แรงงานรัฐวิสาหกิจ นัดถกหลังข่าวทุนเริ่มรุกรัฐขอมีส่วนร่วมบริหารจัดการบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กรณีศึกษาการรถไฟ การบินไทย และการทางพิเศษ
นโยบายภาคขนส่ง ผลกระทบต่อองค์กร และพนักงาน กรณีศึกษาของ รฟท. กบท. และกทพ. จัดโดย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า (สร.รฟฟ.) วันที่ 14 มิถุนายน 2559 ห้องรับประทานอาหาร ชั้น 1 ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะกระทบกับพนักงาน กับส่วนของประชาชนแน่นอน เพราะแนวคิดการก่อเกิดรัฐวิสาหกิจขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5นั้นเพื่อที่จะเป็นการบริการสาธารณะจัดเป็นด้านสวัสดิการให้กับประชาชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกในแถบประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยม แต่ก็มีอีกกลุ่มที่ต้องการที่เปลี่ยนแนวการจัดสวัสดิการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนเพื่อนำมาสร้างผลกำไร ซึ่งอันนี้เป็นแนวคิดภายใต้กลุ่มทุนที่เรียกว่าระบบทุนนิยมเน้นการบริหารแบบหวังผลกำไรสูงสุด มองว่าการจัดสวัสดิการหรือแนวคิดรัฐสวัสดิการเป็นความสิ้นเปลือง ตอนนี้มีข้อเสนอหลายอย่างเพื่อลดการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน เช่นเรื่องการจัดสวัสดิการให้ครอบครัวแรงงาน การศึกษาเด็ก การรักษาพยาบาล คนวัยเกษียณอายุ ที่มีการเสนอให้ลด หรือยกเลิกเป็นระยะๆ ซึ่งสองแนวคิดนี้ไปด้วยกันไม่ได้และเป็นเรื่องของกลไกลการต่อสู้ประโยชน์ส่วนรวมกับผลประโยชน์เชิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งการที่ใช้แนวคิดการแปรรูปเพื่อการที่จะผ่อนกฎระเบียบเพื่อให้ระบบทุนเข้ามาในรูปแบบต่างๆของทุน โดยไม่ใช่การขาย ซึ่งอะไรที่เป็นอุปสรรค์กับระบบทุนเสรีนี้จะถูกยกเลิกการปฏิบัติ ซึ่งแนวคิดต่างกับที่ประเทศในสแกนดิเนเวียที่รัฐจะจัดสวัสดิการพื้นฐานทุกอย่างให้กับประชาชนเป็นการดูแลให้เกิดความเท่าเทียมกัน การที่รัฐมีการดำเนินการด้านการจัดสวัสดิการด้านสาธารณะให้กับประชาชน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การดำเนินโดยรัฐตรงนี้เอกชนเข้ามาหาผลประโยชน์ด้านผลกำไรไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ประเทศไทยที่ใช้รูปแบบรัฐวิสาหกิจเข้ามาบริหารจัดการด้านสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชน แล้วเอกชนเข้ามาดำเนินการไม่ได้ แต่บัดนี้การที่รัฐเข้ามาจัดการแก้กฎระเบียบ กฎหมายเปิดช่องทางเพื่อให้เอกชนเข้ามาจัดการแสวงหาผลประโยชน์ โดยจัดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หรือเข้ามาบริหารจัดการในรัฐวิสาหกิจในรูปแบบต่างๆทั้งสัมปทาน หรือว่าร่วมทุน รับเหมาจัดการ มาถือหุ้น หรือในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกไม่ได้เรียกว่าขาย แต่ว่าเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
การที่รัฐลงทุนให้เอกชนเข้ามาลงทุนบนแนวคิดว่าความปลอดภัยทางการเงินการคลัง คือรัฐไม่ต้องเสี่ยงเรื่องเงินลงทุน ซึ่งก็เป็นแนวการแปรรูปที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทย การเกิดขึ้นของรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งบางองค์กรเกิดขึ้นช่วงสงครามโลกเพราะว่าอยู่ในช่วงสงคราม มีความเสี่ยงที่รัฐออกมาแบกภาระการลงทุนในหลายกิจการซึ่งตอนนั้นเกิดขึ้นกว่า 200 รัฐวิสาหกิจ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น รัฐวิสาหกิจองค์การทอผ้า เหมืองแร่ สวนยาง อาหาร ไฟฟ้า รถไฟ การสื่อสาร ประปา ฯลฯ ปี 2504 แผ่นหนึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมีการกำหนดขึ้น ได้เริ่มมีการยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงยุบรัฐวิสาหกิจมีมาตลอดจนถึงตอนนี้ ถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 11 และกำลังร่างแผนฉบับที่ 12 จากรัฐวิสาหกิจ 200 แห่ง ซึ่งทั้งมีการตั้งใหม่ยุบไปจำนวนมาก และปัจจุบันเหลือเพียง 40 กว่าแห่งเท่านั้น และการพัฒนาการขนส่งทางรางของเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นระบบรางที่เกิดเป็นระบบไฟฟ้า และการขนส่งสาธารณะต้องเป็นระบบการขนสงทางรางเท่านั้น และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เองก็มีการคิด และเป็นระบบไฟฟ้า เป็นองค์กรนำร่องของการรถไฟฟ้า เป็นองค์กรด้านความรู้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการนำมาปรับปรุงและพัฒนาการขนส่งทางรางต่อไป ซึ่งรถไฟฟ้าฯก็มีกำกับไว้ว่าหากมีการแปรรูป หรือขายหุ่นเมื่อไรต้องลิบเป็นของการรถไฟฯทันที
การบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจเมื่อไรที่ขาดทุน รัฐต้องมีการสนับสนุน การรถไฟฯจัดวิ่งรถไฟฟรีบริการประชาชนตามหลักแนวนโยบายรัฐเพื่อการจัดสวัสดิการะพื้นฐานให้กับประชาชน ตอนนี้การรถไฟฯต้องเป็นหนี้กระทรวงการคลัง ถามว่าเพราะอะไรเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาล ตอนนี้ทำไมการรถไฟฯต้องเอาที่ดินมักกะสันไปใช้หนี้กระทรวงการคลัง แถมเป็นที่ดินราคาถูกมาก ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรมกับการรถไฟฯตามที่รัฐบาลได้มีมติให้มีการส่งมอบที่ดินมักกะสันภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และทั้งหมดภายในอีก 2 ปี และต้องถามว่าโรงงานมักกะสันจะไปอยู่ไหน ข่าวว่า เขาชีจรรย์ ชลบุรี ซึ่งก็ประกาศว่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยไม่ใช่พื้นที่โรงงาน ส่วนที่แก่งคอย สระบุรี ก็ยังไม่ได้ทำEIA การประเมินผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมจากโครงการ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายปี หรือ 5 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งการพัฒนาจะต้องไม่ฆ่าคน ซึ่งการย้ายโรงงานมักกะสันต้องกระทบกับทั้งชีวิตคน ครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อมและองค์กร รวมถึงปัญหาต่างๆที่ต้องคำนึงถึงอีกมาก และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มีการกำหนดให้มีการใช้ระบบการขนส่งทางราง ซึ่งเอกชนเข้าใจดี และต้องการที่จะลงทุนในระบบราง ซึ่งเริ่มด้วยการจัดการกับการรถไฟฯก่อนด้วยการเอาพื้นที่มักกะสันเพื่อการแบ่งแยกส่วนของการรถไฟฯก่อน ลดความเข้มแข็งกำลังขององค์กร การที่จะมีการให้เอกชนเข้ามาจัดระบบรถไฟฟ้า การซ่อมบำรุง หรือการทำความร่วมมือกับวิทยาลัยต่างๆในการส่งนักศึกษามาฝึกงานสหภาพแรงงานต้องทำหน้าที่ดูแลไม่ให้เป็นการเอาเปรียบ เพราะบริษัทเอกชนบางแห่งใช้นักศึกษาฝึกงานในการทำงานโดยไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่ม เป็นการลดเรื่องการจัดสวัสดิการ และการปรับเพิ่มค่าจ้างต้องช่วยกันดูแล และสหภาพแรงงานต้องเข้าไปช่วยกันอย่าโดดเดี่ยวตัวเอง ต้องหามิตรมาช่วย
นายสมศักดิ์ มานพ รองประธานสหภาพแรงงานการบินไทย กล่าวว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ปัจจุบันมีคนใช้บริการเพิ่มขึ้น จากแรกๆที่มีการวิ่งรถ ซึ่งนายทุนไม่ค่อยมีความสนใจ แต่ตอนนี้มีคนใช้บริการเพิ่มมากขึ้นกว่า 6 หมื่นกว่าคนต่อวันเป็นผลประโยชน์ที่ทุนเริ่มเห็น และต้องการที่จะเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์ เช่นเดียวกับที่การบินไทย ที่ถูกแปรรูปขายหุ้นไป เดิมการบินไทยถือว่าเป็นสายการบินของคนไทยที่เรามีความภูมิใจในการเดินทางด้วยการบินไทยไปทั่วโลก และเป็นสายการบินที่มีผลกำไรสูงทีเดียว แต่ด้วยเอกชนจำนวนมากมองว่าเป็นการผูกขาด รัฐบาลในยุคนั้นจึงมีแนวคิดในการแปรรูปด้วยการขายหุ้นให้กับเอกชนไปโดยตั้งแต่ขายหุ้นไปการบินไทยกับขาดทุนตลอด และหากมาตรวจสอบการถือหุ้นการบินไทยยังไม่ทราบว่าประชาชนที่ถือหุ้นคือใคร และตอนนี้ความมั่นคงในการทำงานแทบไม่มี และรัฐบาลปัจจุบันมีข้อเสนอให้รัฐถือหุ้นการบินไทยลดลงให้เหลือเพียงร้อยละ49 เพื่อให้การบินไทยเป็นของเอกชนเต็มตัว สร้างความรู้สึกไม่มีความมั่นคงในการทำงานมีการจ้างงานแบบ Outsource จ้างงานชั่วคราว และการจ้างงานที่ตัดเป็นช่วง ที่น่าแปลกใจทำไมพนักงานการบินไทยไม่มีโบนัสเหมือนกับหลายองค์กร และไม่มีกำไรแต่เอกชนอยากลงทุน ซึ่งการบินไทยต้องแข่งขันกับสายการบินโลว์คอส ราคาถูก แต่การบินไทยการแข่งขันด้านบริการภายใต้นโยบายรัฐหนุนระบบทุน สหภาพแรงงานไม่ได้ปกป้องหรือเรียกร้องสวัสดิการ ค่าจ้างเท่านั้น ยังทำงานปกป้องผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนด้วย และจะต้องมีการทำงานแนวร่วมเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ ต้องปกป้องให้แอร์พอร์ตเรล ริงก์ต่อสู้
ถามว่าการบินไทยทำไมขาดทุนก็คงต้องกล่าวถึงการเปิดเส้นทางใหม่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2546เข้ามาบริหารประเทศ และต้องการเปิดเส้นทางการบินของการบินไทยระหว่างกรุงเทพฯ นิวยอร์ก และกรุงเทพ LA เพื่อการเดินทางสะดวกขึ้น จึงอนุมัติให้ ซื้อเครื่องบิน Airbus A340-500 ที่มีสมรรถณะการบินได้ระยะยาวรวดเดียวถึง ซื้อมาในราคานับหมื่นล้านบาท พอได้เครื่องบินมาบินจริงส่งผลให้ขาดทุนไม่คุ้มทุนจึงจอดหยุดบิน และปัจจุบันกองทัพอากาศซื้อต่อไปผ่อน 9 งวด ซึ่งไม่ทราบว่าซื้อไปทำอะไร เพราะว่า Airbus A340 เป็นเครื่องบินมีพิสัยการบินไกลมาก ระยะสูงสุดคือ 17000 กม. แต่ก็ซื้อในราคาถูก
นายประสงค์ สีสุกใส สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรณีค่าโง่ 2 ปัญหาคดีค่าผ่านทางด่วน ปี 2546 กับบริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หลังคณะกรรมการพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กระทรวงการคลัง และสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นว่า กทพ.ไม่มีเหตุที่จะไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อีกทั้งไม่สามารถเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้ และบอร์ด กทพ.จึงมีมติเห็นว่า กทพ.ไม่มีเหตุที่ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อต่อสู้คดีต่อไป เว้นแต่มีข้อมูลใหม่มาเสนอจึงจะฟ้องศาลปกครอง ซึ่งที่ผ่านมากว่า 10 ปีคดีข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM ไม่น่าจะมีข้อมูลใหม่ บอร์ดจึงมีมติให้จ่ายเงินค่าโง่ให้กับบริษัทBEM กว่า 8,100 ล้านบาท แม้อนุญาโตตุลาการตัดสินและมีเวลา 90 วันในการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง ซึ่งค่าโง่ครั้งที่ 1 เส้นบางนา-ตราด ก็เคยจ่ายไปแล้ว สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ.เสนอให้สู้คดี โดยยึดแนวทางคดีค่าทางด่วนปี 2541 และคดีค่าโง่ทางด่วนสายบางนา 6,200 ล้านบาท ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ กทพ.แพ้ แต่เมื่อยื่นศาลปกครองตัดสินให้ กทพ.เป็นฝ่ายชนะนั้น ต้องพิจารณาเนื้อหาสาระให้ดีว่าชนะเพราะเนื้อหาสาระ หรือชนะเพราะมีประเด็นอื่น โดยคดีค่าทางด่วน ปี 2541 ตัดสินว่าการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ 2 ชุดไม่ได้ส่วนค่าโง่ทางด่วนบางนา เพราะการทำสัญญาฉ้อฉล สัญญาจึงเป็นโมฆะ ครั้งนี้ได้มีการล่าลายมือชื่อพนักงาน 4 พันกว่าคน เพื่อยื่นกับทางบอร์ด และกระทรวงการคลัง ซึ่งหากแพ้คดีค่าผ่านทางจะขึ้นถึง 75 บาท ซึ่งมีการโจมตีว่าพนักงานกลัวไม่ได้โบนัส แต่จริงแล้ว พนักงานมองเรื่องประเทศชาติมากกว่าเพราะว่าค่าผ่านทางขึ้นมากผลประโยชน์พนักงานก็ต้องเพิ่มมากขึ้น พนักงานไม่ได้เดือดร้อนคนที่เดือดร้อนคือประชาชน ซึ่งตอนนี้ก็ต้องรอศาลตัดสินว่า ผลประโยชน์ที่จะตกอยู่กับรัฐหรือว่าเอกชน ในฐานะสหภาพแรงงานก็ทำงานกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง หากศาลตัดสินให้จ่ายค่าโง่ก้หมายถึงภาระประชาชนที่ใช้ทางด่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน