บทสรุปของแรงงาน NXP กับการทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน: ชีวิตบนความเสี่ยงของความไม่มั่นคงในการจ้างงาน

Untitled-1DSCN3376

แม้ว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการแรงงานและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะชี้ขาดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 แล้วว่า สภาพการจ้างงานแบบทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน วัน โดยมีเวลาทำงานปกติวันละ 7 ชั่วโมง ของบริษัท เอ็นเอ็กพี เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย) ไม่ขัดกับพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

อย่างไรก็ตามนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้วิเคราะห์ในกรณีการชี้ขาดนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “คำชี้ขาดถือว่าเป็นข้อยุติแล้ว แต่ผมมีข้อสังเกตว่านี้เป็นการตีความอย่างกว้างตามกฎหมาย ทั้งเรื่องวันหยุด และเวลาทำงาน แต่กลับไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลา ซึ่งก็คือ การบังคับให้ลูกจ้างต้องทำโอที ตามที่ฝ่ายสหภาพแรงงานได้เสนอข้อมูลให้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ดังนั้นสหภาพแรงงานจำเป็นต้องสื่อสารประเด็นนี้ต่อสาธารณชนให้เข้าใจต่อไป เพราะนี้ไม่ใช่เรื่องระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงานเท่านั้น แต่เป็นภาพสะท้อนความอยุติธรรมในการจ้างงานในประเทศไทย ที่นโยบายและกลไกรัฐมีช่องว่างที่ทำให้เกิดการจ้างงานในลักษณะที่เอารัดเอาเปรียบลูกจ้างได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการจ้างงานของสถานประกอบการที่อื่นๆต่อไปในอนาคต
เพราะตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 ได้กำหนดชัดเจนว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป ดังนั้นเมื่อบริษัทบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา โดยลูกจ้างไม่ได้ให้ความยินยอมโดยสมัครใจ และลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ไม่ใช่งานที่ต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉินที่กฎหมายให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรค 2 บริษัทจึงไม่มีสิทธิบังคับให้ลูกจ้างที่ไม่สมัครใจต้องทำงานล่วงเวลานั้น ถ้าย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2554 จะเห็นว่า บริษัทได้กำไรในปีนั้นถึง 8 พันล้านบาท แสดงว่านายจ้างไม่ได้มีความเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะฉุกเฉินที่ต้องบังคับให้ลูกจ้างทำโอทีเพื่อไม่ให้งานเสียหายแต่อย่างไร”

ทั้งนี้นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “รูปแบบการทำงาน 4 วัน หยุด 2 วันนี้ เป็นภาพสะท้อนความไม่เป็นธรรมในการจ้างงานของลูกจ้างแบบประจำอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาเรามักเข้าใจมีเฉพาะลูกจ้างเหมาช่วง เหมาค่าแรงเท่านั้น ที่ชีวิตอยู่บนเส้นด้ายความเสี่ยงจากการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรม แต่ทุกวันนี้ชีวิตแรงงานในระบบที่มีการจ้างงานแบบประจำ (แต่เป็นพนักงานแบบรายวัน) กำลังถูกละเมิดสิทธิมากขึ้น เพราะกลไกรัฐมีช่องว่างให้นายจ้างสามารถปฏิบัติได้โดยไม่มีความผิด

แน่นอนบริษัทอาจพูดว่า ตนเองย่อมมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานไปเป็นรูปแบบใหม่ๆใดก็ได้ แต่ในเชิงมนุษยธรรมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทไม่ได้มองลูกจ้างในฐานะ “คนที่มีศักดิ์ศรี” เพราะ
ในระบบการจ้างงานแบบใหม่ คือ ทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน คือ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ล่วงเวลาอีก 4 ชั่วโมง รวมเป็นวันละ 12 ชั่วโมง แบ่งเป็นวันละ 2 ช่วง (กะ) คือ เวลา 07.00-19.00 น. กับ เวลากลางคืน 19.00-07.00 น. ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าการจ้างงานแบบใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงาน NXP ที่เป็น “ผู้หญิง” วัยกลางคน มีครอบครัวที่ต้องดูแลรับผิดชอบ และทำงานแบบรับค่าจ้างรายวัน
ไม่ว่าจะเป็น
(1) ค่าจ้างลดน้อยลง ย่อมทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่มีเงินเก็บสำรองในยามจำเป็น รวมถึงเงินชดเชยที่จะได้ในอนาคตจากการที่อาจถูกเลิกจ้าง และประกันการว่างงานก็มีจำนวนน้อยลงไปด้วย เนื่องจากสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมคิดจากฐานรายได้ที่ได้รับ
เดิมลูกจ้างทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน คือ หยุดทุกวันอาทิตย์ แต่ระบบใหม่ คือ ทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน ดังนั้นวันหยุดจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่แน่นอน
ซึ่งถ้าลองคำนวณรายได้ดูแล้ว พบว่าระบบการทำงานใหม่ พนักงานที่ได้รับค่าแรงเป็นรายวัน (ไม่ใช่เงินเดือน) จะมีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น หากคิดตามค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่ง (1.5 เท่า) ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามชั่วโมงที่ทำ
เท่ากับว่า คน 1 คน ทำงานวันละ 300 บาท เป็นเวลา 8 ชั่วโมง แล้วทำ OT อีกวันละ 4 ชั่วโมง คำนวณโดยนำค่าแรงปกติ 300 บาท หารด้วย 8 ชั่วโมง จะได้ค่าแรงชั่วโมงละ 37.50 บาท จากนั้นคูณด้วยอัตราค่าจ้างล่วงเวลา 1.5 เท่าตามที่กฎหมายกำหนด จะได้ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 56.25 บาทคูณด้วย 4 ชั่วโมง ที่เป็นเวลาทำ OT ต่อ 1 วัน เท่ากับได้ค่าล่วงเวลาวันละ 225 บาท รวมกับค่าแรงในเวลาปกติ จะได้เท่ากับ 525 บาทต่อวัน
โดยค่าแรงดังกล่าว หากเป็นการทำงานในระบบเก่า คือ 6 หยุด 1 จะได้ค่าแรงเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3,150 บาท แต่หากเป็นระบบใหม่ คือ 4 หยุด 2 จะได้เพียงสัปดาห์ละ 2,100 บาทเท่านั้น แม้ว่าจะทำ OT ทุกวันก็ตาม
นอกจากนี้การทำงาน 4 หยุด 2 นั้น เมื่อคำนวณวันทำงานแล้ว พนักงาน 1 คน จะมีรายได้เฉลี่ยเพียง 20 วันทำงาน คือ 10,050 บาทเท่านั้น ส่วนระบบเก่าคือ 6 หยุด 1 จะมีรายได้เฉลี่ย 24 วันทำงาน คือ 12,600 บาท หากทำ OT 4 ชั่วโมงต่อวันเท่ากัน
(2) ระยะเวลาในการทำงานยาวนานขึ้น เพราะเมื่อค่าจ้างลดลง ถ้าอยากได้รายได้เท่าเดิมเหมือนกับสมัยที่ทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน ก็ต้องทำงานล่วงเวลาอีกวันละ 4 ชั่วโมง รวมเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงได้เพราะมีเรื่องรายได้เข้ามาเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ เนื่องจากปัจจุบันนี้ ค่าครองชีพได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ ค่าแรงที่เราได้รับจากการจ้างงานในระบบใหม่โดยที่ไม่ทำโอทีจึงไม่เพียงพออย่างแน่นอน และยิ่งทำให้ความเป็นอยู่ลำบากมากขึ้น
(3) สุขภาพความปลอดภัยในการทำงานที่ลดลง เพราะเมื่อต้องทำงานยาวนานมากขึ้น สิ่งที่อาจเป็นปัญหาตามมา ก็คือเรื่องความปลอดภัยและการเจ็บป่วยจากการทำงาน ทำงานมากขึ้นเพื่อแลกกับค่าจ้างที่เคยได้รับเท่าเดิม (ไม่ใช่ทำงานมากขึ้น เพื่อได้รับค่าจ้างมากขึ้น) ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อยลง โอกาสเสี่ยงต่ออุบัติเหตุก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา อีกทั้งเมื่อนายจ้างมองผลกำไรเป็นตัวตั้ง ระบบการป้องกันความปลอดภัยถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ดังนั้นโรงงานจึงให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องความปลอดภัยน้อยลง และส่งผลต่อสวัสดิภาพคนงานตามมา
(4) หนี้สินนอกระบบที่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงทำให้ต้องดิ้นรนหารายได้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละ วัน เนื่องด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบมากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายในครอบครัว เลี้ยงดูบุตรซึ่งยังเรียนอยู่ และบิดามารดา รวมทั้งยังมีภาระต่างๆอีกมาก ซึ่งหากว่าค่าจ้างยังคงทำเดิม เราก็ยังคงมีรายได้จากการทำงานในการใช้จ่ายภาระนี้ได้
(5) การเข้าร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมโดยเฉพาะกิจกรรมตามประเพณีจะหายไป เนื่องจากการที่มีวันหยุดไม่ตรงกัน จึงส่งผลต่อการจัดกิจกรรมต่างๆในโรงงาน รวมทั้งกิจกรรมในครอบครัวด้วย เพราะจากระบบเดิมที่มีการหยุดในวันอาทิตย์ที่ชัดเจน จึงทำให้มีเวลาให้กับครอบครัวในวันอาทิตย์ แต่ระบบใหม่หมุนเวียนไปในแต่ละสัปดาห์ จึงทำให้เวลาในครอบครัวลดลงอย่างแน่นอน อีกทั้งในวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็จะไม่ได้หยุดงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

Untitled-1 copyOLYMPUS DIGITAL CAMERA

ความเดิม
บริษัท เอ็น เอ็กซ์ พี แมนูเฟคเจอริ่ง จำกัด (NXP) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2517 มีทุนจดทะเบียน 4,939,000,000 บาท เป็นบริษัทที่ทำกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในหลายภาคส่วน เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือชิพที่ใช้ในบัตรประชาชน (Smart Card) และอื่นๆ อีกหลายรายการ ปัจจุบันมีพนักงานราว 3,200 คน สัดส่วนพนักงานเป็นหญิงร้อยละ 80 ชายร้อยละ 20 อายุงานเฉลี่ย 10-15 ปี

ด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีมาตรฐานสากล จึงมีสหภาพแรงงาน โดยสหภาพฯ ของลูกจ้าง บ.NXP ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2521 ทะเบียนเลขที่ กธ.128 ปัจจุบันมีคณะกรรมการบริหาร 16 คน มีนายวัลลภ ชูจิตร์ เป็นประธาน และมีสมาชิกทั้งสิ้น 2,520 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานแบบรายวันกว่า 2,000 คน ที่เหลือเป็นรายเดือน

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2555 ทางบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพฯ 4 ข้อ โดยมีสาระสำคัญคือ 1.เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน 2.ลดสวัสดิการวันหยุดพักผ่อนประจำปี และตัดเบี้ยเลี้ยงค่ากะ 3.ต้องการคงสภาพการจ้างในลักษณะรายวัน เป็นเวลา 3 ปี และ 4.เปลี่ยนรูปแบบวันและเวลาทำงานใหม่

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
30 มิถุนายน 2556