นายทุนต้องมาก่อน แรงงานฝันค้าง

เป็นอันว่าพรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากการถูกยุบพรรคไปได้ จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ แม้หลายคนจะเอ่ยถึง มือที่มองไม่เห็นที่ใหญ่โตมากคอยโอบอุ้มคุ้มครองให้ แต่ก็ไม่อาจคาดเดาว่าเป็นมือของผู้ใด แต่มือที่มองเห็นชัดๆก็คือมือของกลุ่มทุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเช่นที่เป็นข่าวดังก็กลุ่มทุนจากทีพีไอ เป็นต้น แม้แต่มือของนายทุนในคราบนักการเมือง
 
คงไม่มีใครปฏิเสธว่านักการเมืองส่วนใหญ่เติบโตมาจากการเป็นนักธุรกิจกล่าวคือ เคยเป็นนายทุนมาก่อนนั่นเอง ฉะนั้น แนวคิดและวิธีการก็ย่อมเป็นแบบนายทุน ถึงแม้จะสวมบทผู้แทนราษฎร แต่ก็สวมทับด้วยหมวกของนายทุน โดยใช้ทุนเป็นตัวกำหนดบทบาท หน้าที่และอนาคตทางการเมืองของตัวเอง เคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ไม่มีพรรคการเมืองไหนอยากเป็นฝ่ายค้านให้อดอยากปากแห้ง” ย่อมแจ่มชัดแล้วว่า เรื่องของการลงทุนยังฝังอยู่ในหัวของนักการเมืองเสมอ ดังนั้นการเข้ามาเป็นนักการเมืองของกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือการเข้ามาลงทุนเพื่อหวังผลกำไรจาการเป็นรัฐบาล ไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน
 
การที่มีการชูคำขวัญหาเสียงว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” จึงเป็นเพียงแค่วาทะกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อลบภาพความเป็นพรรคของนายทุนซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีเสนอตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ 250 บาทด้วยท่าทีที่แข็งขันจริงจังซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้แรงงาน แต่พอผู้ประกอบการออกมาโวย ท่าทีและคำพูดท่านนายกรัฐมนตรีก็เปลี่ยนไป โดยบอกว่าค่าจ้างที่น่าจะปรับได้ควรอยู่ที่ 10-11 บาท
 
เมื่อนายทุนมีบทบาทกับพรรคการเมืองมากกว่าประชาชน ทิศทางการบริหารประเทศตลอดจนนโยบายต่างๆ ย่อมสอดรับกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุน การที่หลายพรรคการเมืองชูนโยบายด้านแรงงานโดยเน้นประเด็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงกว่า 250 บาท นั้นจะทำได้จริงหรือจะก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ได้อย่างไรและค่าจ้างจะได้เท่ากันทั้งประเทศหรือไม่ยังไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากนักการเมืองท่านใดเลย
 
แต่คำถามที่ผู้ใช้แรงงานต้องช่วยกันคิดก็คือเหตุใดผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่าสิบล้านคนคิดเป็น 17% ของประชาชนทั้งประเทศจึงสามารถสร้างดุลยอำนาจในการต่อรองกับนักการเมืองได้และเหตุใดปัญหาของผู้ใช้แรงงานจึงไม่ค่อยได้รับการแก้ไข แต่ถ้าหากว่าผู้ใช้แรงงานมีโอกาสเลือกผู้แทนในเขตที่ตนทำงานอยู่ล่ะคะแนนเสียงสิบล้านกว่าคะแนนนี้พอจะเปลี่ยนแปลงและยกระดับปัญหาให้เป็นที่น่าสนใจสำหรับนักการเมืองได้ไหมอย่าว่าแต่ค่าจ้างเลย แม้แต่นโยบายของทุกพรรคการเมืองก็ต้องเปลี่ยนไป
 
ข้อเสนอเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนในพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่ของฝ่ายขบวนการแรงงานยื่นต่อรัฐบาลอย่างน้อย สองรัฐบาลแล้วยังไม่เคยได้รับการพิจารณาและถูกกล่าวถึงจากนักการเมืองเลย ทั้งที่เป็นผลดีกับทั้งนายจ้างที่ไม่ต้องขาดผลผลิตในช่วงเลือกตั้ง ลูกจ้างเองก็ไม่ต้องเสียเวลากลับไปเลือกตั้งที่บ้านอีกทั้งยังสามารถเลือกผู้แทนที่มารับใช้โดยตรงไม่ใช่ไปเลือกผู้แทนที่บ้านต่างจังหวัดแต่ตัวเองทำงานอยู่อีกจังหวัดแล้วที่เลือกไปจะไปรับใช้ใคร ก็ไม่รู้ว่านักการเมืองเขากลัวอะไร หรือกลัวกรรมกรจะเข้มแข็งปกครองยาก  ข้อนี้จะเป็นพิสูจน์ว่า ประชาชนต้องมาก่อนหรือ นายทุนต้องมาก่อนกันแน่
 
 
 
โดย มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงานศูนย์นครปฐม-สมุทรสาคร