ชี้อุปสรรคกฎหมายภาคประชาชนอยู่ที่นโยบายรัฐบาล

 

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555  ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306  อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานด้านนิติบัญญัติของวุฒิสภา  ได้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เรื่อง การมีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน  ทั้งนี้ มีร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยภาคประชาชนต่อรัฐสภาเป็นจำนวนหลายฉบับ แต่ยังไม่ได้ถูกผลักดันออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ ที่นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสนอ รวมอยู่ในนั้นด้วย
 
นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ กล่าวว่า  เครือข่ายกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ได้มีการขับเคลื่อนผลักดันแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมเพื่อให้สอดคล้องทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารเงินกองทุน  การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการบริหารเงินกองทุนซึ่งมีจำนวนมหาศาล รวมทั้งการขยายการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน เป็นต้น  ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์อย่างหนักและต่อเนื่อง  ได้ไปยื่นหนังสือให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการรับรู้ความต้องการของฝ่ายแรงงาน  ทั้งประธานรัฐสภาฯ ประธานวิปรัฐบาล ประธานวิปฝ่ายค้าน กรรมาธิการการแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมทั้งหัวหน้าและสส.พรรคฝ่ายค้าน จนล่าสุดได้ไปทวงถามความคืบหน้ากับทางกระทรวงแรงงาน ซึ่งก็ได้คำตอบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่เห็นร่างเลย จนกระทั่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน นายนคร  ศิลปอาชา ได้ช่วยติดตามและทราบมาว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วและจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน เพื่อให้ทันเข้าบรรจุในวาระการประชุมสภาฯในเดือนสิงหาคมนี้
 
นอกจากนี้ผู้แทนซึ่งเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่างๆที่เสนอโดยภาคประชาชน อาทิเช่น  ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ….  ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …. ซึ่งปัญหาอุปสรรคในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชน คือ ความล่าช้าขั้นตอนในการพิจารณารายชื่อใช้เวลานานมาก  ปัญหาเรื่องการกรอกแบบฟอร์มเอกสารจะต้องเป็นหมึกสีเดียวกัน รายมือเดียวกัน เรื่องค่าใช้จ่าย   เรื่องการที่จะต้องมีกฎหมายของรัฐบาลเข้าประกบ ปัญหาการร่างสาระสำคัญของกฎหมายซึ่งประชาชนผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายเป็นผู้ร่างเอง  เสนอให้ใช้เพียงหมายเลขบัตร 13 หลักเท่านั้นในการเสนอกฎหมาย  และความไม่เข้าใจของประชาชนผู้ที่คิดว่าตัวเองจะต้องเสียผลประโยชน์ จนนำมาซึ่งการคัดค้านกันเองในชุมชน เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคทั้งสิ้น
 
  ด้านนายนิพนธ์  ฮะกีมี  เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน กล่าวว่า  สาเหตุที่ล่าช้าเพราะมีกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนและรัฐบาลเยอะมาก  ซึ่งต้องผ่านกระบวนการต่างๆมากมาย  ต้องศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน  และเสนอว่าเวลาเสนอร่างกฎหมายควรให้ทำประชาพิจารณ์ก่อน  และเขียนร่าง พ.ร.บ.ไม่ให้ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ
 
นายวัชรินทร์  จอมพลาพล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า ความจริงแล้วการพิจารณากฎหมายไม่จำเป็นต้องมีร่างของรัฐบาลประกบ กฎหมายไม่ได้เขียนไว้  ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐ ซึ่งอำนาจเซ็นรับรองอยู่ที่นายกรัฐมนตรีที่จะดูนโยบายเป็นหลัก 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน