ชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติชาวพม่า รับเงินชดเชย หลังศาลแรงงานพิพากษาตามการไกล่เกลี่ย

 
เหตุเกิดมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 นายชาลี ถูกผนังปูนหล่นทับ ระหว่างทำงานก่อสร้างให้ผู้รับเหมาซึ่งทำการรื้อถอน ดัดแปลง และต่อเติมห้องทำงานวิศวกรภายในอาคารโรงงานบริษัท CP ในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานวินิจฉัยว่าการดำเนินการก่อสร้างไม่เป็นไปตามกำหนดวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยตามมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 นายชาลีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานี ต่อมาตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนายชาลีด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเกือบถูกส่งกลับประเทศพม่าทั้งที่ยังป่วยหนัก เมื่อ มสพ. เข้าให้ความช่วยเหลือ นายชาลีจึงถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจที่ซึ่งนายชาลีถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงในสถานะผู้ป่วยต้องกัก ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายนาชาลีเและให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีหลักฐานว่าชาลีได้ขึ้นทะเบียนแรงงานไว้แล้ว
 
ปัจจุบันเเม้นายชาลีจะอาการดีขึ้นแล้วหลังจากต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการตลอดมาเป็นเวลากว่า 1 ปี แต่ยังคงต้องดามเหล็กเพื่อรักษากระดูกสะโพกและขาที่หัก โดยที่ชาลียังไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติตามเดิมและมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถกลับไปทำงานใช้แรงงานหนักได้อีก และเนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งตามระเบียบสำนักงานประกันสังคมกำหนดให้ไม่สามารถได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนได้ แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จึงถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการดูแลเยียวยาการบาดเจ็บจากการทำงานจากกองทุนเงินทดเเทน แม้สำนักงานประกันสังคมจะเข้ามาดูแลเป็นตัวกลางในการมีคำส่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาดูแลค่ารักษาพยาบาลสำหรับนายชาลี หรือนายจ้างในกรณีอื่น ๆ ที่คล้ายกัน แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคในการบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งหรือมีความล่าช้า ส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติไม่สามารถได้รับการเยียวยาได้อย่างทันท่วงทีและเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามสิทธิที่ตนควรได้รับ
 
มสพ. ได้ให้ความช่วยเหลือในการต่อทะเบียนแรงงานให้กับนายชาลีเพื่อให้ยังสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ในระหว่างดำเนินการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย และด้วยความช่วยเหลือจาก มสพ. ชาลี จึงได้ยืนฟ้องต่อศาลแรงงานขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบของสำนักงานประกันสังคม โดยเห็นว่าเป็นระเบียบที่เลือกปฏิบัติและขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึี่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก็ได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยทบทวนระเบียบดังกล่าวนี้ โดยคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และอีกคดีซึ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง และบริษัท CP โดยศาลได้มีคำพิพากษาตามการไกล่เลี่ยตกลงระหว่างคู่ความให้บริษัท CP ชดเชยค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และนายธารา ริตแตง นายจ้างซึ่งเข้ามาในคดีในวันสุดท้ายตกลงจ่ายค่าเสียหาย ๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนผู้รับเหมาก่อสร้างไม่เข้ามาในคดี โดยหลังจากนายชาลีได้รับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม จึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาในประเทศพม่าตามความประสงค์ของนายชาลีและครอบครัว
 
                        มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา