ถอดบทเรียนน้ำท่วม ถมช่องว่างช่วยแรงงานข้ามชาติ

ในการเสวนาเรื่อง สิทธิแรงงานข้ามชาติและภัยธรรมชาติ:บทเรียนจากวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 จัดโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จากการสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555

อ้างถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยร้ายแรงในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย เมื่อปี2554 จากข้อมูลของ World Bank ว่ามีจำนวนประมาณ 12ล้าน 8 แสนคน  โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ประเมินว่ามีแรงงานข้ามที่จดทะเบียนถูกต้องได้รัลผลกระทบประมาณ 1 แสน 6 หมื่นคน  ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารถูกต้อง คาดว่าได้รับผลกระทบเกือบ 5 แสนคน

ขณะที่นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงแรงงานว่า  มีแรงงานได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 9 แสน 9 หมื่นกว่าคน โดยกระทรวงแรงงานฯได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้แรงงานมีงานทำ  โดยมีโครงการป้องกันบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งช่วยเหลือแรงงานได้ราว 3 แสน 5 หมื่นคน ซึ่งไม่ได้แบ่งแยกการช่วยเหลือว่าเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ  แต่มีช่องว่างในส่วนที่เป็นแรงงานไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งทางกระทรวงแรงงานฯพยามยามดำเนินการให้เป็นแรงงานถูกกฎหมายเพื่อให้ได้รับสิทธิต่างๆ

ขณะที่นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณและวิชาการจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติช่วงเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ โดยการจัดหาส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ในการยังชีพ ช่วยประสานการขนย้ายผู้ประสบภัย และยังมีการรับเรื่องราวร้องทุกข์ และประสานการช่วยเหลือด้านกฎหมายและคดีความเกี่ยวกับสิทธิของแรงงาน

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สรุปสภาพปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในระหว่างน้ำท่วมและหลังน้ำท่วมได้หลายประการคือ

–  การไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งสิ่งของยังชีพ และศูนย์พักพิงชั่วคราว

–  การถูกจับดำเนินคดีเมื่อมีการอพยพเคลื่อนย้ายหนีภัยพิบัติข้ามเขต หรือต้องจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อเดินทางกลับประเทศ

–  สถานประกอบการปิดหรือไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างเปลี่ยนงานทำใหม่ได้

–   มีที่ถูกนายจ้างยึดเอกสารทำให้เป็นอุปสรรคในการขอความช่วยเหลือ หรือารอพยพเคลื่อนย้าย

–  และยังมีนายหน้าแฝงตัวเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในการเสนองานใหม่ หรือพาออกนอกพื้นที่เพื่อทำงานใหม่ โดยมีการเรียกเก็บค่านายหน้า  อีกทั้งเสี่ยงต่อเรื่องของการค้ามนุษย์ในการถูกนำไปขายต่อ รวมทั้งการเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ

คณะทำงานจึงได้จัดทำข้อเสนอแนะ 4 ข้อต่อกระทรวงแรงงานฯ เพื่อแก้ปัญหาให้แรงงานข้ามชาติในยามที่ต้องประสบกับภัยพิบัติ  ประกอบด้วย

– ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติ

– สร้างช่องทางการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับท้องที่และชุมชนแรงงานข้ามชาติ ในเรื่องสิทธิแรงงาน และการเข้าถึงการบริการให้ความช่วยเหลือ

– ให้ปฏิรูปกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

– และให้จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลรับเรื่องร้องทุกข์ ที่ให้บริการหลายภาษา ทั้งในรูปแบบศูนย์บริการ และศูนย์ Hotline

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน