บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
13 มกราคม 2558
สำหรับคนที่เฝ้าจับตาดูการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….จำนวน 18 คน ที่แต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ย่อมลุ้นระทึกมิใช่น้อยว่า “หน้าตาร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่” จะคลอดออกมาด้วย “รูปโฉมโนมพันธุ์” อย่างไร เพราะวันที่ 12 มกราคม 2558 คือ วัน “ดีเดย์” ในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่พิจารณามาแล้วร่วม 10 ครั้ง ซึ่งวันดังกล่าวคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาครบทุกมาตราเรียบร้อยแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานเพื่อจะได้มีหลักประกันทางสังคมที่ดี มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกทั้งเต็มไปด้วยขวากหนามระหว่างทางเดินเสมอมา รูปธรรมที่เห็นได้ชัด สมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 21 มีนาคม 2556 ปฏิเสธไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ ที่เป็นผลมาจากเสนอกฎหมายโดยตรงของผู้ใช้แรงงาน นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านส่วนใหญ่ก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟากรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยแทบทั้งนั้น
หลังจากนั้นความพยายามของผู้ใช้แรงงานไม่ได้ถดถอย นับตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา พวกเขาและเธอต่างรวมตัวกันอีกครั้งในนามของ “เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร”[1] นำเสนอหลักการ 4 ประการ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประกันสังคมคนทำงานให้ถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรม ประกอบด้วย (1) หลักความครอบคลุมผู้ทำงานทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (2) หลักความเป็นอิสระในการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ และยึดหลักธรรมาภิบาล โดยต้องบูรณาการเพื่อประสานสิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการที่เชื่อมโยง (3) หลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ (4) หลักความยืดหยุ่น เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสามารถออกแบบและปรับปรุงกองทุนให้เหมาะสม
ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อกันยายน 2557 มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาเป็นระยะๆจากกระทรวงแรงงาน ว่ากำลังเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับแก้ไขเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากเป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับที่ สนช. เร่งรัดให้เกิดขึ้น
แต่นั้นเองผู้ใช้แรงงานในฐานะเจ้าของเงินที่ต้องส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมทุกเดือน กลับไม่มีโอกาสได้เห็นร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ก่อน นอกจากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวง และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นระยะๆ จวบจนมาถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…..ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้นำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อ 21 ตุลาคม 2557 ซึ่งก็พบว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน โดยเฉพาะการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมที่ยังไม่มีความเป็นอิสระ ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และรวมถึงความไม่ครอบคลุมทั่วถึงในการคุ้มครองแรงงานทุกคน
แม้เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร จะมีการยื่นหนังสือถึงประธาน สนช. ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 เพื่อขอให้ชะลอการนำร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาของสนช. และเสนอให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านก่อน แต่ก็มิได้มีผลเปลี่ยนแปลงความเร่งด่วนนี้แต่อย่างใด
เพราะรุ่งขึ้น 31 ตุลาคม 2557 หรืออีก 10 วันต่อมาจากวันที่ครม.เห็นชอบ สนช. ได้มีมติวาระ1 รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….จำนวน 18 คน ได้แก่
- พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร และทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษธำรง ทัศนาญชลี
- พลเอกมารุต ปัชโชตะสิงห์
- นายสุรเดช วลีอิทธิกุล
- นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
- นายชูศักดิ์ จันทยานนท์
- นายมนัส โกศล
- พลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ
- นายเจตน์ ศิรธรานนท์
- นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
- นายอิสระ ว่องกุศลกิจ
- นายโกวิท สัจจวิเศษ
- นายประเวศ อรรถศุภผล
- นายศุภชีพ ดิษเทศ
- นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล
- นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา
- นายอนุชา รัตนสินธุ์
- นางสาวอรุณี ศรีโต
โดยคณะกรรมาธิการฯมีการประชุมมาแล้วรวม 10 ครั้ง คือ วันที่ 7, 10, 17, 24 พฤศจิกายน วันที่ 1, 8, 15, 22 ธันวาคม 2557 วันที่ 5 และ 12 มกราคม 2558 และจะมีการประชุมอีก 2 ครั้งในวันที่ 19 มกราคม 2558 เพื่อให้ผู้ที่เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงในแต่ละมาตราที่ได้ขอแปรญัตติไว้ และในวันที่ 26 มกราคม 2558 จะเป็นการพิจารณาสรุปภาพรวมร่างกฎหมายประกันสังคมทั้งฉบับอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อ สนช. เพื่อนำสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไป
เมื่อมาพิจารณาสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ สนช. รับหลักการวาระ 1 พบว่ามีความแตกต่างจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 รวม 25 เรื่อง ดังนี้
- มีการขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ รวมถึงครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้)
- แก้ไขคำว่า “ลูกจ้าง” ให้มีความหมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นลูกจ้างที่ทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย)
- แก้ไขคำว่า “ทุพพลภาพ” ให้หมายถึง การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการแพทย์ (กฎหมายเดิมระบุเพียงว่าต้องไม่สามารถทำงานได้เพียงเท่านั้น)
- แก้ไขคำว่า “ว่างงาน” ให้จำกัดเฉพาะกรณีการถูกเลิกจ้างเท่านั้น (กฎหมายเดิมรวมทุกกรณีที่สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง)
- เพิ่มเติมคำว่า “ภัยพิบัติ” ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนขึ้น โดยหมายถึงทั้งภัยธรรมชาติและมีผู้ทำให้เกิดขึ้น เพื่อกำหนดขอบเขตการได้รับลดหย่อนการออกเงินสมทบ (กฎหมายเดิมไม่มี)
- แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคม ให้ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 6 คน ที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้กรรมการต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน (กฎหมายเดิมกำหนดผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 5 คน และไม่ได้ระบุเรื่องที่มาจากการเลือกตั้งไว้ รวมทั้งกรรมการไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน)
- แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ โดยเพิ่มเติมเรื่องคณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพิ่มขึ้นมาอีกข้อ (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่มีการระบุไว้)
- กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นที่ปรึกษาไม่เกิน 7 คน โดยการสรรหาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี ในด้านการเงินการคลัง ด้านระบบงานประกันสังคม ด้านการบริหารการลงทุน ด้านบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและด้านเศรษฐศาสตร์ (กฎหมายเดิมกำหนดผู้ทรงวุฒิจำนวนไม่เกิน 5 คน และมาจากด้านประกันสังคม แรงงาน การแพทย์ กฎหมาย และอื่นๆ)
- แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการการแพทย์ ให้ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 16 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ หรือในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขหรือด้านการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล โดยให้ผู้แทนสำนักงานประกัน สังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดเพียงรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆเท่านั้น)
- เพิ่มเติมเรื่องการให้กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการตามหลักสากล มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ(กฎหมาย 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
- กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ เพื่อประโยชน์ของกองทุนได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
- ขยายความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน (กฎหมายเดิมกำหนดไว้แค่เฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 เท่านั้นที่จะสมัครเข้ามาตรา 40 ได้ และไม่มีการกำหนดอัตราเงินสมทบของรัฐบาลว่าจะต้องสมทบจำนวนเท่าใด)
- รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนได้ ในกรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
- กำหนดการคำนวณเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระเงินสมทบทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของลูกจ้าง โดยกำหนดให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องจำนวนเงินสมทบสุทธิที่นายจ้างต้องจ่าย)
- ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน ไม่เป็นการตัดสิทธิจากกฎหมายอื่นๆที่ต้องได้รับอยู่แล้วด้วย และสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เพื่อให้หลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
- ขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเป็น 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดไว้เพียง 1 ปี)
- แก้ไขอัตราจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ สำหรับการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33(กฎหมายเดิมเป็นการนำค่าจ้างสูงสุด 3 เดือนภายในระยะเวลา 9 เดือน มาคำนวณ แต่กฎหมายใหม่แก้ไขจาก 9 เดือน เป็น 15 เดือน)
- ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสหรือบุตรของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งจงใจทำให้ตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือตาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นเรื่องนี้ไว้)
- ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้ครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย (กฎหมายเดิมไม่มีเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค)
- ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และการทุพพลภาพนั้นมีระดับความสูญเสียรุนแรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตลอดชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
- กำหนดประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน ทั้งนี้บุตรดังกล่าวต้องไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น (กฎหมายเดิมระบุว่าต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กฎหมายใหม่ตัดประโยค “ชอบด้วยกฎหมาย” ออกไป)
- กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
- ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
- ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)
- ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเสียชีวิต มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเสียชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ระบุเพียงเรื่องทุพพลภาพเท่านั้น)
ทั้งนี้ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณามาแล้วรวม 10 ครั้ง พบว่า มีการแก้ไขร่างกฎหมายประกันสังคม ซึ่งแตกต่างจากฉบับที่รับหลักการในวาระ 1 รวม 12 เรื่อง[2] โดยสามารถแสดงเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนได้ในรูปตาราง ดังนี้
ข้อ | สาระสำคัญที่กำหนดไว้ในร่าง กฎหมายฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วาระ 1 |
สาระสำคัญใหม่ที่ถูกแก้ไข คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ |
(1) | มีการขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ รวมถึงครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้) | มีการเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นี้ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม (นอกเหนือจาก 2 กลุ่มตามตารางด้านซ้ายมือ) คือ กลุ่มลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและต้องไปประจำทำงานในต่างประเทศทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศสามารถเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายไทยลูกจ้างจะได้รับมากกว่ากองทุนประกันสังคมจากต่างประเทศ (กฎหมายฉบับ 2533 ได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้) |
(2) | แก้ไขคำว่า “ลูกจ้าง” ให้มีความหมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นลูกจ้างที่ทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย) | ไม่มีการแก้ไข |
(3) | แก้ไขคำว่า “ทุพพลภาพ” ให้หมายถึง การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการแพทย์ (กฎหมายเดิมระบุเพียงว่าต้องไม่สามารถทำงานได้เพียงเท่านั้น) | ไม่มีการแก้ไข |
(4) | แก้ไขคำว่า “ว่างงาน” ให้จำกัดเฉพาะกรณีการถูกเลิกจ้างเท่านั้น (กฎหมายเดิมรวมทุกกรณีที่สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง) | แก้ไขนิยามคำว่า “ว่างงาน” โดยแก้ไขใหม่เป็นว่า เพราะเหตุลูกจ้างถูกเลิกจ้าง หรือเหตุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เหตุผลที่แก้ไข คือ ถ้าบัญญัติเฉพาะกรณีเลิกจ้างเพียงประการเดียว จะเป็นการลอนสิทธิที่มีอยู่เดิมของลูกจ้าง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกัน ตน จึงเพิ่มเติมถ้อยคำนี้เข้ามาและให้กำหนดเป็นกฎกระทรวงต่อไป |
(5) | เพิ่มเติมคำว่า “ภัยพิบัติ” ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนขึ้น โดยหมายถึงทั้งภัยธรรมชาติและมีผู้ทำให้เกิดขึ้น เพื่อกำหนดขอบเขตการได้รับลดหย่อนการออกเงินสมทบ (กฎหมายเดิมไม่มี) | ไม่มีการแก้ไข |
(6) | แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคม ให้ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 6 คน ที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้กรรมการต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน (กฎหมายเดิมกำหนดผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 5 คน และไม่ได้ระบุเรื่องที่มาจากการเลือกตั้งไว้ รวมทั้งกรรมการไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน) | องค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคม ให้เพิ่มเติมผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาอีก 1 ตำแหน่งจากองค์ประกอบเดิมที่ระบุไว้แล้ว เพราะเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบในการส่งเสริมดูแลเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการและสำหรับในส่วนผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เพิ่มเป็นฝ่ายละ 7 คน (เนื่องจากมีการเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐเป็น 7 คน ทำให้ต้องเพิ่มตัวแทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเข้าไปด้วย)อีกทั้งผู้แทนทั้ง 2 กลุ่มนี้ที่มาจากการเลือกตั้งให้คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนร่วมด้วย |
(7) | แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ โดยเพิ่มเติมเรื่องคณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพิ่มขึ้นมาอีกข้อ (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่มีการระบุไว้) | การพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ แก้ไขใหม่เป็น ด้วยคะแนนเสียงที่เกินกึ่งหนึ่งของกรรมการที่มีอยู่ ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด |
(8) | กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นที่ปรึกษาไม่เกิน 7 คน โดยการสรรหาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี ในด้านการเงินการคลัง ด้านระบบงานประกันสังคม ด้านการบริหารการลงทุน ด้านบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและด้านเศรษฐศาสตร์ (กฎหมายเดิมกำหนดผู้ทรงวุฒิจำนวนไม่เกิน 5 คน และมาจากด้านประกันสังคม แรงงาน การแพทย์ กฎหมาย และอื่นๆ) | ไม่มีการแก้ไข |
(9) | แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการการแพทย์ ให้ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 16 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ หรือในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขหรือด้านการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล โดยให้ผู้แทนสำนักงานประกัน สังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดเพียงรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆเท่านั้น) | คณะกรรมการการแพทย์ให้แต่งตั้งผ่านวิธีการสรรหา เพื่อไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและให้เพิ่มผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 1 คน เข้าร่วมเป็นกรรมการการแพทย์ด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นมิติทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนในรายละเอียดเชิงลึกแก่คณะกรรมการการแพทย์ (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้) |
(10) | เพิ่มเติมข้อความเรื่อง กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการตามหลักสากล มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ(กฎหมาย 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) | มีการแก้ไขถ้อยคำใหม่เป็น กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กองทุนตามมาตรฐานการบัญชี มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆทั้งนี้ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสได้มาตรฐาน และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด |
(11) | กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ เพื่อประโยชน์ของกองทุนได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) | ไม่มีการแก้ไข |
(12) | ขยายความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากยิ่งขึ้นและเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน (กฎหมายเดิมกำหนดไว้แค่เฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 เท่านั้นที่จะสมัครเข้ามาตรา 40 ได้ และไม่มีการกำหนดอัตราเงินสมทบของรัฐบาลว่าจะต้องสมทบจำนวนเท่าใด) | แก้ไขเฉพาะในเรื่อง การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน |
(13) | รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกัน ตนได้ ในกรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) | ไม่มีการแก้ไข |
(14) | กำหนดการคำนวณเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระเงินสมทบทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของลูกจ้าง โดยกำหนดให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องจำนวนเงินสมทบสุทธิที่นายจ้างต้องจ่าย) | ไม่มีการแก้ไข |
(15) | ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน ไม่เป็นการตัดสิทธิจากกฎหมายอื่นๆที่ต้องได้รับอยู่แล้วด้วย และสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เพื่อให้หลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) | ไม่มีการแก้ไข |
(16) | ขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเป็น 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดไว้เพียง 1 ปี) | ไม่มีการแก้ไข |
(17) | แก้ไขอัตราจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ สำหรับการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยแก้ไขใหม่จาก 9 เดือนเป็น 15 เดือน (กฎหมายเดิมเป็นการนำค่าจ้างสูงสุด 3 เดือนภายในระยะเวลา 9 เดือน มาคำนวณ) | ไม่มีการแก้ไข |
(18) | ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสหรือบุตรของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งจงใจทำให้ตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือตาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นเรื่องนี้ไว้) | ไม่มีการแก้ไข |
(19) | ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้ครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย (กฎหมายเดิมไม่มีเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค) | ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ในส่วนค่าบำบัดทางการแพทย์ ให้เพิ่มค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ เข้ามาด้วยรวมทั้งให้เพิ่มเรื่อง ค่าใช้จ่ายเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสำนักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว ให้สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทำผิดได้เหตุผลเพื่อไม่ต้องรอการพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้ถูกหรือผิด (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้) มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับสิทธิประกันสังคมให้สามารถใช้สิทธิในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ |
(20) | สิทธิประโยชน์ในกรณีคลอดบุตร กฎหมายฉบับ พ.ศ. 2533 ระบุไว้ว่าผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนหมายเหตุ : มาตรานี้คงไว้ตามกฎหมายเดิม ฉบับที่เข้า สนช. ไม่มีการแก้ไขใหม่ แต่คณะกรรมาธิการฯขอแก้ไขเอง | ขอแก้ไขใหม่เป็น จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 5 เดือน รวมทั้งให้ตัดประโยชน์ทดแทนที่กำหนดไว้ว่าคลอดบุตรได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้นออก (เนื่องจากประชากรของประเทศลดลงอย่างมาก และขาดแคลนวัยแรงงาน จึงไม่ควรกำหนดจำนวนบุตรไว้) |
(21) | ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และการทุพพลภาพนั้นมีระดับความสูญเสียรุนแรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตลอดชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) | ไม่มีการแก้ไข |
(22) | กำหนดประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน ทั้งนี้บุตรดังกล่าวต้องไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น (กฎหมายเดิมระบุว่าต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กฎหมายใหม่ตัดประโยค “ชอบด้วยกฎหมาย” ออกไป) | ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร จำนวนคราละไม่เกิน 2 คน ขอแก้ไขใหม่เป็น 3 คน (เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนมีบุตรเพิ่มขึ้น) |
(23) |
กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) |
ขอตัดถ้อยคำที่ว่า “กรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย” ออกไป โดยเห็นว่ามีความแตกต่างและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยที่ไม่สามารถขอรับได้ ซึ่งจะขอรับได้เมื่ออายุ 55 ปี |
(24) | ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) | กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ ให้มีสถานะเป็น “ทายาท” เหมือนกับทายาทผู้มีสิทธิ ซึ่งได้แก่ บุตร สามีหรือภรรยา บิดาและมารดา โดยให้ได้รับ 1 ส่วน (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้) |
(25) | ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) | ไม่มีการแก้ไข |
(26) | ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเสียชีวิต มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเสียชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ระบุเพียงเรื่องทุพพลภาพเท่านั้น) | ไม่มีการแก้ไข |
อย่างไรก็ตามทั้ง 12 เรื่องนี้ เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการฯเท่านั้น ซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติ อีกทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเองก็ยังเหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง และจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระ 2 และ 3 เพื่อพิจารณา ซึ่งแน่นอนย่อมมีการปรับแก้ไขต่อไป
ถ้าถามว่า “มีอะไรใหม่บ้าง” ในร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกเหนือจากในเรื่องของประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกันตน ทั้งการขยายความคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น ได้แก่ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ, คนทำงานบ้านที่มิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย, กลุ่มลูกจ้างที่ไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงในกลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆที่นอกเหนือจากที่กฎหมายประกันสังคมได้ระบุไว้ กับการเพิ่มสิทธิประโยชน์และลดหรือยกเลิกเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิแก่ผู้ประกันหรือผู้มีสิทธิเท่านั้น นอกนั้นแล้วก็เป็นเพียงการปรับปรุงองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษา กรรมการการแพทย์ การเพิ่มเติมกรรมการตรวจสอบ และกำหนดบทบัญญัติในการลดหย่อนเงินสมทบในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อลดรายจ่ายให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตน
พบว่า มี 4 เรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งและควรพึงพิจารณาต่อในเชิงรายละเอียด ได้แก่
- การเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบเข้ามาอีกคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารกองทุนให้เกิดความโปร่งใส แต่ทั้งนี้การได้มาของคณะกรรมการนั้นก็ยังคงเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด
- ผู้แทนที่มาจากฝ่ายลูกจ้างกับฝ่ายนายจ้างให้มาจากการเลือกตั้ง โดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้แทนทั้ง 2 กลุ่มร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ระเบียบการได้มาก็เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด
- กรณีของเงินสมทบของผู้ประกันตนในมาตรา 40 ที่ผ่านมานั้น เครือข่ายแรงงานนอกระบบได้มีการเรียกร้องเสมอมา ให้มีการปรับแก้ไขอัตราเงินสมทบของรัฐให้ได้สัดส่วนที่เป็นธรรมกับที่ผู้ประกันตนสมทบ แต่ทุกครั้งของการพิจารณาในรัฐสภายามที่มีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม กลับไม่สามารถผลักดันประเด็นนี้ได้เลย และนี้อาจเป็นครั้งแรกที่มีการแก้ไขให้อัตราเงินสมทบของมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
- ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ซึ่งในกฎหมายเดิมฉบับปี 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ และส่งผลต่อผู้ประกันตนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานในระบบที่นายจ้างประสบอุทกภัยเมื่อปี 2554 และต้องปิดโรงงาน หรือกรณีในกลุ่มลูกจ้างที่นัดหยุดงานหรือถูกปิดงานจากนายจ้างอันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ต้องหยุดงานเป็นเวลานานและไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นผู้ว่างงาน แต่กลับไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวนี้
แต่กลับเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งว่า สำหรับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติแล้ว แม้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน นักวิชาการ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGos) ได้มีงานศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการจ้างงานในประเทศไทยเพียง 4 ปี และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ขาดโอกาสในการเข้าถึงประโยชน์ทดแทนชราภาพ
โดยได้กำหนดไว้ในมาตรา 77 ทวิ ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนและความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 และ 41 ให้ผู้นั้นได้รับเงินบำเหน็จ” เนื่องจากต้องรอให้อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อน จึงจะสามารถรับเงินสะสมดังกล่าวนั้นได้
สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำมาสู่การแก้ไขในฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในครั้งนี้ แต่กลับพบว่านายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอตัดถ้อยคำที่ว่า “กรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย” ออกไป โดยเห็นว่ามีความแตกต่างและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยที่ไม่สามารถขอรับได้ ซึ่งจะขอรับได้เมื่ออายุ 55 ปี
กล่าวได้ว่านี้จึงเป็นหลักการที่ขัดแย้งกับเรื่อง “คนทำงานทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยที่มีรายได้ ควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีหลักประกันสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ทั้งนี้เงื่อนไขในการเกิดสิทธิควรมีความแตกต่างกันตามความเหมาะสม กับเงื่อนไขการจ้างงานและการมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยระหว่างการจ้างงานจนสิ้นสุดการจ้างงาน” เป็นสำคัญ
และนี้เป็นเรื่องที่จักต้องหาทางออก เพื่อสร้างความสมดุลและความเป็นธรรมให้กับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติให้สามารถเข้าถึงประโยชน์ทดแทนบำนาญชราภาพได้ต่อไป
นอกจากนั้นแล้วมีความจำเป็นต้องตระหนักอย่างยิ่งยวดด้วยว่า แท้จริงแล้วปัญหาสำคัญของกองทุนประกันสังคม คือ การบริหารจัดการโดยภาคราชการที่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง ไม่มีการกระจายอำนาจตามหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่ยังขาดความเป็นมืออาชีพ แม้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเข้ามาอีกคณะหนึ่งแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นหลักประกันที่จะแสดงให้เห็นถึงการบริหารงานที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งก็ยังไม่มีคณะกรรมการการลงทุนที่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
นี้ยังไม่ต้องพูดถึงความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคมที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ที่พร้อมจะเข้ามา “ล้วงลูกและครอบงำการบริหารงานผ่านประธานกรรมการประกันสังคมได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ยังคงเป็นปลัดกระทรวงแรงงานอยู่เหมือนเดิม” ซึ่งประเด็นต่างๆที่เป็น “หัวใจสำคัญ” นี้ กลับไม่ถูกหยิกยกมากล่าวถึงและได้รับความสำคัญในการพิจารณายุค สนช. แม้แต่น้อย
ท้ายที่สุดผู้ใช้แรงงานมีอะไรเป็นทางเลือกได้บ้างในยุคที่ประเทศไทยยังคงใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2557 ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ “ผู้ใช้แรงงาน” ต้องร่วมกันแสวงหามาตรการต่างๆ เพื่อแสดงให้บุคคลต่างๆที่มาทำหน้าที่ในรัฐสภาในนามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พึงตระหนักว่าสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ 2540 จนมาถึง 2550 ที่มุ่งหมายให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และให้ความสำคัญจนกำหนดเป็นหมวดว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเป็นช่องทางหรือประตูสำคัญในการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ด้วยตนเอง เพื่อยืนยันการเข้าถึงสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชนที่ต้องสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่มาจาก “สนช. สปช. ประทาน” เพียงเท่านั้น
—————————————-
[1] เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร ประกอบด้วย 1. สภาแรงงานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย 2. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 3. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ 4. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ 5. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 6. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 7. มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน 8. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 9. มูลนิธิเพื่อนหญิง 10. สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 11. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ 12. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย 13. มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 14. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
[2] ผู้เขียนสรุปประเด็นทั้ง 12 เรื่อง จากการอ่านเอกสารสรุปการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….รวม 10 ครั้งที่ผ่านมา เป็นสำคัญ