นายจ้างสั่งหยุดงานใช้มาตรา 75 ทั้งปี ลูกจ้างค่าจ้างหด ต้องหารายได้เสริม

ปัญหาการสั่งหยุดงานโดยใช้มาตรา 75 (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541)ยังมีอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะบริษัทฯในเขตย่าน กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม ทำให้คนงานได้รับความเดือดร้อน ค่าใช่จ่ายไม่เพียงพอในแต่ละเดือน  บริษัทฯ ผลิตผ้าลูกไม้ ส่งขายภายในประเทศ และต่างประเทศ  มีร้านในย่านพาหุรัตน์ และที่ประตูน้ำเป็นอีกแห่งหนึ่งที่อ้างว่า ไม่มีออร์เดอร์ ทำให้บริษัทฯขาดสภาพคล่อง สารพัดสาเหตุที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการใช้มาตรา 75 สั่งหยุดงาน  แต่เวลางานเยอะก็ส่งทำงานล่วงเวลาพอหมดงานก็สั่งหยุด ม.75 ชั่วคราวตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จ่ายค่าจ้างเพียง ร้อยละ 75 เฉพาะพนักงานแผนกลูกไม้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 จนถึงปัจจุบัน มีการสั่งหยุดเป็นช่วงๆ เมื่อเร็วๆนี้ สั่งหยุดงาน ระหว่างวันที่ 16 – 27 พฤศจิกายน 2553 โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ใช้วิธีให้พนักงานลงชื่อยินยอมในตอนเย็นหลังเลิกงานก่อนที่จะหยุดในวันถัดไป พนักงานส่วนใหญ่ยินยอม หากไม่ลงลายมือชื่อยินยอมบริษัทจะให้ไปทำงานแผนกอื่นๆแทน ซึ่งเป็นแผนกที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะแผนกช่างเครื่อง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

ปัญหาที่นายจ้างใช้มาตร 75 ดังกล่าวทำให้พนักงานหลายคนได้รับผลกระทบค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ บ้างก็ลาออกจากงานไปหางานใหม่  ส่วนพนักงานที่มีอายุมากแล้วจะลาออกไปหางานใหม่ทำก็ไม่ได้ต้องทนรับสภาพอย่างนี้ต่อไป บางคนต้องหารายได้เสริมเช่น ขายของเล็กๆน้อยๆ เพื่อจะได้มีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือนไป

จากเหตุการณ์ดังกล่าว สหภาพแรงงานสิ่งทอสมุทรสาคร ได้ทำหนังสือเข้าหารือกับนายจ้าง ซึ่งนายจ้างส่งผู้แทนมาคุยด้วยแต่ก็ไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา บอกแต่เพียงว่าเห็นใจและเข้าใจ

ประธานสหภาพฯให้ ความเห็น ต่อกรณีนี้ว่า “บริษัทฯใช้ช่องทางการสั่งให้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งพนักงานจะได้รับค่าจ้างเพียงร้อยละ 75 ถือเป็นการเอาเปรียบพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ  ช่วงที่มีออเดอร์เข้ามาจำนวนมากนายจ้างสั่งให้ทำงานล่วงเวลา เมื่อไม่มีงานก็จะสั่งให้หยุดงานตามมาตร 75 เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นปัญหากับพนักงานมาก ในเรื่องค่าจ้างไม่เพียงพอ ต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนพนักงานส่วนหนึ่งลาออกจากงานไปเพราะทนไม่ไหว บางส่วนก็ต้องหาอาชีพพิเศษทำเพื่อประทังรายได้ให้พออยู่ได้”   

ทำงานมา 15 ปียังได้รับค่าแรงงานขั้นต่ำก็แทบไม่พอกิน ต้องไปขายของได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็ต้องทน ยังมาสั่ง ม. 75 อย่างนี้มันเอาเปรียบเกินไปน่าจะเห็นใจกันบ้าง”     นางหนูวาด   ผานคำ พนักงานแผนกลูกไม้ กล่าวอย่างสิ้นหวัง

ส่วนน.ส. สารี่ ทรัพย์แย้ม กล่าวเสริมว่า “ลูกกำลังเรียนรายได้ก็มาขาดหายไปในขณะที่รายจ่ายคงที่ ต้องรับผ้ามาตัดที่บ้านถ้าไม่ทำก็ไม่พอค่าใช้จ่าย อาศัยว่ากินกันประหยัดหน่อยจึงพอจะอยู่ได้”

ทางฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า  “หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกแก้ไขในยุคของคมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ที่ทางสภานิติบัญญัติแห่ง(สนช.)ได้แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75ใหม่หากเป็นมาตรา 75 เดิมที่กำหนดว่าการที่นายจ้างจะประกาศหยุดงานตามมาตรา 75 ต้องเกิดจากเหตุสุดวิสัย น้ำท้วม ไฟไหม้เป็นต้น นายจ้างจะมาอ้างไม่มีออเดอร์แล้วสั่งหยุดไม่ได้ ฉะนั้นกรณีการที่แก้กฎหมายใหม่ที่ทำให้นายจ้างใช้มาตรานี้โดยอ้างเหตุว่าไม่มีออเดอร์ได้เพราะถือว่าเป็นเรื่องการบริหารจัดการของบริษัทไม่เกี่ยวกับลูกจ้าง การแก้ไขในปีพ.ศ.2551ของสนช.กลับไปเปิดช่องให้นายจ้างใช้เป็นเหตุในการสั่งหยุดจนทำให้ลูกจ้างเดือดร้อน”นางสาวสุรินทร์ พิมพา ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่กล่าว

ทั้งนี้ล่าสุด ทางบริษัทฯ ส่งงานไปย้อมข้างนอก ไม่ได้ย้อมภายในบริษัทฯเช่นเดิมทำให้มีกำหนดระยะเวลาในการส่งคืนบริษัทล่าช้าต้องรอส่งกลับเป็นอาทิตย์ หรือ 15 วัน จึงทำให้ไม่มีงานทำ นายจ้างก็ให้หยุดงานชั่วคราวใช้มาตรา 75 และคนงานบางคนต้องหางานเสริมทำ เป็นปัญหาในครอบครัวในค่าใช้จ่ายและความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ลูกจ้างต้องพากันเอาข้าวมาจากบ้านต่างจังหวัด เพื่อหุงหาไปกินเอง ไม่ต้องซื้อ

นางสาวสุรินทร์ พิมพา กล่าวอีกว่า ในตอนนี้ลูกจ้างที่มีลูกที่ต้องเรียนหนังสือก็ลำบากมาก ต้องหาเงินในลูกไปเรียน ทั้ง ค่ารถ ค่ากิน ค่ากิจกรรมของการเรียนอีก  เมื่อเดือนธันวาคม  2553 มีคนงานอายุ 60 ปีขอลาออกงาน 1 คน ไปคุยกับนายจ้างนายจ้างจ่าย  2  หมื่นบาท ทำงานมานานกว่า 20 ปี  แล้วมีข่าวมาว่าถ้าใครอยากออกงานให้เขียนใบลาเข้าไปแล้วนายจ้างจะพิจารณาให้ มีคนงาน 2 คนในแผนก ลูกไม้ มีอายุราว 40-44 ปี ทำงานมา 15 ปี 1 คน อีกคนอายุงาน 11 ปี เขียนใบลาขอออกงานมีผลในวันที่  14  มกราคม  2554  นายจ้างอนุมัติจ่ายคนละ 2 หมื่นบาท ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า การที่นายจ้างใช้วิธีการใช้มาตรา 75 จ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 หากคนงานทนไม่ได้ลาออกไปเองจ่ายเงินให้บ้างเล็กน้อย หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเหล่านี้ก็ตองจ่ายเงินตามกฎหมายซึ่งอาจเป็นเงินมากพอควร จึงอาจเป็นไปได้ ที่นายจ้างจะใช้วิธีการแบบนี้แก้ปัญหาแทนการเลิกจ้างคนงานที่อายุมาก

อรัญญา ไชยมี นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์แรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน