นักข่าวพลเมือง ตอน ที่นี่อินเดีย 2 สลัมพากัดซิงค์
สถานี Thai PBS ออกอากาศวันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2556
แม้ว่าพื้นถนนจะเปียกชุมด้วยสายฝนที่โปรยปรายตลอดเวลา ก็ไม่ได้หยุดเราจากการเดินทางไปเรียนรู้กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อว่า กลุ่มเดส (Desh Seva Samiti) ที่ทำงานกับแรงงานหญิงใน“สลัมพากัดซิงค์” เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย สลัมแห่งนี้มีคนอาศัยอยู่กว่า 5 แสนคน ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอินเดีย และชื่อ พากัดซิงค์ นั้นก็เป็นชื่อผู้นำความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 50 หรือราวปี 1850
คุณนูดเตอร์ สมาชิกกลุ่มเดส ผู้อำนวยการโครงการคนทำงานผู้หญิง เล่าให้ฟังว่า พวกเขาทำงานบริการสังคมให้กับคนยากจน เพราะคนจนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เช่นปัจจัยพื้นฐานอย่างน้ำสะอาด
พวกเขาทำงานกับ กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มเด็ก โดยใช้การรวมกลุ่มเพื่อออมเงิน การจัดการศึกษา ตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และรับเรื่องราวร้องทุกข์กรณีที่ถูกทำร้าย กลุ่มเดสได้ทำงานสนับสนุนให้ผู้หญิงในสลัมรวมกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชน เพื่อการพัฒนาอาชีพ โดยส่งเสริมการจัดสวัสดิการในกลุ่ม หากกลุ่มมีเงินออมรวม 1 หมืนรูปีขึ้นไป จะสามารถกู้เงินกับรัฐ
ผ่านทางธนาคารได้ 20,000 รูปี โดยเสียดอกเบี้ยถูกกว่าปกติ
ซึ่งหากไม่มีการรวมกลุ่มออมทรัพย์ คนจนเหล่านี้ก็ไม่สามารถกู้เงินธนาคาร หรือรัฐได้ เพราะไม่มีใครเชื่อว่าจะจ่ายเงินคืนได้
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอาชีพ มีการพัฒนาสินค้าขาย มีการแปะยี่ห้อ saathi เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ด้านการศึกษา มีครูอาสาที่เป็นเอ็นจีโอ และข้าราชการเกษียณ เข้าไปสอนเด็กและเยาวชน ทั้งในวิชาภาษา วัฒนธรรม การเต้นรำ และการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น เมื่อผ่านการอบรมแล้ว จะมีการจัดส่งรายชื่อของพวกเขา ไปให้สถานประกอบการซึ่งต้องการคนงาน
“สุนัยนา ไลจบาท” เล่าว่า มาเรียนคอมพิวเตอร์ที่นี่เพราะเห็นว่าเป็นองค์ที่น่าเชื่อถือ มีการออกใบประกาศรับรองให้ผู้เรียนนำไปสมัครงานได้ ส่วนตนก็ต้องการทำงานมีเงินเดือน โดยอยากได้งานออฟฟิต เงินเดือนซัก 10,000 รูปี เพื่อให้เพียงพอใช้จ่ายในชีวิตและครอบครัว สำหรับผู้หญิงกลุ่มที่ยากจน ไม่ได้รับการศึกษา และถูกละเมิดด้วยความรุนแรง กลุ่มเดส ได้อบรมอาสาสมัครเพื่อให้คำปรึกษา รับเรื่องราวร้องทุกข์ และให้ความช่วยเหลือ โดยจะส่งอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมลงพื้นที่ ประจำที่สถานีตำรวจ ซึ่งอาสาสมัครจะบันทึกสภาพปัญหา เก็บหลักฐาน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งไกล่เกลี่ย และบันทึกข้อมูล เพื่อการช่วยเหลือฟ้องร้องถัดมา
คุณนันดา กุมาน ได้พาพวกเรามาเยี่ยม ศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน โดยเขาเล่าว่า ศูนย์นี้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามเกณฑ์ในโรงเรียนปกติ เพื่อให้พวกเขาได้เรียนหนังสือ หรือรอเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ สลัมพากัดซิงค์ สอนให้พวกเรารู้ว่า การรวมกลุ่มของคนอินเดียเพื่อการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีได้
วาสนา ลำดี นักข่าวพลเมือง นักสื่อสารแรงงาน รายงานจากประเทศอินเดีย