บทเรียนการต่อสู้ของคน 6 ตุลาไม่จางหาย เพราะปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ความเหลือมล้ำยังคงอยู่เหมือนว่ายังไม่เคยมีการแก้ไข
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2559 มีการจัดเสวนา “บทเรียนประชาชน 3 ประสาน จากยุคเดือนตุลากับอนาคต” ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เนื่องในงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลา นิทรรศการบนรอยเลือดและคราบน้ำตา 6-8 ตุลาคม 2559 ซึ่งในงานมีทั้งการ ฉายภาพยนตร์เรื่อง “ด้วยความนับถือ” (Respectfully yours) และได้มีการจัดแสดงวัฒนธรรมบทเพลงทั้งในอดีตและร่วมสมัยจาดศิลปินมากมายหลากหลายกลุ่มทุกวัน ซึ่งในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ได้มีการเสวนา “บทเรียนประชาชน 3 ประสาน จากยุคเดือนตุลากับอนาคต” โดยมีตัวแทนจากกลุ่มต่างทั้งในอดีตและรุ่นปัจจุบันร่วมเสวนา และรับฟังประสบการณ์ดังกล่าว
นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย อดีตประธานสหภาพแรงงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า การเคลื่อนไหวในอดีตนั้นตนได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวตลอด การทำงานร่วมระหว่างกรรมกร ชาวนา และนักศึกษาในอดีตนั้นเป็นการทำงานร่วมกันในการต่อต้านเผด็จการทหาร เนื่องจากกรรมกรทำแต่งานไม่มีเวลาในการศึกษาหาความรู้ในยุคสมัยนั้นกรรมกรถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากรัฐด้วยแนวคิดการส่งเสริมการลงทุนและไม่มีแนวคิดในการดูแลชีวิตกรรมกร จนการต่อสู้สมัย 14 ตุลาคม 2518 การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิประไตย หลังจากที่นักศึกษาได้ลงไปจัดตั้งให้ความรู้กับกรรมกรในพื้นที่ต่างๆเรื่องสิทธิด้านแรงงานทำให้กรรมกรในพื้นที่ต่างๆตามโรงงานมีการชุมนุมหลายร้อยครั้งเพื่อเรียกร้องสวัสดิการ และการรวมกลุ่มของกรรมกรในพื้นที่ก็มีนักศึกษาเป็นที่ปรึกษา รวมถึงได้มีการจัดตั้งทางควารมคิด กรรมกรยุคนั้นมีมุมมองทางสังคม มีการทำงานร่วมกับทางชาวนา นักศึกษา มีการออกไปชุมนุมคัดค้านการขึ้นราคาน้ำมัน ค่ารถเมลย์ และราคาข้าวสาร เนื่องจากราคาข้าวเปลือกถูกกดราคาด้วยการกำหนดเรื่องความชื้น ผลคือรัฐบาลได้มีการตั้งตัวแทนกรรมกร นักศึกษาเข้าไปเป็นตัวแทนในการพิสูจน์ข้าวเปลือกด้วย
“ในช่วงเดือน 6 ตุลากรรมกรได้มีมติในการเข้าร่วมชุมนุมกับนักศึกษาด้วยซึ่งดูได้จากภาพประวัติสาสตร์ที่กรรมกรยกมือรับรองมติที่คุณไพศาล ธวัชชัยนันท์ ประธานสภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้ขอมติ ซึ่งแต่ก่อนนั้นการมาของกรรมกรจะมีป้ายเขียนเพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมกรมีการขอมตินัดหยุดงานเพื่อเข้าร่วม และความสูญเสียของกรรมกรคือมีพนักงานของการไฟฟ้าถูกฆ่าแขวนคอสองท่าน และมีบางส่วนที่หนีเข้าป่า และถูกจับติดคุก ซึ่งตนไม่ได้ติดคุกแต่ก็ถูกจับด้วยอาจวาทะศิลป์ดีเลยรอดได้ทั้งที่ขึ้นเวทีทุกวัน ส่วนคนที่ติกคุกเมื่ออกมาก็ได้ทำงานที่เดิม” นายทวีปกล่าว
นายทวีปยังกล่าวอีกว่า บทบาทของนักศึกษาในอดีตกับกรรมกรปัจจุบันมีความห่างกันบ้างตามวิถีบริบททางสังคม แต่ก็มีร่วมกันบ้างตามสถานการณ์ และกรรมกรแรงงานก็สู้แต่เรื่องของตนเองไม่ค่อยได้มีบทบาทเชิงสังคมเหมือนอดีต
นางสุนทรี หัตถีเซงกิ่ง ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) กล่าวว่า ช่วง 14 ตุลาคม 2516 นั้นเป็นการต่อสู่ของนักศึกษาที่ส่งต่อถึงการเรียนรู้ในโรงเรียนมัธยมด้วย ซึ่งเป็นการส่งต่อความคิดของคนในยุคนั้นให้เติบโต และเมื่อได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วง ตุลาคม2519 ก็ได้เข้าร่วมในการชุมนุมเกือบทุกวัน แต่ในวันที่เกิด 6 ตุลา 19 วันนั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการณืเนื่องจากครอบครัวคุณพ่อมาพาออกจากการชุมนุมกลับบ้านในวันที่ 5 ตุลาคมเสียก่อน ซึ่งรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์มาก สิ่งที่ประทับใจคือการที่ได้เข้าร่วมกันทำกิจกรรมเคาะประตูบ้าน ซึ่งได้ลงพื้นที่ไปเคาะประตูบ้านชาวบ้านในการบอกเล่าปัญหาต่างๆและแลกเปลี่ยนความคิดกับชาวบ้าน และการที่ได้เข้าชมรมรัฐศาสตร์ศึกษาการได้ไปทำกิจกรรมในชนบทเพื่อการเรียนรู้กับชาวบ้าน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นฐานทางความคิดการพัฒนา หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา รู้สึกถึงความเควงคว่างมากการทำกิจกรรมไม่สามารถจะทำได้เหมือนเดิม ก็มีการทำกิจกรรมแบบเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ชมรมบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งก็ได้ทำงานเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง และเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องนักโทษการเมือง คนคิดต่างต้องไม่ถูกจับกุมคุมขัง เริ่มร่วมกับองค์กรต่างประเทศในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือNGO แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นการทำงานด้านสิทธิ
นางเรืองรวี พิชัยกุล อดีตนักศึกษาพยาบาล ได้เล่าถึงประสบการณ์ เดือนตุลาคม 2519 ว่า การต่อสู้ของนักศึกษาครั้งนั้นไม่ได้มีแต่นักศึกษาธรรมศาสตร์เท่านั้นมีผู้คนหลากหลายจากมหาวิทยาลัย อาชีพพากันเดินทางเข้ามาร่วมกันชุมนุมในธรรมศาสตร์เริ่มจากลานโพธิ์ สนามกีฬา เป็นช่วงหนึ่งในชีวิตซึ่งวันที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล “กลิ่นเลือดและเสียงร้องของผู้ชุมนุมดังระงม มีคนถูกหามเข้ามาจะนวนมากในโรงพยาบาล ตอนนั้นทุกคนช่วยกันเพื่อดูแลคนเจ็บ มีชายคนหนึ่งที่จับมือไว้แล้วเรียกว่าสหาย ตอนนั้นคิดว่า เป็นสหายหรือ จากนั้นได้มาตามหาน้องสาวที่ธรรมศาสตร์แต่ไม่พบ มารู้ว่าหนีไปแล้ว ภาพหนึ่งที่ยังอยู่ในสำนึกตลอดคือ ภาพของผู้หญิงที่ถูกจับถอดเสื้อ เหลือแต่เสื้อชั้นใน ภาพนี้สะท้อนใจมากในการละเมิดสิทธิความเป็นคน น้องสาวอายุเพียง 17 ปีเอง” นางเรืองระวีกล่าว
นางเรืองระวี กล่าวอีกว่า ในตอนนั้นคิดแค่ต้องการเห็นสังคมที่ดี และเมื่อเข้าไปเรียนรู้ชีวิตในป่า เป็นการหล่อหลอมความคิด ให้ต้องจับปืนลุกขึ้นสู้ เริ่มจากการเรียกร้องจากตัวเองก่อน ต้องมีการแลกเปลี่ยนกล้าที่จะถกเถียง เป็นการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง และยังได้เรียนเรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ที่เรียนรู้ในช่วงเข้าป่า มีช่วงหนึ่งที่ได้เดินลาดตะเวนในป่าได้เหยียบโดนวัตถุระเบิดตอนนั้นคิดว่าคงไม่รอดแน่เพราะส่วนใหญ่เสียชีวิต “ตอนนั้นคิดว่าคงตายแน่ แต่อีกความคิดหนึ่งคือฉันตายไม่ได้เพราะยังไม่ได้รับใช้ประชาชนเลย” เป็นความคิดที่ได้เรียนรู้มาตั้งนานยังไม่ได้ทำงานรับใช้ประชาชนเลย ต้องดิ้นรณต่อสู้ ก็ทำให้รอดตายมาได้ และตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนหลังออกมาจากป่า แต่ว่าตัวเลขความเหลื่อมล้ำยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากเดิมเลยในการปกครองก็ยังคงถอยหลังมีการรัฐประหารปฏิวัติกันอยู่จนปัจจุบัน มีการแบ่งพรรคแบ่งค่ายกันอีก แต่ก็ไม่อยากให้ท้อถอยกัน เหมือนครั้งที่เหยียบกับระเบิดเรายังตายไม่ได้หากประชาชนยังไม่ได้กินดีอยู่ดีมีประชาธิปไตย
นายพฤ โอ่ดดชา ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกร กล่าวว่า ช่วงเด็กในหมู่บ้านจะได้เห็นนักศึกษาเข้ามาขอข้าวชาวบ้านไปกิน และยังมีตำรวจตระเวณชายแดน (ตชด.) ก็มาขอข้าว ขอไก่ชาวบ้านกินเหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นไม่มีสื่อมาอธิบายทำความเข้าใจให้กับชาวบ้านฟังว่าคืออะไร แต่พ่อเล่าให้ฟังว่า หากไม่มีนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ชนเผ่าอย่างเราก็คงไม่สามารถที่จะส่งเสียงต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ความเป็นอยู่ได้ ต่อมาก็ได้เรียนรู้กับขบวนการNGO ได้เข้ามาร่วมเรียกร้องร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจน ออกมาผลักดันให้รับบาลแก้ไขปัญหาที่ทำกิน ทำเกษตรแต่ไม่มีที่ดินจากป่าก็เข้ามาในเมืองต่อสู้ร่วมกัน
“ปัญหาตอนนี้เรียกร้องมา 20 ปีก็ยังไม่ได้รับสิทธิที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน บางทีก็มีการเผาบ้าน คนชนเผ่าอย่างพวกเรา บอกว่าบุกรุกป่าทั้งที่เราเองก็มองว่าเรารักษาป่า อยู่กับชีวิตสีเขียวดูแลความเขียวของป่า และเห็นคนกรุงเทพเรียกร้องให้กรุงเทพมีพื้นที่สีเขียว เป็นเรื่องตลกมาก เมื่อไล่พวกเราแล้วป่ากลายเป็นรีสอร์ทให้คนกรุง คนในเมืองไปพักผ่อนหมายความว่าไม่ได้บุกรุกป่า “อยากเห็นสีเขียวก็ช่วยกันปลูกช่วยกันรักษาเพราะประเทศนี้ก็เป็นป่ามาก่อนทั้งนั้น กรุงเทพก็เคยเป็นป่ามาก่อนทั้งนั้น แต่พวกคนเมืองทำอะไรบุกรุกเหมือนกันใช่หรือไม่” การต่อสู้ของพวกเราจากการได้รับความรู้จากนักศึกษา จากNGO ตอนนี้ก็มาถึงบางอ้อว่า ให้ด็อกเตอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสักคนมารับรองพวกเราว่าเราอยู่ในป่าได้ และอยู่มานานแล้ว ผ่านการศึกษาทำข้อมูลเราก็จะอยู่ได้ที่ผ่านมาก็เริ่มเดินใหม่อีกครั้ง การประกาศอุทยานทับที่สร้างผลกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านชนเผ่าโดยตลอด หากย้อนไปก็ตั้งแต่มีการแบ่งแผ่นดินเป็ประเทศว่านี่คือประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา แล้วคนที่อยู่ตรงเขตแดนชนเผ่าไม่เคยถูกมองเห็นเลยต้องสูญเสียที่ทำกินและอาจต้องสูญเสียความเป็นมนุษย์หรือไม่ ซึ่งตอนนี้คนสนใจเรื่องชนเผ่าผ่านทางการสื่อสารของศิลปินที่ได้วาดรูปปู่คออี้และนำมาสู่การเรียนรู้ชีวิตและการถูกกระทำจากอำนาจรัฐผ่านคำตัดสินของศาลที่มองว่าน่าจะไม่เป็นธรรมกับคนชนเผ่าอย่างเราแน่กรณีการประกาศใช้กฎหมายอุทยานทับที่ทำกินซึ่งส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่อย่างมากไม่ว่าจะอยู่มากี่ร้อยกี่พันปีก็อยู่ไม่ได้ อันนี้กระทบมาก” นายพฤ กล่าว
นายไผ่ ดาวดิน ตัวแทนนักศึกษา ได้แสดงความคิดเห็นว่านักศึกษายุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันมาก เพราะยุคนี้หากอยากชุมนุม อยากหยุดการสอบไปปิดห้องสอบคงโดนดีแน่ ทำไม่ได้เหมือนยุคอดีต ยุคก่อนเรียกว่าขวาพิฆาตซ้าย ซึ่งก็เป็นการให้การเรียนรู้กับคนแบบรุ่นต่อรุ่น ซึ่งก็ได้เรียนรู้กันมาแบบไม่เคยจางหายไปจากประวัติศาสตร์ ซึ่งการต่อสู้ในฐานะนักศึกษาก็เรื่องที่ดินที่ทำกิน และเหมื่องแร่ ซึ่งรัฐกับทุนมีการนำกฎหมายเข้ามาจัดการต่อสู้กับชาวบ้านนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ ซึ่งการต่อสู้แบบสามประสานก็มีความพยามอยู่ในยุคนี้แต่ก็ยังไม่รู้สึกซึบซับความเดือดร้อน ซึ่งอดีตการต่อสู้มีความเข้มข้นมากในการออกมาต่อต้านเผด็จการทหารซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่ในยุคแบบนั้นแต่ไม่มีการลุกขึ้นมาร่วมกันสู้เหมือนอดีต แต่ก็เข้าใจว่าคนยุคนั้นก็ยังต่อสู้อยู่แต่รูปแบบอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
“ภาพการต่อสู้ของคนในอดีตยุค 6 ตุลาเป็นความโหดร้ายที่กระทำกับคนเหมือนไม่ใช่คน หากนำภาพเคลื่อนไหวมาเปิดให้คนรุ่นใหม่ได้ดูก็คงทนไม่ได้กับภาพความรุนแรงนั้น ต้องลุกขึ้นถามหาความจริงเพราะขนาดหมาแมวถูกกระทำยังทนกันไม่ได้ แต่นี่เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ไผ่กล่าว
ไผ่กล่าวอีกว่า การที่นักศึกากลุ่มดาวดินเข้าไปสู้ร่วมกับชาวบ้านแม้ว่าผู้คนมองว่าไม่ใช่ปัญหาของตนเอง ด้วยการต่อสู้ภาครัฐ เพราะต้องการมีพื้นที่ร่วมกันในการหาทางออก คนที่ถูกเอาเปรียบในอดีตอาจเป็นกรรมกร ชาวนา นักศึกษาในอดีตเข้าไปช่วยเหลือทั้งความรู้ และเรียนรู้ร่วมกัน ปัจจุบันต้องต่อสู้กับนายทุนที่ผูกขาดอำนาจรัฐนิยม การต่อสู้มีความหลากหลายได้ไม่จำเป็นต้องมาต่อสู้ร่วมกันแบบสามประสานอาจมีมากกว่าสามประสานก็ได้ ซึ่งการต่อสู้ทางพื้นที่เมื่อไม่ได้ก็เข้ามาสู้ในกรุงเทพอย่าถามว่าทำไมไม่อยู่ในพื้นที่เพราะว่าอำนาจรัฐอยู่ที่นี่ก็ต้องมาที่นี่เพื่อเรียกร้อง เมื่อกฎหมายที่ออกมาเป็นเครื่องมือให้นายทุนโดยรัฐเป็นผู้บังคับใช้จัดการกับทรัพยากรของชาวบ้านให้กับทุน โดยการไล่ชาวบ้านจนไม่มีที่ทำกินนี่จึงไม่ใช่กฎหมายคุ้มครองประชาชนแล้วกฎหมายนี้คุ้มครองใคร? และคนเดือนตุลาไม่ต้องห่วงว่าประวัติศาสตร์จะจางหายเพราะว่าคนรุ่นใหม่ยังเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเป็นแนวคิดในการต่อสู้กับรัฐอยู่เช่นอดีตเพราะว่าปัญหายังคงอยู่เหมือนว่ายังไม่เคยมีการแก้ไขเลย
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน