บททดสอบแนวฎีกา11/1 หลังลูกจ้างเหมาค่าแรง ฟ้องบริษัทรถยนต์ให้จ่ายสิทธิ

DSC09946

ถึงคิวยักษ์ใหญ่วงการรถญี่ปุ่น ถูกลูกจ้างเหมาค่าแรง ฟ้องมาตรา11/1 เรียกค่าจ้างขั้นต่ำ โบนัส ค่ากะ ค่าครองชีพ นิติกรศาลปัดไม่น่าจะฟ้องได้ สุดท้ายต้องยอมเมื่อลูกจ้างกางฎีกาที่ศาลตัดสิน แฉซ้ำลูกจ้างเหมาค่าแรงส่ออนาคตวูบ เมื่อนายจ้างเลือกใช้นักศึกษาฝึกงานทำงานแทนการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ลูกจ้างบริษัทเหมาค่าแรงแห่งหนึ่ง ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานภาค1.เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำและไม่ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับพนักงานประจำของบริษัทผู้ผลิตรถญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง จึงได้ยื่นฟ้องย้อนหลังทั้งในส่วนค่าจ้างที่จ่ายไม่ครบตามค่าจ้างขั้นต่ำ โบนัส ค่ากะ ค่ากะพิเศษและค่าครองชีพ ตามมาตรา11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541แก้ไขพ.ศ.2551 ซึ่งได้บัญญัติให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิและสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งลูกจ้างรายนี้ ได้เข้าทำงานที่ตั้งแต่ปี 2553 ทำสัญญา 3 ปีโดยต้องต่อสัญญาทุกๆ 6 เดือน และสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2556 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพียง 6,765 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และได้ค่ากะ ค่ากะพิเศษ ค่าครองชีพ ต่ำกว่าลูกจ้างประจำของบริษัท จึงเป็นเหตุให้มาฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้บริษัทเหมาค่าแรงและบริษัทผลิตรถที่ว่าจ้างให้เข้าไปทำงานรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการเทียบเท่ากับลูกจ้างประจำในบริษัท ซึ่งเมื่อมาถึงที่ศาลแรงงานภาค1 นิติกรของศาลฯกลับแจ้งว่า ฟ้องได้เพียงบริษัทเหมาค่าแรงที่เป็นนายจ้างโดยตรง ลูกจ้างเหมาค่าแรงไม่สามารถฟ้องบริษัทที่เข้าไปทำงานได้ แต่เมื่อลูกจ้างได้นำเอกสารคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงานกรณีตัดสินมาตรา11/1พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้ทางนิติกรอ่าน ทางนิติกรจึงยอมให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงฟ้องร้องบริษัทรถยนต์ที่ทำสัญญาจ้างกับบริษัทรับเหมากรณีว่าจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรงได้

นอกจากลูกจ้างรายนี้แล้ว ยังมีลูจ้างเหมาค่าแรงที่มายื่นฟ้องศาลแล้ว 6 คน และกำลังเตรียมตัวที่จะฟ้องอีกหลายคน ซึ่งแหล่งข่าวแจ้งว่า อนาคตของลูกจ้างเหมาค่าแรงรายอื่นก็อาจมีปัญหาเนื่องจากบริษัทแห่งนั้นมีนโบบายที่จะไม่มีการบรรจุเป็นพนักงานประจำและจะไม่ต่อสัญญาเพิ่ม อีกทั้งมีการใช้นักศึกษาฝึกงานมาฝึกเป็นเวลาประมาณ 1ปี และสามารถขอฝึกงานเพิ่มได้อีกด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน