ปฏิบัติการประกันสังคมมาตรา 40 ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างหลักประกันในชีวิตให้กับแรงงานนอกระบบ ได้จริงหรือ ???

อรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
 
ประกันสังคมมาตรา 40 มิติของรัฐร่วมจ่าย ได้เริ่มดำเนินการมาจนจะครบขวบปีแล้ว  ปัจจุบัน มีจำนวน ผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนจำนวน 877,425 คน และจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสบทบแล้ว จำนวน 472,268 คน  จะเห็นว่าอัตราการจ่ายเงินสบทบผู้ประกันตน   มีอัตราลดลง  โดยดูจากข้อมูลช่วงเดือนตุลาคม 2554 จนถึงมิถุนายน 2555 พบว่า อัตราการคงอยู่ของผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนในช่วงเริ่มต้น มีอัตราเพียงจาก 65.04 %  ของจำนวนผู้ที่ขึ้นทะเบียน ปัจจุบันคงเหลือเพียง 58.29  % และมีโอกาสการลดลงจะมีสูงขึ้น ถ้าไม่มียุทธศาสตร์ในการรณรงค์ การเอื้ออำนวยในการจ่ายเงินที่เหมาะสมกับบริบทของแรงงานนอกระบบ  ที่มีทั้งความหลากหลายทางอาชีพ  ที่ทำงาน  และการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเห็นความสำคัญของการมีหลักประกันทางสังคม ถึงแม้ว่าหลายคนมองว่า มันไม่เป็นปัญหา
 

ในมุมมองของตนเองแต่มันเป็นปัญหาของแรงงานนอกระบบที่มีความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้อยู่แล้ว ต้องรับภาระความยุ่งยาก ซับซ้อนในเรื่องการบริหารจัดการและการมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าเดินทาง หรือค่าธรรมเนียมรวมถึงเวลาในการทำงานเพื่อรายได้ เพื่อตนเอง / ครอบครัวที่ต้องสูญเสียไปด้วย   จากการประมวลผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/เขตพื้นที่ พบว่ายังมีข้อจำกัดอีกจำนวนมากที่ส่งผลต่อข้อมูลที่แสดงออกมาดังกล่าวเบื้องต้น “อัตราการจ่ายเงินสบทบลดลง และจำนวนผู้ประกันไม่ขยายเพิ่มขึ้น“ ได้แก่
 
  ช่องทางการจ่ายเงินสมทบ มีข้อจำกัดมากที่ต้องไปจ่ายที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพียงแห่งเดียว และที่ผ่านมาโดยบทบาทศูนย์ประสานงาน หรือผู้นำแรงงาน หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีจิตอาสาที่จะช่วยผลักดันให้มีการเข้าเป็นผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นโดยการรวบรวมเงินสมทบแล้วนำส่งให้ประกันสังคม ในทางหลักการของระเบียบสำนักงานประกันสังคมก็ไม่สามารถเป็นหน่วยหรือผู้ที่จัดเก็บเงินสมทบได้เนื่องจากไม่เป็นนิติบุคคล  หรือแม้แต่ อปท. ถึงแม้จะเป็นนิติบุคคล แต่การตีความทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา อปท. ไม่สามารถจัดเก็บเงินได้  
 

  การหาทางออกโดยการจ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อหรือเคาน์เตอร์เซอร์วิส  ซึ่งเหมาะกับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่อยู่ตัวอำเภอหรือเมืองใหญ่ แต่ก็พบว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 10 บาทสำหรับค่า Service chart  ทำให้แรงงานนอกระบบต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 10 บาท หรือการจ่ายโดยการหักผ่านบัญชีธนาคาร ธกส. หรือธนาคารออมสิน ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายการหักบัญชีอีก 5 บาท โดยที่ผู้ประกันตนต้องนำใบเสร็จรับเงินที่หน่วยบริการดังกล่าว ไปติดต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่หรือสาขาจังหวัดพร้อมสมุดนำส่งเงินสมทบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประกันสังคมประทับตราในสมุดนำส่งเงินสมทบ เนื่องจากต้องใช้เป็นหลักฐานการยื่นเรื่องเมื่อมารขอใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ  จะเห็นว่ามีความซับซ้อน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มทั้งค่าบริการและค่าเดินทาง ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจ่ายเงินสบทบ มีอัตราการจ่ายคงที่ลดลง 
 

 การให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ โดยผ่านสำนักงานประกันสังคมจังหวัด โดยการจัดเวทีให้ข้อมูลเพียงครึ่งวัน แล้วให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนไว้ก่อนเพื่อจะได้จำนวนผู้ขึ้นทะเบียนตามเป้าหมายที่กำหนด แต่ผลลัพธ์สุดท้ายไม่ได้อยู่ที่การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน เมื่อกลับจากการเข้าร่วมเวทีเพียงครั้งเดียว และยังมองไม่เห็นความสำคัญของการที่จะต้องมีหลักประกันให้กับตนเองทั้งในระหว่างทำงาน และในช่วงที่ทำงานไม่ได้ เช่นทุพพลภาพหรือชราภาพ  หรือผ่านการประชาสัมพันธ์ไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยการชี้แจงในที่ประชุมหรือเสียงตามสาย ไม่มีโอกาสได้พูดคุย ซักถาม “เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา” แต่ไม่ได้รับการเสริมแรงหรือข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ  ที่จะ Continue ต่อเนื่องเรื่องการจ่ายเงินสมทบหลังจากขึ้นทะเบียนแล้วจึงมีอัตราเฉลี่ยเพียง 60 % เท่านั้น  
 
 การให้ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่ายังมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ ทำให้ผู้ประตนรวมถึงผู้นำ มีความสับสน ว่าตกลงใครเข้าใจถูก ใครเข้าใจผิด และทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกผู้ประกันตน  หรือแม้กระทั่งการทำงานร่วมระหว่างศูนย์ประสานงาน และสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่หรือจังหวัด  มีหลายส่วนที่ยังมีความเข้าใจในรายละเอียดของสิทธิประโยชน์และการเกิดสิทธิที่ไม่ตรงกันส่งผลต่อการให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้สนใจหรือผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ เกิดความสับสนว่าตกลงจะเชื่อข้อมูลของใครดี  รวมถึงยังไม่มีกลยุทธในการเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการจ่ายและมีความเสี่ยงสูงในเรื่องความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว 
 

 ปัจจุบัน พรบ. การออมเพื่อการชราภาพ กำลังจะมีผลต่อการบังคับใช้ และมีข้อเสนอทางเลือกที่ดีกว่าทั้งในส่วนที่รัฐสมทบ และได้รับสิทธิที่ตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่อยากจะให้ตนเองมีหลักประกันทางรายได้ในยามชรา ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับประกันสังคม  อาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการลดลงของผู้ประกันตนในการจ่ายเงินสมทบ ควบคู่กับเงื่อนไขของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เติบโตขึ้นทุกวัน  สามารถเข้าถึงง่ายและเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานที่อยู่ในท้องถิ่น/ชุมชน  ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะส่งผลต่ออัตราการจ่ายของผู้ประกันตน ที่จะต้องพิจารณาว่าควรจะบูรณาการ หรือพัฒนาการคิดการมองใหม่ที่เชื่อมโยงหรือส่งเสริมร่วมกัน อย่างไร
 

เงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคดังกล่าว ได้แก่  ช่องทางการจ่ายเงินที่ต้องเป็นนิติบุคคลตามระเบียบของสำนักงานประกันสังคม   ความเข้าใจและการมีข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสิทธิประโยชน์และการเกิดสิทธิ   การจ่ายเงินสบทบที่มีไม่ต่อเนื่อง/ขาดส่ง  กลยุทธการส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงการสร้างหลักประกันในชีวิต  การติดตามและเสริมแรงเรื่องการสร้างวินัยการออกมเพื่อตนเองและครอบครัว  การเอื้ออำนวยเรื่องการจ่ายเงินสมทบ/การเกิดสิทธิ   รูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่เน้นเพื่อทราบมากกว่าความเข้าใจ  และการขาดกลไกย่อยในการประสาน พัฒนากระบวนการทางด้านอาชีพและรายได้เพื่อการมีหลักประกันในชีวิต  จึงเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงของความมั่นคงและยั่งยืนของระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 ที่จะรักษาอัตราการจ่ายเงินสมทบคงที่ ไม่ลดลง และมีจำนวนผู้ประกันตนที่ขยายเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นระบบสมัครใจ  ในขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับสวัสดิการชุมชมที่มีอยู่ในชุมชนและในชุมชนที่มีความเข้มแข็งจะสามารถจัดการหรือมีบริการที่ช่วยลดปัญหาอุปสรรคดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ความซับซ้อนและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของผู้ให้คำแนะนำและประชาสัมพันธ์เชิงรับ   รวมถึงการไม่มีหน่วยบริการย่อยที่เป็นการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการเข้าถึงง่าย สะดวกและสอดคล้องกับบริบทของแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีศักยภาพในการจ่ายเงินสมทบและต้องการมีหลักประกัน … เราจะปลดล๊อกเงื่อนไขและข้อจำกัดดังกล่าวได้ไม่ยากนัก ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดในการบริหารจัดการใหม่ที่ไม่ติดกับดักของระบบเดิมที่มีอยู่… มากจนเกินไป  
   

จากข้อมูลและเงื่อนไขดังกล่าว โอกาสที่ประกันสังคมจะคงอยู่คู่เพื่อเป็นหลักประกันให้กับแรงงานนอกระบบในระยะยาว อาจจะเบาบางลงไปจากกระแสของสังคมสวัสดิการ ที่มีความหลากหลายระบบ หลากหลายรูปแบบที่เอื้อต่อเข้าถึงบริการ ตอบสนองต่อปัญหาความต้องการได้ง่ายและเร็วกว่า และสามารถเลือกได้ แต่เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไรให้ระบบมันเข้มแข็งเพิ่มขึ้น มากกว่าอ่อนแอลง          ตามหลักการทั่วไป “ยิ่งอายุมาก ใช้เวลามาก ยิ่งต้องเติบโตและมั่นคงมากขึ้น” คือสิ่งที่จะต้องมาช่วยกันหาทางเลือกทางออกร่วมกันในทางสร้างสรรค์ต่อไป
 
ทางเลือกหรือข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ที่ควรจะทำและมีความเป็นไปได้ เพื่อให้อัตราการจ่ายเงินคงที่ ไม่ลดลง มีอัตราการเพิ่มที่เป็นระบบขั้นบันใด และเป็นระบบประกันสังคมที่เอื้อให้คนไม่มีหลักประกันในชีวิตได้มีหลักประกัน ทั้งในวัยที่ต้องทำงานและเกษียณอายุการทำงานแล้ว  นอกเหนือจากวิธีการที่สำนักงานประกันสังคมใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานปัจจุบัน ดังนี้
 
 มุ่งการทำงาน “รณรงค์ สร้างความตระหนักเรื่องการมีหลักประกันในชีวิต” กับกลุ่มเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการออม เพื่อการสร้างหลักประกันให้กับตนเองและครอบครัว เนื่องจากประกันสังคมมาตรา 40 ไม่ได้เป็นระบบที่เหมาะสมกับคนทำงานนอกระบบทุกคน การกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์คือกลยุทธที่สำคัญต้องนำมาใช้ร่วมในการทำงาน 
 
 พัฒนาหน่วยบริการสังคมหรือหน่วยประสานงานย่อยในชุมชนหรือท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจให้เห็นความสำคัญของการมีหลักประกันทางสังคม  การอำนวยความสะดวกเรื่องการสมัครเข้าเป็นผุ้ประกันตน  การจ่ายเงินสมทบและการเข้าใช้สิทธิ  การติดตามและเสริมแรงเพื่อให้เกิดการออมหรือการจ่ายเงินสมทบสม่ำเสมอ โดยอาจจะกำหนดคุณสมบัติขององค์กรที่สนใจสมัครเข้าเป็นหน่วยหน่วยบริการสังคมหรือหน่วยประสานงานย่อยในชุมชนหรือท้องถิ่น เชื่อมโยงการทำงานกับสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด  ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขหรือหลักการการดำเนินงานทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายสำนักงานประกันสังคมและหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ
 
 จัดทำ MOU ร่วมระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจจะเป็นหน่วยบริการหรือประสานงานย่อย เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และควรจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยบริการสังคมหรือประสานงานย่อย ซึ่งอาจจะคิดเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวที่ใช้สำหรับการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และตระหนักเห็นคุณค่าของการมีหลักประกันสำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งอาจจะพิจารณาจากงบประมาณที่สำนักงานประกันสังคมใช้ไปในการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน การจัดเวทีให้ความรู้ การพัฒนาแกนนำ ฯ ในปีที่ผ่านมา            มาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว  สำหรับการดำเนินงานของหน่วยบริการหรือประสานงานย่อยต่างๆ และควรมีมาตรการปลดล๊อกเงื่อนไขบางเงื่อนไขที่ไม่ส่งเสริม แต่เป็นอุปสรรคขัดขวางให้องค์กรหรือหน่วยงานในพื้นที่ที่อยากจะช่วยเหลือชุมชน ขาดโอกาสที่จะเกื้อหนุนจุนเจือเพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมร่วมกัน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจอยากร่วมทำความดีและให้บริการสังคม ควรมีประกาศหรือแก้ไขมาตรการที่ไม่ส่งเสริมแต่เป็นอุปสรรคดังกล่าวให้สามารถที่จะเอื้อต่อการที่จะช่วยให้เกิดการขยายฐานที่เพิ่มขึ้น คงอัตราการจ่ายเงินสบทมให้คงที่หรือสม่ำเสมอ 
 
 การสร้างเครือข่ายการทำงานร่วม โดยใช้รูปแบบการทำงานแบบขายตรง เหมือนการขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือของใช้ในครัวเรื่องต่างๆ เช่นแอมเวย์ หรือการขายประกันภัย เป็นต้น ที่สามารถกำหนดเป้าหมายด้านลูกค้า มีการดูและติดตามอย่างต่อเนื่องจนเป็นลูกค้าที่ต่อเนื่องในระยะยาว หรือใช้เครือข่ายการทำงานภาคสังคมร่วมกัน เช่นเครือข่ายเกษตร เครือข่ายมอเตอร์ไซด์  เครือข่ายผู้ปลูกอ้อย/ปลูกยางพารา  เป็นต้น ที่หน่วยบริการสังคมหรือประสานงานย่อยมีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว 
 
 ประกันสังคม และการออมเพื่อการชราภาพ คือหลักประกันในชีวิตของคนที่อยู่ในวัยทำงานควรได้รับการสนับสนุนและส่งเสริม โดยกาสร้างวินัยในการออมจากรายได้ที่ได้จากการทำงาน แต่การบริหารจัดการแบบแยกส่วน ทำให้เป็นการเพิ่มภาระสำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ในการจัดการที่ต้องใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  การบูรณาการการจัดการร่วมกันโดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินสมทบ ให้เป็นการจ่าย ที่เดียวแล้วรัฐหน่วยงานที่รับผิดชอบหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เอาไปจัดการตามวัตถุประสงค์และหลักการของแต่ละส่วน น่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานอยากจะเข้ามาเป็นสมาชิกได้ง่ายและสะดวกในการเข้าถึงบริการและครอบคลุมกับความต้องการของตนเองโดยเฉพาะการมีบำนาญชราภาพเหมือนกับคนทำงาน Blue & White  collar ควรจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มจำนวนสมาชิกผู้ประกันตนได้มากขึ้น 
 
 ร่วมและเร่งผลักดัน ร่าง พรบ.ประกันสังคม ฉบับ…ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้ได้รับการพิจารณา เพื่อให้นโยบายรัฐบาลเรื่องรัฐร่วมจ่าย เป็นกฎหมายซึ่งเป็นหลักประกันที่ทุกฝ่ายมั่นใจว่าระบบจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ต้องกังวล มากกว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องผลักดันในทุกวาระของรัฐบาล และรวมถึงการมีชุดสิทธิประโยชน์ที่น่าครอบคลุมและใกล้เคียงกับแรงงานในระบบ มากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลเช่นเดียวกัน 
 
หลายข้อกังวลกับระบบการบริหารจัดการของภาครัฐกับคุณค่าของหน่วยบริการสังคมในท้องถิ่น/ชุมชนเพื่อเอื้ออำนวยในการเข้าถึงสิทธิและบริการและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกันคืออุปสรรคทางความคิดของการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ ???
 
 การทำให้อัตราการจ่ายเงินสมทบคงที่   จำนวนผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น  การเป็นนิติบุคคลของหน่วยบริการย่อย หรือการมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเงินสมทบ สำหรับหน่วยงานหรือองค์กร หรือบุคคลในการดำเนินงาน ไม่ได้มีความหมายว่า จะมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นหรือทำให้อัตราการจ่ายเงินสมทบคงที่   “การเห็นความสำคัญของการมีหลักประกันในชีวิตในยามที่พอจะมีเงินสำหรับเก็บออมได้ และการมีมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่เอื้อต่อการสร้างวินัยในการออมเพื่อการมีหลักประกันโดยการมีส่วนร่วมของรัฐ น่าจะเป็นคำตอบที่ทำให้อัตราการจ่ายเงินสมทบคงที่   จำนวนผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของการมีระบบประกันสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการมีหลักประกันที่เสมอภาคร่วมกัน
 
 การจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยมีค่า Service chart  ไม่ได้มีคุณค่าเท่ากับการมีหน่วยบริการย่อยในสังคม/ชุมชนที่ยังเข้าไม่ถึงการบริการสะดวกซื้อดังกล่าวและมีจิตใจที่จะช่วยเหลือกันในชุมชน  การกังวลกับการจ่ายเงิน สมทบผ่านหน่วยบริการย่อยของชุมชน โดยที่ไม่มีค่าธรรมเนียม เหมือกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส และเกรงว่าจะถูก ฟ้องร้องเนื่องจากไม่มีมาตรฐานในการดำเนินงานเดียวกัน เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะนำมาเป็นประเด็นสำหรับการสร้าง ฐานหรือหน่วยบริการชุมชน ที่จะเป็นกลไกหนึ่งของการสร้างสรรค์ให้คนมีหลักประกันในชีวิตและครอบครัว ทำให้ครอบครัวและสังคมเป็นสังคมของการมีหลักประกันมากกว่าเป็นสังคมที่ถูกละเลยหรือทอดทิ้ง เหมือนรายการ “วงเวียนชีวิต” ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ที่หลายคนดูแล้วอาจจะฉุกคิดถึงการมีหลักประกันในชีวิตของตนเอง มากกว่าการมีชีวิตที่ต้องรอคอยการสงเคราะห์จากสังคมหรือรวมถึงบุตรหลานของตนเองด้วย