บทวิพากษ์ต่อร่าง พรป.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

บทวิพากษ์ต่อร่าง พรป.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สุนี  ไชยรส

ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม  วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม  มหาวิทยาลัยรังสิต

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ถูกวิจารณ์ว่า กำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ให้ไม่เป็นองค์กรอิสระตามที่ควรจะเป็น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหน้าที่และอำนาจ  ตาม มาตรา ๒๔๗ (๔) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม   อย่างไรก็ตาม รายละเอียดต่างๆขององค์ประกอบ การสรรหา และอำนาจหน้าที่ ฯลฯ  จะอยู่ที่การร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พรป.) ทั้งหมด  ดังนั้น เนื้อหาของร่างพรป.จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อมีการร่าง พรป.คณะกรรมการสิทธิฯโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)   มีการรับฟังความเห็นน้อยมาก และไม่เปิดเผยเนื้อหาร่าง พรป.ต่อสาธารณะ   แม้จะมีการเชิญบุคคลหลากหลายไปให้ความคิดเห็นบ้างในคณะอนุกรรมการยกร่างฯ     แต่ก็ไม่ได้เปิดประเด็นต่อสาธารณะให้มีการถกเถียงอย่างจริงจัง  ทั้งที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในมาตรา ๗๗ บัญญัติชัดเจนว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง  วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ  รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบ การพิจารณาในการตรากฎหมายทุกขั้นตอน…”   ภาคประชาสังคมมีการส่งข้อเสนอ(รวมทั้งขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove) ข้าพเจ้าเองมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนกับคณะอนุ กรรมการยกร่างฯเกือบสองชั่วโมง  จากประสบการณ์เป็นกสม.ชุดแรก(ปี ๔๔-๕๒) ได้พยายามเสนอแนะหลายประเด็นตามเจตนารมณ์และปัญหาจากการทำงานที่ผ่านมา  บนพื้นฐานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพในฐานะองค์กรอิสระที่ประชาชนคาดหวังและต่อสู้ให้ได้มาซึ่งองค์กรนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐

แต่ร่างพรป.กสม.ที่ปรากฎ มีกระแสข่าววิจารณ์เรื่อง”เซทซีโร่”ให้ กสม.ชุดที่ ๓ ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งในบทเฉพาะกาลเป็นหลัก   ทั้งที่ประเด็นสำคัญที่ควรต้องถกเถียงมากกว่าคือองค์ประกอบ การสรรหา และบทบาทหน้าที่  เพราะจะส่งผลระยะยาวต่อการได้มาของ กสม.และบทบาทของกสม.ต่อไป

ร่าง พรป.ฯนี้ก้าวหน้าบางประเด็น เช่น ให้การเรียกตรวจสอบข้อเท็จจริงผูกพันหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐด้วย  จากเดิมผูกพันเฉพาะบุคคล โดยมีบทลงโทษด้วย

-มาตรา ๓๕  ในการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจ… (๑) ขอให้หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานดังกล่าว หรือบุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลใดไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการร้องขอ  คณะกรรมการจะออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นดำเนินการดังกล่าวก็ได้

(๒) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ ในกรณีที่เคหสถานหรือสถานที่ที่จะเข้าไปนั้นมิได้อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ยินยอม ให้เข้าไปได้เมื่อมีหมายของศาล…ฯลฯ

แต่ในภาพรวมของร่าง พรป.กลับมีข้อจำกัดและมีอคติต่อ กสม.มากกว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ทั้งองค์ประกอบ  การสรรหา ที่สำคัญด้านบทบาทหน้าที่  อันจะทำให้ กสม.ไม่สามารถแสดงศักยภาพการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตามความคาดหวังของสังคมและประชาชน รวมทั้งหลักการปารีสได้ตามที่ควรจะเป็น

ข้าพเจ้ามีข้อเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนต่อสังคม ภาคประชาชน และหวังว่า กรธ. หรือคณะรัฐมนตรี หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช) จะมีการแก้ไขให้ดีขึ้น  ที่สำคัญคือ

๑)องค์ประกอบของคณะกรรมการ  ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ให้มีกรรมการ ๗ คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา  โดย“ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  เป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”  ซึ่งที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐  เน้นผู้ได้รับการสรรหาเป็นกสม.ทุกคนต้องมีประสบการณ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์  ซึ่งมิติสิทธิมนุษยชนมีกว้างขวาง และต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างกล้าหาญและเที่ยงธรรม

ปัญหาสำคัญคือร่าง พรป.ฯกำหนดองค์ประกอบ  ๗ คนที่ถูกแบ่งแยกแบบตายตัว  ให้กรรมการมีประสบการณ์ ๕ ด้านๆละอย่างน้อย ๑ คน  แต่จะเกินด้านละ ๒ คนมิได้    ซึ่งจะมีผลให้องค์ประกอบ กสม.ชุดต่อไปมีผู้มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประขักษ์เพียง ๑-๒ คนจาก ๗ คนเท่านั้น และจะส่งผลกระทบต่อทิศทางและมติคณะกรรมการในการทำตามบทบาทหน้าที่อย่างยิ่งต่อไป   รวมทั้ง พ.ร.บ.กสม. ปี ๒๕๔๒กำหนดชัดเจนว่า”ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย” ซึ่งถูกตัดออกจากร่างพรป.นี้ โดยในมาตรา ๘ กำหนดไว้ว่า กรรมการมี ๕ ด้าน คือ

                           (๑)มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี

                  (๒) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

ในระดับอุดมศึกษามาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

            (๓) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ

            (๔) มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริม

และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

            (๕) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี…

 

)คณะกรรมการสรรหา  ในพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒(ถึงปัจจุบัน) มีกรรมการสรรหา ๒๗ คนยึดโยงกับภาคประชาสังคมหลากหลายกลุ่ม  .ขณะที่ข้อวิจารณ์รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่ถูกนำมาใช้ในการสรรหา กสม.ชุดที่ ๒ และชุดที่ ๓ คือจำกัดกรรมการสรรหาเหลือ ๗ คน จากประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด   ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ผู้ถูกเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา ๑ คน ผู้ที่ถูกเลือกจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ๑ คน   ในที่สุดรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีการแก้ไขบ้าง โดยกำหนดให้มีส่วนร่วมขององค์กรเอกชนด้วย   ในร่างพรป.จึงกำหนดให้มีกรรมการสรรหา ๑๑ คน มาจากองค์กรเอกชนที่มาจดแจ้งและเลือกกันเองเหลือ ๓ คน  แต่ยังคงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีข้อวิจารณ์มาต่อเนื่องคือ  บทบาทศาลไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับการสรรหาองค์กรอิสระ โดยเฉพาะกสม.  และไม่ควรต้องมีผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน  เพราะไม่มีความจำเป็น และในความขัดแย้งของสังคมปัจจุบัน กลุ่มวิชาชีพนี้มีโอกาสที่จะเป็นคู่กรณีในการละเมิดสิทธิหรือไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอีกด้วย

มาตรา ๑๑  (๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(๔) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเอง
ให้เหลือสามคน เป็นกรรมการ
(๕) ผู้แทนสภาทนายความหนึ่งคน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน และผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๖) อาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาที่สอนหรือทำงานวิจัยหรือทำงาน
ด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี ซึ่งกรรมการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕)
มีมติเลือกด้วยคะแนนเสียงสองในสาม หนึ่งคน เป็นกรรมการ

๓) คุณสมบัติ   การมีอคติต่อนักการเมืองทุกแบบทุกระดับ  จนกำหนดเงื่อนไขมากเกินควร ดังในมาตรา ๑๐(๑๘) และ (๑๙) ว่าด้วยลักษณะต้องห้าม  ยิ่งการห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา  ยิ่งมีนัยละเมิดสิทธิบุคคลอย่างยิ่ง   ขณะที่การเป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ  หรือพนักงานของรัฐใดๆ สามารถลาออกเมื่อได้รับการสรรหาได้

(๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา

๔)อำนาจหน้าที่   มีสามประเด็นที่จะมีปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. คือ

(๑)รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ให้กสม.มีอำนาจหน้าที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลปกครอง และฟ้องแทนผู้เสียหายต่อศาลยุติธรรม   แต่ในร่างพรป.กลับจำกัดลงตามมาตรา ๓๗

-มาตรา ๓๗  ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญาและผู้เสียหายไม่อยู่ ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้  ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษได้โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

                         (๒)การห้ามมิให้กสม.รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา ๓๙(๑) และ(๓)   โดยไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดว่า

มาตรา ๓๙.(๑)เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว  ขณะที่พรบ.กสม.ปี ๒๕๔๒ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาแล้วหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว  ให้คณะกรรมการมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไข..”  ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐนำเรื่องเป็นคดีในศาลมาอ้างจำนวนมากเพื่อมิให้กสม.ตรวจสอบ  เช่น กรณีความรุนแรงในการปราบปรามการชุมนุมโดยสงบ   การซ้อมทรมาน หรือใช้ความรุนแรงเกินเหตุในการจับกุม หรือทั้งหน่วยงานรัฐ หรือกลุ่มทุน  เร่งรัดการฟ้องชาวบ้านและนักสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน  เป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน   สารพัดคดี …เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบมาตลอด   แต่กสม.วินิจฉัยจากกฎหมายปี ๒๕๔๒  ชัดเจนว่า  กสม.สามารถตรวจสอบการละเมิดได้  ถ้าเป็นคนละประเด็นกับศาล

มาตรานี้ควรต้องเขียนข้อยกเว้นให้ชัดเจนขึ้นเพราะ จะกระทบต่อประชาชนอย่างมาก  และจะเปิดช่องให้ผู้ละเมิดใช้การฟ้องศาลมาเป็นเครื่องมือปิดกั้นการถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้น

       -มาตรา ๓๙(๓)เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น หรือที่องค์กรอิสระอื่นรับไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นนั้นแล้ว…กรณีนี้น่าจะสืบเนื่องจากแนวคิดของ กรธ.ที่พยายามมาโดยตลอดจะควบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินโดยอ้างว่า งานซ้ำซ้อนกัน  ทั้งที่มีคำอธิบายจากหลายฝ่ายมาต่อเนื่องว่า  การตรวจสอบและวินิจฉัยของกสม.เน้นมิติสิทธิมนุษยชน ที่กว้างกว่าความชอบด้วยกฎหมาย เน้นหลักของรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี   และควรให้เป็นดุลพินิจ และแนวทางการทำงานของ กสม.เอง  

                   

(๓)การไม่เข้าใจเจตนารมณ์เรื่องการตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรอิสระ  จึงทำให้มีอคติและไม่เข้าใจบทบาทความสำคัญของคณะอนุกรรมการ   ที่เป็นอาสาสมัครผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์  ผู้ช่วยเหลือที่สำคัญแก่ กสม.  การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีมิติหลากหลายกว้างขวาง  เจ้าหน้าที่ของกสม.ไม่อาจทำหน้าที่ได้เพียงพอและเข้าใจได้ทุกมิติ   รวมทั้งมิใช่บทบาทการจ้างสถาบันการศึกษาหรือบุคคลมาศึกษา เพราะกสม.มิใช่สถาบันการศึกษาหรือวิจัย   กสม.มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง การลงพื้นที่ การประชุมหารือแก้ไขปัญหากับเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับต่างๆ  บางเรื่องเผชิญกับปัญหาจากกฎหมายล้าหลังรัฐธรรมนูญ   นโยบายรัฐที่อาจเอื้อต่อกลุ่มทุนหรือหน่วยงานของรัฐมากเกินควร หรือเจ้าหน้าที่รัฐอาจเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่เป็นธรรมต่อประชาชนเสียเอง ฯลฯ  อคติที่มีต่อการตั้งคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๒๙ จึงเป็นเรื่องที่จะส่งผลจำกัดบทบาทการทำงานของกสม.ต่อไป

….มาตรา ๒๙  ในกรณีที่จำเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด  คณะกรรมการจะขอให้สำนักงานจ้างบุคคลหรือสถาบันซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญดำเนินการในเรื่องนั้นได้ตามที่จำเป็น  หรือในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนก็ได้ โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้น  ทั้งนี้ ก่อนการจ้างหรือแต่งตั้ง คณะกรรมการต้องกำหนดเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ และระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
ไว้ให้ชัดเจน

(๔)จากมาตราที่มีปัญหาว่า จะกระทบต่อความเป็นอิสระของกสม.ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๔) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม    มาบัญญัติขยายความเพิ่มตามมาตรา ๔๔ ร่างพรป.ฯโดยให้บันทึกในรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีที่ต้องรายงานต่อรัฐสภาด้วย

มาตรา ๔๔  เมื่อความปรากฏแก่คณะกรรมการว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม คณะกรรมการต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้สรุปไว้ในรายงานตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง ด้วย

(๕)  การบัญญัติที่จะก่อให้เกิดการตีความ หรือจำกัดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกินขอบเขต  โดยเฉพาะในมาตรา ๔๖ ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูล…”ข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจหรือตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล”   เพราะข้อมูลข่าวสารที่มีการตรวจสอบมีหลายลักษณะ และควรเป็นข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะได้  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบคู่ขนานจากสังคมและสื่อ  ควรต้องให้อำนาจกสม.กำหนดชั้นความลับด้วยตนเองในฐานะเป็นองค์กรอิสระที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว

(๖)ความไม่เข้าใจและอคติต่อสิทธิมนุษยชน 

รัฐธรรมนูญ ๖๐ กำหนดในมาตรา ๒๔๗ วรรคท้ายว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่  กสม.ต้องคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทย และผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญด้วย”    แต่ร่างพรป.   มาตรา ๒๕ กำหนดตามรัฐธรรมนูญ แล้วยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมไปอีกคือ “ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง กรรมการจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตร หรือโครงการที่คณะกรรมการเป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ  และในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามและบริบทของสังคมไทยเป็นสำคัญด้วย”

๕)การถอยหลังเข้าคลองในการกำหนดให้สำนักงาน กสม.เป็นส่วนราชการ  จากที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล  ที่เปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาโครงสร้างสำนักงาน  บุคลากร และระเบียบต่างๆได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่ได้กำหนดใดๆไว้ ให้ร่างพรป.สามารถกำหนดได้เอง   ขณะที่ในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลมีการพัฒนาไปมากมาย  ยิ่งภารกิจส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนปัจจุบัน  ยิ่งไม่ควรกำหนดให้เป็นส่วนราชการ

ข้อเสนอเหล่านี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการทบทวนพิจารณาของ กรธ.  คณะรัฐมนตรี และ สนช. รวมทั้งต่อภาคประชาสังคมที่ต่อสู้ผลักดันให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐   ยี่สิบปีผ่านไป เราควรได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ และองค์การสหประชาชาติมากยิ่งขึ้น  มิใช่ถอยหลังจากเดิม