คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดประชุมประจำปีเพื่อรายงานผลการดำเนินงานในปี 2555 และกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงาน วันที่ 30 – 31 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดฉะเชิงเทรา
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้พูดถึงการร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ คสรท. โดยการจัดเวทีประชุมมากกว่าสิบครั้งเพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากพี่น้องผู้ใช้แรงงานจนสามารถสรุปความคิดรวบยอดออกมาเป็นการยุทธศาสตร์ 4 ข้อ ได้มีการรับรองเป็นเอกฉันท์จากพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 แผนประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ก้าวสู่การเป็นพลังนำในการสร้างสังคมที่เสมอภาคและเป็นธรรม
เป้าหมายที่ 1 เสนอและผลักดันทางเลือกการพัฒนาประเทศที่เป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม
เป้าหมายที่ 2 เพิ่มพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้ใช้แรงงานให้ได้สัดส่วนกับประชากร
เป้าหมายที่ 3 ขบวนการแรงงานไทยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงานสากลที่มีส่วนกำหนดทิศทางอนาคตของโลกที่เป็นธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง
เป้าหมายที่ 1 เปลี่ยนกรอบกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กติกา ที่เป็นข้อจำกัดต่อการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของแรงงาน เพื่อเปิดเงื่อนไขสู่การสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง
เป้าหมายที่ 2 ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้ความรู้เพื่อให้เกิดการยอมรับในสิทธิการรวมตัว และเจรจาต่อรองร่วมในประเทศไทย
เป้าหมายที่ 3 สร้างและปรับเปลี่ยนกลไก เพื่อการส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งเชิงปริมาณ
เป้าหมายที่ 1 เร่งขยายการจัดตั้งแรงงานทุกภาคส่วน
เป้าหมายที่ 2 ปฏิรูประบบการจัดการศึกษาของขบวนการแรงงานและเร่งสร้างนักแรงงานรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึก ความมุ่งมั่นเข้าทำงานให้กับขบวนการแรงงาน
เป้าหมายที่ 3 สร้างแนวร่วม พันธมิตรเพื่อก้าวสู่การเป็นสหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างความเข้มแข็งเชิงคุณภาพ
เป้าหมายที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาระบบกลไกสื่อสารขององค์กรแรงงานทุกระดับให้มี ประสิทธิภาพ
เป้าหมายที่ 2 การสร้างเอกภาพแนวนอนโดยการควบรวมองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกันเข้าด้วยกัน
เป้าหมายที่ 3 การสร้างเอกภาพแนวตั้งโดยการเชื่อมร้อยองค์กรแรงงานทุกระดับเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ
เป้าหมายที่ 4 ปฏิรูปโครงสร้างองค์กรและระบบการบริหารจัดการขององค์กรทุกระดับชั้นให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน
เป้าหมายที่ 5 สร้างขบวนการแรงงานที่เป็นอิสระพึ่งพิงตนเอง
อ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา กล่าวว่าการจะหาคนและทุนเพื่อมาทำแผนให้เป็นจริงต้องมีเงินทุนปีละ 1 แสนกว่าบาท จะหาได้ยาก ปัญหาจะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การเปลี่ยนแปลงจะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การวางแผนระดมทุน การเก็บแบบเป็นเปอร์เซ็นระยะสั้นเพื่อเป็นรูปแบบว่าจะหาทุนในปีแรก 2.5 ล้านบาท จะหาเงินมาจากตรงไหน
นางสาวธนพร วิจันทร์ คนและงบประมาณ การจัดเก็บเงินค่าบำรุงของเครือข่ายสมาชิกต้องทำความเข้าใจกับการจัดเก็บเงินค่าบำรุงเพราะบางสหภาพก็ยังเก็บแบบ 10 – 20 บาท ยังไม่ได้เก็บเป็นเปอร์เซ็น ซึ่งแต่ละสหภาพต้องสร้างศรัทธา และ คสรท. ต้องจัดให้ความรู้แต่ละสหภาพ เรื่องการจัดเก็บเป็นเปอร์เซ็น ว่ามีประโยชน์อย่างไร ซึ่งในส่วนของสิ่งทอ ยังมีปัญหาอยู่เพราะสมาชิกลดลง
ผู้เข้าร่วมเสนอเพิ่มเติม คสรท.ไม่ได้เป็นของใครซึ่งทุกคนที่เข้ามาอยากให้ช่วยกันทำงานและอยากให้แต่ละสร.กลับไปคุยกับสมาชิกของตัวเอง ซึ่งถ้ากลับไปเก็บเป็นเปอร์เซ็นก็จะดีและน่าจะให้คณะทำงานลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับสมาชิกในแต่ละพื้นที่เพื่อง่ายต่อการจัดตั้ง
นายยงยุทธ เม่นตะเภา พอใจกับปัญหาที่ทุกคนนำเสนออยากให้ทำตามสโลแกนที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นของทุกคนและ คสรท. ต้องมีเงินทุน เรื่องค่าจ้างไม่ต่างกันมาก แต่สำคัญที่ความคิด นำเสนอว่าต้องหาทุนมากองไว้ 1 ส่วน ซึ่งเราต้องหาเงินมาเป็นทุนและต้องทำเป็นทีม ไม่ใช่มีแต่ขอทุนซึ่งหนักกว่าที่ผ่านมา เพราะเราต้องมีการให้ความรู้กับสมาชิก ซึ่งประเทศเรามีองค์กร 300 กว่าแห่ง
นายวิชัย นราไพบูลย์ เราผ่านวิธีการมาแล้วไม่ต้องคุยว่าเป็นยังไงแต่จะต้องกลับไปศึกษาว่าเราจะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังยังไง เรื่องเงินระยะแรกรณรงค์แค่สหภาพ เรื่องการทอดผ้าป่าเป็นเรื่องความสมัครใจ คสรท.คือตัวเองต้องมีส่วนช่วยให้คนอื่นเข้มแข็ง และเข้าสู่กฎเกณฑ์กติกา เสนอให้ปีแรกบริจาคแต่ละองค์กรให้เสนอมาเลยว่าจะบริจาคอย่างไร ซึ่งต้องหาจากสมาชิกคสรท.ว่ามีสัดส่วนเท่าไร
วันที่ 31 มีนาคม 2556 เป็นการสรุปผลการทำงานปี 2555 – 2556
นายชาลี ลอยสูง กล่าวถึงการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2554 – 2556 สรุปผลงานเด่นที่เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนภายใต้การนำของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย โดยตรงได้ 7 เรื่องหลัก
1 โครงการ ยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 2556 – 2565
2 การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ
3 การผลักดันร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ( ฉบับบูรณาการแรงงาน )
4 การผลักดันเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
5 การขับเคลื่อนค่าจ้างที่เป็นธรรม และการบังคับใช้นโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ
6 การเรียกร้องต่อภาครัฐให้มีมาตรการเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
7 การช่วยเหลือและพื้นฟูแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ข้อจำกัดในการทำงานของ คสรท. ที่ไม่สามารถทำงานตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแผน
1. ข้อจำกัดเชิงบริหาร โครงสร้างเดิมไม่สามารถทำงานได้จริง
2. ข้อจำกัดเชิงปริมาณ องค์กรสมาชิกมีภาระงานและได้ขับเคลื่อนงานตามประเด็นเฉพาะด้านโดยตรงที่ดีอยู่แล้ว
3. ข้อจำกัดเชิงเนื้อหา เนื่องจากในแผนงานของ คสรท. มีการกำหนดประเด็นการทำงานแต่ละปี
4. ข้อจำกัดเชิงการติดตามประเมินผล คสรท. มีเวทีประจำเดือนเพื่อรายงานความก้าวหน้าการทำงานและติดตามประเมินผล แต่ละคนไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับประเด็นในแผนทุกเดือน
การเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในที่ประชุมมีมติเสนอคณะกรรมการชุดใหม่
- นายชาลี ลอยสูง ประธาน
- นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคนที่ 1
- นายศรีโพธิ์ วายุพักษ์ รองประธานคนที่ 2
- นายสาวิทย์ แก้วหวาน รองประธานคนที่ 3
- นายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขานุการ
คณะกรรมการอำนวยการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มาจากประธานและเลขา ของแต่ละยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 นายเฉลย สุขหิรัญ นายประเวศน์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ธนพร วิจันทร์ นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล
ยุทธศาสตร์ที่ 3 นางสาววาสนา ลำดี นายประวิทย์ ธรรมรักษ์
ยุทธศาสตร์ที่ 4 นายลาเร่ อยู่เป็นสุข นายวิชัย นราไพบูลย์
นายชาลี ลอยสูง กล่าวว่าคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะไม่แบ่งแยกสีแต่จะเป็นศูนย์รวมของทุกภาคส่วนเพื่อเป็นศูนย์รวมของการผลักดัน ช่วยเหลือในด้านแรงงานซึ่งจากการมาประชุมทำให้เห็นว่าทุกท่านได้เสียสละเงินคนละ 300 บาท ทุกคนที่มาประชุมมีเครือข่ายที่ยังไม่เป็นองค์กรร่วม คือ กลุ่มย่านอยุธยาและใกล้เคียงจะเข้ามาเป็นสมาชิก ในที่ประชุมมีมติรับรองกลุ่มย่านอยุธยาและใกล้เคียง เข้ามาเป็นสมาชิกคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย – อ้อมใหญ่