“นำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างไร” : ลูกจ้างสบายใจ นายจ้างได้ประโยชน์

Untitled-10

โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน

ท่ามกลางสถานการณ์ขมุกขมัวเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย หลายฝ่ายมีคำถามว่าแล้วจะอย่างไรต่อ ทรงพันธ์ ตันตระกูล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคำตอบในเรื่องนี้ “จะนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างไร” : ลูกจ้างสบายใจ และนายจ้างได้ประโยชน์

ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะปฏิเสธหรือหลับตาเพื่อทำให้ไม่เห็นการมีอยู่ของแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย เมื่อการเข้าเมืองผิดกฎหมายมีความสัมพันธ์กับระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของแรงงานข้ามชาติ การหลบซ่อนตัว การหลบเลี่ยง แม้เป็นความเสี่ยง สร้างความไม่ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่ กระทั่งนำมาสู่การจับกุม ปราบปราม ผลักดัน ส่งกลับ แต่ก็สะดวกกว่าการเดินตามระบบที่มีอยู่ ซึ่งยุ่งยาก สลับซับซ้อน วุ่นวาย หลายขั้นตอน และต้องเสียงบประมาณมหาศาล

ทรงพันธ์ ตันตระกูล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่อง “รูปแบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในประเทศไทย จากมุมมองนายจ้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” ชี้ชวนเรื่องนี้และเปิดมุมมองเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ
PA070507P2210285

เขาเริ่มต้นด้วยการอธิบายภาพสังคมไทยปัจจุบัน ที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก เนื่องจากไทยได้เกิดภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นภาคการผลิตที่ยังไม่มีระดับการผลิตและการบริการซับซ้อนมากนัก ทำให้แรงงานไม่มีฝีมือ/แรงงานข้ามชาตินั้นจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน ในขณะที่แรงงานไร้ฝีมือของไทยมีทางเลือกที่ดีกว่าแรงงานข้ามชาติ จึงยกระดับการทำงานขึ้นไปในตำแหน่งที่ดีกว่าหรือสูงกว่า โดยแรงงานไทยจะละทิ้งงาน 3D อันได้แก่ งานสกปรก งานยาก และงานอันตราย โดยจะให้แรงงานข้ามชาติได้ทำงานในส่วนนี้แทน อีกทั้งนายจ้างส่วนใหญ่มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่มีคุณภาพมากกว่าแรงงานไทยในหลายด้าน เช่น ขยัน สู้งาน อดทน กินอยู่ง่าย ฯลฯ

เมื่อความต้องการแรงงานในไทยมีมากล้นประกอบกับความไร้โอกาสในบ้านเกิด นี้จึงกลายเป็นแรงผลักสำคัญในการเร่งให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศที่พรมแดนติดกันได้ง่ายขึ้น โดยการเฉพาะการเข้ามาแบบผิดกฎหมาย

เขาอธิบายว่า “ระบบการจ้างงานแบบถูกกฎหมายนั้น ที่เรียกว่า ระบบ MOU หรือระบบการนำเข้าแบบรัฐต่อรัฐ แม้ระบบบริหารจัดการแบบนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่ในมุมของนายจ้างก็เห็นว่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อน ใช้เวลาในการดำเนินการมาก ไม่จูงใจต่อการเข้าใช้บริการ อีกทั้งยังมีค่าสินบนและค่านายหน้าสูง เมื่อลงทุนไปแล้วแต่แรงงานข้ามชาติย้ายงานบ่อย จึงไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไป ไม่ต่างจากมุมของแรงงานข้ามชาติ ที่ก็สะท้อนว่า ต้องกลายเป็นหนี้ตั้งแต่ก่อนทำงาน อีกทั้งไม่มีหลักประกันว่าไม่ถูกนายจ้างเอาเปรียบ หรือมีอำนาจต่อรองในการทำงาน นี้ไม่นับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย แบบทางช่องทางนอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า

อย่างไรก็ตามการเข้าเมืองแบบนี้ได้ความเสียหายหลายด้านแก่รัฐทั้งสองเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้เกิดอันตรายและความเสี่ยงต่อทุกฝ่ายในหลายมิติ ทั้งส่วนของแรงงานข้ามชาติ เจ้าหนี้ของแรงงาน นายจ้างชาวไทย ประเทศต้นทางที่ได้รับการถูกประณามในหลายประการ ประเทศปลายทางที่ต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้คนที่หลั่งไหลเข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก โดยไม่รู้ทั้งจำนวน ลักษณะงานและวัตถุประสงค์การเข้าเมือง จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยจะไม่ไว้วางใจผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า”

แต่ใช่ว่าการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายจะไร้ปัญหา กลับยิ่งเป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” หรือ “นำไปสู่ทางที่ตีบตันของปัญหามากขึ้น” เขาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมประเด็นนี้ว่า

“นายจ้างมักเล่าบ่อยครั้งว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามานั้นมีการย้ายงานบ่อยครั้งจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจของนายจ้าง อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารกับคนไทย ทำให้การสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจค่อนข้างจำกัด และระเบียบขั้นตอนในการขออนุญาตจ้างแรงงานมีหลายขั้นตอน สถานการณ์แบบนี้ ทำให้นายจ้างเลือกที่จะไม่ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้าในเรื่องขออนุญาตจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือดำเนินการแจ้งเปลี่ยนนายจ้าง หรือดำเนินการแจ้งขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ปฏิบัติงานของลูกจ้าง เพราะการลาออกงานและการเปลี่ยนนายจ้างเกิดขึ้นบ่อยเป็นประจำ
P2210291PB270304

สำหรับในส่วนลูกจ้างก็ไม่แตกต่าง เพราะเมื่อแรงงานข้ามชาติเริ่มต้นด้วยการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทำให้ในระยะแรกพวกเขาจะไม่สามารถที่จะเลือกงานที่พอใจหรือตรงกับความสามารถของตนเองได้ อีกทั้งยังไร้อำนาจที่จะต่อรองกับนายจ้างหรือรัฐตามวิถีทางแห่งกฎหมายอย่างสิ้นเชิง เช่น ยากที่จะต่อรองเรื่องการได้รับค่าจ้างหรือสวัสดิการจากการทำงานต่างๆ ที่เป็นธรรม การถูกไล่ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือการถูกปฏิเสธการขึ้นค่าจ้างจากนายจ้าง หรือเมื่อแรงงานต้องการเปลี่ยนแปลงชื่อนายจ้าง แต่นายจ้างเดิมกลับปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงชื่อนายจ้างให้แก่ลูกจ้าง

ทั้งนี้เป็นเพราะว่ารัฐและกฎหมายได้ทิ้งภาระการดูแลแรงงานเหล่านี้ไว้กับนายจ้าง แต่ไม่ได้พิจารณาว่านายจ้างเองก็มีอำนาจจำกัดในการควบคุมแรงงานของตน ดังนั้นเมื่อสองฝ่ายไม่สามารถคุยกันได้ ทางออกของลูกจ้าง จึงเป็นการหนีไปทำงานกับนายจ้างใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งนายจ้างใหม่ก็รออยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ปัญหาเหล่านี้ติดตามมาด้วยปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

เช่น การจ้างนายจ้างปลอม การถูกมิจฉาชีพหลอกต้มตุ๋นในการออกเอกสารทางราชการต่างๆ ให้แรงงานที่หลงเชื่อและจ่ายเงินแก่มิจฉาชีพโดยเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า มิจฉาชีพสามารถดำเนินการเอกสารที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายได้ รวมถึงการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน จึงกล่าวได้ว่าต้นทุนในการดำเนินชีวิตอยู่นอกระบบหรือผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาตินั้นก็ไม่น้อยไปกว่านายจ้างเช่นกัน”

เพราะปัญหาดังกล่าวแก้ไขไม่ได้โดยง่าย เขาจึงเสนอว่า กระทรวงแรงงานประเทศไทยสามารถนำเอาต้นแบบที่ดีจากระบบนายหน้าจัดหาแรงงานระหว่างประเทศ เช่น โครงการ Work and Travel USA ที่เป็นการนำเข้าแรงงานในระดับนักศึกษาไทยไปเที่ยวและทำงานยังประเทศสหรัฐฯ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เหมาะสม โดยการนำเอาข้อดีบางส่วนของระบบนี้ นั่นคือ ระบบการบริหารจัดการด้วยหน่วยงานกลาง มาปรับใช้กับการนำเข้าแรงงานข้ามชาติได้

“ในงานวิจัย ผมเสนอว่าให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติแบบบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านแรงงานข้ามชาติ มีความเบ็ดเสร็จ เป็นระบบ และเข้าถึงได้ง่าย ตั้งแต่การนำเข้าแรงงานจากประเทศต้นทาง ได้แก่ การนำเข้าแรงงาน การจัดหางาน คัดสรรและอบรมแรงงาน การอำนวยความสะดวกด้านเอกสารทางราชการ การจัดสวัสดิการแรงงาน การประกันสังคมหรือประกันสุขภาพ และระบบการบริหารจัดการนายจ้าง

โดยให้มุ่งเน้นการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานแบบเชิงรุกให้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และจะต้องมีกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างกัน สร้างระบบให้นายจ้าง แรงงานข้ามชาติ และบริษัทนายหน้าจัดหางานเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างเป็นระเบียบให้เรียบร้อย และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ตั้งแต่ประเทศต้นทาง ให้สะดวก ง่าย ชัดเจน มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม มีความปลอดภัย รวดเร็ว และสร้างความพร้อมในการทำงานแก่แรงงานข้ามชาติและนายจ้าง

รวมถึงพัฒนาหน่วยงานกลางให้ดำเนินงานร่วมกับนายหน้าจัดหางานและนายจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการประเมินจำนวนความต้องการแรงงานข้ามชาติ กำหนดคุณสมบัติของแรงงาน กำหนดรายละเอียดค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนและสวัสดิการทั้งภาครัฐและเอกชน มีสถานที่ทำงานที่ชัดเจนเสียก่อนการเดินทางเข้าประเทศของแรงงาน การจัดหาที่พัก ตลอดจนการจัดทดสอบและอบรมทักษะแรงงานให้มีพร้อมทำงานในประเภทงานที่เหมาะสม รวมถึงการจัดการด้านเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับทางราชการ เพื่อลดขั้นตอนที่ประชาชนจะต้องติดต่อหน่วยราชการโดยตรง

รูปแบบดังกล่าวจะอำนายความสะดวกทั้งแก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ รวมถึงเป็นการสร้างระบบฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติขึ้นมาพร้อมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม และสร้างความเข้าใจแก่แรงงานข้ามชาติในมิติต่างๆ ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อการลดความหวาดระแวงระหว่างสองประเทศ และรัฐเองก็จะได้ข้อมูลด้านความมั่นคงที่น่าเชื่อถือมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อีกทั้งประเด็นที่ต้องรีบดำเนินการคือ การลดระยะเวลาในการพักการทำงานเมื่อทำงานครบกำหนด 4 ปี คือ จากที่ต้องเดินทางออกจากราชอาณาจักรไทยเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้ปรับเหลือระยะเวลาเพียง 1 วัน เพื่อร่วมกันเดินหน้าพัฒนาระบบการเคลื่อนย้ายแรงงาน ของทั้งสองประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ขณะที่ข้อกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นนั้นไม่น่าเป็นปัญหา เพราะปกติทั้งนายจ้างและแรงงานข้ามชาติต่างก็ต้องแบกรับต้นทุนอย่างสูงในการดำรงธุรกิจและการทำงานของตนในรูปแบบที่อยู่นอกระบบกันอยู่แล้ว

ตรงกันข้ามการสร้างระบบที่ชัดเจน จะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถประเมินการใช้จ่าย และวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้นเสียอีก ที่สำคัญ คือ ทุกฝ่ายล้วนแต่สะท้อนว่า เรื่องเงินไม่เป็นปัญหาในการจ้างงานและการประกอบกิจการ หากแต่อยู่ที่เวลาในการใช้ติดต่อราชการกับภาครัฐ”

ข้อเสนอของ ทรงพันธ์ ตันตระกูล จึงสอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ลดขั้นตอนการติดต่อกับส่วนราชการ สร้างความสะดวกรวดเร็ว และสามารถแก้ปัญหาของแรงงานข้ามชาติได้อย่างถูกจุด แต่ก็ต้องมาพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมายอย่างเอาจริงเอาจังด้วย เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาอยู่ในระบบที่รัฐของทั้ง 2 ประเทศ สามารถบริหารจัดการแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตลอดไป
//////