ยิ่งลักษณ์ หยอดยาหอม 300 บาทวันกรรมกร

1 พฤษภาคม ปีนี้ ขบวนแรงงานได้แยกจัดกิจกรรมเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้ 1. กลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง 13 องค์กร 1 องค์กรรัฐวิสาหกิจ ร่วมกับรัฐบาลกระทรวงแรงงาน และกลุ่มที่ 2 คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งประกอบด้วย สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข่ายชาติ และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวม 28 องค์กร ประมาณ 10,000 คน

นักสื่อสารแรงงาน รายงานว่า กลุ่มแรกได้รวมตัวกันที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จัดกิจกรรมทำบุญ และเดินรณรงค์ไปท้องสนามหลวง โดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติครั้งนี้

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า วันแรงงานแห่งชาติปีนี้ ขอส่งความปรารถนาดีมายังพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ และขอขอบคุณผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติตลอดมา

การที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจและทางสังคมรวมถึงภายในและภายนอกประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างกว้างขวาง รัฐบาลจึงมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อรองรับกำลังแรงงานทุกสาขาอาชีพทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกเพศทุกวัยให้มีสวัสดิการที่เหมาะสม ทำงานอย่างปลอดภัย มีอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ซึ่งจะทำให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีหลักประกันความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการในขณะนี้มีหลายประการด้วยกัน เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการประกาศให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้วันละไม่น้อยกว่า 300 บาทใน 7 จังหวัด ซึ่งเป็นการยกระดับผู้ใช้แรงงานให้สามารถมีกำลังซื้อเพิ่มเติมได้ สำหรับจังหวัดที่เหลือก็มีการปรับเพิ่มอยู่ในอัตราเฉลี่ย 39.5 เปอร์เซ็นต์ และตนขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลจะมุ่งมั่นเร่งรัดปรับค่าแรงให้เป็น 300 บาทให้ครบทุกจังหวัดในปี 2556 พร้อมทั้งขอขอบคุณทางด้านผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และทุกหน่วยงาน ที่มีความเข้าใจในปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานว่ามีภาระค่าใช่จ่าย ประกอบกับค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยให้ผู้ใช้แรงงานสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองได้ และขอเรียนว่า เมื่อได้ค่าแรงที่ปรับขึ้นแล้ว อย่าลืมที่จะเก็บไว้บ้าง อย่าใช้กันหมด จะได้มีเก็บไว้ใช้ ซึ่งนี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเจตจำนงที่สำคัญ

“ในส่วนของผู้ประกอบกิจการ ได้จัดให้มีโครงการโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมสีขาวเพื่อป้องกันยาเสพติด ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย พร้อมส่งเสริมและพัฒนางานด้านสวัสดิการแรงงานต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ภายใต้กรอบของกฎหมาย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า เรื่องการฝึกอบรมนั้น ตนได้ติดตามกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน การฝึกอบรมเราจะยกระดับฝีมือแรงงานทั้งระบบใน 22 สาขาอาชีพ โดยเฉพาะสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการ ดังนั้น ขอเชิญชวนพี่น้องใช้แรงงานหาเวลาว่างที่จะอบรม ฝึกฝีมือเพื่อจะได้พัฒนาให้มีฝีมือคุณภาพ สมกับที่ต่างประเทศบอกว่าคนไทยมีฝีมือแรงงาน และเสื้อที่ตนใส่ขณะนี้ ก็เป็นเสื้อที่ผลิตจากฝีมือแรงงานคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เราภูมิใจ และเราต้องบอกคนอื่นด้วยว่า คนไทยเรามีฝีมือ และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ควรจะอนุรักษ์ไว้ โดยทุกคนจะเป็นตัวแทนของรัฐบาลที่จะแสดงให้เห็นฝีมือของคนไทย

“สำหรับแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ รัฐบาลก็ได้ให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ได้รับตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งดูแลการจัดส่งไปทำงาน และติดตามดูแลช่วยเหลือกรณีประสบปัญหาโดยไม่ทอดทิ้งพี่น้องคนไทย พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย รัฐบาลจะยกระดับทักษะฝีมือแรงงานและทักษะด้านภาษาของท่าน เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานไทยที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคง ภูมิคุ้มกันและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้แรงงานต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายชัยพร จันทนา ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2555 ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี จำนวน 9 ข้อข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98

2.ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน

3.ให้รัฐบาลยกเลิก พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และยกเลิกการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ

4.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้าง  และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในกรณีเงินค่าชดเชย และเงินรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง

5.ให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้แรงงาน  และผู้ที่เกี่ยวข้องทราบอย่างกว้างขวางและติดตามผล การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการในเรื่องความปลอดภัยในวิชาชีพและกรอบสุขภาพในระดับชาติ  เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

6.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาบทบัญญัติว่าด้วยการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในหมวด 13 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (มาตรา 163)

7.ให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ทันตามกรอบเวลา  และประกาศยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน

8.ให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างเป็น 2 เท่า จากเดิมที่บัญญัติไว้

9.ให้รัฐบาลออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนสวัสดิการดูแลรักษาสุขภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจหลังเกษียณอายุให้เทียบเท่ากับข้าราชการบำนาญ หรือ ภาคเอกชน

นายชัยพร จันทนา ประธานคณะกรรมการจัดงานฯเปิดเผยว่า ปีนี้กระทรวงแรงงานได้สนับสนุนงบประมาณจัดงาน 5.1 ล้านบาท ให้คณะกรรมการจัดงานที่มีสภาองค์การลูกจ้าง 13 แห่ง และกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง นำมาจัดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา โดยนำช้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยมาร่วมเดินขบวนด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงานอีกว่า การจัดงานวันกรรมกรสากลในส่วนของขบวนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและขบวนของสมาพันธ์แรงงานรับวิสาหกิจสัมพันธ์นั้น ได้มีการรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาแล้วเคลื่อนขบวนมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ร่วมกันประกาศเจตณารมย์ เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐ ผ่านสื่อมวลชน และสังคม โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

ข้อเรียกร้องเร่งด่วน

1. รัฐต้องมีมาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนและผู้ใช้แรงงานโดยเร่งด่วน โดยมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาอาหาร ราคา

น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนงบประมาณสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้ม การสนับสนุนงบประมาณแก่รถขนส่งมวลชนสาธารณะ รถเมล์ รถไฟ เรือโดยสาร ฯ ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพควรดำเนินการควบคู่กับนโยบายรัฐสวัสดิการ ในด้านการศึกษา ผู้สูงอายุ การสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

2. รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน อันสืบเนื่องมาจากวิกฤติการณ์อุทกภัยช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย แรงงานในระบบจ้างเหมาช่วง (Sub-contracting) แรงงานข้ามชาติ แรงงานในระบบ รวมทั้งแรงงานนอกระบบ ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย การตัดลดสวัสดิการ การสั่งย้ายให้ทำงานต่างพื้นที่ การปิดสถานประกอบการ รัฐจึงต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การช่วยเหลือเยียวยาจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามกฎหมาย การจัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนประกอบอาชีพ การแก้ไขกรณีประกันว่างงานให้สามารถใช้สิทธิในกรณีที่นายจ้างประกาศหยุดงาน

3. รัฐและรัฐสภาต้องสนับสนุนการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการที่สอดคล้องกับหลัก

อนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การพัฒนากรอบคิดแรงงานสัมพันธ์ จากความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ไปสู่ “ หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ” และการมุ่งสร้างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม

ข้อเรียกร้องติดตาม

1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

2. รัฐและรัฐสภาต้องปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้ และจะต้องเร่งรัดนำ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน

3. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน ทั้งนี้ รัฐจะต้องแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558

4. รัฐต้องยกเลิกการแปรรูปหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน

5. รัฐต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในเขตพื้นที่สถานประกอบการใดๆ ตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง และเร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

7. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้

8. รัฐต้องสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแรงงาน ในบริเวณเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือสถานที่ทำงาน

9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และสวัสดิการสังคม เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิ์ของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

นายชาลี  ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉัน์แรงงานไทยกล่าวว่า ในโอกาสวันกรรมกรสากล วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 พวกเราคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยตั้งเป้าหมายในการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ โดยการล่ารายชื่อเสนอกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการที่สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 สร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การพัฒนากรอบคิดแรงงานสัมพันธ์สู่“หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ” และการมุ่งสร้างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม

“ในฐานะผู้นำแรงงาน ได้ตระหนักถึงการสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก การสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานและผู้ใช้แรงงานกว่า 38 ล้านคน ประกอบไปด้วยแรงงานในระบบ 14 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน ล้วนต่างเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมครอบโลก การทำงานตรากตรำด้วยชั่วโมงที่ยาวนานเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อครอบครัว การจ้างงานยืดหยุ่นโดยไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ในขณะที่สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวถูกขัดขวาง สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ไร้สวัสดิการสังคมที่เพียงพอต่อการยังชีพ” นายชาลี กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีขบวนล้อเรียนทางการเมือง ต่อข้อเรียกร้องต่างๆของแรงงานที่ไม่ได้รัยบการแก้ไข โดยให้ผู้แรงงานช่วยกันดึงกรงขังที่ปิดกั้นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานให้เป็นอิสระ พร้อมร่วมกันร้องเพลงแรงงานเฉลิมฉลองร่วมกัน และมีการจัดเวทีเสวนา “ข้อเสนอและยุทธศาสตร์ขบวนการแรงงาน ภายใต้ทุนนิยมครอบโลก” ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน