โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
ประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมากระแสเออีซี (AEC) ถูกกลบด้วยกระแสกำนันสุเทพและการเลือกตั้งไป จนคนเกือบลืมว่าปีหน้า (31 ธันวาคม) เราจะก้าวเข้าสู่ เออีซีแล้ว วันนี้ผู้เขียนขอกลับมาคุยเรื่องเออีซีต่อใน ประเด็นการคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากเป็นสิ่งหนึ่งที่ ไม่ค่อยได้กล่าวถึงเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกันสังคม
การประกันสังคมในประเทศอาเซียนเป็นสิ่งหนึ่งที่แรงงานข้ามชาติในอาเซียนควรให้ความสนใจโดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง
เพราะแม้ว่าการย้ายถิ่นของแรงงานระดับล่าง จะไม่ได้อยู่ในข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีใน กรอบเออีซี แต่ก็เป็นประเด็นอยู่ในกรอบประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) ด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมและเหตุผลที่ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานระดับล่างข้ามชาติมีปริมาณมหาศาล (ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน) ในขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกรอบเออีซีมีจำนวนไม่มากและยังไม่ไปถึงไหน
ในเนื้อที่อันจำกัดตรงนี้ผู้เขียนจะเปรียบเทียบระบบประกันสังคมในประเทศอาเซียน 9 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย พม่าและเวียดนาม ยกเว้น กัมพูชา
ประเทศที่ใช้ระบบประกันสังคมมี 7 ประเทศ ได้แก่ ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย พม่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ประเทศใช้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มี 2 ประเทศ ได้แก่ บรูไน และสิงคโปร์ (Central Provident Fund : CPF)
และประเทศที่มีทั้ง 2 ระบบ มี 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย (Employees’ Provident Fund : EPF) อินโดนีเซีย (Employees’ Social Security : ESS) และไทย (กองทุนประกันสังคมและกองทุนตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2530)
สำหรับบรูไน นอกจากใช้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วยังมีระบบบำนาญเสริม (Supplementary pension) และระบบบำนาญสูงอายุและผู้พิการแบบถ้วนหน้า
ทั้งหมดนี้ มี 4 ประเทศที่อนุญาตให้แรงงาน ต่างชาติ (ถูกกฎหมาย) เข้าร่วมโครงการ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย (เฉพาะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ฟิลิปปินส์ และไทย
เปรียบเทียบในแง่ของความคุ้มครอง ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการคุ้มครองถึง 8 ประเภท (การเจ็บป่วย การคลอดบุตร อุบัติเหตุและโรคอันเกิดจากการทำงาน ทุพพลภาพ ชราภาพ การสงเคราะห์ครอบครัว การเสียชีวิต การว่างงาน)
รองลงมา มี 4 ประเทศที่คุ้มครอง 6 ประเภท (เหมือนไทยยกเว้นกรณีว่างงานและการสงเคราะห์ครอบครัว) ได้แก่ ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
มี 3 ประเทศที่คุ้มครอง 4 ประเภท (เฉพาะอุบัติเหตุและโรคอันเกิดจากการทำงาน ทุพพลภาพ ชราภาพ และการเสียชีวิต ยกเว้นว่างงานและการสงเคราะห์ครอบครัวเจ็บป่วยและคลอดบุตร) ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย)
พม่า มีคุ้มครอง 4 ประเภท (เจ็บป่วย(รวมเสียชีวิตให้แค่ค่าทำศพ) คลอดบุตร อุบัติเหตุและโรคอันเกิดจากการทำงาน ทุพพลภาพ)
อัตราเงินสมทบ ประเทศที่อัตราสมทบสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ 36% (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-ลูกจ้าง 20% นายจ้าง 16%) รองลงมาคือ เวียดนาม 28.5% (ประกันสังคม-ลูกจ้าง 8.5% นายจ้าง 20%) น้อยที่สุดคือ พม่า 4% (ประกันสังคม-ลูกจ้าง 1.5% นายจ้าง 2.5%) (รายละเอียดในตาราง)
ที่น่าห่วงคือประเทศที่ยอมให้แรงงานข้ามชาติประกันสังคมได้คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ นั้นในทางปฏิบัติยังมีปัญหาในการเข้าถึงและการให้บริการอยู่มาก ที่สำคัญคือ ปัจจุบันยังไม่มีข้อตกลงด้านประกันสังคมระหว่างประเทศอาเซียน ความคุ้มครองด้านประกันสังคมจึงขึ้นอยู่กับกฎหมายและการบังคับของแต่ละประเทศ
ในกรณีของไทย ซึ่งถือว่าแรงงานที่เข้าเมืองถูก กฎหมายจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทยและสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ประกันตนได้โดยจ่ายเงิน สมทบร้อยละ 5 ของรายได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมี พาสปอร์ตและใบอนุญาตทำงาน นอกจากนั้นแล้วระบบประกันสังคมของไทยใช้กับแรงงานในระบบเท่านั้น ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ เช่น แรงงานเกษตร ประมง และแรงงานนอกระบบอื่นๆ
ในกรณีของอินโดนีเซีย ก็เช่นกัน ระบบประกันสังคมครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบและประกันสังคม ของอินโดนีเซียค่อนข้างจำกัด ระบบ Samsostek ที่ใช้อยู่ครอบคลุมเฉพาะสถานประกอบการที่จ้างงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป แรงงานในสถานประกอบการขนาดย่อม และแรงงานนอกระบบเป็นไปตามความสมัครใจแต่ก็ ไม่ค่อยมีผู้ประกันตน (น้อยกว่าครึ่งของแรงงานในระบบ 36 ล้านคน) สำหรับแรงงานต่างชาติ อินโดนีเซียอนุญาต ให้เข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ อย่างไรก็ตาม เนื่อง จากในอินโดนีเซียไม่ค่อยมีแรงงานต่างด้าวปัญหาจึงเป็นประเด็นของแรงงานอินโดนีเซียเองที่ไปทำงานต่าง ประเทศแต่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมของประเทศ
สำหรับ ฟิลิปปินส์ อนุญาตให้แรงงานต่างชาติ เข้าระบบประกันสังคมได้รวมทั้งให้ความคุ้มครองแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานต่างประเทศ
มาเลเซีย มีแรงงานต่างด้าวประมาณร้อยละ 50 มาจากอินโดนีเซีย กฎหมายแรงงาน ค.ศ.1955 ให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แรงงานต่างด้าว กฎหมายกองทุนเงินทดแทน ค.ศ.1992 คุ้มครองอุบัติเหตุและ โรคอันเกิดจากการทำงาน รวมทั้งมีการทำบันทึกความเข้าใจกับอินโดนีเซียที่คุ้มครองแรงงานจากอินโดนีเซียที่เข้ามาตามสัญญาระยะสั้นและผู้ทำงานบ้าน นอกจากนั้นมาเลเซียอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
ครับ ถ้าเบื่อๆ เมืองไทยและอยากย้ายไปทำงานอยู่ในประเทศอาเซียน ศึกษาเรื่องพรรค์นี้ไว้บ้างก็ดี.
“…เหตุผลที่ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานระดับล่างข้ามชาติมีปริมาณมหาศาล (ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน) ในขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกรอบเออีซีมีจำนวนไม่มากและยังไม่ไปถึงไหน…”
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 ก.พ.57 หน้า 6