน์ที่แตกต่างขัดแย้งกัน (ทุนย่อมต้องการกำไรสูงสุด ขณะที่แรงงานก็ต้องการค่าตอบแทน สวัสดิการและสภาพการจ้างที่เหมาะสมจากการลงแรงของพวกเขา) แต่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการแบ่งปันส่วนแบ่งจากการทำงานร่วมกันสองฝ่ายอย่างสมเหตุสมผล โดยทั่วไปจะอาศัยกลไกเหล่านี้เพื่อนำไปสู่แบ่งปันที่เป็นธรรมได้แก่ การตัดสินใจร่วมกัน (Codetermination) การเสวนาทางสังคม (Social Dialogue) การปรึกษาหารือ การยอมรับให้มีการเข้าถึงข้อมูลที่จะเป็นต่อการตัดสินใจในการแบ่งปันผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน และการเจรจาต่อรองร่วม (Collective Bargaining) ระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้างหรือองค์กรนายจ้าง กลไกเหล่านี้จะดำเนินไปได้ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นต้องยอมรับก่อนว่าสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรองร่วมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องเคารพและละเมิดไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงานและนายจ้าง เราจะพบว่าประเทศที่มีการแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม จะทำให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจมีช่องว่าระหว่างรายได้น้อยนั้นจะเป็นประเทศที่มีการยอมรับในสิทธิในการรวมตัวกันของคนงาน มีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในอัตราที่สูงมาก เช่นหลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสแกนดินีเวีย เช่น สวีเดน 81 % ฟินแลนด์ 76 % เดนมาร์ก 74 % เบลเยี่ยม 56 % นอร์เวย์ 54 % และออสเตรีย 37 % ขณะที่ประเทศไทยมีคนงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 1.3 % หรือ 532,468 คนจากผู้มีงานทำทั้งหมดราว 38 ล้านคน[8]
สาเหตุที่สหภาพแรงงานในประเทศไทยมีสมาชิกน้อยเพราะสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมยังไม่ได้รับการยอมรับในประเทศไทย ไทยเป็นประเทศสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่เหลือเพียงไม่กี่ประเทศของโลกที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ98ที่ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งทั่วโลกเขาถือเป็นสิทธิมนุษยชน ขั้นพื้นฐาน การไม่ยอมให้สัตยาบันทำให้เรามียังคงกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่ขัดกับหลักการของอนุสัญญา ซึ่งทำให้คนงานในประเทศไทยเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว ประกอบกับการที่วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นแบบอุปถัมป์ ที่ไม่ยอมรับในหลักความเสมอภาคยังคงมีอิทธิพลอยู่สูงมากในสังคมไทย ในระบบแรงงานสัมพันธ์วัฒนธรรมชนิดนี้ได้ทำให้เกิดกรอบแรงงานสัมพันธ์แบบนายกับบ่าว ที่มองว่านายจ้างหรือฝ่ายทุนเป็นผู้อุปถัมป์มีอำนาจเหนือฝ่ายแรงงาน ผู้รับการอุปถัมป์ กรอบความเชื่อชนิดนี้ได้ทำให้ การเจราจาต่อรองร่วมถูกปฏิเสธจากฝ่ายนายจ้างเสมอมา ในแต่ละปีมีข้อตกลงร่วมที่ไปจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานเพียง 200 – 400 ฉบับ จากสถานประกอบการเกือบสี่แสนแห่งที่อยู่ในระบบประกันสังคม นั่นหมายความว่า สถานประกอบการในประเทศไทย ส่วนใหญ่อำนาจตัดสินใจในการแบ่งปันผลประกอบการระหว่างทุนกับแรงงานตกอยู่กับฝ่ายทุน
ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2007 พบว่ากลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนแบ่งรายได้ ถึงร้อยละ 54.9 ในขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 4.4 เท่านั้น คงจะไม่เป็นการสรุปที่เกินเลยไปจากความเป็นจริงนัก หากจะกล่าวว่าต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำ ในสังคมไทยแท้จริงมาจากระบบการกำหนดค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานไม่มีอำนาจการต่อรองอย่างเพียงพอทำให้การแบ่งปันในกระบวนการทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมไทยเกิดความเป็นธรรมได้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่น่าจะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือฝ่ายแรงงานที่มีอำนาจต่อรองน้อยให้ได้รับการคุ้มครองให้ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม แต่ระบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของไทยก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีกฎเกณฑ์และกลไกทำงานที่ชัดเจนเพียงพอ แต่กลับถูกบิดเบือนให้กลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออกที่มุ่งเน้นการแข่งขันด้วยต้นทุนแรงงานต่ำ
6. ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างโดยขบวนการแรงงานไทย
องค์กรแรงงานในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะทำงานปฏิรูประบบค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยประกอบด้วยผู้แทนองค์กรแรงงานจากหลากหลายส่วน นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างในประเทศไทยใหม่ ด้วยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้างโดยมีข้อเสนอร่วมกัน ดังนี้
1. เสนอให้เปลี่ยนนิยามของคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำเสียใหม่ คือให้หมายถึงค่าจ้างสำหรับลูกจ้างไร้ฝีมือแรกเข้าทำงาน 1 ปีแรก ซึ่งสามารถใช้ครองชีพได้เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัวอีกสองคน
2. เสนอให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด
3. เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น%อัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศ หรือตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปี
4. เสนอให้รัฐออกกฎหมาย กำหนดให้สถานประกอบการต้องปรับค่าจ้างเป็นประจำทุกปี สถานประกอบการที่มีการจ้างงานจำนวนมากควรจะต้องมีการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวางแผนเกี่ยวกับรายจ่ายและรายได้ของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างในอนาคต
5. เรียกร้องให้ยกเลิกการจ้างงานที่จ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน รายชั่วโมงและรายผลงานเสีย
6. เสนอให้ปฏิรูประบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างให้โปร่งใสและสะท้อนความเป็นตัวแทนของคนงาน เพื่อให้สะท้อนความจริงของการเป็นตัวแทน องค์กรที่มีสมาชิกมากกว่าควรจะมีสิทธิมีเสียงมากกว่าองค์กรที่มีสมาชิกน้อยกว่า และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการจัดตั้งสหภาพเล็ก ๆ เพื่อเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง
7. เสนอให้มีการตกลงร่วมกันให้ชัดเจนว่า จะใช้ตัวเลขอะไรจากแหล่งไหน? เป็นตัวชี้ขาดว่า ควรต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไร? เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคของผู้มีรายได้น้อย ตัวเลขอัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ อัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ถ้าดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่ม 3% ค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีการประกาศเพิ่ม 3% ของอัตราเดิม โดยไม่ต้องมาพิจารณาต่อรองกัน
8. เสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างบริหารการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการประจำ เพื่อศึกษาพิจารณาข้อมูลประกอบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องชัดเจน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งกรรมการประจำชุดนี้จะไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน โดยมาจากการสรรหาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และคณะกรรมการค่าจ้างจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนข้อมูลข้อคิดเห็นเท่านั้น
9. เรียกร้องให้รัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจราจาต่อรองร่วมและปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่เพื่อให้มีการยอมรับและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของแรงงานและนายจ้าง จัดวางกรอบให้องค์กรแรงงานและองค์กรนายจ้างสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือ และต่อรองกัน ด้วยข้อมูลที่โปร่งใส สามารถตัดสินใจร่วมกันด้วยเหตุด้วยผล
[1] พอพันธ์ อุยยานนท์ ค่าจ้างแรงงานในประวัติศาสตร์ไทย ใน ฉลอง สุนทราวาณิชย์และคณะ ประวัติศาสตร์แรงงานไทยฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร, กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 1998 หน้า 61-113
[2] ระบบเศรษฐกิจชาตินิยมใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 1932 ถึง 1958
[3] ดูวรวิทย์ เจริญเลิศ “วิกฤติเศรษฐกิจ 2008: กับผลกระทบต่อตลาดแรงงาน” เอกสารประกอบการสัมมนามาตรการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกอย่างมีประสิทธิภาพของสหภาพแรงงานไทย จัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) กรุงเทพฯ 5 กุมภาพันธ์ 2009
[4] อารมณ์ พงศ์พงัน "กรรมกร" สหพันธ์สหภาพแรงงานเสรีระหว่างประเทศ (ICFTU) สนับสนุนการจัดพิมพ์ (พฤศจิกายน 2522), หน้า 83 และตารางรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ปี 2514 – 2515 รายจ่ายของผู้มีรายได้ต่ำในระดับยากจนเฉลี่ยวันละ 28.82 บาท ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ หน้า 188
[5] ดูรายละเอียดใน บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ “เหลียวหลังแลหน้า 30 ปีแห่งการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ” จัดทำโดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 2002
[6] บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ "คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด : กระจายอำนาจจริงหรือ" วิเคราะห์การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน, น.30-43, มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน. 2545
[7] ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์การสภาลูกจ้างทั้งสิ้น 13 แห่ง การลงคะแนนเสียงเพื่อลือกผู้แทนฝ่ายลูกจ้างใช้หลัก 1 สหภาพ 1 เสียง ซึ่งได้ถูกวิจารณ์ว่าไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนที่แท้จริง เพราะสหภาพใหญ่มีสมาชิกมากก็มี 1 เสียงเท่าสหภาพเล็ก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการจัดตั้งสหภาพเล็ก ๆ ขึ้นมากมายเพื่อให้มีฐานเสียงมากในการเลือกตั้งองค์กรไตรภาคีต่าง ๆ รวมทั้งคณะกรรมการค่าจ้างด้วย
[8] ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2011 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน