เมื่อวันที่ 11มีนาคม 2555 มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน จัดงานสัมมนาเรื่อง “ค่าจ้าง และข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงาน” ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ
ในช่วงการอภิปรายเรื่อง “นโยบายค่าจ้างกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย-ไม่เป็นธรรมอย่างไร”
นางสาวสงวน ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ให้ความเห็นว่า คนงานทำงานมานานมีทักษะฝีมือสูงก็ยังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูง จึงต้องมีการทำงานล่วงเวลาเพื่อให้มีรายได้เพียงพอแต่ก็ส่งผลต่อสุขภาพมาก ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเพราะมีภาระต้องส่งเสียครอบครัว
อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ พูดถึงสังคมไทยว่าเดิมใช้แรงงานเกณฑ์ เมื่อมีระบบทุนเข้ามาจึงมีการจ้างงาน และยุคแรกๆค่าจ้างของไทยก็สูงซึ่งขึ้นกับความต้องการแรงงานเป็นตัวกำหนดค่าจ้าง ต่อมาแม้คนงานจะเกิดสิทธิในการเจรจาต่อรองกำหนดค่าจ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการรวมตัวสร้างอำนาจต่อรอง และการกำหนดเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำก็เพื่อเป็นหลักประกันด้านรายได้ให้คนงานและครอบครัวที่ไร้อำนาจต่อรอง
ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ ชี้ให้เห็นว่า ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีการใช้ “ค่าจ้างยืดหยุ่น” ในการจ้างงาน ซึ่งเป็นมาตรการในการกดค่าจ้าง การกระจายการกำหนดค่าจ้างไปสู่ไตรภาคีระดับจังหวัดซึ่งรวมทั้งการนำแรงงานข้ามชาติมาใช้ เป็นการหาแหล่งแรงงานราคาถูกเพื่อตอบสนองการผลิตส่งออก ทำให้เกิดคนรวยกระจุกตัวและสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ
และกล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทว่าคิดบนฐานคะแนนเสียงเพื่อชนะเลือกตั้ง เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็มีการปรับเปลี่ยนนิยามค่าจ้างว่าเป็นรายได้ และก็ปรับขึ้นเพียงบางจังหวัด ซึ่งอุตสาหกรรมใหญ่อาจจ่ายได้ แต่กลุ่ม SME ซึ่งมีอยู่ราว 75% และเป็นกลุ่มฐานคะแนนเสียงของรัฐบาลด้วยจะมีปัญหา จึงเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนนโยบายประชานิยมไปเป็นรัฐสวัสดิการ ปรับแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูง ค่าจ้างสูง สวัสดิการดี ส่งเสริมการสร้างอำนาจต่อรองของลูกจ้าง และใช้นโยบายค่าจ้างเพื่อการพัฒนาประเทศไม่ใช่เพื่อการกดค่าจ้าง