นักข่าวพลเมือง ตอน ที่นี่อินเดีย 4 : One Billion Rising

ท่ามกลางความเร่งรีบ เราเดินทางด้วยรถไฟไปที่เมืองนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย โดยเป้าหมายอยู่ที่องค์กรผู้หญิง ชื่อว่า “สักกัด”

แม้จะตั้งอยู่ในอินเดีย แต่สักกัดทำงานเพื่อผู้หญิงใน 8 ประเทศ คือ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ภูฎาน บังกลาเทศ มัลดีฟ พม่า ศรีลังกา นอกจากพวกเขาจะทำงานโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมแล้ว  ยังรณรงค์ให้รัฐบาลทำงานกับประชาสังคมบนฐานคิดว่า ในความแตกต่างทางอัตลักษณ์อันเป็นลักษณะสำคัญของคนในภูมิภาคเอเชียใต้นั้น พวกเขาล้วนมีรากเหง้าของปัญหาไม่ต่างกัน อย่างเช่นที่ คุณกาลิมา ชีวัสคัท จากสักกัด เล่าจากประสบการณ์ให้เราฟังว่า ปัญหาที่ผู้หญิงปากีสถานและบังกลาเทศประสบนั้น คล้ายกับผู้หญิงในอินเดีย พวกเธออยู่ในวงล้อมความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า เหมือนกัน และเผชิญความรุนแรงต่อผู้หญิงเหมือนๆ กัน

snapshot25 snapshot26

 

เช่นเดียวกับผู้หญิงในประเทศเพื่อนบ้านเอเชียใต้ ในความหลากหลายของชาติพันธุ์ ศาสนา การเมือง พวกเธอถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ ถูกแบ่งแยกโดยอ้างเหตุผลทางศาสนา อีกทั้งความขัดแย้งรุนแรงที่กลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ทำให้รัฐบาลไม่มีงบประมาณที่จะนำไปพัฒนาแก้ปัญหาสังคม ย้อนกลับไปเมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา สักกัดและประชาสังคมในเอเชียใต้ได้รณรงค์การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงครั้งใหญ่ โดยใช้งานวัฒนธรรม ผ่านบทเพลงและการเต้น ผลของการรณรงค์ทำให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าร่วมด้วยมากมายในหลายประเทศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียดำเนินมาตรการดูแลให้ผู้หญิงสามารถเดินทางอย่างปลอดภัย

snapshot36 snapshot37

พลังเกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงมาร้องเล่นเต้นรำกัน เพื่อบอกเล่าถึงความต้องการมีชีวิตที่ปลอดภัย ในขณะที่สถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงอินเดียนั้นระบุว่า ทุกๆ 15 นาที จะมีผู้หญิงอินเดียถูกทำร้าย พวกเขาหวังว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวชาวอินเดียบนรถโดยสารจะเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้าย และพวกเราก็มีความหวังเช่นเดียวกัน

วาสนา ลำดี นักข่าวพลเมือง นักสื่อสารแรงงาน รายงานจากประเทศอินเดีย