นโยบายการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานนอกระบบ “ตุ้มโฮม: ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ?”

นโยบายการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานนอกระบบ “ตุ้มโฮม: ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ?”

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน 2555 เวลา 09.40 – 10.00 น.ณ ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ อ.เมือง จ. ขอนแก่น เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานจังหวัดขอนแก่นได้จัดเวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบ “ตุ้มโฮม : ความเสี่ยง ที่หลีกเลี่ยงได้? ซึ่งผู้เข้าร่วมประกอบด้วย กลุ่มแรงงานนอกระบบในจังหวัดขอนแก่น นักวิชาการ องค์กรบริหารส่วนตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงแรงงาน สวัสดิการจังหวัด สำนักงานหลักประกันสุขภาพฯลฯกว่า 200 คน
 
นางสาวจรัญญา วงษ์พรหม ประธานคณะทำงานจัดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบ “ตุ้มโฮม : ความเสี่ยง             ที่หลีกเลี่ยงได้? ” กล่าวว่า ในนามของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานจังหวัดขอนแก่น  ได้ตระหนักถึงคุณค่าและมูลค่าของแรงงานนอกระบบ  ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และได้ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดขอนแก่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยการสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  โดยปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มอาชีพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอเมือง  อำเภอหนองเรือ  และอำเภอน้ำพอง ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพผู้นำกลุ่มและเครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับตำบล โดยมุ่งหวังว่าผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจะสามารถขยายผลและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 
 
การจัดงานจัดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบ วันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ที่เกิดจากการความร่วมมือหลายฝ่าย และได้นำองค์ความรู้ บทเรียนการทำงานมานำเสนอ แลกเปลี่ยนและสื่อสารกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น  ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนี้ เวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบ ยังจะได้รับฟังข้อคิดเห็นเสนอแนะต่อข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มหรือเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มอาชีพต่างๆ  สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระดับกลุ่ม ชุมชนหรือเครือข่าย  มีการจัดการอาชีพที่ให้ความสำคัญการมีสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน รวมถึงการมีสวัสดิการที่เหมาะสมกับปัญหาและความต้องการของแรงงานนอกระบบ   การดำเนินงานอาจจะพบข้อจำกัดบ้างแต่ก็คาดหวังว่าด้วยพลังการมีส่วนร่วมของหลายฝ่ายดังที่ปรากฏในวันนี้ จะสามารถฝันฝ่าข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยดี 
 
นางสาวอรุณี ดวงพรม ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีแรงงานภาคการเกษตรถึง 15.1 ล้านคน ซึ่งในจังหวัดขอนแก่นมีประชากรทั้งหมด 1,770,605 คน  เป็นประชากรวัยแรงงาน จำนวน 967,511 คน แยกเป็นแรงงานภาคการเกษตร จำนวน 313,025  โดยมีการรวมกลุ่มอาชีพเพื่อผลิตสินค้า เป็นอาชีพเสริมจากการทำการเกษตร (หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) จำนวน 595 กลุ่ม ผลิตภัณฑ์จะเป็นการแปรรูปอาหาร เสื่อ ผ้าทอพื้นบ้าน จักสาน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของแรงงานนอกระบบในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ 
 
1) ความเสี่ยงด้านสุขภาพ จากการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ระยะเวลา 1 ปี ในจังหวัดขอนแก่น พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วยสาเหตุจากการทำงาน แบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการคือ มีอาการปวดเมื่อย มีอาการผื่นแพ้จากสารเคมี และอุบัติเหตุ 
2) ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ภายในสถานที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ ฝุ่น เสียงดัง หรือการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของเกษตรกรและชุมชน เรื่องการปล่อยน้ำเสีย และมลพิษสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากทั้งภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม 
3) ความเสี่ยงเรื่องรายได้ ความไม่เป็นธรรมด้านการผลิต และการจัดการภาระหนี้สิน ที่เกิดจากการลงทุน ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรพบว่า ในจังหวัดขอนแก่นมีการกู้เงินจำนวนเงิน 13,311.50 ล้านบาท เรียงลำดับ 3 อำเภอ ที่กู้เงินมากที่สุด ได้แก่ 1) อำเภอบ้านไผ่ 1,630.04 ล้านบาท 2) อำเภอน้ำพอง 1,146.29 ล้านบาท 3) อำเภอเมืองพล 1,047.42 ล้านบาท  
 
ปัจจุบันมีการออกกฎหมายและเกิดนโยบายเพื่อการคุ้มครองสิทธิ และการมีหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ แต่กฎหมายหรือนโยบายดังกล่าวยังไม่ได้รับการสื่อสารหรือสร้างการเรียนรู้ในระดับพื้นที่เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้เข้าใจและเข้าถึงสิทธิและบริการ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและนโยบายดังกล่าวอย่างเข้าใจและทั่วถึง
 
สถานการณ์ปัญหาสำคัญเร่งด่วนในการดูแลให้เกิดความเป็นธรรมของเกษตรกรพันธสัญญา ไม่ว่าจะเป็นด้าน “สัญญาที่เป็นธรรม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการควบคุมตรวจสอบมาตรฐานอาหาร ยา และปัจจัยการผลิตต่างๆ กำกับควบคุมบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนและใช้พื้นที่ให้ตระหนักและรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การชดเชยความเสียหาย การรับซื้อและกระบวนการผลิต”
นอกจากนั้น ยังเข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมาย และนโยบายเพื่อการคุ้มครองแรงและการมีหลักประกันทางสังคม เนื่องจากขาดโอกาสในการรับรู้และเข้าใจในกฎหมาย รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่มีความซับซ้อน ไม่เอื้อต่อวิถีชีวิตของแรงงานนอกระบบ
 
ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่นจึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข  สวัสดิการสังคม การส่งเสริมอาชีพทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ได้ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยใช้ฐานกลุ่มอาชีพและชุมชน/ท้องถิ่น    ผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดขอนแก่นที่ผ่านมา   ได้องค์ความรู้และรูปธรรมการทำงานของชุมชน/ท้องถิ่น เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำงาน และการจัดสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบ ที่สามารถนำมาขยายผลและสร้างการเรียนรู้ให้กับแงงานนอกระบบในพื้นที่อื่นๆ  รวมถึงการพัฒนากระบวนการนโยบายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
การจัดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 250 คน ประกอบด้วย กลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐ  ข้าราชการการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม  นักวิชาการ และสื่อมวลชน  
 
นายวิสา คัญทัพ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงานได้กล่าวเปิดเวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น และปาฐกถา“ตุ้มโฮม: ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ?” ในเรื่อง “นโยบายการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาแรงงานนอกระบบ” ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ท่านเผดิมชัย  สะสมทรัพย์) ได้มอบหมายให้มาเป็นประธานเปิดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักเศรษฐกิจแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้ รวมทั้งมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนนโยบายด้านแรงงานนอกระบบในระดับพื้นที่ในครั้ง
นี้  
 
เรื่องแรงงานนอกระบบ เป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ชัดเจน แม้แต่ “นิยาม” ของแรงงานนอกระบบ แต่ละหน่วยงานก็นิยามไปตามภารกิจของตน ดังนั้น เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน จึงใช้นิยามของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นนิยามกลาง เนื่องจากอ้างอิงข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหลัก โดยนิยามของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมจากทางราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนภูมิภาค องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ลูกจ้างรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ และลูกจ้างที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 และ พระราชบัญญัติเงินทดแทน 2537 และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แรงงานนอกระบบคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับแรงงานในระบบ คือ เป็นแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง จึงทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ซึ่งกฎหมายแรงงานจะคุ้มครองคนทำงานที่เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น ผู้ทำงานหรือรับจ้างทำงานตามสัญญารูปแบบอื่นๆ เช่น สัญญาจ้างทำของ สัญญาจะซื้อขาย สัญญาซื้อขายอื่นๆ ไม่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้แรงงานนอกระบบไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ขาดหลักประกันในชีวิต เข้าไม่ถึงทรัพยากรและการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่มีองค์กรตัวแทน ทำให้ขาดอำนาจการเจรจาต่อรอง รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจในตัวตน สิทธิ กฎหมายและสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานที่พึงมีพึงได้รับในฐานะที่เป็นกำลังแรงงานของประเทศ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีบริการภาครัฐเกิดขึ้นมากมายที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม แต่ยังพบว่าบริการดังกล่าวยังไม่เหมาะสม/สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความเป็นแรงงานนอกระบบที่มีความยืดหยุ่นและความหลากหลายบริบท
 
ดังนั้น กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ได้ตระหนักถึงปัญหาฯ ดังกล่าว จึงได้ร่วมกับ สสส. และ TDRI จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์
การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙” เพื่อเป็นแผนแม่บทด้านแรงงาน
นอกระบบแผนแรกของไทย และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
1. จำนวนแรงงานนอกระบบ มีจำนวน 24.1 ล้านคน (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2553) คิดเป็น 2ใน 3 ของผู้มีงานทำจำนวน 38.7 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่รัฐควรให้ความสำคัญ
2. การเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงแรงงาน จากงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน
นอกระบบ ได้มีข้อเสนอแนะให้ “กระทรวงแรงงาน” มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ซึ่งจากเดิมเน้นการดูแล“แรงงานในระบบ” ซึ่งมีจำนวนเพียง 14.6 ล้านคนเป็นการขยายความคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบให้เท่าเทียมเป็นธรรมและใกล้เคียงกับแรงงานในระบบ
3. การไม่มีเจ้าภาพหลัก/ความคาดหวังของสังคม จากความหลากหลายและพลวัตรของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ทั้งในเรื่องจำนวน ประเภทอาชีพ รูปแบบ/ลักษณะงาน สถานภาพการทำงาน ลักษณะแรงงาน และสภาพปัญหามีความแตกต่างกันมาก ทำให้ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดเป็น “เจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ”  ส่งผลให้การขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ/คุ้มครองแรงงานนอกระบบ(ทั้งภาครัฐและเอกชน) มีความซ้ำซ้อนและเป็นไปในลักษณะต่างหน่วยต่างดำเนินการตามภารกิจ 
4. การบูรณาการแผน ภารกิจเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดังนั้น จึงต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ
5. การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่เป็นทางการของประเทศไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ มีมูลค่ารายได้ 2.34 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) (ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี 2544)
6. เตรียมความพร้อมสู่ความเป็นสากล/ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนทำงาน และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศต่อไป และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 – 2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนฯ ต่อไป
 
เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 – 2559 ของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการกับภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงแรงงานจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม คุ้มครองและพัฒนาแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 ทำให้เห็นภาพรวมของหน่วยงานภาครัฐ/ภาคีที่เกี่ยวข้อง ที่ดำเนินงานด้านแรงงานนอกระบบของประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 9 กระทรวง 20 หน่วยงาน  82 โครงการ/กิจกรรม กรอบงบประมาณ 39,544.98 ล้านบาท และแรงงานนอกระบบได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 18.18 ล้านคน และมีตัวชี้วัดระดับแผนยุทธศาสตร์ฯ จำนวน 10 ตัวชี้วัด ซึ่งได้สรุปเป็นแผ่นพับแจกให้กับทุกท่านในวันนี้แล้ว
 
แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอขอแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 
21 สิงหาคม 2555 อนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือ
รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีรองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นเลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านแรงงานนอกระบบของประเทศไทย หลายท่านที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ก็ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ด้วย เช่น ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ คุณบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ คุณสุจิน รุ่งสว่าง เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ฝ่ายเลขานุการได้แจกให้ที่ทุกท่านด้วยแล้ว
การจัดเวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ สนับสนุนแผนปฏิบัติการฯ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคม 
กลยุทธ์ : เสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านสุขภาพในมิติอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานรวมทั้งส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีนโยบายคุ้มครองด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และสนับสนุนตัวชี้วัดที่ 3 : จำนวนข้อเสนอแนะ/แนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่น้อยกว่า
ปีละ 1 เรื่อง ดังนั้น เวทีสมัชชาขอนแก่น ซึ่งเป็นเวทีระดับพื้นที่ จึงเป็นเวทีที่สำคัญที่จะสะท้อนประเด็น/ปัญหาไปยังเวทีใหญ่ คือเวทีคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะจัดประชุมประมาณเดือนต้นเดือนธันวาคม 2555 ต่อไป
 
คำว่า “ตุ้มโฮม: ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ?” นี้มาก เพราะคำนี้เป็นคำภาษาอีสานแปลว่า รวมพลัง รวมกลุ่มในการสร้างสรรค์ให้เกิดงานใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก เช่น 
ตุ้มโฮมเกี่ยวข้าว หรือ ลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นต้น เหมือนกับงานสมัชชาในครั้งนี้ที่พวกเรามารวมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายการจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมการจัดการอาชีพและรายได้ รวมถึงการนำนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัดด้วย 
ผมเชื่อมั่นว่าการจัดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบในครั้งนี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนข้อเสนอของพี่น้องแรงงานนอกระบบ ไปสู่การพิจารณาในระดับนโยบาย รวมทั้งแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแรงงานนอกระบบแต่ละพื้นที่
 
นายเรวัฒน์ ชัยอินทร์ ตัวแทนเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ จังหวัดขอนแก่นประกาศเจตนารมณ์ว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเห็นแรงงานนอกระบบในจังหวัดขอนแก่น มีหลักประกันในชีวิตและความมั่นคงในการทำงาน มีสวัสดิการสังคม ทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อเกษียณอายุการทำงาน มีการจัดการอาชีพและรายได้เพื่อเป็นฐานทางเศรษฐกิจของตน ครอบครัว และสังคม ที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่ประชุมสมัชชาแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น จึงมีข้อเสนอต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการ สนับสนุนการเสริมสร้างหลักประกันชีวิตที่ดีให้แรงงานนอกระบบในจังหวัดขอนแก่น ดังต่อไปนี้ 
 
 (1) สนับสนุนการจัดบริการอาชีวอนามัยเพื่อส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรคที่อันเนื่องมาจากการทำงาน โดยการประสานการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “สร้างก่อนซ่อม” หรือ การจัดบริการอาชีวอนามัยเชิงรุก ระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งด้านนโยบาย สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการ พัฒนาศักยภาพบุคลากร พัฒนาองค์ความรู้ กำกับติดตาม และสร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มและทุกพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น
 
(2) ส่งเสริมความมั่นคง ความเป็นธรรมด้านอาชีพและรายได้ รวมทั้งสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ดี สำหรับแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น
 
(3) สนับสนุนการนำนโยบายการคุ้มครองสิทธิและบริการด้านหลักประกันทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มหรือเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และ หน่วยงานรัฐ 
 
(4) สนับสนุนการนำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 – 2559 สู่การปฏิบัติในจังหวัดขอนแก่น โดยให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบระดับจังหวัด เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ปฏิบัติการนำร่อง 5 แห่ง และขอประกาศร่วมกันว่า จะร่วมงานกับภาครัฐ เครือข่ายพันธมิตร ผู้บริโภค นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อการเสริมสร้างหลักประกันชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานนอกระบบในจังหวัดขอนแก่น
 
จากนั้นคณะทำงานจัดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบ “ตุ้มโฮม : ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้? ”ได้ร่วมกันกันหน่วยงานต่างปักธงเพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน และได้ยื่นข้อเสนอแก่นายวิสา คัญทัพ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงานเพื่อให้นำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อการแก้ไข
 
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน
 
ข้อเสนอนโยบาย
เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
เนื่องในงานสมัชชาแรงงานนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น
วันที่ 17 กันยายน 2555  ณ ห้องมงกุฎเพชร  โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 
 
การดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550  จนถึงปัจจุบัน โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขยายฐานการทำงานจากระดับกลุ่ม สู่ระดับตำบลและจังหวัดตามลำดับ  โดยเฉพาะการดำเนินงานอาชีวอนามัยในหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ขยายครอบคลุมทั้งจังหวัด และเพื่อให้แรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรได้รับการขยายผลการดำเนินงานในมิติอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น  ภาคีเครือข่ายการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น จึงจัดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่นขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการดำเนินงานสู่การขยายผลไปยังพื้นที่อื่นและการพัฒนากระบวนการนโยบายระดับจังหวัด  โดยมีข้อเสนอนโยบายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น ดังนี้
1. การจัดบริการอาชีวอนามัยเพื่อส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน 
1.1 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ร่วมมือกับ หน่วยสนับสนุนวิชาการ และสถาบันการศึกษา
 ดำเนินการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน  อาสาสมัครแรงงานและอาสาสมัครเกษตร  ให้มีความรู้ ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัย และสามารถเป็นกลไกการเฝ้าระวังสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานในระดับกลุ่มอาชีพหรือชุมชน โดยเชื่อมโยงการดำเนินงานกับกองทุนสุขภาพท้องถิ่น
1.2 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานยุทธศาสตร์การจัดบริการอาชีวอนามัย
 ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และเครือข่ายแรงงานเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดบริการอาชีวอนามัยเชิงรุกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น 
1.3 ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการพัฒนา
ศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะกรรมการกองทุนสุขภาพท้องถิ่น ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการทำงาน แนวทางส่งเสริมป้องกันโรค และการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันในระหว่างผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องทุกระดับ
2.  การส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาชีพและรายได้
2.1  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อความเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรในระบบพันธสัญญา ระดับจังหวัด โดยมีบทบาทในกำหนดนโยบาย และกำกับติดตาม ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชุมชนและเกษตรกรกรในระบบพันธสัญญา ดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยมีสำนักยุติธรรมจังหวัดเป็นเลขานุการ
2.2  ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ควบคุมและใช้มาตรการในการจัดการระบบการจำหน่ายสารเคมีและกำจัดขยะที่เกิดจากสารเคมี ซึ่งเป็นวัตถุมีพิษ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชน เป็นกลไกในการกำกับติดตามการดำเนินร่วมกับคณะกรรมการฯ 
2.3 ให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประกาศให้อาสาสมัครเกษตร มีบทบาทหน้าที่เพิ่มขึ้นในด้านการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี การแจ้งเบาะแส รับเรื่องร้องเรียนและรายงานต่อคณะกรรมการฯ ให้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการจัดการระบบการจำหน่ายสารเคมีและกำจัดขยะที่เกิดจากสารเคมี
2.4  ให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ ปัญหาความต้องการและให้คณะกรรมการกองทุนฯ ระดับตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจการตัดสินใจและบริหารจัดการกองทุนร่วมกันในพื้นที่ 
3.  การเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองและบริการด้านหลักประกันทางสังคม 
3.1 ให้สำนักงานแรงงานจังหวัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องนโยบายและกฎหมายเพื่อการคุ้มครองแรงงานแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับกลุ่มหรือเครือข่ายแรงงานนอกระบบ           เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิและบริการของแรงงานนอกระบบในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.2 ให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรชุมชน เพื่อเป็นหน่วยบริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการส่งเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ที่เป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์และหลักประกันทางสังคมมากขึ้น             อย่างเป็นธรรม 
4.  การนำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 – 2559 สู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด  
4.1. ให้สำนักงานแรงงานจังหวัด ประสานการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบระดับจังหวัด เพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานด้านแรงงานนอกระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 – 2559 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการนำร่อง (ตำบลหรืออำเภอ) เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และบูรณาการงานร่วมกันอย่างน้อย 5 พื้นที่  
 
 
เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น