ชี้ชะตาสื่อแรงงาน – อยู่หรือไป สำคัญไฉน

วันที่ 24  พฤษภาคม 2555 มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยร่วมกับสำนักรับฟังและการมีส่วนร่วมสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดเสวนาเรื่องบทเรียนจากโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน ณ ห้องประชุมไทย พี บี เอส  ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่   กรุงเทพฯ โดยในการจัดเสวนาครั้งนี้เป็นการประเมินผลการบทเรียนจากโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน และทำงานของนักสื่อสารแรงงานตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด และต่อจากนี้จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร
 
ผศ.ดรนภาพร อติวานิชยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบัณฑิตอาสาสมัคร ซึ่งเป็นผู้ที่ทำการวิจัยการทำงานของโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน โดยได้ลงพื้นที่จัดกลุ่มพูดคุยสอบถามกับนักสื่อสารแรงงาน และผู้นำแรงงานในพื้นที่ต่างๆ แล้วนำกลับมารวบรวมทำรายงานผลการทำวิจัยโดยสรุปได้ดังนี้
 
1.  กระบวนการทำงานของโครงการนักสื่อสารแรงงานมีความแตกต่างจากการฝึกอบรมทั่วไปองค์กรที่รับผิดชอบมีความตั้งใจจริงเข้าใจธรรมชาติของคนทำงานและมีประสบการณ์ร่วมกับขบวนการแรงงาน
 
2.   โครงการประสบความสำเร็จในการสร้างนักสื่อสารฯและสร้างสื่อของขบวนการแรงงานแต่ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การพึ่งตนเอง
 
3.  ความสำเร็จของโครงการฯส่งผลต่อความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานในขณะเดียวกันการพัฒนาโครงการฯจะต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรแรงงานด้วย
นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนักสื่อสารแรงงานอีกหลายๆท่านที่ได้แสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วยกัน
 
นายชาลี   ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(ค.สรท.)ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯและนักสื่อสารแรงงานว่า สื่อนั้นถือว่าเป็นหัวใจหลักในอดีตที่ผ่านมาคนงานโดนเลิกจ้างได้รับความเดือดร้อน สื่อกระแสหลักบางครั้งมาได้นำเสนอเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้เลยในทางกลับกันกลับนำเสนอข่าวในทางลบในเชิงคนงานก่อความเดือดร้อน ปิดถนน ทำให้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น แต่คนงานไม่มีโอกาสหรือมีช่องทางอธิบาย
 

ตนจึงได้พูดคุยกับหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เราน่าจะทำทำสื่อที่เป็นของตัวเองออกมาเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เป็นจริงของคนงานให้กับสังคมได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงทุกวันนี้ Voicelabour.org ได้รับการยอมรับจากหลาย ๆองค์กรในการค้นหาข้อมูลที่เป็นจริงอีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับสื่อสารธารณะให้ได้หยิบยกความจริงเหล่านี้ไปตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ จากการทำโครงการฯนี้มาเป็นเวลา 2 ปีถือว่า ประสบความสำเร็จ หากไม่ได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นักสื่อสารมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆตลอดจนสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เข้ามาสนับสนุนขบวนการแรงงานก็อาจจะถูกโลกลืมไปในที่สุด
 
นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการฯและนักสื่อสารแรงงานว่า ประเด็นแรงงานนั้นเป็นประเด็นที่สังคมไม่ได้ให้ความสนใจเราจะอาศัยการสื่อสารธรรมดานั้นไม่ได้เพราะสื่อมวลชนทั่วไปเขาจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่ทุกคนสนใจฉะนั้นแล้ว เราจะมารอฟังข่าวของคนงานจากสื่อทั่วไปนั้นเป็นไปได้น้อยมาก 
 
ดังนั้นขบวนการแรงงานนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีองค์กรนักสื่อสารแรงงานเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะเสนอประเด็นหรือสะท้อนปัญหาของเราเองนั้นได้ตรงจุดมากกว่าที่จะไปพึ่งพาสื่อมวลชนกระแสหลักภายนอกเพียงอย่างเดียว นักสื่อสารแรงงานจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการที่จะนำพาขบวนการแรงงานให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการสื่อสารให้สาธารณชนได้รับรู้ประเด็นของแรงงานต่อไป
 
นายวิชัย  นราไพบูลย์ ผู้จัดการโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้กล่าวถึง การทำงานขององค์กรนักสื่อสารแรงงานตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาว่า จากการทำงานที่ผ่านมาถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งเราสามารถผลิตนักสื่อสารแรงงานได้หลายๆคนแม้ว่า ในการฝึกอบรมในแต่ละรุ่นจะผลิตนักสื่อสารออกมาทำงานไม่ได้หมดทุกคน แต่ก็ถือว่า หลายคนสอบผ่านแม้ในการทำงานจะมีอุปสรรคบ้างต่างๆ นา ๆ และในตอนนี้เราก็มีสื่อที่เป็นของคนงานเองไม่ว่าจะเป็น เว็บไซด์ Voicelabour.org,หนังสือพิมพ์ วอยซ์เลเบอร์ฉบับรายเดือน จดหมายข่าวแรงงานปริทัศน์ และสื่อในหลายพื้นที่ที่ผลิตเองเพื่อให้เกิดการเข้าถึงสมาชิกซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นประโยชน์กับคนงานแทบทั้งสิ้นจึงอยากฝากไปยังหน่วยงาน องค์กรแรงงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันสนับสนุนการทำงานของนักสื่อสารแรงงานให้คงอยู่และก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กันกับขบวนการแรงงานต่อไป
 
กระมนต์  ทองออน นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวแรงงานสมุทรปราการเขตพื้นที่ชลบุรี – ระยอง รายงาน