น้ำท่วมแรงงาน ผลกระทบโลกลืม

 

น้ำท่วมกับแรงงาน  ผลกระทบโลกลืม

  

          น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554  ส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวนมากทั้งกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ  แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ  แม้ว่าเครือข่ายแรงงานจะมีการตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์ในช่วงน้ำท่วมและทำศูนย์ฟื้นฟูในช่วงหลังน้ำลด  ซึ่งได้ให้การช่วยเหลือแรงงานไปเป็นจำนวนไม่น้อย  แต่ถึงวันนี้ ยังมีแรงงานอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือใดๆ  หรืออาจพูดว่าความช่วยเหลือจากแห่งใดๆก็ยังไม่เข้าไปถึง

            ที่อ้อมน้อย สมุทรสาคร  แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมอาจจะหวนคืนสู่รั้วโรงงานกันหมดแล้ว  แต่ก็มีบางคน เช่น นายเค ที่มีจิตใจเสียสละ ลาออกจากงานช่วงน้ำท่วมเพื่อไปทำงานอาสาสมัครช่วยผู้ประสบภัยทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วยกันและแรงงานไทย  ด้วยคิดว่าแรงงานข้ามชาติหางานไม่ยาก ไม่กลัวตกงาน  แต่เรื่องกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด  การหางานทำกลับกลายเป็นต้องพึ่งพานายหน้า แล้วก็ถูกนายหน้าชาวไทยและชาวพม่าที่เป็นธุระจัดการหางานให้ ร่วมกันโกงเอาเงินเขาไปโดยบอกว่าจะมีงานทำ 2 ปี แต่ปรากฎว่าได้เอกสารที่ระบุให้ทำงานได้เพียง 1 ปี  การหางานด้วยตัวเองของ นายเค ผ่านมาถึง 5 ครั้งแล้วที่ได้รับคำตอบเหมือนๆกันว่าให้มาฟังผลการสมัครงานใหม่  นั่นทำให้เขาเชื่อว่าตัวเองคงถูกขึ้นบัญชีดำแล้ว แม้จะรู้สึกไม่ดีที่ผลของการทำงานช่วยเหลือคนอื่น กลับส่งผลให้ตนเองได้รับผลที่เลวร้าย หางานทำไม่ได้  และยังไม่มีใครช่วยเหลืออย่างจริงจัง  แต่ทุกวันนี้เขายังคงมุ่งมั่นที่จะหางานทำในละแวกไม่ไกลจากแหล่งเดิม  ด้วยเพราะยังมีภาระในการดูแลกองทุน “กะบาเอะ” ที่เขาริเริ่มขึ้น  โดยได้เงินจากการบริจาคของแรงงานพม่าด้วยกันราว 200 กว่าคน คนละ 20 – 30 บาทต่อเดือน  เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือนคนงานให้มีค่าเดินทางกลับประเทศ หรือประสบอุบัติเหตุแต่ไม่ได้รับการดูแลจากนายจ้าง ซึ่งแต่ละครั้งก็ช่วยเหลือไปประมาณ 5-6 พันบาท

            ที่หอพักเพิ่มสุข ซอยอาวรณ์ พุทธมณฑลสาย 5  พรทิพย์ บุญยืน เจ้าของหอพักเล่าให้ฟังว่า ตอนน้ำท่วมคนงานขาดรายได้จนไม่เงินจ่ายค่าห้องพัก ของกินของใช้ที่ได้รับบริจาคมาแล้วจะแบ่งปันกันทั้งเจ้าของและคนเช่า หลังน้ำท่วมตนเองก็เป็นธุระวิ่งเต้นให้คนเช่าห้องได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ 5,000 บาท แต่หลังน้ำลดแล้ว  หลายคนออกจากหอพักไปเพราะถูกเลิกจ้าง หรือถูกย้ายงานไปทำที่อื่น จนวันนี้ห้องพักว่างจำนวนมาก ขาดรายได้ไปครึ่งต่อครึ่ง

            ขณะที่ ตุ๊กตา ศรีบุญรอด เป็นคนงานในโรงงานผลิตชุดชั้นในสตรีส่งออกที่ถูกน้ำท่วมเล็กน้อยในช่วงสั้นๆ  ช่วงน้ำท่วมขอลาหยุดงานเพื่อเลี้ยงลูกเล็กอายุ 1 ขวบ แต่ไม่ได้รับอนุญาตและถูกแจ้งคัดชื่อออกจนไม่ได้รับสิทธิแม้แต่ประกันสังคม  ขณะที่เพื่อนๆพันกว่าคน บ้างถูกย้ายไปทำงานชั่วคราวที่โรงงานในเครือที่ จ.ขอนแก่น บางส่วนถูกส่งไปทำงานประจำที่โรงงาน จ.ลำพูน  จนถึงวันนี้ทราบว่ามีเพื่อนคนงานถูกคัดชื่อออกและไม่ได้รับสิทธิใดๆเหมือนตนอีกราว 4-500 คน  เพราะต่างก็ไม่รู้เรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิ ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร อย่างไร เพราะต้องทำมาหากิน

            ส่วนณีรมล สุทธิพันธ์พงศ์  เป็นแรงงานนอกระบบในกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง ถูกน้ำท่วมบ้านนานกว่า 1 เดือนจนจักรเย็บผ้าจมน้ำเสียหายไปหลายตัว แม้ว่าก่อนหน้าน้ำท่วมจะมีการขนย้ายข้าวของหนีน้ำตามการแจ้งข่าวของ ส.ส.ในพื้นที่ว่าจะท่วมสูงไม่เกินระดับ 80 เซนติเมตร  แต่น้ำกลับท่วมสูงถึง 1เมตร 50 เซ็น  ซึ่งช่วงนั้นตนเองก็อยู่ระหว่างช่วยงานอาสาที่ศูนย์พักพิง  ไม่มีคนอยู่บ้าน จึงได้รับความเสียหายมาก  ส่วนการช่วยเหลือก็มาจากเครือข่ายแรงงานที่นำข้าวปลาอาหารมาให้  และก็ได้มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพที่ช่วยประสานการช่วยเหลือจาก “วีโก้”ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้เงินกู้กลุ่มละ 3 หมื่นบาทหลังจากน้ำลด ซึ่งก็พอช่วยได้บ้าง  และแม้ว่าเครือข่ายแรงงานนอกระบบจะมีข้อเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือหลายอย่าง เช่น ค่าเสียหายตามระยะเวลาที่ถูกน้ำท่วม  เงินกู้ 5 หมื่นบาทจากกองทุนประกันสังคม แต่ก็เจอเงื่อนไขมากมายทำให้เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ  จะได้ก็เพียงเงินชดเชยครอบครัวละ 5 พันบาทเท่านั้น  ทำให้สมาชิกในกลุ่มจากร้อยกว่าครอบครัว ต้องกู้เงินนอกระบบมาเพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือกันเอง ทุกวันนี้รอความช่วยเหลือจากภาครัฐจนหมดหวังแล้ว

            แรงงานทุกกลุ่มเหล่านี้ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดมา  จึงควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องจริงจังจริงใจในการแก้ไขปัญหาของพวกเขา ให้ฟื้นคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน