รัฐมีมาตรการเร่งสูบน้ำออกจากนิคมหวังเปิดการผลิต ไม่หวั่นกระทบชุมชน ส่วนแรงงานสะอื้นนายจ้างประกาศเลิกจ้าง โครงการสมัครใจลาออก ก่อนน้ำลดตกงานทั้งครอบครัว ห่วงลูกไม่มีนมกิน ไม่มีเงินเรียน หนี้สุมทั้งในระบบ นอกระบบ
วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2554 บริษัท อินทริเฟ็ลคประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ต.บ้านหว้า อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา มีจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 300-400 คน ซึ่งเป็นพนักงานประจำและพนักงานเหมาค่าแรง ได้ประกาศเลิกจ้างนายเรวัตน์ อนันตศิริ อายุ 36 ปี เพิ่่งเข้าเป็นพนักงานของบริษัทได้ 3 เดือน โดยอ้างว่าประสบปัญหาน้ำท่วมจำเป็นต้องเลิกจ้าง โดยจ่ายค่าชดเชยให้ตั้งแต่ 21 ตุลาคม 54 ถึง 12 พฤศจิกายน 54 จ่ายให้ 75% อีก 2 เดือนหลังจ่ายค่าจ้างให้ 100% บริษัทยังบอกกับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างว่า บริษัทเลิกจ้างไม่ได้ไล่ออก ถ้าบริษัทเปิดรับสมัครพนักงาน พนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปแล้วสามารถกลับมาสมัครใหม่ได้
การเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้บริษัทเลือกเฉพาะลูกจ้างที่มีอายุงานน้อยประมาณ 3-4 เดือนเป็นอันดับแรก และมีพนักงานเหมาค่าแรงรวมอยู่ด้วย
นายเรวัตน์ อนันต์ศิริ กล่าวว่า “ไม่อยากถูกเลิกจ้าง เพาะตัวเองมีภาระเยอะ ทั้งค่านมลูก ค่าเช่าห้อง ค่างวดผ่อนรถมอเตอร์ไซด์ หนี้ธนาคาร หนี้นอกระบบ รวมค่าใช้จ่ายก็ประมาณ 10,000 กว่าบาท ผมจะเอาเงินจากไหนมาใช้จ่าย น้ำท่วมหมดแถมตกงานแบบนี้ โรงงานส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วมหมด ผมอยากทำงานถึงแม้ว่าบริษัทจะจ่ายค่าจ้างน้อยลงกว่าเดิมผมก็ยอม ผมอายุไม่น้อยแล้ว งานมันหายากนะช่วงนี้”
ขณะที่บริษัทสั่งหยุดงานในตอนที่น้ำท่วม นายเรวัตน์ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครขับเรือให้กับศูนย์ช่วยเหลือแรงงานประสบภัยน้ำท่วม เพื่อนำสิ่งของไปแจกให้กับคนงานที่ไม่กลับต่างจังหวัดและอาศัยอยู่ตามห้องพัก
“ภรรยาของผมก็ถูกเลิกจ้างด้วยเหมือนกัน เค้าเข้างานมาก่อนผม อายุงานประมาณ 5 เดือน บริษัทเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดประมาณ 20 กว่าคน ผมอยากให้ภาครัฐ กระทรวงแรงงาน หางานให้ผมทำ เพราะมีภาระหนี้สินต้องใช้เยอะแยะ ถ้าผมมีงานทำผมก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และมีเงินมาใช้หนี้ได้” นายเรวัตน์กล่าว
หนึ่งในพนักงานในนิคมบางปะอิน เล่าว่า ตนและสามีทำงานเป็นพนักงานเหมาค่าแรง แต่สามีเป็นพนักงานประจำ ทำงานมากว่า 2 ปีแล้ว วันนี้ได้ข่าวว่านายจ้างเตรียมการเลิกจ้าง พนักงานเหมาค่าแรงทั้งหมด ทำให้ไม่สบายใจอย่างมาก ตอนนี้อายุก็มาก (42 ปี) จะหางานที่ไหนทำ หากถูกเลิกจ้างลูกที่กำลังเรียนอยู่จะทำอย่างไร ภาระผ่อนรถมอเตอร์ไซต์ที่แม้ทำงานทุกวันค่าแรง (195 บาท/วัน)ยังไม่พอ ต้องทำงานล่วงเวลา อยากให้นายจ้างเห็นใจ เพราะการทำงานก้พยายามช่วยเหลือกันมาตลอด เวลาเร่งงานก็ช่วยกันทำงานเกินเวลาไม่ได้ค่าล่วงเวลาก็ยังพิทนไหว การเข้างานทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันและไม่มีวันหยุด ก็ไม่เคยเรียกร้อง บางครั้งเวลาพักนายจ้างยังให้พัก 15 นาทีกลับเข้าทำงานเพราะเร่งงาน พอจะมีการเปิดทำงานกลับประกาศเลิกจ้าง
นายจำลอง ชะบำรุง ผู้ประสานงานศูนย์แรงงานช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม อยุธยา กล่าวว่า เลิกจ้างแล้ว 13 บริษัทในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซันโย 2000 คน บริษัทวายทีซี พีซีซัน 500 คน ขณะนี้มีการเปิดให้พนักงานสมัครใจลาออกบ้างแล้ว ซึ่งกรณีสมัครใจลาออกหมายถึงพนักงานจะไปใช้สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน เพียงร้อยละ 30 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน แต่หากนายจ้างเลิกจ้างพนักงานจะได้รับสิทธิประกันสังคมร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ในส่วนของผู้นำแรงงานในอยุธยามีความเป็นห่วงผู้ใช้แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่เกิดผลกระทบจากน้ำท่วม ในเรื่องของสิทธิที่ควรจะได้รับ และการที่จะเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือต่างๆจากรัฐที่ประกาศไว้ (q11-14กร.ขอความร่วมมือสถานประกอบการ ขอความร่วมมือไม่ให้เลิกจ้างlpb-10112554-1)
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิเอเชีย และสำนักวิจัย และพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกันจัดเวทีเสวนา หาทางออก “กู้นิคมฯอย่างไรให้ปลอดภัย” ณ มูลนิธิเอชีย ถ.คอนแวนต์ สีลม กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้นำแรงงาน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม และแรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งสื่อมวลชน
การจัดการเสวนาครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูอุตสาหกรรม โดยมีภารกิจเร่งด่วนคือการกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม จากมติดังกล่าว น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) และผู้แทนของนิคมทั้ง 7 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม คือ นิคมฯสหรัตนนคร นวนคร บ้านหว้า (หรือไฮเทค) บางปะอิน แฟคทอรี่แลนด์ โรจนะ และบางกระดี ให้มีการวางแผนและดำเนินการกู้นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ทันที เพื่อให้กลับมาดำเนืนการผลิตได้โดยเร็ว เพื่อรักษาฐานการผลิตและความน่าเชื่อถือของประเทศด้านการลงทุน และรับคนงานกลับเข้าทำงานให้เร็วที่สุด ซึ่งคณะอนุกรรมการได้ข้อสรุปว่า เมื่อน้ำเริ่มลดระดับลงนิคมฯ ต้องการไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำออกจากนิคม โดยปัจจุบันนิคมฯ เริ่มยกคันดินรอบนิคมฯ ให้สูงและแข็งแรงมากขึ้นเพื่อเตรียมสูบน้ำออก
ข่าวการดำเนินการกู้นิคมฯด้วยวิธีการสูบน้ำออกดังกล่าว ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างสูงต่อชุมชนรอบนิคมฯซึ่งมีอาชีพและความเป็นอยู่ที่หลากหลาย เช่น ทำนา ทำสวน และเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานและชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาช้านาน ว่าน้ำที่ถูกสูบออกจากโรงงานและนิคมฯนั้นจะมีสารปนเปื้อนจากมวลสารที่เป็นมลพิษ ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิต โดยเฉพาะโรงงานผลิตชิ้นส่วนอีเลคโทรนิค รวมทั้งการปนเปื้อนจากบ่อบำบัดน้ำเสียและเตาเผาสิ่งปฏิกูลต่างๆ จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษต่างๆ จนทำให้เกิดการเจ็บป่วยในระยะยาว นอกจากนั้นการสูบน้ำออกจากโรงงานยังเป็นการเพิ่มระดับน้ำให้กับชุมชนรอบนิคมฯ ถือเป็นการซ้ำเติมให้ชุมชนต้องแบกรับเพิ่มมากขึ้น นอกจากการตกงาน ขาดรายได้แล้ว ยังต้องทุกข์ทรมานกับการอยู่กับน้ำท่วมซึ่งนับวันเริ่มเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผลจากการเสวนา มีข้อสรุปเกี่ยวกับปัญหา/ความห่วงกังวล ดังนี้
1. ขาดข้อมูลข่าวสารที่มาเปิดเผยให้ประชาชนทราบว่าโรงงานแต่ละประเภทมีสารเคมีอันตรายและขยะอันตรายหรือไม่ จำนวนเท่าใด และมีการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ และมีการจัดการหรือไม่ก่อนที่จะปล่อยออกไป
2. มีปัญหาทางสังคม ได้แก่
– มีค่าใช้จ่ายในการจัดการของชุมชนเอง
– สุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสัมผัสสารพิษ
– ผลผลิตจะมีปัญหาเพราะการปนเปื้อนสารพิษในที่ทำกิน
– การทำความสะอาดบ้านที่มีคราบน้ำมัน
– ขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค
– ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการ
– ไม่เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐและนิคมอุตสาหกรรม
3. การรั่วไหลของสารพิษสู่ระบบนิเวศและสะสมอยู่เป็นเวลานาน การปนเปื้อนในแหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน
4. การดำเนินการของรัฐ
– ยังไม่ทราบแนวทางที่ชัดเจน
– การบังคับใช้กฎหมายด้านการป้องกันสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียอันตราย ตลอดจนการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาทั้งในทางเทคนิคและปัญหาทางนโยบาย ซึ่งปัญหาทางนโยบายนั้นรัฐบาลควรมีแนวทางในการกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม ได้แก่
1. รัฐบาลควรเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆได้ทราบว่ากรรมการเหล่านี้ประกอบด้วยใครบ้าง และกรรมการนี้ก็ควรมีตัวแทนมาจากหลายภาคส่วน และควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ เพราะการจัดการของเสียเป็นเรื่องทางเทคนิค
2. ควรเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนทราบ และสื่อสารผ่านช่องทางสาธารณะโดยไม่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก
3. โรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะถูกน้ำท่วม รัฐบาลควรเข้าไปแนะนำการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีและของเสียอันตราย
4. ควรมีการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่เรื่องการแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้มีการกู้นิคมอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วและประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
5. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้หน่วยงานของรัฐเหล่านี้จะมีการตรวจสอบการจัดการของเสียของโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน แต่ก็ต้องพิจารณาความสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุด
6. รัฐบาลควรมีแนวทางบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมและคราบน้ำมันตามหลักวิชาการอย่างชัดเจน ซึ่งต้องพิจารณา 3 ปัจจัย ได้แก่ อัตราการเจือจางของสารเคมีในน้ำ ความเข้มข้นของสารที่ทิ้งออกไป และชนิดของสารเคมีที่ทิ้งออกไป
7. การกู้นิคมอุตสาหกรรมย่อมมีผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง รัฐบาลอาจมีการตั้งกองทุนเร่งด่วนเพื่อการเยียวยาประชาชน (Environmental Guarantee Fund) ที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ภายหลังจากการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลควรมีการดำเนินการต่อเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยใช้กลไกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินการตามแนวทางดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ภายใต้หลักการของธรรมาภิบาล
เครือข่ายนักวิชาการได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ตรวจสอบสารอันตราย ขยะอันตราย ก่อนการสูบน้ำเพื่อกู้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยมีข้อเสนอดังนี้
1. ทุกฝ่ายเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกู้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วม เพื่อให้แรงงานมีงานทำและสร้างความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ
2. เนื่องจากในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งมีโรงงานที่มีสารเคมีและขยะอันตราย ทั้งที่เก็บสำรองและอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตจำนวนมากขณะที่น้ำท่วมมาอย่างฉับพลัน รวมทั้งของเสียที่อยู่ในกระบวนการบำบัด ดังนั้นก่อนการสูบน้ำออกสู่ชุมชน รัฐบาลจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูลและมีกระบวนการตรวจสอบความเป็นอันตรายในทางวิชาการอย่างครบถ้วนชัดเจน รวมถึงมีการจัดการก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลสารอันตรายที่ใช้อยู่ในแต่ละโรงงานของแต่ละนิคมประกอบในการประเมินความเสี่ยงและติดตามตรวจสอบ
3. ให้มีนักวิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อประเมินข้อมูลและประเมินผลตรวจสอบในแต่ละนิคม เพื่อป้องกันผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน
4. ในระหว่างรอการฟื้นฟูนิคมฯ ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม
5. ให้รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลชุมชนที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการเก็บกู้ของเสียอันตราย (ขยะอุตสาหกรรม) ที่หลุดรอดออกมาก่อนหน้านี้
6. สำหรับโรงงานที่อยู่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์บำบัดของเสียอันตราย ที่อาจถูกน้ำท่วม ขอให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
ทั้งนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานฟื้นฟูนิคมฯและเขตประกอบการอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 7 ชุดดังนี้
1.ที่ปรึกษาคณะกรรมการและฟื้นฟูนิคมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. คณะกรรมการฟื้นฟูนิคมฯและเขตประกอบการอุตสาหกรรม
3. คณะทำงานฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
4. คณะทำงานฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค)
5. คณะทำงานฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร
6. คณะทำงานฟื้นฟูเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ
7. คณะทำงานฟื้นฟูเขตประกอบการอุตสาหกรรม แฟคตอรี่แลนด์วังน้อย
โดยให้คณะทำงานทั้ง 7 ชุดดำเนินการเตรียมความพร้อมในการทำแผนฟื้นฟู ดังนี้
วันที่ 20-31 ต.ค. 2554 ให้น้ำไหลผ่านที่นิคมฯ และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อลดปริมาณน้ำเข้าสู่กทม.
วันที่ 1-15 พ.ย. 2554 เพิ่มระบายและลดระดับน้ำให้ได้ประมาณ 50 ซ.ม.
วันที่ 16-30 พ.ย. 2554 ดำเนินการสูบน้ำและกู้พื้นที่ให้สามารถเข้าไปยังโรงงานได้
วันที่ 1-15 ธ.ค. 2554 ผู้ประกอบการเข้าทำการซ่อมแซมอุปกรณ์/ปรับปรุงโรงงานได้
วันที่ 16 ธ.ค. 2554 เริ่มประกอบการและแรงงานสามารถเข้าทำงานได้
อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน