บันทึกความเจ็บปวดในชีวิตของคนงาน ซันสตาร์

โดย ไตรรัตน์ จูเจริญ ศูนย์แรงงานสมุทรปราการ
 
ป็นเรื่องที่ทราบและยอมรับกันทั่วไปว่า คนงานที่เข้าไปเป็นลูกจ้างทุกคน ทำงานเพื่อความมั่นคงในอนาคต  และความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองและครอบครัว ไม่มีใครอยากตกงาน ทุกคนอยากได้รับความเป็นธรรม ความเท่าเทียมกัน และได้รับการปฎิบัติที่ดี ในฐานะเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับคนอื่นๆในสังคม
 
แต่ในชีวิตจริงของลูกจ้างในไทยส่วนใหญ่ มักไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฝัน ลูกจ้างส่วนใหญ่มักถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง สวัสดิการตามกฎหมาย เวลาทำงาน หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยในการทำงาน แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ แต่นายจ้างก็ยังหาทางบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมปฏิบัติตาม เมื่อลูกจ้างไปร้องเรียน กับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านแรงงาน กลับไม่ได้รับความสนใจช่วยเหลืออย่างจริงจัง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีข้าราชการหรืออดีตข้าราชการบางคน กลับไปช่วยเหลือหาช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมายให้กับนายจ้าง ให้คำแนะนำกับนายจ้างในการทำลายการรวมตัวของคนงานอีก จนคนงานไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง และต้องก้มหน้าอดทนรับกรรมต่อไป ดังเรื่องของคนงานในบริษัทฯซันสตาร์เคมีคัล(ประเทศไทย)จำกัด ที่มีชีวิตไม่ต่างอะไรกับที่กล่าวมาข้างต้น จึงอยากนำมาเล่าให้ทราบ เพื่อชี้ให้เห็นตัวอย่างอีกอันหนึ่งของความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย
 
กำเนิดซันสตาร์เคมีคัลในประเทศไทย 
บริษัทซันสตาร์เคมีคัล(ประเทศไทย)จำกัด มีบริษัทแม่อยู่ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตกาวและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น กาวติดกระจกรถยนต์ เป็นต้น เป็นบริษัทฯหนึ่ง ในธุรกิจของกลุ่มซันสตาร์ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆของโลก ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มาสด้า ฯลฯ และได้เริ่มก่อตั้งบริษัทในไทยเมื่อ ปี 2536 โดยสร้างโรงงานอยู่ในรั้วเดียวกันกับ ซันสตาร์เอ็นจิเนียริ่ง(ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งเข้ามาตั้งในไทยตั้งแต่ปี 2532  ในขณะนั้นมีพนักงานประมาณ 10 กว่าคน และใช้สภาพการจ้างเดียวกันทั้งสองแห่ง มีการทำกิจกรรมต่างๆเหมือนเป็นบริษัทฯเดียวกัน เช่น การนำเที่ยว กิจกรรม 5 ส. กิจกรรมความปลอดภัย เป็นต้น ต่อมาในปี 2539มีการขยายกำลังการผลิต บริษัทฯจึงย้ายไปตั้งอยู่ในซอย 7 (เดิมอยู่ซอย 6) และได้แยกเป็นบริษัทซันสตาร์เคมีคัล(ประเทศไทย)อย่างชัดเจนจนถึงปัจจุบัน
 
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในซันสตาร์ฯ
แม้ว่าจะย้ายโรงงานออกไปจากรั้วซันสตาร์เอ็นจิเนียริ่ง(ประเทศไทย)แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีสภาพการจ้างที่ใช้ร่วมกันอยู่ เช่น โบนัส เงินขึ้น สวัสดิการต่างๆ ก็ยังใช้อย่างเดียวกัน โดยทางฝ่ายบริหารให้คำอธิบายว่า เรามีการบริหารเป็นกลุ่มเดียวกัน จึงนำผลประกอบการมาคิดรวมกันและแบ่งปันผลประโยชน์เท่าๆกันทั้งกลุ่ม 
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2545 พนักงานในบริษัทซันสตาร์เอ็นจิเนียริ่ง(ประเทศไทย)จำกัด ได้มีการรวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างและต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงาน ชื่อว่า “สหภาพแรงงานซันสตาร์ ประเทศไทย” ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง มีการยื่นข้อเรียกร้องในปีถัดมาและทางซันสตาร์เคมีคัลก็ยังคงยึดตามสภาพการจ้างฯของซันสตาร์เอ็นจิเนียริ่งเช่นเดิม 
 
จนกระทั่งปี 2548 สหภาพแรงงานซันสตาร์ ประเทศไทย ได้รับพนักงานซันสตาร์เคมีคัล เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฯ และได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างทั้ง 2 แห่ง โดยที่ขณะนั้นตัวแทนเจรจาทางฝ่ายนายจ้างจะประกอบไปด้วย ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทฯ และในฝ่ายสหภาพแรงงานฯก็เป็นเช่นเดียวกัน การเจรจาใน 2-3ปีแรกก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ทั้งสองฝ่ายสามารถทำข้อตกลงกันได้ด้วยดี และนำไปจดทะเบียนสภาพการจ้างต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งก็ได้รับจดทะเบียนไว้โดยไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด ในระหว่างปี ทั้งสองฝ่ายก็มีการทำกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้พนักงานรู้สึกมั่นใจในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
 
ครอบครัวแตกแยกเพราะมือที่สาม 
ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังมีความสุข พนักงานมีความหวังอันสดใส คิดว่าระบบแรงงานสัมพันธ์ของเรากำลังเดินหน้าไปได้ดี  กลับมีเหตุที่ทำให้ต้องสะดุดลง เมื่อการเจรจาข้อเรียกร้องระหว่างสหภาพแรงงานฯและบริษัทซันสตาร์เคมีคัล(ประเทศไทย) ในปี 2551 จบลงด้วยความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย และทางบริษัทฯได้นำข้อตกลงไปยื่นขอจดทะเบียนเป็นสภาพการจ้างใหม่ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ แต่แล้วปรากฎว่าเจ้าพนักงานไม่ยอมรับจดทะเบียน โดยให้เหตุผลว่า บริษัทฯซันสตาร์เคมีคัล เป็นกิจการเคมี ซึ่งเป็นคนละประเภทกิจการกับซันสตาร์เอ็นจิเนียริ่ง ดังนั้นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯจึงไม่สามารถยื่นต่อบริษัทซันสตาร์เคมีคัลได้ มีผลให้ข้อตกลงสภาพการจ้างที่ได้เจรจาต่อกันมา ไม่ได้รับการจดทะเบียน ทั้งที่ในปีที่ผ่านมาก็ไม่มีการคัดค้านจากเจ้าพนักงานเลย อย่างนี้เรียกว่าเป็นสองมาตรฐานหรือไม่
นับจากนั้นเป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเริ่มเกิดขึ้นกับพนักงานซันสตาร์เคมีคัลฯมีการละเมิดสิทธิ์ของคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ อย่างต่อนื่อง เริ่มจากการปฏิเสธที่จะทำตามข้อตกลงสภาพการจ้างฯ โดยอ้างว่าไม่ได้รับการจดทะเบียน ถ้าทำตามจะเป็นการทำผิดกฎหมาย มีการจับพนักงานตรวจสารเสพติดทั้งที่ไม่ได้อยู่ในโครงการโรงงานสีขาว ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บางคน ยัดเยียดความผิดว่ามีสารเสพติดในปัสสาวะถึง 9 คน และทั้งหมดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ แต่เมื่อผลตรวจจากโรงพยาบาลยืนยันว่าทุกคนบริสุทธิ์ ก็ได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ผลจากการกระทำของบริษัทฯในครั้งนั้น ทำให้สมาชิกเสื่อมเสียชื่อเสียง บางคนครอบครัวต้องแตกสลาย โดยที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด
 
หลังจากนั้นก็ยังพยายามหาเหตุลงโทษสมาชิกต่างๆนานา ด้วยความผิดเล็กๆน้อย หากใครผิดซ้ำคำเตือน ก็จะถูกเลิกจ้างทันที สมาชิกบางคนที่ทนไม่ได้ก็ลาออกไปหลายคน
 
ความพยายามต่อสู้ครั้งสุดท้าย
ในที่สุดสมาชิกส่วนที่ยังเหลืออยู่ ก็พยายามรวบรวมคนที่มี ก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานฯกันขึ้นใหม่ โดยหวังว่าจะได้ไม่มีข้อโต้แย้งจากทางเจ้าหน้าที่แรงงานอีก โดยก่อนหน้านั้นได้ทำการรวบรวมรายชื่อพนักงานจำนวนหนึ่ง ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง และนายจ้างได้แต่งตั้งผู้แทนเจรจาขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีผู้แทนส่วนใหญ่เป็นฝ่ายบริหาร แต่มีอยู่ 1 คน ที่เป็นอดีตข้าราชการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (นายศักดิ์ชัย สุขพลาดิสัย) มีรายชื่อร่วมอยู่ด้วย โดยในการเจรจานัดแรกก็เข้าเจรจาด้วย 
ในระหว่างที่มีการยื่นข้อเรียกร้องและในช่วงการเจรจา ทางนายจ้างพยายามทำลายบรรยากาศในการเจรจาอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่มีการโยกย้ายการงานของผู้แทนเจรจา ข่มขู่ถ้าทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายจะต้องถูกใบเตือน ค้นโต๊ะทำงานของผู้ก่อการ มีการเรียกพนักงานที่เข้าชื่อยื่นข้อเรียกร้องมาถามเป็นรายตัว และซักถามรายละเอียดว่า เข้าใจในข้อเรียกร้องหรือไม่ แล้วให้เซ็นต์ชื่อในคำให้การไว้ เป็นต้น
 
ต่อมาทางผู้แทนเจรจาของฝ่ายลูกจ้าง ได้ยื่นหนังสือคัดค้านขอให้เปลี่ยนตัวผู้แทนเจรจาฝ่ายนายจ้างฯที่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย แต่นายจ้างอ้างว่านายศักดิ์ชัย เป็นพนักงานใหม่ของบริษัทฯ อย่างไรก็ตามเมื่อได้โต้แย้งกันโดยข้อกฏหมายแล้ว ที่สุดนายจ้างก็ยอมเปลี่ยนตัวผู้แทนเจรจาใหม่ โดยแต่งตั้งผู้ช่วยผูจัดการฝ่ายบุคคลเข้ามาแทน และในขณะนั้นก็พยายามข่มขู่ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างตลอดเวลา จนมีบางคนขอลาออกจากงานโดยนายจ้างยินยอมจ่ายเงินให้ จากนั้นการเจรจาข้อเรียกร้องก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เนื่องจากนายจ้างบ่ายเบี่ยงและไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจมาเจรจาแม้แต่ครั้งเดียว และสุดท้ายหลังจากสหภาพแรงงานฯใหม่ได้รับการจดทะเบียนได้ไม่นาน ผู้ก่อการทั้งหมดก็ถูกเลิกจ้าง โดยนายจ้างยินยอมจ่ายเงินให้ครบถ้วน แม้จะมีทะเบียนสหภาพแรงงานฯแล้ว แต่คนงานก็ไม่สามารถพึ่งพาองค์กรที่ตนเองพยายามก่อตั้งมาด้วยความยากลำบากได้แม้แต่คนเดียว
 
บทสุดท้ายของคนงาน 
ปัจจุบัน ในซันสตาร์เคมีคัล(ปทท.) ไม่มีสมาชิกสหภาพฯแม้แต่คนเดียว ไม่มีแม้แต่คนที่จะกล้าคิด เรื่องนี้อีกต่อไป การต่อสู้ในอดีตที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากจดจำ ขอเพียงมีชีวิตรอดผ่านไปวันๆก็พอ อนาคตของใครก็สร้างหนทางของแต่ละคนเอง แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา คนงานในโรงงานที่ต้องทำงานกับสารเคมีอันตรายก็ต้องเสี่ยงภัยต่อไป จนกว่าร่างกายจะไม่ไหวก็ต้องลาออกไปเอง
 
เพียงเพราะมีคนที่เห็นแก่ตัวบางคน หากินบนคราบน้ำตาและความเจ็บปวดของคนงาน เอาความรู้ ประสบการณ์ด้านแรงงาน เป็นเครื่องมือหากิน แลกเศษเงินเล็กๆน้อยขายความคิดให้นายจ้างต่างชาติ ใช้เป็นช่องทางกดขี่ลูกจ้าง ที่เป็นคนไทยด้วยกันให้อยู่ใต้อุ้งเท้านายจ้างต่างชาติได้อย่างเลือดเย็น ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามมาแทรกแซงแต่อย่างใด
นี่หรือคือบทบาทของข้าราชการที่บอกว่า ต้องการทำเพื่อส่งเสริมการมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ไม่ให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง นี่หรือข้าราชการไทยที่กินเงินเดือนจากภาษีหยาดเหงื่อของคนงาน แต่ตอบแทนให้กับคนจ่ายภาษีได้อย่างสาสมถึงเพียงนี้เชียวหรือ                                                                       
 
ลำดับเหตุการณ์
30 ธันวาคม 2551   บริษัทฯไม่ยอมจ่ายโบนัสตามที่มีข้อตกลงไว้ โดยอ้างว่านำกำไรไปใช้หนี้เงินกู้หมดแล้ว
17 มกราคม 2552   พนักงานหารือร่วมกันเพื่อจัดตั้งองค์กรของตนเอง
23 มกราคม 2552   แกนนำพนักงานเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย 1 คน(คุณธีรพงษ์ เงางาม)
31 มกราคม-7 กุมภาพันธ์ 2552 พนักงานร่วมกันร่างข้อเรียกร้องและเตรียมการขอจดทะเบียนสหภาพฯ
7 กุมภาพันธ์ 2552   แกนนำแจ้งต่อที่ประชุมว่า โต๊ะทำงานถูกรื้อค้น ในระหว่างหลังเลิกงานแล้ว
10 กุมภาพันธ์ 2552 บริษัทฯมีคำสั่งโยกย้ายแกนนำจากแผนก QC ไปเป็นแผนกผลิต และขู่ว่าถ้าทำงานไม่ได้ตามที่ กำหนดไว้จะถูกหนังสือเตือน แต่พนักงานไม่ยอมรับ
11 กุมภาพันธ์ 2552 พนักงานจำนวน 50 คน เข้าชื่อกันยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง 10 ข้อ โดยใช้การส่งทาง
ไปรษณีย์
13 กุมภาพันธ์ 2552 ผู้เริ่มก่อการ 12 คน ยื่นขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน 
16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 08.30 น. บริษัทฯนัดเจรจาครั้งแรก 
16 กุมภาพันธ์ 2552   เวลา 15.30 น. บริษัทฯนัดเจรจาครั้งที่สอง ไม่มีความคืบหน้า
17 กุมภาพันธ์ 2552   นายจ้างเรียกพนักงานที่เข้าชื่อมาเกลี้ยกล่อมให้ถอนชื่อ และสอบถามว่ามีความเข้าใจในราย
ละเอียดของข้อเรียกร้องหรือไม่ แล้วให้ลงชื่อไว้ในคำให้การ
23 กุมภาพันธ์ 2552   พนักงานยื่นหนังสือคัดค้าน ขอให้เปลี่ยนผู้แทนเจรจาฝ่ายนายจ้างที่ขาดคุณสมบัติตาม
มาตรา 13 วรรคสอง แต่ทางบริษัทฯไม่ยอมรับหนังสือ
24 กุมภาพันธ์ 2552   มีการนัดเจรจาครั้งที่ 3 แต่ไม่สามารถเจรจาได้ เนื่องจากบริษัทฯไม่ยอมเปลี่ยนผู้แทน
25 กุมภาพันธ์ 2552   พนักงานแจ้งข้อพิพาทแรงงาน
27 กุมภาพันธ์ 2552   เจ้าพนักงานประนอมฯนัดไกล่เกลี่ยที่ สนง. ทางนายจ้างเปลี่ยนผู้แทนเจรา  โดยเพิ่มชื่อ ผช.
ผู้จัดการฝ่ายบุคคลอีก 1 คน แต่ยังไม่ถอนชื่อผู้ขาดคุณสมบัติออกไป โดยแจ้งให้ทางแรงงานทราบเป็นหนังสือ ลงวันที่ 25ก.พ. 2552 แต่ไม่แจ้งให้พนักงานทราบแต่อย่างใด เจ้าพนักงานประนอมพยายามหว่านล้อมว่า แม้ไม่แจ้งให้ทราบหรือมีปัญหาด้านคุณสมบัติก็ไม่มีผลกระทบต่อการเจรจาใดๆ ไม่ควรยึดติดเป็นเรื่องสำคัญ ผู้แทนพนักงานจึงขอพบหัวหน้าสำนักงาน เพื่อขอความชัดเจนในการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานประนอม และได้สรุปว่า ให้เจ้าพนักงานประนอมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้แทนฝ่ายนายจ้างว่าถูกต้องหรือไม่ และให้นายจ้างส่งหนังสือแจ้งให้ลูกจ้างทราบด้วย  
อนึ่ง ในวันที่ 27 ก.พ. ผู้แทนฝ่ายนายจ้างที่ไปร่วมเจรจา มีเพียง 1 คน คือผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคล และเป็นคนที่มีชื่อเพิ่มเข้ามาภายหลัง และก็ไม่ได้ข้อสรุปใดๆในการเจรจาโดยอ้างว่า ไม่ได้รับมอบอำนาจในการตัดสินใจ
4 มีนาคม 2552    สหภาพแรงงานซันสตาร์เคมีคัล ประเทศไทย ได้รับการจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงาน
12 มีนาคม 2552   มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานครั้งที่สอง เวลา 10.00 น. ทางนายจ้างส่ง ผช.ผจก.ฝ่าย
บุคคลไปเพียงคนเดียว และตกลงว่าจะติดข้อบังคับการทำงานในที่ทำงานเพียงเรื่องเดียวข้ออื่นๆ ไม่ยอมรับทั้งหมด นัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง วันที่ 9 เมษายน 2552
19 มีนาคม 2552   นายบุญลอด หนุ่ยโหน่ง แกนนำพนักงาน ได้ลาออกจากงานไปโดยไม่ทราบเหตุ ก่อนหน้านั้น มีแกนนำอีกคนลาออกไปเช่นกัน มีข้อมูลว่า นายจ้างเสนอเงินพิเศษให้เพื่อให้ลาออกเอง
28 มีนาคม 2552   ผู้แทนเจรจาที่เหลือ พากันลาออกทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกัน ทำให้พนักงานที่เข้าชื่อใน
ข้อเรียกร้องถอนชื่อออกเหลือเพียง 10 กว่าคน
9 เมษายน 2552   นายจ้างขอเลื่อนนัดการเจรจา โดยอ้างว่าไม่มีผู้แทนที่ตัดสินใจได้ และไม่แจ้งให้ฝ่ายลูกจ้างทราบ
ล่วงหน้าเช่นเดิม
หลังจากนั้นก็ไม่มีการเจรจาใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย