ขณะที่ทาง คสรท. พาลูกจ้างบริษัทที เอ ออโตโมทีฟ ตัวแทนสหภาพแรงงานหลายแห่งร้องทุกข์ คสช. -ILO. ให้ช่วยเคลียร์ หลังนายจ้างกดดันอย่างหนัก ทั้งจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในเต็นท์ รอเรียกตัว ใครถูกเรียกตัวเข้าทำงานแล้วก็ไม่ให้ทำโอที.ขู่ซ้ำห้ามเกี่ยวข้องกับลูกจ้างที่ยังอยู่ในเต็นท์ ล่ารายชื่อปลดคณะกรรมการลูกจ้าง เลิกจ้างแกนนำไป 7คน จนถึงสั่งพักงานลูกจ้างทั้งหมดที่อยู่ในเต็นท์
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เวลา10.00 น. นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้นำแกนนำของสหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทยที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 7 คน ไปยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO.) เรื่องการติดตามปัญหากรณีการคุกคามและละเมิดสิทธิแรงงาน ของนายจ้างบริษัทที เอ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้คสช. และILO.ช่วยหาทางแก้ไขปัญหากรณีที่นายจ้างได้มีการเลิกจ้าง และให้ลูกจ้างรายงานตัวอยู่ในเต็นท์โดยไม่มีการมอบหมายการทำงานเป็นต้น ด้วยสหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทยซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เดือนมีนาคม2557 จนปัจจุบัน โดยกระทรวงแรงงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงก็รับทราบปัญหามาโดยตลอด ตั้งแต่ลูกจ้างถูกปิดงาน จนได้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และนายจ้างจำกัดพื้นที่ลูกจ้างที่ถูกปิดงานให้อยู่ภายในเต็นท์บริเวณโรงงาน โดยไม่ให้มีการพูดคุยกับลูกจ้างภายในโรงงานที่มีการทำงานอยู่ปกติในสายการผลิต ส่วนลูกจ้างที่ได้รับการเรียกตัวให้เข้าไปทำงานในสายการผลิต ถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยกับลูกจ้างที่อยู่ในเต็นท์ พร้อมไม่ให้ทำงานล่วงเวลา
แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เจรจากับทางนายจ้างฯ และนายจ้างได้รับปากกับทางกระทรวงฯว่า จะรีบรับลูกจ้างที่อยู่ในเต็นท์ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2557 แต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน2557ที่ผ่านมา กลับมีการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงาน 7 คนและวันที่ 8 กรกฎาคมสั่งพักงานสมาชิกสหภาพแรงงานที่อยู่ภายในเต็นท์ทั้งหมดซึ่งมีจำนวน 38 คน โดยอ้างว่ารอสอบสวนกรณีที่ไม่ทำงานล่วงเวลา(โอที.)ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องด้วย
ด้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อได้รับเรื่องก็ได้ประสานทางกระทรวงแรงงานและนัดเจรจากันในเวลา13.00 น.ที่ห้องประชุมทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี นายสมหวัง หมอยาดีนักวิชาการแรงงานชำนาญการ ได้ชี้แจงว่าทางกระทรวงมีนโยบายเร่งด่วนในเรื่องแรงงานข้ามชาติ แต่ในกรณีนี้จะรีบดำเนินการโดยเบื้องต้นจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งเนื่องจากไม่ทราบมาก่อนว่ามีการถูกเลิกจ้างและพักงาน
ส่วนทางด้านคุณIngrid Chistensen รักษาการผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้มารับหนังสือจาก นายชาลี ลอยสูงประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และนายคมสัน ทองศิริ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และรับปากว่าหนังสือในวันนี้จะถูกส่งต่อไปที่เจนิวา แน่นอนซึ่งจะมีหนังสือตอบกลับมา ยินดีที่จะตามเรื่องให้เพื่อให้ได้ตามความต้องการของทุกคนและหากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมใดๆก็ขอให้มาส่งเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา
นอกจากทางสหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทยแล้วยังมีสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย สหภาพแรงงานเอ็น ที เอ็น ประเทศไทย สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทยและสหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจเนรัลแห่งประเทศไทย ก็ได้มาร่วมยื่นหนังสือต่อกรณีการถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นติดตามที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้งสิ้น
นักสื่อสารแรงงานกลุ่มภาคตะวันออก รายงาน