“ทำไมแรงงานถูกเอาเปรียบและถูกละเมิดสิทธิอยู่ตลอดเวลา”

โดย สมหมาย ประไว  นักสื่อสารแรงงาน กลุ่มแรงงานภาคตะวันออก

ที่ขึ้นต้นด้วยหัวข้อเช่นนี้เพราะรู้สึกว่าแรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่มีความอ่อนแอไม่สามารถขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆได้  กลับเป็นกลุ่มทุนเป็นผู้ที่มีบทบาทมีอำนาจและขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ส่วนหนึ่งนั้นน่าจะมาจากการขาดความรู้ในเรื่องกฎหมายนั่นเอง ดั่งคำกล่าวที่ว่า ความรู้คือปัญญาและปัญญาคืออาวุธ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และขั้นตอนของกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายแรงงาน

ย้อนมองถึงตัวเอง หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมปลายและไม่เคยเรียนรู้เรื่องกฎหมาย  เข้าทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งในย่านนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง  อำเภอศรีราชา    จังหวัดชลบุรี ทำงานมา 10 กว่าปี รู้สึกว่าแรงงานส่วนใหญ่ต้องทำงานตามคำสั่งหัวหน้างาน แข่งขันกับตัวเอง แข่งขันกับเพื่อนร่วมงาน  ทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่พอใจของหัวหน้า ทำงานโอที(ล่วงเวลา) ให้ความร่วมมือทุกเรื่อง เพียงเพื่อหวังจะได้ปรับขึ้นค่าจ้างเงินเดือน  ปรับตำแหน่งในอนาคตกฎระเบียบของบริษัทที่ออกมาบังคับใช้และลงโทษคนงานเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่บางครั้งละเมิดสิทธิละเมิดกฎหมายและใช้อำนาจโดยไม่มีความเป็นธรรม

ยกตัวอย่างกรณีของพนักงานผลิตยางยี่ห้อดังแห่งหนึ่งใน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ปี2550 เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอเกอร์ บริษัทอ้างว่า ยอดคำสั่งซื้อลดลงจำเป็นต้องตัดลดเงินเดือนพนักงาน  และตัดลดเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติการ คนงานไม่เห็นด้วยกับนโยบาย แต่ต้องจำใจเซ็นชื่อยอมรับเพราะกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้ง ย้ายตำแหน่งหน้าที่การงาน  ไม่ปรับเงินขึ้นประจำปี และ ด้วยความที่ไม่รู้ข้อกฎหมายว่าสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมีอะไรบ้างซึ่งบริษัทสามารถนำหลักฐานการเซ็นต์ชื่อยอมรับให้ตัดเงินเดือนไปอ้างต่อสาธารณชนว่ามีพนักงานให้ความร่วมมือ ยินยอมกับนโยบาย แต่สุดท้ายก็กลายเป็นข้อขัดแย้งเมื่อพนักงานรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง

หรือตัวอย่างของการทำงานล่วงเวลา (โอที)นั้น ตามกฎหมายให้เป็นสิทธิของคนงานแต่บางบริษัทมีการบังคับให้ทำโอทีทุกวัน  ขาดได้ไม่เกิน 3 ครั้ง โดยให้พนักงานลงชื่อไว้ล่วงหน้าเพื่อเลี่ยงข้อกฎหมาย ใครไม่ทำต้องถูกเรียกสอบสวน  ลงโทษโดยการงดโอที  ถูกใบเตือนและบีบให้ออกในที่สุด การทำงานล่วงเวลาเป็นการเพิ่มรายได้ก็จริงแต่สิ่งที่ตามมาคือความล้มเหลวของระบบ สามแปด ที่พนักงานจะต้องมีเวลาศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อนดูแลครอบครัว 8 ชั่วโมง และทำงาน 8 ชั่วโมง นำมาซึ่งปัญหาสังคมเช่น ครอบครัวหนึ่งมีบุตร 1 คนอยู่ในวัยเรียน  ภรรยาและสามีทำงานเป็นกะ วันหนึ่งๆเจอหน้ากันไม่กี่ชั่วโมง บางเดือนแทบไม่เจอกันเลย เวลาที่จะอบรมลูกก็ไม่มี นานๆเข้าบางครอบครัวสามีภรรยาซึ่งไม่ค่อยมีเวลาอยู่ด้วยกันนอกใจซึ่งกันและกันบุตรขาดการอบรมเลี้ยงดูและเอาใจใส่ทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวพอเกิดปัญหาไม่มีที่พึ่งที่ปรึกษา  หันไปคบเพื่อน หรือพึ่งพายาเสพติด สุดท้ายก่อให้เกิดปัญหาสังคมดั่งที่พบเห็นบ่อยๆในปัจจุบัน

สองตัวอย่างนี้หากพนักงานรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน กรณีแรก พนักงานมีสิทธิที่จะไม่เซนต์ชื่อยินยอมอาจจะสามารถผลักดันนโยบายให้เปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์บานปลายของการประท้วงก็จะไม่เกิดขึ้น

กรณีที่2 การทำงานล่วงเวลากฎหมายระบุให้เป็นสิทธิของคนงานที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ หากบริษัทนำมาตรการเช่นนี้มาบังคับใช้คนงานอาจร้องเจ้าหน้าที่แรงงานถึงการละเมิดสิทธิตามกฎหมาย เป็นการเตือนบริษัทอีกทางหนึ่ง

แล้วทำไมแรงงานถึงไม่รู้กฎหมาย? หากมองย้อนถึงระบบการศึกษา ในระดับขั้นพื้นฐานของไทย ไม่เคยบรรจุเรื่องของกฎหมายแรงงานเลยทั้งๆที่อนาคตพวกเขาเหล่านี้จะต้องออกไปเผชิญชีวิตนั่นคือการทำงานอาจเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง อย่างน้อยก็เป็นการติดอาวุธทางปัญญาก่อนที่จะออกมาเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง จะสังเกตุเห็นว่ารัฐบาลไหน ก็ไม่ใส่ใจที่จะผลักดันในเรื่องนี้ หรือจะเป็นดั่งคำที่ผู้นำแรงงานหลายๆท่านเคยกล่าวไว้ว่า รัฐบาลสอนให้จน  โง่และเป็นหนี้แตกแยกเป็นกลุ่มเป็นเหล่าไม่ให้เกิดการรวมตัวกันได้เพราะผู้ที่เข้าไปเล่นการเมืองหรือเป็นรัฐบาลส่วนใหญ่คือนายทุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องและผลประโยชน์กับนายทุนทั้งการออกกฎหมายและระเบียบบังคับก็เอื้อประโยชน์แก่นายทุน หากสอนให้คนงานฉลาดและเข้มแข็งก็จะควบคุมยาก!!!

จะมีรัฐบาลไหนบ้างที่มีความกล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเรื่องนี้ การที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวหน้าประชาชนมีความเข้มแข็ง กินดี อยู่ดี มีสุข  บางครั้งมันเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขาจริงๆ หรือรัฐบาลแกล้งไม่รู้!!!