เรียบเรียงโดยวาสนา ลำดี
เขาก็บอกกับภรรยาคุณรัชนีย์บูรณ์ โพธิ์อ่านว่า “มีคนคอยตามอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน เขาถูกข่มขู่และติดตามทุกฝีก้าว และสั่งเสียว่า ถ้าหายไป 3 วัน แสดงว่าถูกลักพาตัวไป หากไม่ติดต่อกลับมาภายใน 7 วัน แสดงว่าเสียชีวิตแล้ว”ก่อนที่ทนงจะหายตัวไป
มาร่วมรำลึกวันนี้(19 มิถุนายน 2559)เมื่อในอดีตที่ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตระหนกตกใจในข่าวคราวการหายตัวไปในวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ของคุณทนง โพธิอ่าน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย โดยทิ้งเพียงรถวอลโว่คู่ใจ จอดไว้หน้าสำนักงาน สหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออก “มาเรียนรู้ประวัติการต่อสู้ของคุณทนง โพธิอ่าน ชีวิต งาน การต่อสู้ทุย่างก้าว เพื่อสร้างเอกภาพด้วยกัน”
ชีวิต และการงาน
ทนง โพธิ์อ่าน เกิดเมื่อ 16 มิถุนายน 2479 ที่อำเภอยานนาวา กรุงเทพ บิดา – มารดา ชื่อนายเพิ่มและนางบุญเรือน นกเม้า อาชีพทำนา ฐานะยากจน จึงยกเด็กชายทนง โพธิ์อ่าน ให้หม่องอู โพธิ์อ่าน (ทูตพานิชย์ประจำประเทศไทย) เลี้ยงดู จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอิสระนุกุล ภรรยาชื่อ นางรัชนีย์บูรณ์ โพธิ์อ่าน พยาบาลโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพ มีบุตรชื่อ อดิศร บุตรสาวชื่อ น.ส.ชุนันญา (เดิมชื่ออติรัตน์)
ทนง เริ่มต้นทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาไปทำงานบริษัทเฟสโก้ (S.G.S.) ที่สีลม เคยผ่านอาชีพรับซื้อของเก่า ขับรถสองแถวสายสีลม-บางรัก แล้วเข้าสู่วงการแรงงาน โดยการชักชวนของคุณสุวิทย์ ระวิวงศ์ สหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออก (ทางน้ำ) ในตำแหน่งเลขาธิการ สหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออก
ย่างก้าวความเป็นผู้นำแรงงาน และการสร้างเอกภาพ
ด้วยความมุ่งมั่นเป็นผู้นำอยู่ท่ามกลางลูกน้องบริวารที่เรียกว่าผู้ใช้แรงงาน หรือกรรมกรแบกหามตัวจริงเป็นเวลาหลายปีได้ก่อเกิดอำนาจ และบารมี ไต่ระดับมาเป็นผู้นำแรงงานระดับชาติในเวลาต่อมา การเข้าไปเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยของสหภาพขนส่งฯทำให้ทนงก้าวเข้าสู่การเป็นกรรมการบริหารสภาฯจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำระดับชาติ ในตำแหน่งประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ด้วยการที่ทนงเป็นคนที่ร่วมต่อสู้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างถึงลูกถึงคน ถึงพริก ถึงขิง โดยเฉพาะบทบาทการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ[1] การคัดค้าน การคัดค้านสัญญาจ้างงานระยะสั้น ชั่วคราว หรือสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม[2]
ปี 2530 โค้งสุดท้ายของการเคลื่อนไหวกฎหมายประกันสังคมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นทนงก็มีบทบาทสมาชิกวุฒิสภา และทำหน้าที่โต้แย้ง พูดเรื่องร่างกฎหมายประกันสังคมต่อรัฐสภา ในการต่อรองกับรัฐบาล และในฐานะผู้นำแรงงานที่พามวลชนขับเคลื่อนตลอดเวลา จนพระราชบัญญัติประกันสังคมออกมาบังคับใช้ในปี 2533 ทะนงเป็นคนที่ทำการบ้าน [3]และข้อมูลในการนำเสนอทุกครั้ง ทำให้ข้อเรียกร้องประสบผลสำเร็จ ได้เป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคมชุดแรก เป็นผู้พิพากษาสมทบ “ซึ่งมีไม่มากหรอกที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำอะไรเพื่อคนอื่นได้มากมาย และยาวนาน”ชื่อของทนงขจรไปถึงสมาพันธ์แรงงานเสรีระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ICFTU.) และได้รับเลือกเป็นรองประธาน(ICFTU.)[4]
เส้นทางชีวิตของทนงช่วงนั้นเขากลายเป็นแกนนำของนักแรงงานกลุ่มต่างๆ ชื่อเสียงดังไปทั่วประเทศ และขบวนการแรงงานหลังจากที่แบ่งแยกมีทีท่าจะประสานเป็นหนึ่งอีกครั้ง ถือเป็นช่วงที่ขบวนการแรงงานปรับตัวสู่ความเข้มแข็งอย่างไม่มีมาก่อน[5] การกำหนดการเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขกำหมายแรงงาน ทั้งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน ทั้งทนงยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า “สำหรับการทำงานของ 3 สภาแรงงานที่จะผลักดันคือ ปัญหาความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างนั้นไม่ได้อยู่เฉพาะแต่ในโรงงาน แค่นิ้วขาด สูญเสียอวัยวะฯลฯ แต่ยังมีเรื่องมลพิษ น้ำเสีย” เป็นการสร้างความเป็นเอกภาพในการทำงาน[6]
สู้กับเผด็จการแบบ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”
23 กุมภาพันธ์ 2534 กลุ่มทหาร รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหวัน ขบวนการแรงานถูกตีกรอบการเคลื่อนไหว ทนงก็สำแดงความเป็นนึกสู้อย่างไม่เกรงกลัวอำนาจปืน วันที่ 26 เมษายน รสช. เรียกผู้นำแรงงานเข้าพบ พลเอกสุจินดา คราประยูร พูดว่า “ทุกข์ของกรรมกรคือทุกข์ของทหาร” แต่ต่อมาก็ทำการลิดรอนสิทธิของแรงงาน [7]ด้วยประกาศใช้ คำสั่ง รสช. 54 ยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ตีตราทะเบียนที่ปรึกษาฝ่ายลูกจ้าง เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในดารรวมตัวและการเจรจาต่อรองของแรงงาน ทนงเรียกประชุมสภาแรงงาน คัดค้านตอบโต้อย่างแข็งกร้าวว่า “ทหารกำลังสร้างปัญหาให้กรรมกรด้วนการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และออกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 พร้อมฝากเตือนถึงบิ๊กจอดอย่านึกว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำอะไรก็ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง และเวลานี้ทหารทำให้กรรมกรมีทุกข์ ดังนี้ควรรอบคอบ วันนี้ 3 ช่า วันหน้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่” ทั้งยังประสานการเคลื่อนไหวกับICFTU.เพื่อประณามการกระทำที่ละเมิดหลักการสากล การลิดลอนเสรีภาพการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้าม ทนง ไปร่วมประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO.) เพราะกลัวการหนุนช่วยทางสากล
วันที่ 14 มิถุนายน 2534 สภาแรงงานภายใต้การนำของทนง โพธิ์อ่าน จัดชุมนุมเรียกร้องให้คืนสิทธิสหภาพแรงงานให้คนงานรัฐวิสาหกิจ และให้ยกเลิกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 ทนง วิพากษ์วิจารณ์ รสช.รุนแรงขึ้นจนสื่อมวลชนเรียกว่า “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”
วันแห่งความสูญเสียผู้กล้าของขบวนการแรงงาน
19 มิถุนายน 2534 รถวอลโว่คู่ใจ ถูกจอดทิ้งไว้หน้าสำนักงาน สหภาพแรงงานขนส่งสินค้าออก ส่วนทนงหายไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย ไม่มีผู้ใดพลเห็นได้ข่าวคราวของเขาอีกเลย
ก่อนที่ทนงจะหายตัวไป เขาก็บอกกภรรยาว่า “มีคนคอยตามอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน เขาถูกข่มขู่และติดตามทุกฝีก้าว และสั่งเสียว่า ถ้าหายไป 3 วัน แสดงว่าถูกลักพาตัวไป หากไม่ติดต่อกลับมาภายใน 7 วัน แสดงว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะทนงเป็นเบาหวาน หากเครียดมากต้องฉีดยาอินชูลินเป็นประจำ หากช่วยไม่ทันก็อาจช็อก ซึ่งทุกวันที่ 19 มิถุนายน แม้จะมีความพยายามจากครอบครัวร่วมกับขบวนการแรงงานในการติดตามหาคำตอบว่า ทนง หายไปไหนมาตลอดแต่ผ่านมาหลายรัฐบาล ทุกข์อย่างก็ยังคงมือมน[8]
ทนง โพธิ์อ่าน ถือว่าเป็นผู้นำแรงงานที่มีอุดมการณ์ และความกล้าหาญ ยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการ และยืนเคียงข้างพี่น้องแรงงานอย่างมุ่งมั่น เสียสละทำหน้าที่ผลักดันกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหา ปกป้ององค์กรของผู้ใช้แรงงานจนหายตัวไป [9]
————————————————————————-
[1] หน้า 73 ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย ทวี เตชะธีราวัฒน์
[2] หน้า 20 ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ
[3] หน้า 43 ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย สุวิทย์ หาทอง
[4] หน้า 76 ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย ทวี เตชะธีราวัฒน์
[5] หน้า 78-79 ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย อนุศักดิ์ บุญยะประณัย
[6] หน้า 23 ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย วาสนา ลำดีรวบรวม(อ้าง นสพ.สมัครด่วน ฉบับที่ 232 11 มิ.ย.2532)
[7] หน้า84-85ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย สมยศ พฤกษาเกษมสุข
[8] หน้า 49-50 ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย (อ้างมติชน 20มิ.ย.2540 หน้า4)
[9] หน้า 43 ทนง โพธิ์อ่าน10 ปีแห่งการสูญหาย