บทวิพากษ์ การเสนอร่างกฎหมายยุบเลิกกอช.

โดย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ

220856

        P1121175  แรงงานนอกระบบ1

กอช. คือ กองทุนการออมแห่งชาติ ที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 โดยกำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 15-60 ปี และไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ที่ส่งสมทบเพื่อสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนระบบบำเหน็จบำนาญอื่น ที่มีการจ่ายเงินสมทบโดยรัฐบาลหรือนายจ้าง

          ขณะที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 40 ให้บุคคลอื่นใดที่มิใช่ลูกจ้าง ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี-ไม่เกิน 60 ปีสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ โดยไม่ใช้บังคับแก่กิจการและลูกจ้างตามที่มาตรา 4 ของกฎหมายประกันสังคมกำหนดไว้

กฎหมายกอช.มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 และกำหนดให้มีการเปิดรับสมัครสมาชิกกอช.และจ่ายเงินสะสมเมื่อพ้นกำหนด 360 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้ประกาศว่า จะเริ่มรับสมัครสมาชิกกอช.ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เสนอร่างกฎหมายลำดับรองต่างๆต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบเพื่อเปิดรับสมาชิก ขณะที่หลายกลุ่มองค์กรเรียกร้องให้เปิดรับสมัครสมาชิกกอช.และบูรณาการระบบบริหารจัดการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างหลักประกันชราภาพที่ยั่งยืนของประชาชน

P1121126Untitled-3

ความจำเป็นของใคร? ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ?

เมื่อบ่ายวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ได้รับหนังสือด่วนที่กค1007/ว2817 จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรื่องขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ. …. โดยได้ระบุเหตุผลความจำเป็นในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า

“เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของผลประโยชน์ ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีสาระสำคัญในการเพิ่มรูปแบบความคุ้มครองประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ ภายใต้มาตรา 40 ของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม โดยนำหลักเกณฑ์ของกอช.มาปรับใช้ โดยเฉพาะการกำหนดประโยชน์ทดแทนในรูปบำนาญชราภาพสำหรับผู้ที่ส่งเงินออมตามระยะเวลาที่กำหนด (หากส่งเงินออมน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดจะได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพ) และการให้เงินสมทบจากรัฐ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของกอช. จะสามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนและเลือกรูปแบบความคุ้มครองในลักษณะเดียวกันได้

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นควรเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและเป็นการลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานของกองทุน”

ความคุ้มครองประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมในอนาคตจะมี 3 รูปแบบ โดยให้ผู้มีสิทธิสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนต้องมีอายุ 15-60 ปี มีสิทธิเลือกทางเลือกเดียว หรือ 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1+3 หรือ ทางเลือกที่ 2 + 3 ได้ ดังนี้

 

ทางเลือก

เงินสมทบ/คน/เดือน

สิทธิประโยชน์

รายละเอียด

1

เดิม

100 บาท (สมทบจากผู้ประกันตน 70 บาทและจากรัฐบาล 30 บาท) กรณีเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 30วัน (บริการทางการแพทย์ใช้สิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
กรณีทุพพลภาพ เงินทดแทนการขาดรายได้ระหว่างเดือนละ 500 บาท ถึง 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 15 ปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาส่งเงินสมทบ)
กรณีตาย -เงินค่าทำศพ 20,000 บาท (กรณีถึงแก่ความตายจ่ายเงินสมทบเพียง 1 เดือน)

2

(เดิม)

150 บาท (สมทบจากผู้ประกันตน 100 บาท และจากรัฐบาล 50 บาท) เช่นเดียวทางเลือกที่ 1 และเพิ่มเงินบำเหน็จกรณีชราภาพ จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ ประกอบด้วยเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย และผลประโยชน์ตอบแทนรายปีคืนให้แก่ผู้ประกันตน เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และลาออมจากการเป็นผู้ประกันตน

3

(เพิ่ม)  ตามมติ ครม. 25มิ.ย.56

200 บาท (สมทบจากผู้ประกันตน 100 บาทและจากรัฐบาล 100 บาท ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น -บทเฉพาะกาล,กำหนดให้ในปีแรก ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ขึ้นไปมีสิทธิสมัครและจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ถึง พ.ค.54-ประโยชน์ทดแทน 1 กรณี คือ กรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ (รับบำนาญกรณีการออมไม่น้อยกว่า 420 เดือนและรับบำเหน็จกรณีออมน้อยกว่า 420 เดือน) เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

กอช.แตกต่างกับมาตรา 40 คือ กฎหมายกอช.กำหนดให้จ่ายเงินสะสมขั้นต่ำ 50 บาท,อัตราเงินสะสมอาจเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงสภาวะเศรษฐกิจ และจะพิจารณาทบทวนการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลทุก 5 ปีได้ ขณะที่อัตราเงินสมทบตามมาตรา 40 ขึ้นกับนโยบายรัฐบาล และอาจมีอัตราแน่นอนตลอดไป,รัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 5 แห่งและค้ำประกันอัตราบำนาญขั้นต่ำที่จะได้รับด้วย รวมทั้งผู้จัดการกอช.ไม่ใช่ข้าราชการประจำแต่มาจากคณะกรรมการกอช. คัดเลือกสรรหาบุคคลที่เป็นนักบริหารสุจริตมืออาชีพมาทำงานประจำ

รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ได้ชี้แจงเมื่อปลายปี2555 ว่าจะปรับปรุงกฎหมายกอช.ให้ดีขึ้น พอมาต้นปี2556 บอกว่าจะบูรณาการกอช.กับประกันสังคมมาตรา 40 โดยบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน (นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์) เร่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบรูปแบบการขยายความคุ้มครองประกันสังคมเป็นทางเลือกที่ 3 ของมาตรา 40 อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานของกอช. เพราะกลุ่มเป้าหมายของกอช.คือกลุ่มเดียวกับผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ เป็นสวัสดิการชราภาพเหมือนกันและรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเช่นเดียวกัน

ข้อสังเกตคือ น่าจะเป็นแผนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะโอนภาระตามกฎหมายกอช.ให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบไป และนำไปสู่การเร่งเสนอกฎหมายยุบเลิกกอช. เพื่อพ้นความรับผิดในท้ายสุด

Untitled-9Untitled-8

ประเด็นที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจงใจไม่กล่าวถึง หรือมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ มีดังนี้

(1) การขยายความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือก 3 ตามกฎหมายประกันสังคม เป็นสิทธิของกระทรวงแรงงานที่จะดำเนินการอยู่แล้ว แม้ว่าไม่มีพ.ร.บ.กอช. และถือเป็นทางเลือกของประชาชน

ที่สำคัญคือ กระทรวงแรงงานเร่งรัดจัดทำมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ในช่วงมีนาคม-มิถุนายน 2556 เพื่อสนองความต้องการของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ.2554 หลายฝ่ายคิดว่าเป็นเพราะรัฐมนตรีว่าการคลังใจแคบคิดสั้นว่าไม่ใช่เป็นกฎหมายที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย หรือเป็นผลงานของรัฐบาลชุดก่อน จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการต่อก็ได้ ที่สำคัญ คือ ท่านรัฐมนตรีว่าการคลังไม่ใช่บุคคลที่เติบโตมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขาดสำนึกเยื่อใยรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติที่ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยถูกต้องชอบธรรมของสมาชิกรัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ.2554 ไม่ใช่กฎหมายของรัฐมนตรี หรือรัฐบาลชุดใดที่จะเพิกเฉยละเลยหน้าที่ที่จะดำเนินการหรือไม่ก็ได้

(2) กฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 และกฎหมายกอช.มีเจตนารมณ์กฎหมายแตกต่างกัน เพราะกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมเป็นเรื่องการจัดสวัสดิการเสริมการสังคมเพื่อคนทำงานเป็นสำคัญ ต่อยอดเชื่อมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่มีมาก่อนแล้ว

ขณะที่กฎหมายกอช.มีเจตนารมณ์สร้างหลักประกันชราภาพโดยตรง สอดคล้องกับการสร้างวินัยการออมแบบมีส่วนร่วมจ่ายเงินสะสมของประชาชน และแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (4) ที่ระบุให้รัฐจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง

กฎหมายกอช.จึงออกแบบให้กระทรวงการคลังบริหารกอช.ภายใต้รูปแบบองค์กรที่เป็นหน่วยงานนิติบุคคลของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ มีอนุกรรมการบริหารการลงทุนโดยตรง โดยมีแรงงานที่เป็นผู้แทนสมาชิกกอช.และผู้รับบำนาญร่วมเป็นกรรมการกอช.ด้วย ในขณะที่สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานราชการรวมศูนย์และเลขาธิการสปส.มีที่มาจากข้าราชการระดับสูงที่ต้องทำงานรับใช้รัฐมนตรี หรือฝ่ายการเมืองแน่นอน รวมทั้งคณะกรรมการประกันสังคม ก็ไม่มีตัวแทนแรงงานนอกระบบ ขณะที่นายจ้าง ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมบริหารตรวจสอบการบริหารประกันสังคมได้แท้จริง

(3) กลุ่มเป้าหมายสมาชิกกอช.จะมีฐานสมาชิกกว้างขวางกว่าผู้สมัครเป็นสมาชิกตามมาตรา 40 กฎหมายประกันสังคม

กล่าวคือ กฎหมายประกันสังคมมีข้อจำกัดยกเว้น ลูกจ้างจำนวนมาก แตกต่างจากกฎหมายกอช.ที่ระบุผู้มีสิทธิสมัครสมาชิกกอช.ได้ คือ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ หมายความว่า บุคคลที่เป็นลูกจ้างที่กฎหมายประกันสังคมยกเว้นการคุ้มครองไว้ เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน,ลูกจ้างในกิจการเพาะปลูก ป่าไม้ ประมงและเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ถูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นร่วมอยู่ด้วย,นักเรียน นักศึกษาที่ทำงานเป็นลูกจ้างในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานพยาบาล เป็นต้น หรือลูกจ้างในองค์การมหาชนและหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ไม่อาจเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานยกเว้นไว้ ย่อมจะสมัครสมาชิกกอช.ได้ ยกตัวอย่างเช่น

ชื่อพระราชบัญญัติ

ข้อกฎหมาย

1.  พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
พ.ศ.2539
    กิจการของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์  กฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (มาตรา 7)
2.  พระราชบัญญัติว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
พ.ศ.2542
    กิจการของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา  ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (มาตรา 39)
3.  พระราชบัญญัติองค์การมหาชนพ.ศ. 2542       ผู้อำนวยการ  เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในกิจการขององค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายนี้  ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์  กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (มาตรา 38)
4.  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งพ.ศ. 2550      กิจการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (มาตรา 30 วรรคสอง)
5.  พระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550     กิจการของสำนักงานไม่อยู่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์  กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม  และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนแต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม  และกฎหมายว่าด้วยการเงินทดแทน (มาตรา 19)
6.  พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ
แห่งประเทศไทยพ.ศ.2551
(ส.ส.ท. หรือ  Thai PBS)
     กิจการขององค์การไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์  กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนทั้งนี้  ผู้อำนวยการ  พนักงานและลูกจ้างขององค์การต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (มาตรา 10)

(4) การให้แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการเสนอร่างพ.ร.บ.ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่มีข้อมูลว่า กระทรวงการคลังจัดส่งแบบสำรวจความคิดเห็นให้ผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากน้อยเพียงใด?

ถ้าผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิกกอช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพิจารณาตัวเอง และดำเนินงานตามกฎหมายกอช.ต่อไปหรือไม่?

หรือเป็นเพียงการสอบถามความคิดเห็น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการพิจารณายุบเลิกกอช.ต่อไป

ที่ผ่านมาเคยมีพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2497 ออกมาใช้บังคับแล้ว แต่รัฐบาลไม่ตรากฎหมายลำดับรองเพื่อจัดเก็บเงินสมทบ เปิดขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนและนายจ้าง เพราะประชาสังคมขณะนั้นไม่เข้าใจประกันสังคม เช่น ประชาชนจำนวนมากคิดว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีเพิ่ม บริษัทประกันภัยเอกชนคิดว่ารัฐบาลจะประกอบธุรกิจประกันภัยแข่งขัน เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและรัฐประหารนำพาสังคมไทยสู่ระบอบอำนาจนิยมยาวนาน จนกระทั่งรัฐบาลประชาธิปไตยและขบวนการแรงงานผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533 เพื่อยกเลิกพรบ.ประกันสังคมพ.ศ.2497 และปรับปรุงกฎหมายเดิมให้สอดคล้องกับสภาพก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการสร้างหลักประกันสังคมแก่ผู้ใช้แรงงานในกาลต่อมา

        ข้อสรุปคือ  การมีเจตนาเพิกเฉยละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ.2554 และการเสนอกฎหมายยุบเลิกกอช.ที่ยังไม่บังคับใช้ชัดเจน ย่อมกล่าวหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ว่า คือ ผู้ละเมิดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ หรือระบอบรัฐสภาที่พิจารณากลั่นกรองตรากฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างถูกต้องชอบธรรมแล้ว