ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ยุคสมัยปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงาน การติดต่อสื่อสาร อุดมการณ์และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายด้าน รูปแบบการผลิตที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบการจ้างแรงงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่การละเลยต่อชีวิตและสิทธิของแรงงานก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ใช้แรงงานยังต้องต่อสู้และเผชิญกับปัญหาสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาคุณภาพชีวิตของตนอย่างต่อเนื่อง
 
การย้ายถิ่นจากประเทศตนเองเพื่อไปทำงานในประเทศอื่น ของผู้ใช้แรงงาน เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน และส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาไม่ต่างกัน เช่น ถูกกีดกันการเข้าถึงบริการทางสังคม ไม่สามารถเข้าถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ได้ เนื่องจากการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนต่างชาติ  นอกจากนี้การลักลอบเข้าประเทศในรูปแบบต่าง ๆ หลายครั้งผู้คนเหล่านั้นต้องเสียชีวิตอย่างทารุณระหว่างการเดินทาง 
 
ในสังคมไทยปรากฏการณ์นี้ไม่ได้แตกต่างกับประเทศอื่น แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน หากนับเฉพาะที่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งทำงานแบบได้รับใบอนุญาตทำงานและไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีจำนวนประมาณ ๑ ถึง ๒ ล้านคน พวกเขาเหล่านั้นคือคนจนผู้ยากไร้ที่ต้องแสวงหาหนทางเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีกว่า และอีกจำนวนไม่น้อย คือ ผู้หลบหนีภัยจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่คุกคามชีวิตประชาชนระดับล่างจากรัฐบาลของตน  
 
การเข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงเป็นหนทางที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตและดำรงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเองไว้ได้ แต่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางสังคมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดีนัก เช่น การเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ การเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติจำนวนมากได้รับค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด การทำงานหนักและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนตามกฎหมาย การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ การถูกรีดไถโดยกลุ่มมิจฉาชีพและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ การเดินทางข้ามเขตจังหวัดเพื่อทำธุระ พักผ่อน หรือเยี่ยมญาติพี่น้องเป็นสิ่งต้องห้าม 
 
นอกจากนั้นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไม่ได้รับสิทธิในการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้แรงงาน การรวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ 
 
ขณะเดียวกันก็มีการสร้างภาพลบรวมทั้งการมีอคติต่อแรงงานข้ามชาติ ของเจ้าหน้าที่รัฐไทย และสื่อมวลชนหลายแขนง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่แพร่กระจายไปในสังคมไทย ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานถูกแบ่งแยกระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ อันเป็นการลดทอนอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงานโดยรวม 
 
ในฐานะองค์กรของผู้ใช้แรงงาน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน ซึ่งประสบและติดตามปัญหาเหล่านี้ เห็นว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อผู้ใดเป็นการเฉพาะ แต่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ทุกคนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ความสมานฉันท์ของผู้ใช้แรงงาน ผู้ยากไร้ และภาคประชาชนทั้งหมดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและสร้างสังคมที่ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้นได้ 
ต่อแนวทางความสมานฉันท์ขององค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน และแรงงานข้ามชาติ เรามีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้ 
 
1.สิทธิแรงงานเป็นสิทธิของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ไม่อาจแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ อายุ ศาสนา แรงงานทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงานและกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน 
 
2.รัฐต้องสร้างกลไกที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานได้ 
 
3.สิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ในการปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน พวกเราจะร่วมกันผลักดันให้แรงงานทุกคนสามารถเข้าเป็นสมาชิกและสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ 
 
4.รัฐจะต้องดำเนินการจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมต่อผู้ใช้แรงงานและครอบครัว โดยวางบนพื้นฐานของการเข้าไปมีส่วนร่วมการจัดการของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง 
 
5.การเลือกปฏิบัติ การสร้างทัศนคติที่เลวร้ายต่อกลุ่มคนที่เป็นคนชายขอบในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการ ผู้ติดเชื้อ คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง และส่งผลต่อการกีดกันไม่ให้พวกเขาได้พัฒนาคุณภาพชีวิต พวกเราจะร่วมผลักดันให้ยุติการเลือกปฏิบัติ และการสร้างทัศคติที่เลวร้ายต่อคนกลุ่มต่างๆ รัฐจะต้องยุติการเลือกปฏิบัติและการสร้างทัศนคติที่เลวร้ายต่อผู้คนกลุ่มต่าง ๆ และมีแนวทางที่จะส่งเสริมความเข้าใจกันของคนกลุ่มต่าง ๆ 
 
แนวปฏิบัติการ
 
– เครือข่ายหรือองค์กรของแรงงานไทยที่ไม่ต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย จะเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นสมาชิกและมีการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน 
– ในระดับสหภาพแรงงาน จะแก้ไขข้อบังคับของสหภาพในเรื่องคุณสมบัติของสมาชิก โดยให้ยกเลิกคุณสมบัติที่สมาชิกต้องมีสัญชาติไทย และเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นสมาชิก 
– ในระดับชาติ ขบวนการแรงงานไทย จะต้องร่วมกันผลักดันให้รัฐสภา ประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานที่มีข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติของผู้ก่อตั้งและกรรมการสหภาพแรงงานที่ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทย 
 
กรรมกรทั้งผองเป็นพี่น้องกัน
 
 ด้วยความสมานฉันท์ของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ 
 
ขณะนี้มีผู้ที่ร่วมลงรายชื่อสนับสนุนปฏิญญาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติแล้วประกอบด้วย
 
1. โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
2. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย(TWFT)
3. กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า(LUBG)
4. สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์(TLU) 
5. สหภาพแรงงานสหกิจวิศาล 
6. สหภาพแรงงานมอลลิเก้เฮลแคร์  
7. กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง(SNLG)
8. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
9. สหภาพแรงงานไทยเรยอน  
10. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง
11. สหภาพแรงงานรอยัลปอร์ซเลน 
 
ทั้งนี้หากมีองค์กรใดต้องการร่วมลงชื่อสนับสนุนก็สามารถร่วมลงชื่อได้ เพื่อเป็นการรณรงค์ในวันแรงงานข้ามชาติสากล
 
////////////////////////////////////////////////////////