บทเรียนของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มองผ่านสหภาพแรงงานซันโคโกเซ : ความอำมหิตของกระทรวงแรงงานยุคใต้ท็อปบูท

1452086112353

บทเรียนของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มองผ่านสหภาพแรงงานซันโคโกเซ : ความอำมหิตของกระทรวงแรงงานยุคใต้ท็อปบูท

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
7 มกราคม 2559

“พี่ป่านๆ ตอนนี้ผมอยู่โรงพัก สรุปว่าผมต้องแจ้งเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมไหมครับ”

เสียงของประธานสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทยส่งผ่านมาทางโทรศัพท์ด้วยความร้อนรน เนื่องจากตำรวจในพื้นที่ตั้งโรงงานที่มีการชุมนุมของสมาชิกสหภาพแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เองก็สับสนว่ากรณีแบบนี้ ทางตำรวจต้องรับแจ้งหรือไม่ อย่างไร และจะรับอย่างไร เพราะในวรรคหนึ่งของมาตรา 3 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การชุมนุมใดบ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับนี้ คือ “การชุมนุมภายในสถานศึกษา การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ”

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองหรือเรียกร้องต่อสาธารณะแต่อย่างใด อีกทั้งสหภาพแรงงานเองก็จะมีการชุมนุมในเย็นวันนี้แล้ว เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้สมาชิกสหภาพแรงงานทราบความคืบหน้าต่างๆที่มีการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไปเมื่อในช่วงเช้า ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นมาโดยตลอดยามที่มีการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต่อบริษัทฯในช่วงปลายปีของทุกๆปี ซึ่งแน่นอนไม่สามารถใช้สถานที่ภายในโรงงานได้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาถ้าไม่เป็นบริเวณหน้าโรงงานก็สถานที่ใกล้เคียงแถบนั้น แบบนี้จะเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะหรือไม่
เพราะในกฎหมายได้ระบุไว้ว่า ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง และถ้ามีการชุมนุมไปแล้วต้องขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพียงเท่านั้น แต่ที่ตั้งโรงงานแห่งนี้กลับอยู่ในตัวอำเภอหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาคร ก็จะไม่สามารถแจ้งตำรวจในพื้นที่ได้อีก
เหล่านี้คือความสับสนที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ และไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้

FB_IMG_1452126113320

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา ได้สร้างความสับสนให้กับกลุ่มแรงงานในระบบในภาคอุตสาหกรรมต่างๆจำนวนไม่น้อยว่า การชุมนุมที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งด้านแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ไม่สามารถยุติได้ หรือที่เรียกว่าการพิพาทแรงงาน ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นั้น อยู่ในการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯหรือไม่ อย่างไร เพราะเมื่อถามเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะบอกเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่สถานีตำรวจแห่งเดียวว่าให้แจ้งไว้ก่อน

แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญต่างๆในกฎหมายฉบับนี้ ตั้งแต่นิยามความหมายที่ระบุว่าการชุมนุมสาธารณะต้องประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบนี้ คือ มีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม, แสดงออกต่อประชาชนทั่วไปบุคคลอื่นสามารถร่วมชุมนุมได้, แสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง, เรียกร้องสนับสนุนคัดค้าน

อีกทั้งการชุมนุมสาธารณะต้องกระทำลงใน “ที่สาธารณะ” ซึ่งที่เอกชนและที่นิคมอุตสาหกรรม ไม่อยู่ในบังคับไม่ถือเป็นที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพียงเท่านี้ก็จะเห็นแล้วว่าการชุมนุมที่เป็นผลมาจากการพิพาทแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ย่อมไม่เข้าข่ายความหมายเรื่องการชุมนุมสาธารณะ

แน่นอนแม้ความหมายของคำว่า “ที่สาธารณะ” จะหมายรวมถึงที่ดินทุกชนิดของแผ่นดิน ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง สถานที่เช่าของหน่วยงานราชการสำหรับใช้ปฏิบัติราชการ ทางเดินรถ/เรือ-ทางบก/ทางน้ำ ทางเดินรถระบบราง
แต่เมื่อกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งด้านแรงงาน คือ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ระบุอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการไว้เพียง 2 ทางเลือกเท่านั้น ก็ย่อมไม่มีเหตุผลอื่นใดที่แรงงานจะไม่เดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน เมื่อปัญหาข้อพิพาทแรงงานยังไม่ยุติ และไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ในระดับจังหวัดที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้ดำเนินการเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

sunkose

แค่เพียงขอบเขตการบังคับใช้ก็สร้างความมึนงงให้กับทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับแจ้ง และสหภาพแรงงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านแรงงานว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
6 มกราคม 2559 เวลา 19.00 น. ณ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ คือ บทสรุปสำคัญของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 กับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ที่นำไปสู่สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้บังคับใช้กฎหมายเห็นแต่ “บทบัญญัติ” แต่ไม่เห็น “หัวคน” จนนำไปสู่การถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของผู้ปกครองโดยขาดความยุติธรรม

แม้มีการส่งสัญญาณจากนายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในช่วงการเจรจาระหว่างเวลา 10.30 -12.20 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ ระหว่างสหภาพแรงงานซันโคโกเซประเทศไทย กับ กระทรวงแรงงาน ว่า “ทางกระทรวงแรงงานไม่สามารถอนุญาตให้สหภาพแรงงานฯสามารถอยู่ค้างคืนที่บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงานได้ เนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแรงงานแทน”

แต่เพราะความบริสุทธิ์ใจและเชื่อมั่นว่าการชุมนุมนี้เป็นไปเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ลงมาแก้ไขปัญหาเพียงเท่านั้น ตามที่บทบัญญัติในมาตรา 35 ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ได้กำหนดไว้ว่า

“ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าการปิดงานหรือการนัดหยุดงานนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น

(2) สั่งให้ลูกจ้างซึ่งนัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ

(3) จัดให้บุคคลเข้าทำงานแทนลูกจ้างซึ่งมิได้ทำงานเพราะการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน นายจ้างต้องยอมให้บุคคลเหล่านั้นเข้าทำงาน และห้ามมิให้ลูกจ้างขัดขวางให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

(4) สั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน”

การตัดสินใจที่จะยังคงอยู่ ณ ใต้ถุนกระทรวงแรงงานหลังเวลาทำการราชการ จึงดำเนินต่อไปเพื่อให้ได้ข้อยุติ เพราะแม้ว่าจะเคลื่อนย้ายออกไปชุมนุม ณ สถานที่อื่นนอกรั้วกระทรวงแรงงาน ก็ไม่มีหลักประกันใดๆที่จะคุ้มกันความปลอดภัยให้สมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 600 คน ที่มาชุมนุมร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ ที่มีทั้งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กว่า 10 คน และแรงงานที่ป่วยมาชุมนุมร่วมอยู่ด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสหภาพแรงงานแห่งนี้ต้องมาชุมนุมกัน

นี้จำเป็นต้องย้อนไปตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 ที่นายจ้างบริษัทบริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยีประเทศไทย จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 100 % ตั้งอยู่เลขที่ 64/20 หมู่ 4 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติก1452086104747ได้แก่ กันชน สปอยล์เลอร์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ส่งงานให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ , เจเนรัลมอเตอร์, นิสสัน, ฮีโน่ , ซูซูกิ, อีซูซุ, ฟอร์ด, มาสด้า, มิโนะรุ, ทากาตะ, เดนโซ่, เอ็นเอชเค ฯลฯ มี Mr.Yoshiaki Shibata เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ

บริษัทฯได้มีคำสั่งปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จำนวน 663 คน และนำไปสู่การสั่งห้ามเข้าทำงานในโรงงานและงดจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

การปิดงานตามความหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 หมายถึง การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานในสถานประกอบการชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ยังตกลงกันไม่ได้ เป็นมาตรการที่นายจ้างกดดันให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนในระหว่างปิดงาน เนื่องจากไม่มีรายได้ เพราะลูกจ้างไม่สามารถเข้าทำงานได้ ก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นวิธีการกดดันลูกจ้างให้ยอมตามข้อเรียกร้องที่นายจ้างกำหนด ดังนั้นคนที่ได้รับความเดือดร้อน คือ ลูกจ้างที่ถูกปิดงานทุกคน อีกทั้งยังไม่ได้รับสิทธิแรงงานตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องในระหว่างปิดงานนี้ด้วย เช่น ประกันสังคม, คุ้มครองแรงงาน , กองทุนเงินทดแทน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และได้มีการชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าบริษัทฯซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง เพื่อให้มีการเจรจาเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามไม่เป็นผลแต่อย่างใด อีกทั้งบริษัทฯยังได้ประสานงานกับทางนิคมฯเพื่อขอใช้อำนาจศาลในการสั่งให้ลูกจ้างย้ายสถานที่ชุมนุมออกจากบริเวณดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา

ที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นได้มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้างกว่า 15 ครั้งให้ได้ข้อยุติลงตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน แต่นายจ้างก็บิดพลิ้วการเจรจา/ไม่ยอมเจรจา แม้จะมีเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจากส่วนกลาง นำโดยรองปลัดกระทรวงแรงงานสุวิทย์ สุมาลา ลงไปเจรจาเองก็ตาม

 

อีกทั้งมีมาตรการกดดันลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปต่างๆร่วมด้วย เช่น การนำแรงงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน, การสั่งให้ลูกจ้างล้างห้องน้ำ, การเปิดโครงการสมัครใจลาออกด้วยข้ออ้างเรื่องการขาดทุนแต่ก็มีการให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) ควบคู่กันไป, การทำงานท่ามกลางความไม่ปลอดภัยในสภาพแวดล้อมในโรงงาน เป็นต้น
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความวิตกกังวลใจต่อลูกจ้างมากยิ่งขึ้นว่าอาจนำไปสู่การเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด มากกว่าการเจรจาข้อพิพาทแรงงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้วางหลักการไว้แล้ว

จึงทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานได้ตัดสินใจเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 6 มกราคม 2559

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ไม่เคยมีแรงงานกลุ่มใดๆมาชุมนุมค้างคืนในบริเวณกระทรวงแรงงาน
ถ้าจำไม่ผิดครั้งสุดท้ายคือการชุมนุมของสมาชิกสหภาพแรงงานสยามโภชนาการจำนวน 480 กว่าคนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และยุติลงในวันที่ 6 มีนาคม 2557 เมื่อนายเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้นได้ตัดสินใจใช้มาตรา 35 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และนี้จึงสร้างความกังวลใจให้กับกระทรวงแรงงานอย่างมากในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นทหาร อีกทั้งก็มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯร่วมด้วย ดังนั้นทำให้ในช่วงระหว่างเวลา 10.00-12.20 น. จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานกับสหภาพแรงงานซันโคโกเซฯ
ตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน นำหารือโดยนายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน (ทำหน้าที่อภิปรายและชี้แจงคำตอบเป็นส่วนใหญ่), นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน, นายสมหวัง หมอยาดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง
ตัวแทนจากสหภาพแรงงานฯ นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , นายเสมา สืบตระกูล สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, นายไพฑูรย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่อมตะนคร, นายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานฯ และสมาชิกกว่า 20 คน

กระบวนการประชุมเริ่มต้นด้วยตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงานได้ฉายภาพความทุกข์พร้อมน้ำตาที่เกิดขึ้นให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐทราบสถานการณ์ หลังจากนั้นทางกระทรวงแรงงานได้ตอบข้อซักถามต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวม 5 ประเด็น ได้แก่

(1) นายจ้างมีความไม่ไว้วางใจสมาชิกสหภาพแรงงานว่าถ้ามีการเจรจาไปและยังคงเปิดให้สมาชิกสหภาพแรงงานทำงานในสถานประกอบการร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงต่อกระบวนการผลิต นายจ้างอ้างว่าที่ผ่านมามีครั้งหนึ่งที่ลูกจ้างจำนวนกว่า 400 คน ได้มีการลาป่วยพร้อมกันและส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตที่ต้องส่งให้ลูกค้า จึงทำให้ต้องใช้มาตรการปิดงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้กำหนดไว้ และมีการนำพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานแทน เพื่อให้กระบวนการผลิตดำเนินไปได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

(2) นายจ้างอ้างว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามสามารถจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างได้เพียง 0.6 เดือนเท่านั้น แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานหรือสหภาพแรงงานฯเองจะให้ข้อมูลเปรียบเทียบถึงจำนวนโบนัสที่เคยจ่ายในปีที่ผ่านมา รวมถึงตัวเลขงบดุลต่างๆ แต่ทางนายจ้างก็ยังยืนยันตามเดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขแต่อย่างใด ทั้งนี้นายจ้างได้อ้างเรื่องการมุ่งการแข่งขันกับสถานประกอบการอื่นๆเพื่อให้บริษัทฯสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องลดขนาดองค์กรลง และมีการนำลูกจ้างรับเหมาค่าแรงงานเข้าทำงานแทนที่พนักงานประจำ เพื่อลดต้นทุนการผลิตไม่ให้ขาดทุน

(3) สำหรับในกรณีที่ทางสหภาพแรงงานฯได้ทำหนังสือถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานตามมาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามการนัดหมายจะมีการเข้าตรวจสอบในวันที่ 7 มกราคม 2559 อย่างไรก็ตามทางรองปลัดกระทรวงแรงงานสุวิทย์ สุมาลา ได้แจ้งให้ระงับไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศที่ไม่ดีในการเจรจามากขึ้น และเห็นว่าการที่บริษัทฯได้นำแรงงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด หน้าที่กระทรวงแรงงาน คือ พิจารณาว่าบริษัทจัดสวัสดิการได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่เพียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถห้ามการใช้แรงงานเหมาค่าแรงได้

(4) ทางกระทรวงแรงงานได้นัดตัวแทนนายจ้างเข้ามาหารือในวันนี้เวลา 16.30 น. แต่สุดท้ายอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่การเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่ภาครัฐที่จะจัดการได้แต่อย่างใด อีกทั้งอำนาจทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นสำคัญเพียงเท่านั้น

(5) กระทรวงแรงงานไม่สามารถอนุญาตให้สหภาพแรงงานฯสามารถอยู่ค้างคืนที่บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงานได้ เนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแรงงานแทน อีกทั้งยังได้แจ้งว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นและส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สินภายในกระทรวงในเวลาวิกาล ทางสหภาพแรงงานฯต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น
ต่อมาในช่วงเวลา 16.30-18.30 น. ได้มีการเจรจาครั้งที่ 2 เกิดขึ้น 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง, ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทรวงแรงงาน ดูราวกับว่าบรรยากาศการเจรจาที่มีผู้บริหารระดับสูงเป็นกลไกกลางกำลังดำเนินไปด้วยดี แต่นั้นเองนายจ้างยังคงยืนกรานตามเดิมเรื่องการจ่ายโบนัสเพียง 0.6 เดือนเท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นๆไม่มีการเจรจาใดๆทั้งสิ้นถ้าไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวนี้ก่อน ทำให้การเจรจาจึงต้องยุติลง และทางนายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ย้ำกับฝ่ายลูกจ้างอีกครั้งเรื่อง “ให้ออกจากใต้ถุนกระทรวงแรงงานไปชุมนุมที่อื่น หรือให้ยุติการชุมนุมเพื่อแยกย้ายกลับบ้านต่อไป”

บรรยากาศใต้ถุนกระทรวงแรงงาน ณ ช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยตำรวจกว่า 200 คน, รถตำรวจที่เปิดไฟด้านบนตลอดเวลา, รถที่มีกรงกักขัง เข้ามาอยู่บริเวณลานน้ำพุ ที่สมาชิกสหภาพแรงงานได้ชุมนุมอยู่ ซึ่งได้สร้างความหวาดกลัวและวิตกกังวลให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานอย่างมาก มีตำรวจกลุ่มหนึ่งได้มาเจรจาให้ยุติการชุมนุม ซึ่งระหว่างพูดคุยกันตำรวจได้แจ้งว่า ทางปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้แจ้งความให้เอาผิดผู้ชุมนุม ระหว่างนั้นแรงงานบางคนคงเครียดและกลัวเพราะไม่เคยมีประสบการณ์เผชิญภาวะเฉพาะหน้าแบบนี้ ก็เลยมีการโต้เถียงกัน ทำให้ตำรวจบางคนเดินฝ่าเข้ามาในวงที่คนงานนั่งและกระชากตัวออกไป บรรยากาศยิ่งตึงเครียดมากขึ้น

คณะทำงานที่ยังเหลืออยู่นำโดยนายเสมา สืบตระกูล , นายไพฑูรย์ บางหลง, นางสาวเสน่ห์ หงส์ทอง , นายพรพิชิต ปุริสาร , นายจิระพัฒน์ คงสุข , นางมงคล ยางงาม , นางสาวอัยยลักษณ์ เหล็กสุข , นายโสภณ ทองโสภา จากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก องค์กรสมาชิกในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้พยายามอธิบายว่า “ขอให้ทางนายชาลี ลอยสูง และนายอมรเดช ศรีเมือง ลงมาก่อนว่าได้ข้อสรุปอย่างไร จะหารือตามนั้น” ทำให้ยุติการเจรจา และนางสาวเสน่ห์ หงส์ทอง และนายโสภณ ทองโสภา ได้ไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจในพื้นที่เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงในสถานที่ราชการยามวิกาล

ขณะเดียวกันในเวลา 19.00-22.30 น. ก็ได้มีตำรวจประมาณ 20 คน เข้าควบคุมตัวนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยนายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานฯที่บริเวณชั้น 6 กระทรวงแรงงาน ซึ่งในห้องควบคุมตัวดังกล่าวนั้นมีนายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน อยู่ด้วย ช่วงเริ่มต้นของการควบคุมตัวนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งใช้ท่าทีที่ก้าวร้าวดุดันข่มขู่ตะคอกบุคคลทั้ง 2 พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์ระหว่างควบคุมตัว อ้างเรื่องการยึดสถานที่ราชการในยามวิกาล

เวลา 21.40 น. สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจากับนางสาว
วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), นายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ เพื่อให้ยุติการชุมนุมมิฉะนั้นจะใช้กำลังขั้นเด็ดขาดเข้าควบคุม

แต่ทางผู้ใช้แรงงานเจรจาว่า “การให้คนงานกลับบ้าน จ.ระยองเวลานี้อันตรายมาก เพราะกว่าจะเดินทางไปถึง และไม่มีหลักประกันใดๆในความปลอดภัย มีคนท้อง คนป่วย อีกทั้งการใช้วิธีการนี้ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาแต่อย่างไร เพราะข้อเสนอสำคัญของคนงาน คือ รัฐมนตรีแรงงานต้องใช้อำนาจในการสั่งให้นายจ้างรับคนงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้าง เพราะคนงานไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 แล้ว การให้คนงานกลับไปก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆในการทำให้คนงานไม่ถูกละเมิดสิทธิอย่างที่เป็นมา”

จวบจนเวลา 22.30 น. บุคคลทั้งคู่ที่ถูกควบคุมตัวจึงลงมาด้านล่างพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจประกบตัวกว่า 10 คน และประธานสหภาพแรงงานฯได้ชี้แจงว่า “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ได้กินข้าว ไม่มีการข่มขู่หรือจับกุมใดๆ และขอให้คนงานกลับบ้านคืนนี้ทั้งหมดทุกคนโดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจัดรถส่งกลับที่ระยอง และทางกระทรวงแรงงานจะมีเวทีเจรจาอีกครั้งในวันที่ 8 มกราคม 2558”

แม้ว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเป็นกลไกการเจรจาต่อรองเพื่อระงับความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้างในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่วันนี้กลไกดังกล่าวได้ถูกทำลายลงเพราะ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ขาดความใส่ใจในการตระหนักถึงกลไกที่กฎหมายอีกฉบับหนึ่งได้กำหนดไว้

ทั้งๆที่การเจรจาต่อรองด้านแรงงาน เป็นการเจรจาต่อรองที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นไปเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่าง “ลูกจ้าง” กับ “นายจ้าง” ในสถานประกอบการเดียวกันเพียงเท่านั้น เพื่อทำให้ความขัดแย้งที่จะขยายได้คลี่คลายลงด้วยกลไกดังกล่าว
เมื่อรัฐไทยได้พยายามกดค่าจ้างของลูกจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ชีวิตคนงานจึงหล่อเลี้ยงด้วยการทำงานล่วงเวลาและการเป็นแรงงานที่ดีตามกฎเกณฑ์ที่โรงงานกำหนด ด้วยความปรารถนาที่จะได้รับเงินโบนัสเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยวในช่วงปลายปีที่เป็นผลมาจากการทุ่มเทกำลังมาตลอดทั้งปี การเรียกร้องจึงเกิดขึ้นเมื่อผลตอบแทนที่ได้กับสิ่งที่คืนกลับผกผัน

แต่วันนี้กลไกดังกล่าวได้ตีบตันลงแล้ว เมื่อสิทธิพื้นฐานสำคัญของแรงงาน คือ สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ไม่ได้รับการคุ้มครองและปกป้องจากกระทรวงแรงงานอีกต่อไป นี้จึงนำมาสู่ความเสี่ยงต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานโดยชอบธรรมจากฝ่ายนายจ้าง โดยมีกระทรวงแรงงานทำหน้าที่สนับสนุน-เอาใจ-เอื้อประโยชน์นายทุนอย่างเต็มรูปแบบ

01.30 น. ของค่ำคืน 6 มกราคม 2559 หรือเริ่มต้นเช้าวันใหม่ที่ 7 มกราคม 2559 ทุกอย่างสงบราบเรียบราวกับก่อนหน้านั้นไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ณ พื้นที่แห่งนี้ ฉันแหงนหน้ามองป้ายตราสัญลักษณ์กระทรวงแรงงาน พลันรูปเทพบดีทั้ง 3 องค์ ที่เหาะลอยเปล่งรัศมีอยู่เหนือลายเมฆภายในวงกลมเดียวกัน ก็เปลี่ยนเป็นรูป”ท็อปบูท” ที่กำลังเหยียบหัวฉันอยู่อย่างยากจะเผยอ

………………

* จริงๆแล้ววันที่ 8 มกราคม 2559 คือวันที่ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว จากการเจรจาตามข้อพิพาทแรงงานครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกับการมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอให้รัฐมนตรีฯใช้อำนาจตามมาตรา 35 ในพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 แต่อย่างใด