ตำรวจรถไฟมักกะสัน ตรวจเข้มป้องกันเหตุซ้ำรอย หวังสร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสาร

DSCN9511

องค์กรแรงงานออกแถลงการณ์ถึงผู้บริหารการรถไฟออกมาตรการเด็ดขาดดูแลความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินผู้โดยสาร พร้อมเสนอมาตรการ 4 ข้อ 1. เข้มงวดในการคัดเลือกพนักงานที่เข้ามาทำงาน 2. ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแล 3.ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้งานได้ในทุกขบวน 4. กำหนดเวลาในการดื่มสุราและมีการจัดพื้นที่

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 พ.ต.ต.อดิศัย สุภัทโรภาสพงศ์ สารวัตรสถานีตำรวจรถไฟมักกะสัน กองกับการ 1 กองบังคับการตำรวจรถไฟ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจตราบนรถตั้งแต่สถานีรถไฟมักกะสัน ถึงหัวหมากเพื่อสร้างความอุ่นใจ และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถไฟ ภายหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญฆ่าข่มขืนด.ญ.วัย 13 ปี บนขบวนรถไฟสายใต้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา

DSCN9537DSCN9545

พ.ต.ต.อดิศัย สุภัทโรภาสพงศ์ กล่าวว่าความสูญเสียของครอบครัวน้องแก้มครั้งนี้สร้างความรู้สึกสลดใจ และเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน ผู้โดยสาร ประชาชนทั้งสังคม เกิดความกังวลใจต่อผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่ต้องขึ้นล่องเดินทางโดยสารรถไฟเพื่อมาเรียนหนังสือ หรือธุระอื่นๆทั้งเช้าและช่วงเย็น เพื่อสร้างความมั่นใจจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟทำการตรวจตราแบบเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมตามสถานีรถไฟ และขบวนรถไฟ วันนี้มีการแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ การรับแจ้งเหตุด่วน เหตุร้ายหรือเบาะแสต่างๆโดยจัดทำบัตรประจำตัว แสดงชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ ติดไว้ที่หน้าอกเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ประชาชนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และสามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำขบวนซึ่งมีประจำอยู่หัวและท้ายขบวนๆละ 2 คน ให้มีการตรวจตรา และดูแลเด็ก ผู้หญิงเป็นพิเศษ โดยควรมีการสักถามถึงการเดินทางว่าเด็กมากับใคร ไปที่ไหน หากพบว่ามาคนเดียวต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเดินทางไปกับรถไฟต้องปลอดภัยอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตามตำรวจรถไฟยังมีปัญหาเรื่องอัตรากำลังที่มีไม่เพียงพอต่อการประจำขบวนรถไฟในขณะนี้ได้ทุกขบวน แต่ก็จะปฏิบัติหน้าที่อย่างดีและครอบคลุมที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้โดยสารรถไฟ

DSCN9522

ทั้งนี้วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ด้านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้ออกแถลงการณ์ “แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว น้องแก้ม และเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสาร”

จากกรณีที่นายวันชัย แสงขาว ลูกจ้างเฉพาะงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ก่อเหตุข่มขืนและฆ่า น้องแก้มในขณะที่โดยสารรถไฟขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพฯ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 6 กรกฎาคม 2557 คสรท.ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว ด.ญ.แก้ม ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และขอให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างถึงที่สุด เพื่อมิให้บุคคลอื่นกระทำเป็นเยี่ยงย่างต่อไป ทั้งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2544 ได้เคยเกิดเหตุการณ์ทำร้าย ข่มขืน และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายผู้โดยสาร เหตุเกิดที่ขบวนรถตู้นอนสายสุไหงโกลก-กรุงเทพฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยอดีตลูกจ้างชั่วคราวการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกผู้กระทำเป็นเวลา 9 ปี
DSCN9542DSCN9520

เมื่อพิจารณาบนขบวนรถไฟขณะเดินทาง จะพบความหละหลวมในการรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสารหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

(1) บนขบวนรถไฟโดยเฉพาะในขบวนตู้นอนชั้น 2 พบว่า แม้ว่าจะมีประตูปิดการเชื่อมต่อแต่ละตู้นอน แต่ประตูดังกล่าวไม่สามารถล็อคได้ ทำให้พนักงานรถไฟ ผู้โดยสารหรือคนแปลกหน้าสามารถเดินเข้าออกตู้นอนได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยามค่ำคืน มักมีข่าวบ่อยครั้งเรื่องผู้โดยสารถูกทำอนาจารบนรถไฟ สิ่งของหายหรือถูกขโมย

(2) การตรวจตราของพนักงานรถไฟจะตรวจเฉพาะผู้โดยสารที่ขึ้นมาใหม่เพียงการเช็คตั๋วเท่านั้น แต่ไม่ได้ดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารคนอื่นที่ขึ้นมาก่อนแล้วแต่อย่างใด โดยเฉพาะมักพบการร้องเรียนเรื่องเสียงดังจากการดื่มสุราบ่อยครั้ง (ขบวนรถตู้เสบียงมีการขายสุราให้ผู้โดยสารตลอดเวลา และผู้โดยสารสามารถดื่มบริเวณใดๆได้ทั้งสิ้น)

(3) ไม่มีตำรวจรถไฟประจำการบนรถไฟโดยสารแต่อย่างใด ทำให้เวลาเกิดเหตุไม่ปลอดภัยต่างๆ ผู้โดยสารมักจะต้องจัดการและดูแลตนเอง

DSCN9524DSCN9501

คสรท.ขอเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้โดยสารโดยเร่งด่วน ดังนี้

(1) การมีระเบียบและมาตรการที่เข้มงวดในการคัดเลือกพนักงานที่เข้ามาทำงาน โดยเฉพาะพนักงานที่เกี่ยวข้องและต้องประจำการบนรถไฟ ทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่อง, เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วทั่วไป และพนักงานที่เข้ามารับผิดชอบในเรื่องความสะอาดและกางเตียงนอน

(2) การประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยในระหว่างตลอดเวลาการเดินทาง

(3) การติดตั้งกล้องวงจรปิดที่สามารถใช้งานได้ในทุกขบวนรถไฟ

(4) การกำหนดเวลาในการดื่มสุราและมีการจัดพื้นที่การดื่มสุราโดยเฉพาะในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะผลจากการบริหารงานที่หละหลวมและปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน