ปลดล็อค….สำนักงานประกันสังคม

 
ปลดล็อค….การบริหารงานสำนักงานประกันสังคม
 
     การบริหารของสำนักงานประกันสังคม ได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องมาโดยตลอด  ในปัจจุบันมีความเห็นจากสังคมว่าน่าจะการปรับปรุงการบริหารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพโดยเฉพาะการบริหารกองทุน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลักๆ ที่พอจะรวบรวมความคิดเห็นได้ดังนี้
  1. ขาดอิสระในการบริหารงาน
  2. ระเบียบราชการเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานโดยเฉพาะงานบางส่วนที่ต้องมีความรวดเร็วในการตัดสินใจ
  3. ผู้บริหารไม่ใช่มืออาชีพ
  4. คณะกรรมการมิใช่ผู้แทนที่แท้จริงของกลุ่มและไม่ใช่ผู้มีความรู้ในสาขาที่กำหนดอย่างแท้จริง
    จากเหตุผลดังกล่าวสำนักงานประกันสังคมในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบในการบริหารงานจึงทำการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบองค์กรที่เหมาะสม จากข้อระเบียบกฎหมาย  งานทางวิชาการ ตัวอย่างการบริหารงานประกันสังคมจากต่างประเทศ  และได้รับทราบว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
  1. ให้สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐไม่เป็นส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ
  2. กรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง มาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนและนายจ้าง
  3. รายได้และทรัพย์สินของสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงาน
  4. เลขาธิการมาจากการสรรหา
  5. เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานมิใช่ข้าราชการโดยให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดิม
     จากการศึกษาดังกล่าว จึงมีข้อสรุปให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเดิมและยกร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรอิสระ โดยใช้ร่างพระราชบัญญัติฯ  ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแห่งชาติเป็นหลักในการประกอบการพิจารณายกร่าง  ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม  พ.ศ.  2533  สรุปสาระสำคัญดังนี้
  1. ให้สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ  โดยมีอำนาจหน้าที่ภารกิจ  ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนและสามารถจัดตั้งมิติบุคคลอื่นดำเนินกิจการตามกฎหมายประกันสังคม  กฎหมายเงินทดแทนหรือกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์แก่กิจการของสำนักงาน
  2. ให้มีสมัชชา ที่มาจากการเลือกตั้งของนายจ้าง และ ผู้ประกันตน เพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้าง  ฝ่ายผู้ประกันตน  ทำหน้าที่คัดเลือกคณะกรรมการทุกคณะ  และสรรหาเลขาธิการ  โดยในจังหวัดหนึ่งต้องมีสมาชิกสมัชชา  เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละฝ่ายไม่น้อยกว่าฝ่ายละหนึ่งคน
  3. แก้ไของค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ คุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม  คณะกรรมการการแพทย์  และ คณะกรรมการอุทธรณ์
  4. ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่กำกับ ควบคุมกระบวนการตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน  และ ระบบบริหารความเสี่ยง  รวมทั้งการออกระเบียบ  หรือ ประกาศ หรือมาตรการที่เกี่ยวข้อง
  5. ให้มีคณะกรรมการการลงทุน เพื่อทำหน้าที่วางระเบียบเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน  ให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การลงทุน  ตลอดจนการศึกษาวิเคราะห์  และ อนุมัติแผนการลงทุน
     การแก้ไขกฎหมายต้องผ่านด่านอีกหลายด่านตามระเบียบ   ขั้นตอนการเสนอกฎหมายของราชการ  จะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ไม่มีใครทราบได้  แต่หากย้อนกลับไปศึกษาการดำเนินงานในอดีตเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วเห็นว่าคงเป็นหนังชีวิตแน่นอน  เพราะแนวคิดที่จะให้สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบพิเศษมีมานาน  อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2540  และถูกดำเนินการตามวัฒนธรรมองค์กรราชการ มีเหตุการณ์สำคัญที่ขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ
 
  • 2540  บริษัทที่ปรึกษาเสนอให้สปส.เปลี่ยนรูปแบบการบริหารเป็นหน่วยงานพิเศษ  
  • 2544
    • อกพ.  โครงสร้างด้านสังคมมีมติเป็นนโยบายให้ สปส.เปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์การมหาชน
    • จ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษา  เสนอให้สปส.  ควรเป็นองค์การมหาชนโดยตรา  เป็น พ.ร.บ.จัดตั้งเป็นการเฉพาะ
  • 2545 ก.พ. หารือร่วมกระทรวงแรงงาน  เกี่ยวกับโครงสร้างกระทรวง  กำหนดให้ สปส. เป็นองค์การมหาชน  ได้รับรายงานว่ากำลังศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 30 พ.ค. 2546 รองนายกรัฐมนตรี  (วิษณุ  เครืองาม)  สอบถามความก้าวหน้า  เรื่องการจัดตั้ง สปส.เป็นองค์การมหาชน  ได้รับรายงานว่ากำลังศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 2547 คณะกรรมการประกันสังคมตั้งคณะกรรมการศึกษากำหนดโครงสร้างสำนักบริหารการลงทุน  ต่อมา  เห็นว่าควรให้กองทุนประกันสังคมเป็นนิติบุคคล
  • 2551 สปส. ตั้งคณะทำงานศึกษากำหนดรูปแบบองค์การที่เหมาะสม หากนำอดีตมาเป็นบทเรียนแล้วเชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะรอหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคม  กระทรวงแรงงานผลักดันให้กฎหมายนี้สำเร็จมาบังคับใช้ได้  แต่พวกเราผู้ประกันตนที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า  9  ล้านคน  จะยอมรอให้เรื่องนี้ผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไรเลยหรือ  ถึงเวลาแล้วหรือยัง?  ที่จะใช้พลังที่มีอยู่ผลักดันให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นแก่สังคมผู้ประกันตน ด้วยสองมือเรา
โดย  กอบ  เสือพยัคฆ์ ประกันสังคมจังหวัดน่าน