ตราบาปที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้ระบบทุนนิยม “ความปลอดภัยที่ไม่เคยปลอดภัย”

ปลอดภัย

โดย มงคล ยางงาม นักสื่อสารแรงงาน

“โคร้ม”
เสียงประตูเหล็กบานใหญ่ ที่สูงเกือบเท่าตึกสองชั้นที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อสองเดือนก่อนโค่นลงมา..
คนงานที่กำลังรอเลิกงานอยู่บริเวณนั้นส่งเสียงอื้ออึง ไม่นานก็กรูกันเข้าไปช่วยกันยกประตูขึ้น ซึ่งมันค่อยๆเผยให้เห็นร่างของหนุ่มโชคร้ายนอนคว่ำหน้าด้วยสีหน้าบิดเบี้ยว แสดงอาการเจ็บปวดอย่างที่สุด

แสงไฟวับ วับ เสียงหวอดังสนั่นโรงงาน ชายสามสี่คนในเครื่องแบบกู้ภัยนำร่างของหนุ่มโชคร้ายส่งโรงพยาบาล โดยมีผู้เป็นภรรยาของผู้บาดเจ็บ กึ่งเดินกึ่งวิ่งตามขึ้นรถไปด้วย…..

เหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาเป็นฉากๆ ด้วยสีหน้าเรียบเฉย ประดุจว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นการกล่าวถึงใครอีกคน จนแทบไม่น่าเชื่อว่า หนุ่มผู้นี้เพิ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิตมา ซึ่งจากคำบอกเล่าของหนุ่มโชคร้ายผู้นี้…โกดังเก็บของถูกสร้างขึ้นก่อนที่เขาจะย้ายมาทำงานที่โรงงานแห่งนี้โรงงานใช้ที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารที่เขาทำงานอยู่กับอีกอาคารหนึ่ง สร้างหลังคาและก่อผนังปิดด้านหลัง ติดตั้งประตูเหล็กขนาดใหญ่สูงประมาณ4-5เมตร กว้างประมาณ8-9เมตร ปิดกั้นไว้ด้านหน้าเป็นที่เก็บชิ้นงานที่ผลิตและยังไม่ได้ไปส่งลูกค้า และก็ไม่รู้ว่าสร้างเสร็จหรือยัง?เพราะยังเห็นคนงานของผู้รับเหมาทำงานอยู่โดยไม่มีป้ายบ่งชี้ใดๆว่าเป็นเขตก่อสร้าง เขาจำได้ว่าวันที่เกิดเหตุเขาเห็นคนงาน4-5คนช่วยกันดันประตูปิดจากนั้นได้ยินเสียงคนเรียกจึงหันไปดูแต่พอหันกลับมาประตูก็โค่นลงมาแล้ว

หมอบอกผมว่า กระดูกแตกหักทิ่มแทงเส้นประสาทใหญ่ที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะช่วงล่างทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ผมต้องเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงเอวลงมา” เขาพูดด้วยสีหน้าเรียบเฉยเช่นเคยเหมือนกำลังยอมรับในชะตากรรมที่เกิด

แต่นี้เป็นเรื่องของชะตากรรมจริงหรือไม่? หรือมันเป็น…ความบกพร่องที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์กันแน่?

ชีวิตที่ต้องกินนอนอยู่ในโรงพยาบาลคงไม่มีใครต้องการนัก แต่มันก็ทำให้เขาได้รับรู้รสชาติของความผิดหวังว่ามันขมขื่นเพียงใด รสชาติของความท้อแท้ที่ต้องกลืนกินมันจนเริ่มชาชินและเริ่มยอมรับมัน.บัดนี้เขาได้มาลิ้มรสรสชาติใหม่ภายในทาวน์เฮาส์ที่เคยอาศัยเมื่อสามเดือนก่อน….ไม่มีพยาบาลคอยมาทำแผลให้….ไม่มีหมอมาตรวจทุกๆวันเหมือนเคย… มีเพียงภรรยาที่ต้องทำงานทุกวันและแม่วัยชราที่ต้องคอยดูแลเขาเหมือนเมื่อครั้งที่เขายังเดินไม่ได้ ใช่!เขาอาจเดินไม่ได้อีกแล้ว……

ภายในทาวน์เฮาส์สองชั้นที่แดง..หรือประยูร อุ่นจันทร์หนุ่มวัย 35 ปี จาก จ.น่าน เช่าอยู่กับภรรยาเดือนละ 5,800 บาท ซึ่งเป็นภาระหนักอึ้งพอสมควรสำหรับสองสามีภรรยาที่เพิ่งจะย้ายที่ทำงานจาก จ.สมุทรสาคร มาทำงานในตำแหน่งพนักงานจัดส่งสินค้า ของโรงงานผลิตชิ้นส่วนเข็มขัดนิรภัยในนิคมฯอมตะนคร จ.ชลบุรี ชีวิตลูกจ้างรายวัน วันละ 300 บาท คงไม่พอกินแน่สำหรับค่าใช้จ่ายประจำที่จำเป็นต้องจ่ายรายได้ส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพิงการทำงานล่วงเวลา

ผมมีโอกาสได้พบกับแดงจากคำบอกเล่าของคุณกิติกุล นพนนท์กุล กรรมการสหภาพแรงงานคอบบร้าฯและเขาอีกนั่นแหละที่เป็นคนพาผมมาพบกับแดง แดงเป็นหนุ่มหน้าตาดีทีเดียวผิวขาวสูงใหญ่เขานั่งอยู่บนเตียงนอนทางมุมซ้ายของบ้าน หลังที่ทักทายละแนะนำตัวกันแล้วเขาพยายามลงมานั่งข้างล่างเมื่อเห็นว่าผมลงไปนั่งข้างๆเตียง แม่ของแดงนั่งอยู่ไม่ห่างลูกชาย

นางจำเนียร อุ่นจันทร์ ผู้เป็นแม่ที่ต้องรับภาระตั้งแต่อาบน้ำให้ไปจนถึงเรื่องขับถ่ายซึ่งเขาไม่สามารถทั้งปัสสาวะและอุจจาระเองได้ แม่ต้องทำหน้าที่แทนภรรยาที่ต้องทำงานไม่อย่างนั้นคงไม่พอกิน

เงินเท่าไหร่ฉันก็ไม่ต้องการ ฉันต้องการแค่ลูกชายฉันที่มีสภาพปกติไม่อยากให้เป็นคนพิการอย่างนี้ ฉันสงสารลูก” น้ำเสียงสั่นเครือของหญิงชราที่โพล่งออกมากลางวงสนทนาไม่นานนักหญิงชราก็ใช้แขนปาดน้ำตาที่มันเอ่อล้นออกมา…จนได้

แต่เมื่อแดงต้องมาประสบเหตุจนอาจต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิตไม่มีรายได้จากการทำล่วงเวลาอีกแล้วแดงจึงให้น้องชายมาอยู่ด้วยโดยให้ช่วยค่าเช่าบ้านเดือนละ1,800บาทเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย

ทางโรงงานยังเคยแอบคุยกับแม่ผมว่าจะช่วยจ่ายค่าเช่าบ้านให้โดยบอกแม่ว่าไม่ต้องบอกให้ผมรู้แต่ก็ช่วยมาได้เพียงเดือนเดียวก็เงียบหายไป กลับบ้านอย่างน้อยที่บ้านก็ยังมีพ่อมีแม่มีญาติที่คอยช่วยเหลือกันได้บ้างอยู่นี่มันลำบากพ่อแม่ที่ต้องลงมาคอยดูแล

แม้ทางโรงงานจะรับปากว่าจะคอยดูแลแดงไปตลอดชีวิต จ่ายค่ารักษาพยาบาลพร้อมทั้งซื้อคอร์สกายภาพบำบัดให้โดยจัดรถมารับ-ส่งให้ทุกวัน จ่ายค่าจ้างให้วันละ300บาทเฉพาะวันที่เป็นวันทำงานไม่รวมวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่แดงกลับไม่เชื่อว่าทางโรงงานจะช่วยเหลือเขาไปได้นานถึงเพียงนั้น

ผมอยากขอทุนเขาสักก้อน ไปเปิดร้านขายของชำที่บ้าน จ.น่าน หากอยู่นี่คงรับภาระไม่ไหว

มีคำถามมากมายที่ผมอยากถามแดงเช่น…ทางโรงงานมีเหตุจำเป็นใดที่ต้องสร้างประตูเหล็กที่มีขนาดใหญ่ถึงเพียงนี้? และประตูนี้พร้อมใช้งานหรือยัง? มีการดำเนินการใดบ้างในเรื่องระบบความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน?และคงมีอีกหลายคำถาม แต่คงยากเกินไปที่จะตั้งคำถามนี้ให้กับคนงานที่เข้ามาทำงานเพียงสองเดือนแต่หากถามผู้ที่รับเหมางานในโรงงานล่ะ? ถามเจ้าของโรงงานล่ะ? คำถามนี้จะมีคำตอบไหมและคำตอบจะเป็นอย่างไร ยังคงชวนให้สงสัย

ช่างเป็นตลกร้ายของสังคมไทย โรงงานที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุกลับเป็นโรงงานที่ไม่มีความปลอดภัย อาจดูเป็นเรื่องชินชาในสังคมของลูกจ้างในโรงงานไปแล้วก็ได้ แดงไม่ใช่คนแรกที่เจอเหตุการณ์อย่างนี้และย่อมไม่ใช่กรณีสุดท้าย แต่ที่สำคัญคือ ทำไมเหตุการณ์อย่างนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกสถิติการเกิดอุบัติเหตุของสำนักงานประกันสังคมปี 2555 มีมาถึง 129,891 รายมากกว่าปี2554อยู่ประมาณ 260 ราย จังหวัดที่เกิดเหตุมากที่สุดคือกรุงเทพฯ 38,632 ราย ในขณะที่ชลบุรีอยู่อันดับที่3เกิดขึ้น 11,006 ราย แน่นอนว่าสถิตินี้ย่อมไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริงเนื่องจากยังมีสถานประกอบการอีกหลายๆที่ที่ไม่มีการแจ้งการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากมีผลต่อการเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งคน อีกทั้งโครงการซีโร่ แอคซิเดน คือทำให้อุบัติเหตุเป็นสูญที่กระทรวงแรงงานรณรงค์และกล่าวอ้างว่าประสบผลสำเร็จทำให้สถิติลดลงนั้นก็อาจเป็นโครงการที่ทำให้สถิติถูกปกปิด นายจ้างบางรายถึงกับล่อใจลูกจ้างว่าหากแผนกใดไม่เกิดอุบัติเหตุจะได้รับรางวัลพิเศษ ทำให้เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายถ้าไม่ร้ายแรงจริงๆก็ไม่ยอมแจ้งนายจ้าง

สัปดาห์ความปลอดภัยมีรณรงค์ทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม และจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาย่านพุทธมณฑลเมื่อ 10 พฤษภาคมปี 2536 มีลูกจ้างเสียชีวิต 118 ศพบาดเจ็บอีก 469 รายเป็นข่าวคราวใหญ่โตมีการรณรงค์เรื่องทางหนีไฟเรื่องระบบความปลอดภัยในโรงงานไปตามกระแส…เงียบหายไป…มีข่าวใหม่มารณรงค์กันใหม่…เงียบหายไป… สิบกว่าปีผ่านไปจึงประกาศให้วันที่10พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติแล้วก็เงียบหายไป….

เรื่องของความปลอดภัยที่ไม่เคยปลอดภัยในสังคมไทย จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมมากนักแม้กระทั่งในหมู่ผู้ใช้แรงงานเองหากไม่ใช่ข่าวใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตเยอะๆสื่อกระแสหลักก็มักไม่ให้ความสำคัญ และก็จะไม่มีกระแสรณรงค์เรื่องความปลอดภัย

น่าแปลกที่ชีวิตคนมีค่าน้อยเต็มที เวลาจะตายทำไมต้องตายหลายๆศพจึงจะสามารถเรียกให้คนในสังคมหันมามองได้ ศพเดียวแทบไม่มีค่าอะไรให้สังคมหันมาสนใจแล้ว

แต่ชีวิตของหนุ่มชาวเหนืออย่างแดงยังโชคดีอยู่บ้างที่ยังมีชีวิตรอดมาได้แม้ต้องแรกด้วยครึ่งหนึ่งของร่างกาย แม้จะถูกแอบซ่อนไว้ในหลังความเจริญทางอุตสาหกรรมของประเทศไทยแต่มันคงเป็นตราบาปที่คอยประจานความล้มเหลวของระบบความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมไทยตราบเท่าที่ชีวิตของเขาจะทนอยู่ได้ในโลกนี้

///////////////////////////////////