แรงงานนอกระบบ ประชุมวางยุทธศาสตร์ดันกระทรวงการคลังให้บังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) หลังจากผ่านไปปีกว่ารัฐบาลยังไม่ขยับ ผู้นำลั่นขอพบรัฐมนตรีด่วน ถามหาความชัดเจน ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแก้กฎหมาย 7 ข้อ หวังเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญกอช.สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา คณะทำงานขับเคลื่อนพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ได้มีการจัดประชุม “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน พ.ร.บ.กองทุนออมแห่งชาติ” ชั้น 9 ห้องประชุมเอิบสินธุ์ โรงแรมกานต์มณี ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพมหานคร
นางสาวอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ตนในฐานะผู้เสียหายเนื่องจากการที่รัฐไม่ยอมบังคับใช้กฎหมายกองทุนออมแห่งชาติ (กอช.) เพราะกฎหมายได้มีการกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนต้องอยู่ระหว่างอายุไม่ตำกว่า 15ปี และอายุไม่เกิน 60 ปี ซึ่งปีหน้า ตนเองก็จะอายุครบ 60 ปี ซึ่งก็จะหมดสิทธิที่จะเข้าเป็นสมาชิกกอช. ซึ่งถือเป็นการละเลยหน้าที่ของรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในช่วงอายุอย่างตนเองไม่สามารถเข้าสู่ระบบ และได้รับการดูแลในยามชราภาพได้ คงต้องขอเข้าพบรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยจะเข้าไปสอบถามวันว่างของรัฐมนตรีภายในเดือนนี้
“แต่เมื่อหลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นความหวังของแรงงานนอกระบบ ที่จะได้รับการดูแลคุ้มครองเมื่อวัยเกษียณที่จะได้รับการดูแลโดยการมีส่วนร่วมในการออมเงินเป็นหลักประกันเมื่อชราภาพ การไม่ทำงานของรัฐทำให้พวกเรารู้สักผิดหวังอย่างมาก อยากถามว่าทำไมถึงไม่มีความเคลื่อนไหวบังคับใช้กฎหมาย รัฐมีปัญหาอะไรในการที่จะบังคับใช้ เพราะยิ่งไม่ยอมบังคับใช้เวลาที่เสียไปในการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเกิดหลักประกันในยามเข้าสู่วันชราภาพ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจะเป็นไปได้อย่างไร ตนและในส่วนของแรงงานนอกระบบจะเดินทางไปที่กระทรวงการคลังในเร็วนี้เพื่อขอฟังความชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย” นางสาวอรุณี กล่าว
นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เครือข่ายศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ 4 ภูมิภาคได้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายบำนาญประชาชน โดยทำงานประสานความร่วมมือขับเคลื่อนร่วมกับหลายองค์กรที่ทำงานผลักดันนโยบายสาธารณะระดับชาติ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเฉพาะรวมทั้งได้มีการปรึกษาหารือ และเข้าพบผู้กำหนดนโยบาย คือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและตอบสนองเจตนารมณ์ ความต้องการ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคแรงงานนอกระบบด้วย
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายทางสศค.ได้มีการจัดการสัมมนาเผยแพร่ความรู้ด้านการออมเพื่อการชราภาพแก่ประชาชน 14 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันสำนักงานกอช.ได้จัดตั้งขึ้นโดยใช้ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้า (ธสน.) ถนนพหลโยธิน ชั้น 22 ซึ่งมีทุนประเดิมในการจัดตั้ง 200 ล้านบาท แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายกอช. เช่นการเปิดรับสมัครสมาชิก หรือความชัดเจนในการกำหนดกฎเกณฑ์หลักการต่างๆ เพื่อการบังคับใช้
ซึ่งในส่วนของงานสมัชชาแรงงานนอกระบบเมื่อวันที่ 4-5 ตุลาคม 2555 ได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลเรื่อง “แรงงานนอกระบบทุกคนต้องมีบำนาญชราภาพและหลักประกันทางสังคมในระหว่างการมีงานทำ” ซึ่งมีข้อเสนอสำคัญใน 2 เรื่อง คือ
(1) ให้กระทรวงการคลังยกเลิกเงื่อนไขในการเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้โอกาสกับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้
(2) ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กำหนดแนวทางการจัดระบบการจ่ายเงินสมทบและจัดให้มีหน่วยบริการย่อยในระดับพื้นที่ โดยพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมจากองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาของผู้ประกันตน เพื่อทำหน้าที่ให้บริการ การจ่ายเงินสมทบ การรับประโยชน์ทดแทน
สถานการณ์เหล่านี้คือข้อมูลสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตและความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนของกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อนำนโยบาย “พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ” สู่การปฏิบัติเพื่อการมีหลักประกันทางรายได้ในวัยสูงอายุต่อไปอย่างมีส่วนร่วม
“พวกเราต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายก่อน ส่วนเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้มีข้อเสนอในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางส่วนอยากให้เอาไว้เสนอแก้ไขหลังจากที่ได้ทดลองใช้ไปแล้ว เพราะว่าตอนนี้พวกเราต้องการเข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างหลักประกันให้กับชีวิตในช่วงวัยเกษียณอายุ ขณะนี้ยังมีแรงทำงานเพื่อส่งเงินสมทบวางรากฐานความมั่นคงในชีวิต ไม่เป็นภาระลูกหลานในอนาคต ไม่อยากให้ล่าช้าไปกว่านี้” นางสุจิน กล่าว
นางสุจิน รุ่งสว่าง ยังกล่าวอีกว่า แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในยุคสมัยที่กระทรวงการคลังมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้เสร็จภายในปี 2556 เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ต้องผ่านการกลั่นกรองของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาอีกถึง 3 วาระ ทั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎรและระดับวุฒิสภา ทำให้ต้องใช้เวลาอีกนานนับปี จึงจะสามารถเริ่มเปิดรับสมาชิกแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกได้หลังจากนั้น ดังนั้นจึงทำให้ขณะนี้กองทุนการออมแห่งชาติยังไม่สามารถเปิดรับสมาชิกได้ตามที่กำหนดไว้ คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมาย กอช. ซึ่งขณะนี้ได้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2555 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้มีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม 7 เรื่อง คือ
(1.1) ให้สมาชิกเลือกที่จะรับเงินหลังเกษียณอายุ 60 ปี เป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้ จากเดิมที่เป็นเงินบำนาญอย่างเดียว (มาตรา 34)
(1.2) การแก้ไขเกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบของภาครัฐที่เดิมจ่ายเป็นขั้นบันไดตามอายุของสมาชิกเริ่มตั้งแต่ 50 บาท, 80 บาท และ 100 บาท ให้ปรับปรุงจ่ายเป็นอัตราเดียว 100 บาท แต่ทั้งปีต้องไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี (มาตรา 32)
(1.3) การแก้ไขให้คนที่อายุเกิน 60 ปี สามารถเป็นสมาชิกได้ แต่ต้องเป็นสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5 ปี หากออกก่อนจะได้คืนเฉพาะเงินที่ตัวเองจ่ายสมทบเท่านั้น ไม่ได้ส่วนของที่ภาครัฐจ่ายสมทบ (มาตรา 69)
(1.4) กรณีทุพพลภาพ แก้ไขเป็นให้สมาชิกสามารถรับเงินที่เกี่ยวข้องคืนได้ทั้งหมด โดยครอบคลุมเงินในส่วนที่ภาครัฐสมทบด้วย ซึ่งกฎหมายเดิมระบุว่าหากสมาชิกต้องการจะรับเงินคืน จะได้เฉพาะเงินที่สะสมกับดอกผลเท่านั้น (มาตรา 37)
(1.5) ข้อสังเกตเรื่องการบริหารการลงทุน ที่ระบุว่าให้สามารถนำเงินของสมาชิกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้นั้น อาจทำให้แรงงานเกิดความกังวลและไม่สมัครเป็นสมาชิก จึงมีการห้ามลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น การลงทุนในหุ้น ทั้งนี้ให้ลงทุนได้เฉพาะเงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ เท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดทุน (มาตรา 42)
(1.6) มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ โดยไม่ต้องสรรหาคนนอกมาเป็นเลขาธิการ แต่เปลี่ยนแปลงให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขาธิการ กอช.โดยตำแหน่ง (มาตรา 25)
(1.7) มีการระบุเพิ่มเติมถึงวิธีการสรรหาสมาชิก โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เป็นผู้หาสมาชิกให้ โดยจะให้สมาชิกเปิดบัญชีกับธนาคารดังกล่าวนั้นโดยตรง
มีประเด็นสำคัญที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้นำเสนอไว้ในข้อสังเกตรายงานฉบับแก้ไขนี้ด้วยว่า “ให้แรงงานนอกระบบสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ทั้ง 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเดิมกฎหมาย กอช.ปัจจุบัน ในมาตรา 30 ได้ระบุว่า ผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกตามมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคมที่มีสิทธิประโยชน์ชราภาพอยู่แล้วจะไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้ ทั้งนี้มีการระบุเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงแรงงานก็เห็นชอบในหลักการดังกล่าวนี้ด้วย”
นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในบทเฉพาะกาลมาตรา 66 ได้ระบุว่า ในวาระเริ่มแรกให้รัฐบาลจัดสรรเงินเข้าบัญชีเงินกองกลางตามมาตรา 46 (3) เป็นจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน แต่กลับพบว่า ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคเพื่อไทย กองทุนการออมถูกตัดงบประมาณในปีงบประมาณ 2555 เหลือเพียง 225 ล้านบาท (งบบุคลากร 2.50 ล้านบาท, งบดำเนินการ 53.54 ล้านบาท, งบลงทุน 101.49 ล้านบาท, งบรายจ่ายอื่น 22.40 ล้านบาท, เงินสมทบ 45.07 ล้านบาท) ยังขาดอยู่อีก 775 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินสมทบส่วนที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้กับสมาชิกอีก และปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ได้อนุมัติให้เพียง 500 ล้านบาทเท่านั้น (งบบุคลากร 2.50 ล้านบาท งบดำเนินการ 53.54 ล้านบาท, งบลงทุน 101.49 ล้านบาท, งบรายจ่ายอื่น 22.40 ล้านบาท,เงินสมทบ 45.07 ล้านบาท)
แนวคิดความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายกองทุนออมแห่งชาติ คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2554) พบว่าแรงงานไทยจำนวน 24.6 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 ของกำลังแรงงานทั้งหมด 39.3 ล้านคน เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน การเกิดอุบัติเหตุ และการเกษียณอายุ เนื่องจากแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม (ปัจจุบันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 มีแรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 ในพระราชบัญญํติประกันสังคม พ.ศ.2533 จำนวน 1,247,848 คน เท่านั้น ) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าประชากรไทยส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นคงทางรายได้ เนื่องจากไม่มีเงินออมที่เพียงพอสำหรับยามจำเป็น และไม่มีหลักประกันรายได้เพื่อการชราภาพจากแหล่งใด นอกจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาลเท่านั้น
รวมทั้งในปัจจุบันโครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานลดลง อันเนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และการลดลงของอัตราการเจริญพันธุ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 15 % หรือประมาณ 10.5 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศราว 70 ล้านคน หรือสถานการณ์ในปี 2554 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี สูงถึง 11.36 % ของประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศรวม 7,639,000 คน (หญิง 4,162,000 คน และชาย 3,477,000 คน)
สำนักงานสถิติแห่งชาติให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุไทยกว่าครึ่งหนึ่งจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น ประมาณ 4 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง 400-3,300 บาทต่อเดือน โดยจำนวนผู้สูงอายุที่พึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานและการทำงานเป็นหลักมีสูงถึง 87% และพึ่งพิงรายได้จากเบี้ยยังชีพ เงินบำเหน็จบำนาญ รายได้จากการออมและการลงทุนเป็นหลักมีเพียง 10% โดยผลสำรวจพบว่าผู้สูงอายุ 31% ไม่มีการเก็บออมและผู้สูงอายุสัดส่วนถึง 42% มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอ นี้นับเป็นภาระสังคมและปัญหาของภาครัฐที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต
แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวน 500 บาทต่อเดือน แต่ก็ย่อมไม่เพียงพอสำหรับการครองชีพ ตัวอย่างเช่นเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นความยากจนของประเทศไทยในปี 2553 ที่เท่ากับ 1,678 บาทต่อคนต่อเดือน ดังนั้นเพื่อการรักษาระดับการครองชีพในยามชรา ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีเงินออมหรือรายได้เสริมจากแหล่งอื่นๆมาสมทบ
ด้วยเหตุนี้เพื่อส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบและลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในระยะยาวเมื่อประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 84 (4) ที่บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง ดังนั้นจึงทำให้รัฐบาลในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนการออมตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ขึ้นมา ภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวง การคลัง ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมสำหรับสมาชิกที่เป็นแรงงานนอกระบบกว่า 24.6 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการรองรับในวัยเกษียณอายุ ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้จัดงานเปิดตัวกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ มีรายละเอียดดังนี้
(1) ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิก กอช. จะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นสมาชิกของกองทุนเพื่อการชราภาพใดๆ ที่มีการสมทบเงินจากรัฐหรือนายจ้าง เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนประกันสังคม (ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เป็นต้น
(2) ตามบทเฉพาะกาลในกฎหมาย กำหนดให้ภายใน 1 ปีแรกที่เปิดรับสมาชิก (8 พฤษภาคม 2555 – 6 พฤษภาคม 2556) เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ สามารถออมต่อไปได้อีก 10 ปี โดยมีสิทธิขอรับบำนาญได้เมื่ออายุครบ 60 ปีเป็นต้นไป
(3) การจ่ายเงินเข้ากองทุนมาจาก 2 ฝ่าย คือ
– สมาชิกจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50 บาท แต่ไม่เกินจำนวนที่จะกำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งจะกำหนดไว้ 1,100 บาทต่อเดือน (ทั้งนี้สมาชิกไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือนนอกจากนี้ หากในปีใดไม่สามารถส่งเงินสะสมได้ กอช. จะยังคงสิทธิความเป็นสมาชิกไว้ แต่รัฐก็จะไม่ส่งเงินสมทบให้)
– รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้แก่สมาชิกตามระดับอายุของสมาชิก และเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุน คือ 15-30 ปี รัฐจ่ายให้ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี อายุ 30-50 ปี รัฐจ่ายให้ 80% ของเงินสะสม แต่ต้องไม่เกิน 960 บาทต่อปี และอายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี รัฐจะสมทบจ่ายให้ 100% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี การกำหนดเพดานการสมทบเงินสูงสุดไว้ในแต่ละปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังของประเทศมากจนเกินไป ทั้งนี้รัฐบาลยังได้ค้ำประกันผลตอบแทนขั้นต่ำว่า ต้องไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง ด้วยเช่นเดียวกัน
(4) เมื่อสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเกษียณ (อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์) จะมีสิทธิได้รับเงินใน 4 กรณี คือ
(4.1) จะได้รับเงินบำนาญจากเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลจากเงินสะสม เงินสมทบ (ตามจำนวนเงินในบัญชีของผู้ออมแต่ละคน) ไปจนตลอดอายุขัย เป็นลักษณะของบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต
(4.2) หากสมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินสะสมและดอกผลของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและดอกผลของเงินสมทบจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
(4.3) หากลาออกจากกองทุน จะได้รับเงินสะสมและดอกผลของเงินสะสม
(4.4) หากเสียชีวิต จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินในบัญชีของแต่ละบุคคลที่ออมไว้
(5) หากสมาชิกได้งาน และไปเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมเพื่อการชราภาพอื่นๆ ก็ยังคงความเป็นสมาชิกและมีสิทธิส่งเงินสะสมกับ กอช. ได้ต่อไป ไม่จำเป็นต้องลาออกจากกองทุน แต่รัฐจะไม่สมทบเงินให้ และเงินที่สะสมในช่วงเวลาดังกล่าว จะไม่ถูกนำมารวมคำนวณเป็นเงินบำนาญ อย่างไรก็ดี
(6) ในระหว่างเป็นสมาชิก กอช. จะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อนได้
ทั้งนี้กฎหมายยังระบุว่ากองทุนการออมแห่งชาติจะต้องเปิดรับสมาชิกให้ได้ภายใน 1 ปี หลังจากกฎหมายมีผลบังคับแล้ว หรือตามกำหนดการก็เดิม คือ 8 พฤษภาคม 2555 แต่กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ (ดังจะได้กล่าวอย่างละเอียดต่อไปในหัวข้อที่ 4)
กล่าวโดยสรุป กองทุนการออมแห่งชาติก็คือ เครื่องมือชนิดหนึ่งในการสร้างเงินบำนาญยามชราภาพโดยสมัครใจของประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นแรงงานนอกระบบ ที่มีรายได้น้อย ไม่เคยออม หรือต้องการออมเงินเพื่อหลักประกันยามชราภาพ เพราะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ยามฉุกเฉิน เหมือนการออมเงินทั่วไป นอกจากจะลาออกจากการเป็นสมาชิกเท่านั้น แต่ข้อดีคือสามารถกลับเป็นสมาชิกได้อีกเมื่อต้องการ
มีลักษณะเป็นเงินบำนาญแบบผู้รับประโยชน์ต้องมีส่วนร่วมจ่าย ในที่นี้หมายถึง มีส่วนร่วมจ่ายเงินสะสมแต่ละเดือน โดยรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกและดำรงความเป็นสมาชิกไปเรื่อยๆด้วยการให้เงินสมทบร่วม เงินสองก้อนนี้จะถูกสะสมไว้ในบัญชีรายตัวของแต่ละคนไม่นำมาปะปนกัน กองทุนนำเงินเหล่านี้ไปบริหารให้เกิดดอกออกผลขึ้นมา เมื่อถึงกำหนดอายุ 60 ปี กองทุนก็จะนำเงินที่มีอยู่ในบัญชีรายตัวทั้งหมดมาคำนวณตามกติกาที่ตั้งไว้ เพื่อเฉลี่ยจ่ายเป็นเงินบำนาญรายเดือนเพื่อสร้างความมั่นคงยามชราภาพให้มีอย่างต่อเนื่อง
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน