ผู้เลี้ยงปลาในกระชังบริเวณแม่น้ำชี จังหวัดมหาสารคาม วอนบริษัทมาจับปลา หลังแม่น้ำชีขึ้นสูง ทำให้กระชังปลาขาดเสียหาย ไร้การเยียวยา
ในขณะที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยเผชิญวิกฤตอุทกภัยอย่างร้ายแรง ทำให้ทุกภาคส่วนต้องระดมกำลังให้ความช่วยเหลือ เพื่อฝ่าวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ไปให้ได้ ผู้เลี้ยงปลากระชังในระบบพันธสัญญาก็ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเช่นกันกับพี่น้องหลายจังหวัด ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังต้องแบกรับภาระความเสี่ยงที่ทำพันธสัญญากับบริษัทเอาไว้ โดยทางบริษัทไม่มาจับปลาตามเวลาที่ครบกำหนดในการจับขายแล้ว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังต้องแบกรับต้นทุนในการเลี้ยงปลาที่ที่สูงขึ้น และปัญหากระชังปลาขาดเสียหายซึ่งสาเหตุก็เนื่องมาจากแม่น้ำชีที่ไหลเชี่ยวในเวลานี้พัดเอาเศษไม้มาเกี่ยวกับกระชังปลา รวมไปถึงถุงทรายที่เป็นตัวถ่วงทุ่นลอยของกระชังถูกับตาข่ายสำหรับล้อมปลาขาดเสียหาย ทำให้ปลาหลุดออกจากกระชัง
รวมทั้งที่พักสำหรับเฝ้าปลาของชาวบ้านโดนน้ำท่วมทำให้ดูแลไม่ทั่วถึงง่ายต่อการถูกลักขโมย การเดินทางไปให้อาหารปลาลำบาก ต้องพายเรือเข้าไปตั้งแต่ในหมู่บ้านมาที่กระชังปลา เพราะน้ำท่วมหมู่บ้านทั้งหมด ทำให้เสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุจากเรือล่ม และที่สำคัญผู้เลี้ยงปลากระชังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายค่าอาหารสำหรับเลี้ยงปลาที่เพิ่มขึ้นทุกวัน หากบริษัทไม่มาจับปลา ปกติแล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังจะจับปลาขายให้กับบริษัทตามที่ได้ทำสัญญาไว้เมื่อปลาครบกำหนด 4 เดือน ซึ่งปลาน้ำหนักโตเต็มที่ได้มาตรฐานที่ตลาดผู้บริโภคต้องการ แต่ในครั้งนี้บริษัทยังไม่มาจับปลาหลังจากการเลี้ยงไปแล้ว 5 เดือน ทำให้ต้องประสบปัญหาการขาดทุนเนื่องจาก 1 เดือนที่ผ่านกำหนดจับ เพราะชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากระชังต้องให้อาหารปลาตลอด ในขณะที่น้ำหนักปลาไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ดังเช่นผู้เลี้ยงรายหนึ่งพูดว่า
“เขาบ่มาเดือดฮ้อนอีหยังกับเฮาดอก เพิ่นกะจอบแต่ถ่าเอาทอนั่นละ” (บริษัทไม่มาเดือดร้อนอะไรกับเราหรอก เขาก็มีแต่รอเอาผลกำไรก็แค่นั้นแหละ : แปลโดยผู้เขียน)
จากคำพูดดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นว่าบริษัทไม่มาแบกรับความเสี่ยงในภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ ร่วมกับผู้เลี้ยงปลากระชังเลย รวมทั้งไม่มีหน่วยงานใดมาให้ความช่วยเหลือ แม้กระทั่งบริษัทเอง มิหนำซ้ำยังไม่มาจับปลาที่ครบกำหนดแล้ว ผู้เลี้ยงปลาในแถบบริเวณนั้น ก็ไม่รู้สาเหตุว่า ทำไมบริษัทถึงไม่มาจับปลาเช่นกัน ?
นายโอภาส สินธุโคตร นักสื่อสาเกษตรกรพันธสัญญา รายงาน