ชีวิตคนงาน-ครอบครัวปิดเทอม

โดย สราวุธ ขันอาสา นักสื่อสารแรงงานภาคตะวันออก ชลบุรี-ระยอง

องค์ประกอบของ “ครอบครัว” โดยทั่วไปตามที่ทุกคนเข้าใจคงหนีไม่พ้นองค์ประกอบเบื้องต้น สามสิ่งคือ “พ่อ แม่ ลูก” ที่เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งคงต้องมีกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ซึ่งหน้าอยู่ตลอดเวลา จึงจะถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมหน้าพร้อมตา ตามที่ทุกคนเข้าใจ

แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ทุกคนอาจจะลืมคิดหรือไม่เคยคิดถึงเลย คือกลุ่มคนที่ทำงานใน โรงงานอุตสาหกรรมตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆหรือคนที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่นั้น พวกเขามีครอบครัวที่สมบูรณ์หรือไม่และถ้ามีแล้วเขาจะมีครอบครัวของเขาอย่างไร คงจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ อาจเข้าใจได้ไม่ลึกซึ้งนักหากไม่ประสบกับตัวเอง แต่ก็มีคนงานจำนวนมากที่พยายามสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ตามปัจจัย 3 อย่างที่กล่าวข้างต้น

นายอุดมพร ชาวพงษ์ คนงานในบริษัทอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ แห่งหนึ่งใน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ที่พยามจะทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวของตนให้ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ด้วยการซื้อบ้านจัดสรรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อที่จะนำลูกจากต่างจังหวัดมาเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด แต่ต้องแลกกับทำงานและทำโอทีอย่างหนัก เพื่อที่จะได้มีรายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัว แต่ท้ายสุดก็ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ไหวจึงต้องจำเป็นส่งลูกกลับไปเรียนที่ต่างจังหวัดเหมือนเดิม

นาย อุดมพร ให้ข้อมูลว่า “ เมื่อปี 53 ตนและภรรยาตัดสินใจซื้อบ้านหลังหนึ่ง เพื่อที่จะให้ลูกวัย 4 ขวบมาอาศัยด้วยกัน และให้เรียนหนังสือที่นี่ ซึ่งก็สามารถทำได้เพียง 1 ปี ก็ต้องส่งลูกกลับไปต่างจังหวัดเหมือนเดิม เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงได้ ทั้งค่าผ่อนบ้าน ค่าอาหาร ค่าเทอมลูกเทอม 8000 กว่าบาท ค่าพี่เลี้ยงเพิ่มเติมอีกเดือนละ 2,000 บาท ต้องจ่ายเพิ่มเนื่องจากเราไม่สามารถมารับลูกได้ในช่วงเลิกโรงเรียนเพราะเราต้องทำงานและทำโอที ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเพราะยังมีรายจ่ายอีกหลายด้านที่ต้องใช้จ่ายเช่นกัน”

เขายังกล่าวอีกว่า “ ตอนนี้หากอยากอยู่พร้อมหน้ากันก็ต้องอาศัยช่วงที่โรงงานมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน หรือ โรงเรียนปิดเทอม เท่านั้น ซึ่งการพบกันแต่ละครั้งก็มีปัญหาเรื่องค่าใช่จ่ายเรื่องค่าเดินทางที่สูงมาก จึงต้องอาศัยช่วงที่ปิดเทอมเท่านั้นที่จะได้อยู่ด้วยกันนานที่สุดและคุมค่ากับค่าใช่จ่ายในการเดินทางในแต่ละครั้งที่สูงพอสมควร”

เช่นเดียวกันกับ นาง ดารุณี พลซ้าย ที่จะได้พบหน้าลูกของเธอทั้ง 2 คนก็เฉพาะช่วงวันหยุดเทศกาลและช่วงที่ลูกคนโตวัย 5 ขวบ ปิดเทอมเท่านั้น “ปีหนึ่งก็เจอหน้าลูกๆเพียง 2 ครั้ง คือ ช่วงปีใหม่ที่มีวัดหยุดยาวและเจออยู่ด้วยกันนานที่สุดก็ตอนปิดเทอม แต่ต้องรับลูกๆจากบึงกาฬมาเลี้ยงที่ชลบุรี แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางที่มากก็ยอม” ดารุณี กล่าวอย่างมีความสุข

ทั้งสองคนนี้เป็นแต่เสี้ยวหนึ่งของ คนงานที่มาทำงานในเมืองใหญ่เท่านั้น หลายท่านอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ที่เกิดขึ้นและเป็นเช่นนี้มาอย่างยาวนาน แต่คนงานเหล่านี้มีสิทธิที่จะมีครอบครัวแค่ตอนปิดเทอมแค่นั้นหรือ พวกเขาไม่มีสิทธิมีครอบครัวตลอด 365 วันเหมือนครอบครัวทั่วไปหรือ รัฐเองในฐานะผู้ดูแลประชาชน โดยเฉพาะ กระทรวงแรงงานและกระทรวงพัฒนาสังคมฯควรมีบทบาทมากกว่านี้และเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้คนงานมีครอบครัวแค่ตอนปิดเทอม

////////////////////////////////