วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2555 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานพิธีรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่ 39 ช่วงเช้ามีพี่น้องประชาชน นำข้าวสาร อาหารแห้งมาร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 14 รูป และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ญาติวีรชนที่เสียชีวิต ณ บริเวณด้านหน้าอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ส่วนใหญ่เป็นญาติวีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาร่วมพิธี และในเวลา 09.00 น. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน นายกรัฐมนตรี รวมถึงประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และญาติวีรชน ร่วมวางพวงมาลา พร้อมกล่าวสดุดีวีรชน
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้แทนแรงงานร่วมกล่าวสดุดีวีรชน กล่าวว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างกว้างขวาง อุดมการณ์ทางความคิด การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหตุการณ์ 14 ตุลาได้กระตุ้นการขับเคลื่อนประชาธิปไตย จนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพประชาชน แต่ก็ใช่ว่าเสรีภาพของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของวีรชนจะบรรจุเสร็จสมบูรณ์ ยังมีภาระหลายประการที่จะต้องช่วยกันแบกรับภาระ และสืบสานต่อไป ประชาธิปไตยของประชาชนยังมีความจำเป็นต้องต้องพัฒนาอีกมาก ยังต้องส่งเสริมประชาชนให้เกิดการตื่นตัว เรียนรู้ประชาธิปไตยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของอำนาจทุกระดับ วันครบรอบการรำลึกวันที่ 14 ตุลา จึงมิใช่เป็นเพียงการรำลึกถึงเท่านั้น แต่จะเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนรำลึกถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลาทุกวาระและโอกาส ช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยกำลังเผชิญความขัดแย้ง ความหลากหลายทางความคิดที่แตกต่างทางด้านการเมือง แต่มันจะนำพาสังคมไปสู่การเป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้น สำหรับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้ใช้แรงงานยังเป็นเพียงกองเชียร์ราคาถูกของพรรคการเมือง ยังไม่มีพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากยังไม่สามารถเลือกตั้งในสถานที่ทำงานได้ การพัฒนาประชาธิปไตยสำหรับผู้ใช้แรงงานคือ การมีจำนวนสหภาพแรงงานเกือบจะต่ำที่สุดในโลก เนื่องจากการพัฒนาการผูกขาดล้าหลัง ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้มั่งคั่ง โดยไม่สนใจต่อสิทธิของแรงงาน เราขอประกาศว่าเราจะขอสานต่อการลุกขึ้นต่อสู้กับระบอบเผด็จการของนักศึกษาปี 2516 เพื่อคัดค้านเผด็จการ ต่อต้านรัฐประหารและสร้างสรรค์ประชาธิปไตยสืบต่อไป
ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานรำลึก 14 ตุลา ประจำปี 2555 ว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความสำคัญ และได้เรียนรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยต้องมีการพูดถึงและให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยเรียนรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก ควรหาวิธีว่าควรทำอย่างไรไม่ให้ประเทศชาติอยู่บนความขัดแย้ง ซึ่งก็เชื่อว่า การปกครองที่ถูกต้องคือ ประเทศต้องยึดหลักประชาธิปไตยเป็นหลัก ประชาชนในสังคมที่คิดต่างกันอยู่ในขณะนี้ หากอยู่ภายใต้กรอบกติการ่วมกัน ก็จะไม่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาขึ้นอีก
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน