นานาทัศนะปฎิรูปประกันสังคม

 

กลุ่มคนที่มีหลักประกันสิทธิพื้นฐานที่ดีที่สุดที่ทำไว้ตั้งแต่ราชกาลที่ 5 คือ ข้าราชการทหาร ตำรวจ ซึ่งมีอยู่แค่ 3-4 ล้านคน ที่ขยับดีขึ้นมาก็คือคนทำงานในสถานประกอบการที่เราเรียกว่าลูกจ้างในระบบ ที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมและอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายแรงงานก็มีประมาณ 9 ล้านคน คนที่เหลือ แรงงานนอกระบบ 24 ล้าน ทั้งชาวไร่ ชาวนา ผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนทำงานทั่วไป แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เกษตรพันธสัญญา ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานมีหลักประกันความเป็นอยู่  ดังนั้นมิติที่ขาดหายส่วนนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมไทย เป็นเรื่องของรัฐ ของทุกพรรคการเมือง ทุกรัฐบาล  ราชการทุกกระทรวงทบวงกรม จะต้องให้ความสำคัญทำโดยเร่งด่วน

รักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิต  สำนักงานประกันสังคม

กลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นช่องว่างและเห็นควรที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อที่จะได้เข้าถึงหลักประกันสังคม เข้าถึงการดูแลในเรื่องสวัสดิการสังคมดีขึ้น กระผมเองนั้นในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าการจะแก้ไขประกันสังคมนั้นถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการ ส่วนสาระสำคัญที่จะแก้ไขนั้นก็คือ การแก้ไขเรื่องของการบริหารจัดการกองทุนให้มีความโปร่งใสและมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ให้ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายข้าราชการประจำครอบงำคณะกรรมการกองทุนนี้
สถาพร มณีรัตน์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
เราต้องพยายามที่จะทำให้ประกันสังคมมันเป็นการประกันผู้คนทั้งหมดอย่างแท้จริง เพราะว่าเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้เราประกันลูกจ้างเท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว คำว่าประกันสังคมมันไม่มีความหมาย เพราะว่ามันไปไม่ถึงสังคมโดยรวม  เป้าหมายท้ายสุดก็เป็นไปเพื่อที่จะค้ำประกันความมั่นคงของลูกจ้าง เพราะฉะนั้นควรที่จะให้ลูกจ้างมีบทบาทในส่วนนี้มากที่สุด อาจจะทำให้ราชการกับทางนายจ้างนั้นลดบทบาทลง  เพราะว่าในสังคมที่เป็นอุตสาหกรรมนั้น คนข้างมากของแผ่นดินคือผู้ที่หากินด้วยแรงงานของตัว  เพราะฉะนั้นองค์กรนี้ก็จะตอบแทนผลประโยชน์ของผู้ที่ออกแรงทำกิน จึงควรที่จะได้รับการควบคุมดูแลโดยผู้ที่ออกแรงทำกิน
แล ดิลกวิทยรัตน์  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราได้รับข้อมูลข่าวสารจากสาธารณชนว่า การบริหารจัดการภายใต้ระบบราชการมันมีความไม่โปร่งใสอยู่ เพราะอาจจะมีระเบียบขั้นตอนเยอะแยะ ฉะนั้นการแก้กฎหมายครั้งนี้ก็นำไปสู่การปฏิรูประบบราชการในการบริหารประกันสังคม เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์อย่างถ้วนหน้า และเสมอภาค อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการแก้ไข
ชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์  สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ
 
โครงสร้างของประกันสังคม ควรที่จะเป็นโครงสร้างขององค์กรอิสระ โดยที่คณะกรรมการบอร์ดจะต้องมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนทุกคน  อีกส่วนหนึ่งก็คือเกี่ยวกับเรื่องของการว่างงาน ในกรณีที่มีการปลดเกษียณ ก็สมควรที่จะได้ทั้งว่างงานและชราภาพ และในกรณีสงเคราะห์บุตรควรที่จะมีการขยายอายุของบุตรขึ้นไป จาก 6 ปี เป็น 20 ปี
ชาลี ลอยสูง  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
เรื่องการบริหารจัดการกองทุนที่มีขนาดมหึมา ใหญ่โต มันจำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบ การบริหารจัดการที่เป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับทางราชการ  คนที่จะมาทำหน้าที่บริหาร นอกจากจะคัดสรรหรือจ้างมืออาชีพมาแล้ว  มันก็ควรที่จะมีการเลือกตั้งจากผู้ประกันตนทุกกลุ่มอาชีพ เลือกตั้งผู้แทนของเขาเข้ามาบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ   แนวคิดของประกันสังคม เป็นแนวคิดในเรื่องของการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ไม่ใช่เป็นเรื่องของธุรกิจประกันสังคม เพราะฉะนั้นการจะจ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ มันต้อง ไม่ใช่เป็นลักษณะของคณิตศาสตร์ประกันภัยว่าเมื่อจ่ายไปแล้วจะขาดทุน จะกำไรอะไร
ตุลา ปัจฉิมเวช  ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่
 
พวกเราเห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขประกันสังคมจำเป็นที่จะต้องได้รับความเห็นชอบ จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปกันครั้งใหญ่ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก  ทำยังไงที่จะให้กองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นกองทุนใหญ่ที่สุดกองทุนหนึ่งของประเทศ และก็เป็นเงินส่วนหนึ่งมาจากลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน จะมีการบริหารที่ชัดเจน โปร่งใส และก็ตรวจสอบได้   ที่สำคัญที่สุด ทำยังไงที่จะให้ภาคส่วนของผู้ใช้แรงงานเข้ามามีส่วนร่วม  ได้รับประโยชน์ทั้งดอก ทั้งผล ทั้งต้น ย้อนกลับไปที่ผู้ใช้แรงงานให้มากที่สุด
นคร มาฉิม  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
 
ระบบประกันสังคมมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ เพราะมีการบริหารที่เป็นหน่วยราชการรวมศูนย์มานานถึง 20 ปีแล้ว ก็ถูกตั้งข้อสงสัยวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกันตน นายจ้าง สังคม สื่อมวลชน ว่ามีความไม่โปร่งใสในการทำงานขาดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง   องค์กรในรูปแบบใหม่ที่มีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมก็คือ การบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการที่มาจากผู้แทนส่วนราชการไม่เกินครึ่ง รวมทั้งมีผู้แทนจากฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการเลือกตั้งและการสรรหาในสัดส่วนที่เท่ากัน ต้องเป็นผู้มีความรู้มีประสบการณ์เชิงประจักษ์เข้ามาบริหาร  มีการวางกฎเกณฑ์ชัดเจนในแง่ของคุณสมบัติการพ้นจากตำแหน่ง การปฏิบัติงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้เป็นระยะ  ในเรื่องของสิทธิประโยชน์  ให้ลดข้อยกเว้นของการบริการลง ขยายสิทธิประโยชน์บางอย่างให้ก้าวหน้าขึ้น  ควรจะให้สิทธิเกิดขึ้นทันทีสำหรับผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง และได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มสอดคล้องกับระยะเวลาของการเป็นผู้ประกันตนที่มีความแตกต่างกัน ไม่ควรจะให้เท่ากันทุกคน
บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ  มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
 
ปัจจุบันนี้มีปัญหานายจ้างหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่งประกันสังคม ซึ่งระบบการตรวจสอบไม่ค่อยชัดเจน พอลูกจ้างไปใช้สิทธิ์ก็ขาดสิทธิ์  ส่วนมาตรา 39 ปัจจุบันนี้ลูกจ้างออกงานไปแล้วก็ต้องมีการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง ซึ่งจริงๆแล้วน่าจะจ่ายส่วนเดียวก็เพียงพอ  ก็อยากให้องค์กรประกันสังคมรูปแบบใหม่เป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารจัดการแบบโปร่งใส เพื่อให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานผู้ประกันตนได้รับสิทธิเพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารโดยเฉพาะบอร์ดประกันสังคม น่าจะมีการมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันโดยตรง เพราะว่าปัจจุบันมีการแต่งตั้งโดยรัฐบาลซึ่งดูแล้วการเอาเงินประกันสังคมไปใช้ก็ไม่โปร่งใสเท่าไรนัก 
มนัส โกศล  สภาองค์การลูกจ้างสภาพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
 
ระบบประกันสังคมในอนาคตมันต้องเป็นองค์กรอิสระ ที่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ มากกว่าที่จะถูกครอบงำโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อทำให้คนงานต่างๆ นั้น เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นหลักประกันจริงๆ ของคนงาน โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานในระบบ หรือนอกระบบ
ยงยุทธ เม่นตะเภา  สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
 
แรงงานนอกระบบมีแค่บัตรทอง บัตรหลักประกันสุขภาพคอยดูแลยามเราเจ็บป่วยแค่นั้นเองในการรักษาพยาบาล  เพราะฉะนั้น อยากได้ประกันสังคมมาดูแลในยามที่เราว่างงานหรือว่าชราภาพ หรือตาย  ทุพพลภาพหรือว่าได้รับอุบัติเหตุ  หลักประกันสุขภาพที่รัฐช่วยเหลือคือได้แค่รักษาพยาบาล แต่มันยังไม่ครอบคลุมถึงโรคที่เกิดจากการทำงานอีก  อยากให้แรงงานนอกระบบออกเงินสมทบกับภาครัฐ ภาครัฐก็สมทบกับภาคประชาชนคนละครึ่ง ค่ะ
วันเพ็ญ ด้วงปาน  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ภาคใต้
 
ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เงินที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของพวกเรา ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง  ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมทั้งฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง ควรจะมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันโดยตรง  ประธานหรือเลขา  หรือผู้ทรงคุณวุฒิของประกันสังคมควรจะมาจากการสรรหา  และเพิ่มสิทธิประโยชน์ ขยายสิทธิประโยชน์ไปยังพี่น้องแรงงานทุกภาคส่วน 
วิไลวรรณ แซ่เตีย  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
ที่ผ่านมามันก็มีปัญหาตั้งแต่ผู้แทนที่ไปบริหารกองทุนประกันสังคมต่างๆ มันไม่ได้มาจากการคัดเลือกของผู้ใช้แรงงาน  คิดว่าโครงสร้างการบริหารงานของประกันสังคม ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง  การบริหารงานต้องเป็นกองทุนอิสระ และควรมีการปรับเปลี่ยนประโยชน์แต่ละกองทุนให้มันเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ที่มันแปรเปลี่ยนไป คนงานจะได้เข้าถึงสิทธิ และสิทธิเหล่านั้นจะได้ชดเชยกับสิ่งที่เขาได้ชำระเงินมาตลอดระยะเวลาอย่างคุ้มค่า
สาวิทย์ แก้วหวาน  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
 
น่าจะมีการให้ข่าวสารข้อมูลที่ทันการ  การประชุมของบอร์ดประกันสังคมถ้าสามารถจะมาสรุปสิ่งที่ที่ประชุมได้มีการหารือหรือว่าลงมติไปให้ทั้งผู้ใช้แรงงานและนายจ้างที่เป็นฝ่ายที่จ่ายเงินได้ทราบก็ถือเป็นการมีส่วนร่วมทางอ้อมสำหรับคนที่ไม่มีส่วนในการตัดสินใจซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศเพราะว่าบริหารเงินมหาศาลด้วย  การที่ปราศจากการครอบงำโดยรัฐ มันก็อาจจะเป็นการอิสระและก็แสดงถึงความเท่าเทียมกันของทุกภาคี แต่มันก็ต้องหาวิธีทำที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย  สิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับก็ควรที่จะคุ้มค่าของเม็ดเงินที่จ่ายและก็ควรจะมีการขยายการดูแลให้กว้างขวางขึ้นด้วย การเลือกปฏิบัติสำหรับคนไข้ประกันสังคมกับคนไข้ทั่วไป อันนี้มันไม่ควรที่จะมีเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ใช้บริการแล้ว มันควรจะเท่าเทียมกันในทุกอย่าง….คนไข้ประกันสังคมไม่ใช่คนไข้ฟรีนะคะ
สิริวัน ร่มฉัตรทอง  สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย
 
แรงงานนอกระบบ ขาดความสนใจจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ดูแลเรื่องการให้แรงงานนอกระบบมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี  เพราะฉะนั้นแรงงานนอกระบบก็เลยอยากเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐจัดให้เหมือนกับแรงงานในระบบทั่วๆไป อยากให้ประกันสังคมขยายออกมาคุ้มครองแรงงานนอกระบบ  ให้มีรัฐร่วมจ่ายด้วย  และก็อยากให้รัฐได้คิดถึงเรื่องเงินสมทบที่มันเป็นไปได้สำหรับแรงงานนอกระบบที่จะจ่าย เพราะแรงงานนอกระบบมีงานทำไม่ต่อเนื่อง รายได้ก็น้อย เพราะว่ามันมีอาชีพที่หลากหลาย 
สุจิน รุ่งสว่าง  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม.
 
เรื่องของการบริหารจัดการสำนักงานประกันสังคม  อาจจะต้องพัฒนาองค์กรของเราไปสู่องค์กรอิสระหรือองค์กรพิเศษต่างหาก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในด้านการบริหารจัดการ เพราะว่าในอนาคตก็จะขยายขอบเขตครอบคลุมไปกับคนเกือบทั้งหมดของประเทศ  ต้องมองถึงการบริหารจัดการในเรื่องเอาไปลงทุน และควรมีการมองถึงเรื่องเงินสมทบที่ควรจะเพิ่มด้วย  เพื่อจะได้สอดคล้องกับอัตราสิทธิประโยชน์ที่เราจ่ายไปให้  ควรจะมีการขยายอัตรากำลังให้เกิดความคล่องตัวในแง่ของการบริหารจัดการ เรื่องของการขยายสิทธิในเรื่องให้ครอบคลุมไปถึงการชราภาพของแรงงานนอกระบบ ต่อไปคนที่สูงอายุจะได้รับสิทธิการคุ้มครองที่ไม่เป็นภาระกับรัฐบาล 
สุชาติ เปรมสุริยา  สำนักงานประกันสังคม
 
แรงงานนอกระบบก็ใช้แรงงานเหมือนกัน เหมือนในระบบ และก็เป็นฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศเหมือนกัน  แล้วแรงงานนอกระบบก็เสียภาษีเหมือนกัน  แต่ว่าเรายังไม่ได้รับประกันสังคม ประกันสังคมก็เป็นสวัสดิการของแรงงาน รัฐควรจะส่งเสริมการทำประกนสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ สิ่งที่เราอยากได้ก็คือ สวัสดิการที่มั่นคง  เช่น ตอนเราทุพพลภาพ เราไม่อยากให้เป็นภาระของใครในการดูแล  อยากได้บำนาญ หรือว่าเบี้ยตอนชราภาพในตอนที่เราอายุเยอะขึ้นที่เราทำงานไม่ได้
สุพรรณี เวียงคำ  เครือข่ายแรงานนอกระบบ ภาคเหนือ
 
เป็นประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูปก็คุยกันอยู่พอสมควรว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใช้แรงงานมีหลักประกันในชีวิตมากกว่าเดิมนะครับ ต้องยกระดับชีวิตและอำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานให้ได้
ต้องครอบคลุมรวบรวมไปถึงแรงงานต่างชาติด้วยเพราะเราก็กินเหงื่อของเขามาหลายปี เราก็อาศัยเขามาสร้าง GDP  และก็เข้ามาอยู่ร่วมกันในสังคม โอกาสทางการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ต้องรวมพวกเขาไว้ด้วย ตรงนี้จะไม่แยกแยะในความหมายที่ว่าเราล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนมนุษย์กัน
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  นักวิชาการ
 
โดยสรุปก็คือว่า การปฏิรูปประกันสังคม ให้ปฏิรูปใน 3 ด้าน …..ด้านความครอบคลุม ให้ครอบคลุมคนงานทุกประเภท ไม่ว่าจะในระบบ นอกระบบ ….ด้านความโปร่งใส จะต้องทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารการลงทุน การจัดการของประกันสังคมมีความโปร่งใส เข้าถึงได้ง่าย รู้รายละเอียดง่ายกว่านี้ …..และด้านที่ 3 คือความเป็นประชาธิปไตยของแรงงาน การทำให้ตัวแทนที่แท้จริงของคนงานไปนั่งอยู่ในบอร์ด ไปนั่งจัดการเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัจจุบันนี้ความเป็นประชาธิปไตยในไตรภาคี ประกันสังคมมันยังไม่มี
ณรงค์ เพชรประเสริฐ  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ทุกรัฐบาลที่เข้ามาจะต้องมีนโยบายในเรื่องที่จะทำให้ประกันสังคมคุ้มครองคนทำงานทุกคน จากแรงงานในระบบสู่นอกระบบ และก็สู่แรงงานข้ามชาติ  เป้าหมายน่าจะมีการให้หลักประกันระบบประกันสังคมขั้นต่ำ สำหรับคนทำงานทุกคนในเอเชีย  ต้องไปถกกันในระดับภูมิภาคด้วยว่า จะให้คนทำงานข้ามชาติได้รับสิทธิต่อเนื่องได้ยังไง  อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ ระบบประกันสังคมควรเป็นองค์กรอิสระในแง่ที่ว่า  อำนาจการตัดสินใจเป็นอิสระ แต่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ เพื่อรัฐจะได้ขยายประกันสังคมไปสู่รัฐสวัสดิการ ทำให้เกิดการกระจายรายได้  ก็คือรัฐต้องไปกำกับกลไกตลาด เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
วรวิทย์ เจริญเลิศ  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
เราก็คือแรงงานที่สร้างเศรษฐกิจรายได้ให้กับประเทศเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมา แรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับการคุ้มครองในเรื่องสวัสดิการ คือประกันสังคม  ประกันสังคม หมายถึง สวัสดิการที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงานนอกระบบได้เหมือนกัน  สิ่งที่แรงงานนอกระบบอยากได้ตอนนี้ก็คือ เรื่องชดเชยในการขาดรายได้  เรื่องเบี้ยยังชีพเวลาชราภาพ และพิการทุพพลภาพ  และก็อีกส่วนหนึ่งที่อยากได้คือ สงเคราะห์บุตรเพื่อจะได้แบ่งเบาภาระในครอบครัว
อรุณี ดวงพรม  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ภาคอีสาน