ทัศนะผู้นำสหภาพ 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ … แรงงานได้-เสียอะไร ?

นายมนัส  โกศล  ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า 

 

          นโยบายด้านแรงงาน ถ้าจะดูภาพรวมทั้งหมดไม่เจาะจงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะพบว่าการแถลงนโยบายนั้นเป็นภาพกว้างๆ อย่างเช่น ส่งเสริมให้ผู้ต้องการมีงานทำในระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตำแหน่งงานว่างของสถานประกอบการได้โดยสะดวก (ซึ่งส่วนมากเป็นงานเชิงธุรการ) ให้การคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมทั้งในระบบและนอกระบบ เร่งยกระดับฝีมือแรงงานทักษะฝีมือแรงงานเพื่อรองรับ AEC กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมการเข้าทำงานแรงงานต่างด้าว จะเห็นได้ว่านโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ก็จะเห็นภาพรวม ไม่มีรูปธรรมในการบริหารมากนัก

 

          ในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย จึงได้ตั้งข้อสังเกตให้รัฐบาลหรือเป็นข้อเสนอแนะไว้ดังนี้ ในรอบ 1 ปี รัฐบาลได้มีนโยบายออกมามากมาย เช่น รถคันแรก, บ้านหลังแรก, พักชำระหนี้ 3 ปี, บัตรสินเชื้อเกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, กองทุนสุขภาพภาครัฐ, กองทุนตั้งตัวได้, ประกันภัยพืชผลเกษตรกร, โครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร รวมแล้วหลานแสนล้านบาท แต่ในภาคแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ไม่มีนโยบายด้านแรงงานอย่างชัดเจน จึงขอเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนผู้ใช้แรงงานหรือธนาคารของผู้ใช้แรงงาน โรงพยาบาลของผู้ประกันตน แก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้มีผลบังคับใช้กับแรงงานทุกสาขาอาชีพ สำหรับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ปรับไม่พร้อมกันไม่เป็นไร แต่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ฯพณฯ เผดิมชัย สะสมทรัพย์ มีนโยบายที่จะปรับให้ทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งจะเป็นโอกาสดีของแรงงานทุกภาคส่วนที่จะได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน

นายชาลี  ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า

 

          หลังจากพรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประมาณสามร้อยเสียง  เพราะพรรคเพื่อไทยใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงกับประชาชนทุกภาคส่วน เช่น นโยบาย การรับจำนำข้าว โครงการรถคันแรก โครงการบ้านหลังแรก  โครงการค่าแรงขั้นต่ำ300 บาทเท่ากันทั่วประเทศทำทันที นักศึกษาจบปริญญาตรี ได้เงินเดือน 15000 บาท โครงการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โครงการปราบยาเสพติดให้หมดไปภายใน หนึ่งปี โครงการถมทะเล โครงการแท๊บเล็ต โครงการ โครงการกองทุนสตรี  โครงการกระชากค่าครองชีพให้ต่ำลงมา โครงการยกเลิกการเก็บเงินกองทุนน้ำมัน โครงการลดภาษีธุรกิจ  โครงการ30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งโครงการต่างๆเหล่านี้ รัฐบาลหลังจากเข้ามาบริหารประเทศยังไม่สามารถที่จะทำให้ประชาชนรับการจัดการ ตามนโยบายที่กำหนดไว้ แทบจะทุกโครงการ หรือบางโครงการได้จัดทำไปบ้างแล้วแต่ก็ยังมีปัญหามากมาย เช่น โครงการ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ภายใน 6 เดือน ผลปรากฏว่า รัฐบาลไม่สามารถทำได้ กล่าวคือจากปกติจะต้องปรับให้เท่ากันทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2555 แต่ผลที่ออกมาก็ต้องเลื่อนไปเดือนเมษายาน 2555 และก็ปรับเพียง 7 จังหวัด เท่านั้น อีก 70 จังหวัด เลือนไป เดือนมกราคม 2556 ปรับเพิ่มเพียง 39.5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น  ซึ่งในการปรับค่าจ้างในครั้งนี้ถือว่ามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทำให้นายจ้างหาเหตุที่จะไม่ปรับค่าจ้างให้กับลูกจ้าง โดยหาวิธีการต่างๆ มาใช้กับลูกจ้าง เช่น การนำเอาสวัสดิการมารวมกับเงินเดือน ซึ่งสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้ก่อนหน้านั้นนายจ้างไม่ได้นำมารวม เมื่อนำมา รวมกับเงินเดือนแล้วค่าจ้างของคนงานก็จะเกิน วันละ 300 บาท จึงไม่ต้องปรับค่าแรงให้กับคนงานอีก เมื่อเป็นเช่นนั้นลูกจ้างบ้างคนก็มาร้องต่อคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นจำนวนมาก  ซึ่งการปรับค่าจ้างในครั้งนี้เหมือนลูกจ้างจะไม่ได้คุณภาพชีวิตที่ดี ขึ้นแม้แต่อย่างไรเลย แต่ก็ต้องไปไดรับผลกระทบกับภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคย ปรากฏมาในอดีตที่ผ่านมา

 

    โครงการศึกษาจบปริญญาตรี จะต้องได้รับเงินเดือน 15000 บาท ปรับเฉพาะข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ เท่านั้น ในภาคเอกชนยังไม่ได้ ดังนั้นโครงการการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททันที และโครงการนักศึกษาจบปริญญาตรี ได้ 15000 บาท ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ และยังทำให้สินค้ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่รัฐบาลไม่มี การป้องกันควบคุมราคาสินค้า ทำให้ประชาชนต้องรับภาระข้าวของราคาแพงขึ้น  

    การแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ กันเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องมาถึงพี่น้องคนงานต้องหยุดงานเพราะบริษัทน้ำท่วม บางบริษัทถึงขั้นปิดโรงงานไปทำให้คนงานต้องถูกออกจากงาน การช่วยเหลือจากรัฐบาลดูเหมือนดี แต่จริงๆแล้ว ก็เป็นการช่วยเหลือนายทุน อย่างเช่น โครงการ2000 บาทการป้องกันการเลิกจ้างตนงานถ้าบริษัทเข้าโครงการ 3 เดือน มีสัญญาว่าภายใน3 เดือนจะไม่มีการเลิกจ้างคนงาน รัฐบาลจะจ่ายเงินให้กับบริษัทคนละ2000 บาท/หัว/เดือน ซึ่งเมือครบ3 เดือนแล้วบริษัทก็มีการเลิกจ้างคนงานตามมา จึงดูเหมือนว่าเอาเงินไปช่วยนาย จ้างไม่ได้ช่วยคนงานแต่อย่างไร 

     เราถือว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลและข้าราชการยังล้มเหลว แรงงานถูกปลดออกเลิกจ้างเป็นจำนวนหลายหมื่นคน ตามที่เราได้รับทราบกันแล้ว  ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตในเชิงนโยบาย รัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับคนงานเท่าที่ควร เข่น เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ. ประกันสังคม ที่เป็นกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน  ช่วงนี้อยู่ในขั้นที่รับสภาจะบรรจุเข้า พิจารณาในวาระแรก แต่ก็ยังไม่พิจารณา เนื่องจากยังไม่มีร่างของรัฐบาลเข้ามาประกบ ซึ่งแรงงานจะต้องรอไปอีกนานเท่าไร ? ถึงจะได้นำเข้ามาพิจารณาก็ถือว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับพี่น้องผู้ใช้แรง งาน  พ.ร.บ. ความปลอดภัยฯ ถึงแม้ว่าจะออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ไปแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นไปตามที่แรงงาน ต้องการเรื่องการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และที่มาของกรรมการความปลอดภัยยังคงใช้หนึ่งองค์กรสหภาพแรงงาน หนึ่งเสียง ซึ่งที่จริงควรจะต้องให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานเป็นผู้เลือกผู้แทนของตนจะดี กว่าแต่ก็ไม่เป็นอย่างที่พี่น้องเสนอ

      

การรับรองอนุสัญญา 87, 98 รัฐบาลยังกลับไปทำประชาพิจารณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการไปเริ่มต้นใหม่ และก็ยังไม่ชัดว่าจะไปรับรองปีไหน หรือจะรับรองหรือไม่อย่างไร การแก้ไขพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ รัฐบาลยังไม่ชัดเจนซึ่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา 87,98 และกฎหมายก็ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน กล่าวคือ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ต้องเป็นฉบับเดียวใช้กับพี่น้องคนงานทั้งประเทศ

    สรุปรัฐบาล  ยิ่งลักษณ์ หนึ่งปียังไม่สามารถทำให้พี่น้องได้ผ่านพ้นความอยากลำบากไปได้ และยังไม่มีความมั่นคงทั้งความเป็นอยู่ รายได้อย่างเพียงพอตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายหาเสียงเอาไว้

    

นายชัยยุทธ  ชูสกุล  ประธานสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า

          1 ปีที่ผ่านมา  หลังจากการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่  โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  ตามที่ประกาศนโยบายไว้ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศได้ใจคนงาน  ผู้ใช้แรงงานก็เทคะแนนให้  แต่หลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็ต้องไปหารือกับทุกฝ่ายกว่าคนงานจะได้ค่าแรง 300 ก็เป็นเวลาหลายเดือน  และได้แค่ 7 จังหวัด  นี่หรือสัญญาของรัฐบาลที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ใช้แรงงาน  รวมถึงเรื่องประกันสังคมก็สุดทนเต็มที  รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจเหมือนรัฐบาลชุดก่อนที่นำร่างเข้าสู่สภาและไปรอพิจารณาอยู่อันดับที่ 9  แต่วันนี้ร่างประกันสังคมร่วงลงมาอยู่อันดับที่ 50  คนงานจะต้องรวมพลังเพื่อจะผลักดันกันต่อไป  รวมถึงอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ความฝันอันยิ่งใหญ่ของคนงานที่จะให้รัฐบาลรับรอง แต่ยังถูกเมินเฉย 

          และพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ล้าหลังมาถึง 37 ปีไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงาน  รัฐไม่ได้ให้ความสนใจ  โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานไม่ได้ให้ความสนใจ  บางครั้งก็ต่อว่าคนงานที่ไปอยู่ใต้ถุนกระทรวงก็หาว่าคนงานไปกีดขวางเจ้าหน้าที่ทำงาน  แทนท่านที่จะลงมาแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกให้กับคนงานเพราะกระทรวงแรงงานเปรียบเสมอนบ้านของเรา

          1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลบริหารงานล้มเหลวในด้านการจัดการแรงงาน  ส่งเสริมแต่ประชานิยม , ทุนนิยมที่จะมาก่อให้เกิดหนี้สินต่างๆมากมาย  โดยมีประโยชน์จากกลุ่มทุนต่างๆโดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนมากกว่าจะดูแลแรงงานงานและด้านสิ่งแวดล้อม   ความเข้าใจไปไหนหมด  แรงงานไม่ได้อะไรเลย  มีแต่เสียประโยชน์อย่างเดียว  สิ่งที่ได้คือ 300 บาทบนความเจ็บปวดของพี่น้องคนงานอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง 300 บาทตามที่รัฐบาลประกาศนโยบายไว้

 

นายสาวิทย์  แก้วหวาน  เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  กล่าวว่า

          หนึ่งปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์  นับตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม มีหลายเรื่องหลายประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์พร้อมกับเสียงเชียร์

          ประเด็นแรก ที่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่มองในเชิงบวก และถือเป็นความก้าวหน้า ก็คือการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงที่ก่อนหน้านี้ผูกขาดเฉพาะในหมู่ผู้ชาย แต่ยุคนี้ก็ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีโอกาส แต่มีโอกาสแล้วจะอยู่นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่อง เศรษฐกิจ และการเมือง

          ประเด็นที่สอง เรื่องการปรับค่าจ้างซึ่งถือเป็นความพยายามของขบวนการแรงงานที่พยายามเสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมสอดคล้องกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพโดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวทั่วประเทศ แม้ว่าตัวเลขจะไม่ตรงใจของคนงาน แต่รัฐบาลก็ได้มีการปรับค่าจ้างให้แก่คนงาน 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง และ จะประกาศให้มีค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศตั้งแต่ 1มกราคม 2556 ก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องปรบมือให้แม้จะไม่ดังมากนัก

         

  อย่างไรก็ตามแม้ว่าคนงานได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นแต่สิ่งที่ไม่สอดรับกันก็คือมาตรการทางเศรษฐกิจ และปัญหาราคาสินค้าที่พาเหรดกันขึ้นราคาอย่างก้าวกระโดดทำให้การปรับเงินเดือน ค่าจ้าง ของคนงานแทบจะไม่มีผลอะไรเลยและดูเหมือนว่าไม่มีสัญญาณใดๆที่จะเป็นมาตรการในการควบคุมราคาสินค้า เริ่มตั้งแต่การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ก๊าซ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของกระบวนการผลิต และเป็นข้อถกเถียงของสังคมในขณะนี้ว่าคนไทยซื้อน้ำมันในราคาที่แพงมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ทั้งๆที่ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันและก๊าซ มีเหลือจนต้องส่งจำหน่ายในต่างประเทศ และนี่คือคำถามที่มีต่อนายกรัฐมนตรี เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

          ยังมีประเด็นเรื่องคอรัปชั่นในโครงการของรัฐบาล เช่นโครงการรับจำนำข้าว โครงการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินด้วยการแจกบัตรเครดิตชาวนาซึ่งในอนาคตจะทำให้ชาวนาเป็นหนี้มากขึ้น และในท้ายที่สุดอาจต้องแลกกับที่ดินทำกินที่อาจจะต้องถูกยึดโดยนายทุน นายธนาคารที่ล้วนแล้วเป็นของต่างชาติทั้งสิ้น

          ประเด็นที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากคือการละเมิดสิทธิแรงงาน การเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงาน ที่รัฐบาลไม่มีกลไกที่ดีเพียงพอในการสนับสนุนให้คนงานรวมตัวปกป้องสิทธิของตนเอง ทำให้คนงานภาครัฐในกระทรวงต่างๆ ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้แม้ในกระทรวงแรงงานเอง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นไว้จนถึง รวมถึงกฎหมายที่คนงานพยายามผลักดันที่แม้จะมีผลบังคับใช้แล้วแต่กระบวนการที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับกฎหมายก็ไม่ได้เปลี่ยนตาม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนงานไม่มีแม้รายชื่อ สส.สนับสนุนแม้ใช้เพียง 20 คน คนงานต้องดิ้นรนเข้าชื่อเสนอกฎหมายทั้งกฎหมายประกันสังคมที่ถูกดองอยู่ในสภา ล่าสุดก็ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับขบวนการแรงงาน สิทธิชุมชน ที่รัฐบาลใช้กลไกในการไล่ปราบ ไล่รื้อทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านทั้งๆที่มีข้อตกลงจากรัฐบาลชุดก่อน เช่น พื้นที่แก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาปู่ เขาย่า เป็นต้น

          ดังนั้นหนึ่งปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แม้จะมีความก้าวหน้าอยู่บ้างแต่โดยภาพรวมกลุ่มคนข้างบน หรือคนมีโอกาสเช่นนายทุน นักธุรกิจ ยังได้รับการดูแลอุ้มชูอย่างดี ในขณะที่ชนชั้นกลางกำลังกลายเป็นคนจนใหม่ ส่วนคนที่จนอยู่แล้วก็ลำบากมากยิ่งขึ้นทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต่ำลง ชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ดี หรือปรับเปลี่ยนนโยบายที่ให้คนข้างล่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อบวกกับประเด็นร้อนทางการเมือง และเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้ว … ความมีเสถียรภาพคือสิ่งที่รัฐบาลต้องถามตนเอง

ข้อมูลจากแรงงานปริทัศน์ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

————————————————————-