ถอดบทเรียน 4 ปีกับการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง

 

เมื่อวันที่ 9  สิงหาคม 2555 สภาพัฒนาการเมือง จัดสัมมนาสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองเรื่องถอดบทเรียน 4 ปีกับการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ณ โรงแรมฮอริเดย์ อิน รีสอร์ท  อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองเข้าร่วมจากสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 100 คน 
ศ.ดร.สุจิต  บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่าการทำงานที่ผ่านมาได้รับโอกาสและความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในการเป็นประธานมาโดยตลอดในช่วงแรกคิดว่าจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ครบ 4 ปี เพราะมีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด แต่ก็สามารถทำหน้าที่จนครบวาระ เพราะที่ผ่านมาสมาชิกที่มาทำหน้าที่ล้วนเป็นผู้ที่มีคุณภาพมีต้นทุนเดิมที่สามารถทำงานยึดโยงกับพื้นที่ได้ ได้เห็นความตั้งใจในการทำงานของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดประชาธิปไตยในชุมชนซึ่งจะนำไปสู่จัดหวัดจัดการตัวเองที่ถือเป็นประเด็นเด่นที่สำคัญใน  4 ปีที่ผ่านมาถือ และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะก้าวต่อไปของสภาพัฒนาการเมืองในอนาคต
หลังจากนั้นเป็นเวทีการถอดบทเรียน 4 ปีกับการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง โดยมีผู้ร่วมเป็นวิทยากรจากประธานคณะกรรมการชุดต่างๆ ได้มีการพูดถึงการทำงานที่ผ่านมาว่าแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน หลากหลายปัญหา ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจากสภาพัฒนาการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือพัฒนาประชาธิปไตยชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดี  เช่น ชุมชนต้องได้รับความรู้ความเข้าใจทางการเมืองอย่างถูกต้อง  ไม่มีการแบ่งแยกสี ประเด็นที่เห็นว่าจะต้องทำงานร่วมกันคือ สร้างประชาธิปไตยของชุมชน โดยให้มีการคิดร่วมกัน ออกแบบร่วมกัน และขับเคลื่อนร่วมกันของจังหวัดจัดการตนเอง เพราะที่ผ่านมาอำนาจการผูกขาดอยู่ที่พรรคการเมือง เป็นผู้คิดแทนเราทั้งหมดซึ่งไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้  ต่อไปนี้จะต้องให้เสนอปัญหาจากล่างสู่บน เช่น การจัดเก็บภาษี การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือแม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัด มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เงินภาษีแต่ละจังหวัดควรมีการบริหารจัดการได้ในจังหวัดนั้น  ตัวอย่างจังหวัดที่มีการจัดการตัวเองในขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ มีการร่วมออกแบบจังหวัดจัดการตัวเองในรูปแบบที่ต้องการ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และยังมีหลายจังหวัดที่กำลังมีการวางแผนออกแบบจังหวัดจัดการตัวเองเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับจัดหวัดนั้นๆ อาทิ จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และบางจังหวัดทางภาคใต้ รวมกว่า 20 จังหวัดที่กำลังริเริ่ม
 
ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองภาคประชาสังคมสายแรงงาน กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปร่วมทำงานกับสภาพัฒนาการเมืองเห็นว่าการเข้าไปเป็นสมาชิกสภาการเมืองมีประโยชน์คือ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เกิดประสบการณ์การในการทำงาน ที่ไม่มีความต่างกันมากนัก จะเห็นว่าการสร้างฐานสมาชิกให้เข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมให้ความสำคัญ ซึ่งจะต้องทำงานเชื่อมโยงกับสมาชิกอยู่เสมอ สร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง และประชาธิปไตยกับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน  จึงจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานไม่สามารถฝากความหวังไว้กับการเมืองที่อยู่ในสภาได้ เพราะว่านักการเมืองไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง เวลาไปเรียกร้องเคลื่อนไหวปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงาน การเมืองมักไม่ค่อยให้ความสนใจเพราะไม่ใช่นโยบายของพรรค  ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาของแรงงานก็ไม่แตกต่างจากภาคประชาสังคมอื่นๆ คือจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของสิทธิและหน้าที่ เรียนรู้การทำงานร่วมกัน เข้าใจปัญหา และร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งตรงกับแผนยุทธศาสตร์การทำงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยที่จะเกิดขึ้นในเร็วนี้คือการลงพื้นที่เชื่อมโยงกับฐานสมาชิกทุกพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต้องการร่วมกัน สร้างความเป็นเอกภาพและพึ่งพาตนเองในอนาคต นำไปสู่การกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป
                          นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน