โดย เดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายคลายทุกข์
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องประสบกับอุทกภัยเกือบทั่วประเทศ มีลูกจ้างที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลูกจ้างในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สอบถามมาว่า ในกรณีน้ำท่วมโรงงานนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามกฎหมายหรือไม่ เดิมก่อนมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่า การปิดกิจการของนายจ้างเนื่องจากน้ำท่วมไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างพร้อมที่จะทำงานแต่นายจ้างจัดหางานให้ทำไม่ได้ นายจ้างยังมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้ตลอดเวลาที่ปิดกิจการชั่วคราว แต่ปัจจุบันนายจ้างไม่น่าจะต้องจ่ายค่าจ้าง เพราะเหตุน้ำท่วมเนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัย
ปัญหาว่าหากการปิดกิจการชั่วคราวเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย เช่น เกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งร้ายแรง ซึ่งนายจ้างไม่สามารถเตรียมการป้องกันล่วงหน้าได้ ทำให้สถานประกอบการได้รับความเสียหายและต้องปิดซ่อม ในกรณีนี้ อ.พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 เห็นว่า การปิดกิจการชั่วคราวมีสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจโทษนายจ้างได้ ต้องถือว่าการที่นายจ้างไม่อาจมอบงานให้ลูกจ้างทำเป็นกรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเกิดขึ้นภายหลังก่อหนี้และซึ่งนายจ้างไม่ต้องรับผิด นายจ้างย่อมหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 เมื่อไม่มีการทำงานโดยโทษนายจ้างไม่ได้ นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนในระหว่างปิดกิจการ ถือว่าตกเป็นพับแก่คู่กรณี คือนายจ้างและลูกจ้างต่างได้รับบาปเคราะห์จากเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ดี ควรติดตามคำพิพากษาฎีกาในประเด็นนี้ต่อไป
แนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับการปิดโรงงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2525
การที่น้ำท่วมบริเวณโรงงานแต่มิได้ท่วมตัวโรงงาน จนนายจ้างต้องปิดโรงงาน ประกอบกับลูกจ้างพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้นพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเหตุขัดขวางในการที่นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างและกรณีไม่ถือว่าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ นายจ้างยังไม่หลุดพ้นจากการชำระค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277 – 1278/2529
ค่าจ้างเป็นเงินซึ่งกำหนดขึ้นตามข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตราบใดที่การจ้างยังไม่ระงับนายจ้างผูกพันต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแม้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องหยุดกิจการเพราะโรงงานถูกเพลิงไหม้จนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้แต่เมื่อจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างการจ้างจึงยังไม่ระงับและไม่ปรากฏตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่าในกรณีเช่นนี้จำเลยมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างจำเลยจึงจะอ้างเหตุที่จำเลยประสบภัยเป็นข้ออ้างเพื่อไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่ได้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับช่วงระยะเวลาที่จำเลยหยุดกิจการและโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลยเป็นการเรียกร้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงไม่ถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายและเมื่อค่าจ้างกำหนดอัตราแน่นอนและตายตัวศาลจะใช้ดุลพินิจลดอัตราค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์โดยถือเสมือนหนึ่งเป็นค่าเสียหายหาได้ไม่ คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุคลุมๆแต่เพียงว่าให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของค่าจ้างแต่ละงวดนับตั้งแต่วันผิดนัดมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าค่าจ้างแต่ละงวดเป็นเงินเท่าใดและจำเลยผิดนัดงวดใดตั้งแต่วันใดนั้นไม่ละเอียดชัดแจ้งเพียงพอศาลย่อมพิพากษาตามคำขอของโจทก์ไม่ได้แต่ในวันที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างนั้นค่าจ้างถึงกำหนดจ่ายแล้วการที่จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์ตามกำหนดถือว่าจำเลยผิดนัดจำเลยจึงต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นต้นไป.
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541
มาตรา 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ (อ่านบทความคุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ น้ำท่วมโรงงานต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่ https://voicelabour.org/?p=8633)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 219 ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
มาตรา 372 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่
(หมายเหตุ บทความนี้ได้มีการตีพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ 13 ตุลาคม 2554 หน้าA10 และhttp://www.decha.com/main/showTopic.php?id=8373voicelabour.org เห็นว่าเป็นประโยชน์จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อไป)