บทเรียนสื่อ-แรงงาน-สาธารณะ

เมื่อวันที่  24   พฤษภาคม   2555  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  ร่วมกับสำนักรับฟังและการมีส่วนร่วมไทยพีบีเอส   จัดการเสวนาโครงการ “ บทเรียนจากโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน  ”   สนับสนุนโดย แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน     ณ  ห้องประชุมBriefing  อาคารอำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย    มีนักวิชาการ   นักข่าวสื่อกระแสหลัก  ผู้นำแรงงานและนักสื่อสารแรงงานจากศูนย์ข่าวต่างๆ เข้าร่วมราว   30  คน
 
นายวสันต์   ภัยหลีกลี้    รองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส   กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้  “ วันนี้ที่ทุกท่านได้มาสรุปบทเรียนก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานด้านแรงงานต่อไป   ไม่ว่าจะผ่านสื่อสาธารณะแห่งนี้หรือสื่ออื่น   เพราะทุกวันนี้มีสื่อใหม่เกิดขึ้นเยอะ  เทคโนโลยีไปไกลมากและสามารถเชื่อมโยงประชาชนถึงสถานการณ์ได้ง่ายขึ้นในชั่วพริบตาเป็นการสื่อสารที่กว้างไกลมาก   ในช่วงเวลาที่ทุกท่านจะสรุปบทเรียนคิดว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์หลังจากที่ได้ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักข่าวพลเมือง  ในส่วนที่ได้ไปสื่อสารกับพี่น้องแรงงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับภารกิจในการขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน  ”
 
ด้านผศ.ดร.นภาพร    อติวานิชยพงศ์     ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ทำงานวิจัยกล่าวว่า   เป็นการสำเร็จของโครงการที่มีการทำงานที่แตกต่างจากสื่อทั่วไปและทุกองค์กรที่รับผิดชอบโครงการนี้ก็มีความตั้งใจจริงเข้าใจธรรมชาติของคนงานมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันมา  ทำให้การมาบริหารงานได้ดีขึ้น    แม้ว่าโครงการจะได้รับการประเมินว่าประสบความสำเร็จในการสร้างนักสื่อสารแรงงานเพื่อสร้างสื่อของขบวนการแรงงาน  แต่สำหรับในระยะเวลา  2 ปียังไม่พอจำเป็นต้องทำงานต่อไปสักระยะเพื่อนำไปสู่การทำงานในอนาคตและความเข้มแข็งในขบวนการแรงงาน   แต่การทำงานสื่อจะพัฒนาได้ต้องรับการสนับสนุนจากองค์กรแรงงานจากทุกระดับ  
 
นายชาลี    ลอยสูง     ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้แสดงความคิดว่า   ในอดีตที่ผ่านมาสื่อสาธารณะไม่เข้าใจพื้นฐานของคนงานเวลามีปัญหาในเรื่องของสังคมที่มองแรงงานเป็นคนเกเร  มีอะไรก็ประท้วงหรือปิดถนน   ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผลิตนักสื่อสารแรงงานขึ้นมาดีกว่าไปโทษสื่อกระแสหลัก  การทำสื่อจำเป็นต้องนำเสนอข้อเท็จจริงนำเสนอปัญหาของแรงงานที่ถูกกระทำ   ในปัจจุบันนายจ้างเริ่มเข้ามาดูข่าวแรงงานมากขึ้นเพื่อต้องการรู้ความเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงาน   วันนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จมากในการมีนักสื่อสารแรงงานและยังต้องมีการพัฒนาต่อไปโดยต้องมีการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาทำงานอย่างมีคุณภาพ  สุดท้ายก็ต้องหาทุนเพื่อให้มาดำเนินการด้านสื่อสารแรงงานต่อไป
 

นายวิชัย    นราไพบูลย์     ผู้จัดการโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน     “   ได้มีแนวคิดการสร้างนักสื่อสารแรงงานมานานเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ฯ มีวัตถุประสงค์คือต้องการให้สังคมรับรู้คุณค่าของผู้ใช้แรงงานเพราะว่ามีการขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์แรงงานไทยไม่มีการสื่อสารไม่มีการบอกเล่าทั้งๆที่เป็นส่วนที่พัฒนาประเทศ    การฝึกอบรมจากพื้นฐานโดยใช้สถานที่ของพิพิธภัณฑ์ฯ   จนปัจจุบันได้มีโครงการพัฒนาสื่อขึ้นมา    และสามารถผลิตนักสื่อสารแรงงานได้รุ่นแรกขึ้นมาและต้องมีการพัฒนาออกไปอีกขั้นหนึ่งต่อไป ”
 
นายพรนารายณ์   ทุยยะค่าย      เลขาธิการสหพันธ์แรงงานปิโตเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย   กล่าวว่า  การทำงานสื่อสารแรงงานมีทั้งด้านบวก คือสังคมได้รับรู้ธรรมชาติของแรงงานมากขึ้น   ด้านลบคือสิ่งที่ยังเรียนรู้ไม่ถึงและเป็นช่องว่างเช่น  พ.ร.บ.  คอมพิวเตอร์  ซึ่งจริงๆผู้นำแรงงานหรือนักสื่อสารแรงงานถูกตั้งความคาดหวังผู้จัดการโครงการเป็นอย่างมาก   แต่ยังมีบางเรื่องที่ต้องเรียนรู้เช่นการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ   การส่งข่าวที่รวดเร็วเพื่อให้ทันเหตุการณ์   สิ่งหนึ่งที่ทำได้ดีคือการถ่ายทอดงานข่าวได้สร้างสรรค์มากขึ้น  โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยฯ  เรื่องการช่วยเหลือสังคม   ทำให้สังคมเริ่มมีทัศนคติที่ดีขึ้น   การผลิตนักสื่อสารแรงงานจำเป็นต้องมีทุนเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้มีขบวนการนี้ได้เดินไปได้โดยนักสื่อสารแรงงานไม่ต้องเดือนร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำงาน ”
นักสื่อสารแรงงานศูนย์พื้นที่สระบุรี  รายงาน