ประสานเสียง เสนอนโยบายสวัสดิการเด็กให้ชัดเจน ชี้รัฐธรรมนูญควรระบุหน้าที่รัฐให้ดูแลเด็กเล็ก

ประสานเสียง เรียกร้องรัฐ กำหนดนโยบายสวัสดิการเด็กให้ชัดเจน ชี้รัฐธรรมนูญควรระบุหน้าที่ของรัฐในการดูแลเด็กเล็ก

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ณ จังหวัดขอนแก่น  คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้จัดเวทีเสวนา เพื่อขับเคลื่อนและทวงถามความคืบหน้าถึงนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ในหัวข้อ “รัฐบาลใหม่ ถึงเวลาสวัสดิการถ้วนหน้าหรือยัง ?”  ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น   โดยในเวทีฯ นี้ได้แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรก เป็นการนำเสนอข้อมูลจากนักวิชาการและคนทำงานในพื้นที่ ในหัวข้อ “ทำไมต้อง….สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ในช่วงแรก

 มีนา  ดวงราศี  จากมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน ในฐานะผู้ประสานงานพื้นที่นำร่อง กล่าวว่า มูลนิธิฯ เห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการและสวัสดิการสังคม เป็นเรื่องที่รัฐต้องเขียนให้ชัดเจนในกฎหมาย และต้องเป็นสิทธิไม่ใช่การสงเคราะห์   โดยประเด็นที่มูลนิธิร่วมทำด้วย เริ่มตั้งแต่คัดเลือกพื้นที่นำร่อง เป็นพื้นที่เล็กๆ ในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ชาวบ้านพูดภาษาขะแมร์ มูลนิธิฯ เริ่มด้วยการทำแผนที่เดินดินในหมู่บ้าน  จัดเก็บข้อมูลเด็กในศูนย์พัฒนา เด็กในพื้นที่เทศบาลตำบลสังขะ พ.ศ. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น  165 คน  ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ ระบุว่า มีเด็กได้รับเงินอุดหนุน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 71.87 ไม่ได้รับเงินอุดหนุน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 28.12   เด็ก 6 คน ครอบครัวมีรายได้เกินเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 66.67 และมี 3 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ คิดเป็นร้อยละ 33.37

มีนา ในฐานะผู้ทำงานในพื้นที่ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ส่วนใหญ่เด็กๆ ในพื้นที่ จะอาศัยอยู่กับ ปู่ ย่า ตายาย ในจำนวนนี้ มีแม่เลี้ยงเดี่ยว 3 ครอบครัว  คิดเป็นร้อยละ 9.3 ครอบครัวมีหนี้สิน จำนวน 19 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 59.37 และไม่มีหนี้สิน 10 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 40.63  ส่วนจำนวนสมาชิกในครอบครัว มากที่สุด 4 คน ร้อยละ 43.33 รองลงมา 6 คน คิดเป็นร้อยละ 18.75 ในขณะที่อาชีพของผู้ปกครอง ส่วนใหญ่จะรับราชการ / พนักงานของรัฐ  ค้าขายและลูกจ้างตามลำดับ

 อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กๆในพื้นที่มีพัฒนากรช้า เนื่องจากส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน กลุ่มเด็กที่มารดามีการศึกษาน้อย และหัวหน้าครอบครัวไม่พูดภาษาไทย

“เด็กเล็กในกลุ่มนี้จะมีภาวะทุพโภชนาการมากกว่าเด็กที่มีฐานะดี และยังเข้าถึงสื่อการศึกษาได้น้อยด้วย  ซึ่งพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัยสัมพันธ์กับฐานะทางครอบครัวของเด็ก”   

ทั้งนี้จากการสำรวจการใช้จ่ายของครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ประกอบด้วย นม ค่าขนม อาหารเสริม ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเดินทางไปหาหมอ เสื้อผ้าเด็ก ของเล่นเสริมพัฒนาการ แพมเพิส

ธารยา พยาบาลวิชาชีพ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ หรือ รพสต.  กล่าวว่า  ปัญหาที่พบในพื้นที่ จากการคัดกรองเด็ก 100 คน จะพบเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่น ท้องไม่พร้อม มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ กลายเป็นโรคซึมเศร้า ส่งผลให้เด็กโตมาเป็นเด็กก้าวร้าว ภาวะโภชนาการไม่ดี ซึ่งเงิน 600 บาทนี้ แม้จะน้อยแต่ก็มีความสำคัญกับเด็ก ซึ่งเด็กในพื้นที่ 80 % ได้สิทธิ แต่ยังมีอีก 20 เปอร์เซนต์ ยังตกหล่น

ในขณะที่ นิตติยาพร คำใบ  ผู้แทนจากพื้นที่ริมรางรถไฟ เขตเทศบาลขอนแก่น  กล่าวว่า ในพื้นที่ริมทางรถไฟ มีศูนย์เลี้ยงเด็ก ชื่อ “ศูนย์เด็กทุ่งทอง” ซึ่งนอกจากทำงานด้านเด็กแล้ว ยังทำงานประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนด้วย ได้ กล่าวย้ำว่า  การมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม  เงิน 600 บาท ไม่ได้มากนัก ในขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ เด็กเล็กที่สุดที่รับมาดูแล คือ 1 เดือน

“เด็กเลกที่สุดที่รับมาเลี้ยง อายุ 1 เดือน แม่เค้าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว  ค่าใช้จ่ายของเด็กๆ ตั้งแต่ 0-6 ปี ต้องกินนมผงจำนวนมาก เดือนนึงค่านมผง 3,000 บาท และยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีก”  

ด้าน พิณทอง เล่ห์กันต์  นักวิจัยและประเมินผลอิสระ ถามถึงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่อาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้สังคมมี พ่อแม่วัยใส ที่ติดยาเสพติด เป็นโรคซึมเศร้า ผูกคอตาย เพราะไม่มีเงินเลี้ยงลูก

จากนั้นเป็นเวทีเสวนา  “รัฐบาลใหม่ ถึงเวลาสวัสดิการถ้วนหน้าหรือยัง ?”  โดยผู้เสวนาจากพรรคการเมือง และภาคเอกชน ที่ทำงานในการผลักดันนโยบายนี้

คณะทำงานฯ เผย รัฐยังไม่ให้ความสำคัญนโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก

สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้นำเสนอข้อเท็จจริง ว่า หากจะพิจารณากลุ่มเปราะบางในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น  กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กเรียนฟรี ทุกกลุ่มได้สวัสดิการถ้วนหน้าครบทุกกลุ่ม ยกเว้นเด็กเล็ก 0-6 ปี ที่ไม่ได้ถ้วนหน้า โดยให้เฉพาะเด็กที่จน แต่ถึงแม้จะให้เฉพาะเด็กที่จน แต่ก็ยังมีเด็กที่ตกหล่น ไม่ได้รับเงิน เพราะรัฐไม่มีข้อมูลรายได้ของประชากรทุกคน ดังนั้น ข้อเสนอ ของคณะทำงานที่มาจากการทำงานกับพี่น้องทั่วประเทศ กล่าวย้ำว่า จึงเสนอให้สวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า  ตั้งแต่ท้อง – 6 ปี ในจำนวนเงิน  3,000 บาท  ส่วนศูนย์เด็กเล็กที่ดูแลเด็กก่อนวัยเรียน ขอให้เริ่มจากเด็กอายุ 6 เดือน – 6 ปี  ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของพ่อแม่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม  ประธานคณะทำงานฯ  กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะให้น้อยกว่า 3,000 บาท ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ขอให้รัฐบาลพิจารณาให้เป็นแบบถ้วนหน้า ให้ทุกครอบครัวได้รับเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลงเรื่อยๆ หากมีนโยบายแบบถ้วนหน้า น่าจะจัดสรรงบประมาณได้เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่อง ศูนย์เด็กเล็กมีประมาณ 50,000 กว่าแห่งในประเทศ แต่รับเด็กได้เพียง 2 ล้านคน คำถามเหมือนเดิมคือ เด็กที่เหลืออีก 2 ล้านคนอยู่ที่ไหน ไม่ได้เข้าศูนย์เด็กเล็กที่รัฐดูแลสนับสนุน

“แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ รัฐบาลใหม่ชุดนี้ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเลย โดยรัฐบาลบอกว่าสวัสดิการเด็กเล็กยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ขอแก้เศรษฐกิจก่อน แต่รัฐบาลลืมไปว่า เด็กโตแล้วโตเลย ไม่สามารถจะให้ย้อนหลัง หรือแก้ปัญหาย้อนหลังได้ ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น คิดว่ามีพอ หากรัฐบาลตัดสินใจจะให้”

ตัวแทนเพื่อไทย ขอเวลา ย้ำรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับสวัสดิการเด็ก

มุกดา พงษ์สมบัติ  ผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า   รัฐบาลยังชัดเจนในประเด็นสวัสดิการเด็ก แต่เมื่อมีหลายพรรคเข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม  และพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลยังมีความเห็นไม่ตรงกันกับนโยบายนี้  ซึ่งในประเด็นดังกล่าวมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงต่าง ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน แต่อยากเรียนแบบนี้ว่า เราไม่ได้ทอดทิ้ง อยากให้ทุกฝ่ายมาคุยกันและขอให้รอเวลาและให้เวลากับรัฐบาล

ก้าวไกลเรียกร้องรัฐบาล วางแนวนโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก     

ในขณะที่  ศศินันท์   ธรรมนิฐินันท์  ส.ส.พรรคก้าวไกล  กล่าวว่า  ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมจะเข้าใจรัฐบาลผสม แต่สิ่งที่ประชาชนเห็นคืออยากให้รัฐบาลมีแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องของสวัวดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาลแต่อย่างใด ทั้งนี้ สิ่งที่ฝ่ายค้านทำได้คือ ตรวจสอบรัฐบาล ในการเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ก็พร้อมจะสนับสนุน  อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะมุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจ เงินสนับสนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดียิ่ง

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่ออีกว่า วันนี้ขอพูดในฐานะคุณแม่ลูกสอง และได้ศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ตั้งท้องลูกคนแรก เข้าใจแนวคิดที่ในการให้ความสำคัญกับเด็กเล็กตั้งแต่ 0-3 ปีแรก ว่ามีความสำคัญอย่างไร เด็กเล็กตั้งแต่ 0-3 ปีแรก เป็นการพัฒนาที่ Hardware  จากนั้นจะเป็นการพัฒนา Software หมายความว่า ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับเด็กตั้งแต่ 0-3 ปีแรก ไม่ว่าเราจะป้อนสิ่งที่ดีขนาดไหน ก็อาจจะไม่เข้าสมองเด็ก หรือเข้าก็เข้าได้ไม่ดีเท่าที่ควร  จากนั้นเลยเริ่มศึกษาสวัสดิการเกี่ยวกับเด็กและเจอนโยบายนี้ ซึ่งพบว่า แค่ 600 บาท นั้นไม่พอและยังถูกคัดกรองอีก ในการประชุมสภาฯ ล่าสุดได้มีการติดตามประเด็นเกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเล็ก เนื่องจากในช่วงหาเสียง หลายพรรคการเมืองมีการพูดเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กกันเยอะมาก แต่เมื่อไปเป็นรัฐบาลแล้ว กลับไม่มีการพูดเรื่องนี้เลย ซึ่งข้าใจว่าต้องรอ แต่อีกมุมหนึ่ง

รองนายก อบจ.ขอนแก่น เสนอแก้รธน. 60 ส่งเสริมพัฒนาเด็กเล็กตั้งแต่ 0-6 ขวบ

ด้าน ธาดา พรหมสาขา ณ สกลนคร  รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในขณะนี้โรงเรียนในสังกัด อบจ.ขอนแก่นในระดับปฐมวัยมีแนวทางในการดูแลเด็กๆ ให้มีความสุขในการมาโรงเรียนทั้งเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งในส่วนของสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า  ขอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน ท้องถิ่นพร้อมดำเนินการ ในสถานการณ์ปัจจุบันเห็นใจ พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของลูก ในอดีตเด็กเล็กในภาคอิสานกินกล้วยกับข้าวเหนียวได้ แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน

ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560   มุ่งเน้นให้ส่งเสริมการศึกษา ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึง 12 ปี แต่ไม่พูดถึงการพัฒนาเด็กเล็ก ตั้งแต่ในท้อง 0-6 ปี อาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายหรือนึกถึงเด็กในวัยดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

“ขอฝากทางพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาล หากจะแก้รัฐธรรมนูญขอให้เพิ่มประเด็นในการดูแลเด็กเล็กด้วย จะได้ไม่เป็นข้ออ้างให้กับหน่วยงานของรัฐ ขอให้เริ่มที่ถ้วนหน้าก่อน อาจจะในอัตรา 600 บาท จากนั้นขยับเพิ่มขึ้นตามงบประมาณ ซึ่งการใช้จ่ายเงินส่วนนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี”

หอการค้าจังหวัดขอนแก่น เน้นรัฐออกนโยบายให้สถานประกอบการทำ CSR ให้แม่และเด็ก

ส่วนภาคเอกชน มณิตา รัตนเกษมชัย รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า  อัตราการเกิดที่ลดลงของเด็ก ส่งผลถึงภาคแรงงานในอนาคต และส่งผลถึงภาคเศรษฐกิจในระยะยาว เด็กควรจะได้รับสวัสดิการที่ดี ถึงจะโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพที่ดีของสังคม เด็กในวัย 0-3 ปี เป็นระยะเวลาที่สำคัญ หรือต่อยอดไปถึงอายุ 7 ขวบ การให้สวัสดิการเด็ก คือการให้สวัสดิการแม่เด็กด้วย อย่างกรณีลาคลอดบุตร 3 เดือน ซึ่งหากไม่มีสวัสดิการที่ดี แม่ก็ต้องพยายามมาทำงาน คุณภาพของงานอาจจะไม่ค่อยดีนัก เป็นผลมาจากแม่ที่ยังไม่มีจิตใจอยากมาทำงาน

“หากรัฐบาลมีสวัสดิการแม่และเด็ก เช่นนโยบายให้หน่วยงานมีที่ให้นมบุตร พื้นที่สำหรับปั๊มนม สถานเด็กเล่นในที่ทำงาน โดยรัฐอาจจะใช้ช่องทาง CSR กับภาคเอกชน ในการเตรียมพื้นที่สำหรับแม่และเด็ก”

ภาคประชาชน ห่วงใยปัญหาเด็กรุนแรงมากขึ้น เร่งรัฐบาลมองปัญหาเด็กคลุมสวัสดิการทั้งระบบ

พรทิพย์ มังกร สมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะ จังหวัดสุรินทร์  ในฐานะที่เทศบาลตำบลสังขะเป็นเทศบาลนำร่องในการจัดการสวัสดิการเด็ก  เล่าว่า ปัญหาที่เราพบจากการทำงานในพื้นที่คือ พ่อแม่ทิ้งลูกไว้ให้ปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยง ปัญหาที่ตามมาคือปัญหาเศรษฐกิจ มีเพียงสวัสดิการผู้สูงอายุที่ผู้เฒ่า ผู้แก่เหล่านี้ได้รับ ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ในขณะที่สวัสดิการเด็กยังเข้าไม่ถึงทุกครอบครัว เพราะผู้สูงอายุไม่รู้เรื่องสวัสดิการเด็ก เทศบาลจะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปแนะนำ

“บางครอบครัวมีเด็ก 3 คน อายุตั้งแต่ 12 ปี 6 ปี และ 2 ปี ตามลำดับ ซึ่งคนเล็กอายุ 2 ปี ไม่ได้สวัสดิการเพราะ ตา ยาย ไม่รู้ว่าต้องแจ้งที่ใคร ส่วนคนโตบางครั้งไม่ได้ไปเรียน เพราะต้องเลี้ยงน้อง เพราะตากับยายต้องไปรับจ้าง อยากให้ทุกคนมองที่เด็ก เด็กทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่  ในทุกๆด้าน และต้องช่วยกันผลักดัน”

สอดคล้องกับ จิราภรณ์  จงสถิตรักษ์  ผู้แทนจากมูลนิธิไทอากร ที่บอกว่า  สถานการณ์เด็กแย่ลงโดยตลอด การทำผิดในวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น มากไปกว่านั้น พบว่าตลอดเวลาที่ทำงานมาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และควรจะเริ่มแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เราจึงจับมือกับองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ภาคอิสาน 5 องค์กร กำหนดพื้นที่นำร่อง โดยชักชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น รพสต. อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครอง พูดคุยหารือวางกลไกทำงานในพื้นที่ ซึ่งจากการพูดคุยกัน พบว่าปัญหาของเด็กเล็กในพื้นที่คือ ครอบครัวยากจน คนเลี้ยงเด็กคือ ปู่ ย่า ตา ยาย โดยพ่อแม่ไปทำงานนอกพื้นที่ ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่มีความรู้ จากที่เราดูแลเด็กเล็ก 0-6 ขวบ ต้องได้รับความรัก ความเข้าใจ ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน ให้เด็กได้มีทักษะหลายๆด้าน เพื่อต่อยอดไปด้านอื่นได้ และเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ  อย่างไรก็ตาม เมื่อลงพื้นที่ยังพบว่ามีเด็กตกหล่นไม่ได้เข้าสู่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพราะคนเลี้ยงไม่รู้สิทธิ เอกสารไม่ครบ

 “เงิน 600 บาท ถือว่าน้อยมาก เครือข่ายของเราได้พยายามดำเนินการเรื่องนี้ โดยการสร้างศูนย์เรียนรู้ของเด็กเล็ก และให้ผู้ปกครองได้มาพูดคุยร่วมแก้ปัญหาร่วมกัน”

ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุดรธานี นลินนิภา  พลเสน  กล่าวย้ำว่า จากการทำงานในพื้นที่ ยังพบว่ามีเด็กตกหล่นจากสวัสดิการเด็กเล็ก เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีความรู้ ต้องใช้เอกสารหลายอย่าง ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธินี้  อย่างไรก็ตาม สภาเด็กและเยาวชนได้มีมติของสภาเด็กและเยาวชน เห็นว่าเด็กทุกคนควรจะได้รับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ใหญ่ได้เห็นความสำคัญของสวัสดิการเด็ก

ด้าน พมจ.ขอนแก่น เรียกร้องรัฐจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลเด็ก

ปิดท้ายที่ ฉัฐพร  งามเกลี้ยง ผู้แทนจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ หรือพมจ. จังหวัดขอนแก่น กล่าวย้ำว่า  เด็กคือหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม ดังนั้น หน่วยที่เล็กที่สุดต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด  ซึ่งนโยบายของ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการดูแลเด็ก นอกจากนโยบายสวัสดิการทั่วหน้าแล้ว ยังมีนโยบายส่งเสริมเด็กในด้านอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังมีเงื่อนไขในการจัดสรรงบประมาณ และข้อจำกัดต่าง ๆ ในระเบียบของราชการ  ปัจจุบัน พม.มี สถานรับเลี้ยงเด็ก จำนวน 24 แห่ง  และมีการพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่รับเลี้ยงเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ พม. เป็นกระทรวงที่ดูแลเรื่องสวัสดิการของคน แต่กับได้รับงบประมาณน้อย จึงขอฝากไปยังรัฐบาล ขอเพิ่มทั้งงบประมาณและกำลังคน          

“รัฐอย่าแค่บอกว่าไม่มีงบประมาณ รัฐมีอยู่แล้ว เพียงแค่ จัดสรรงบประมาณลงมาก็พอ”