ชะตากรรมแรงงานในภาวะน้ำท่วม

 โดย ธีระวุฒิ เบญมาตย์ นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวสมุทรปราการ

                ผลจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมากว่า 2 เดือน ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศ ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า โดยเริ่มจากภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ  ต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ ในพื้นที่ 21 จังหวัดที่เกิดขึ้น โดยภาพรวมทำให้ผู้ใช้แรงงานในระบบได้รับผลกระทบประมาณ 1ล้าน1หมื่น คน สถานประกอบการโรงงานได้รับความเสียหาย 28,500 กว่าแห่ง นิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ 9 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมนวนคร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี และ โรงงานในเขตอุตสาหกรรมอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี กทม. และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม.

                ทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมช่วงเดือนตุลาคม  ถึงเดือนพฤศจิกายน 2554 ตกต่ำสุดในรอบ 26 เดือน   ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตน้ำท่วมที่หลายต่อหลายคนมองว่าเป็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำที่สามารถป้องกันได้  ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และพื้นที่ใกล้เคียง  ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรม ยานยนต์ ชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า   ถือเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ต้องหยุดสายการผลิตทั้งระบบ ทำให้มีผลกระทบต่อแรงงานทั้งระบบ ปัญหาการจ้างงาน การขาดรายได้ และบางส่วนได้รับผลกระทบทันทีคือ ถูกเลิกจ้างทันที บางส่วนที่เป็นแรงงานเหมาค่าแรงป่านนี้ยังหานายจ้างไม่เจอ ไม่รู้ชะตากรรมว่ายังคงสภาพแบบไหนถูกเลิกจ้างหรือยัง สวัสดิการ และค่าจ้างจะได้รับหรือไม่

                ภายใต้สภาวะน้ำท่วมยังมีบางสถานประกอบการที่แม้มีผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างเช่น บริษัทฮ้อนด้า ประเทศไทย บริษัทพานาโซนิคส์ ประเทศไทย เป็นต้น ที่ยังจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเต็ม100%  อันนี้ต้องขอชมเชยนายจ้างที่มีน้ำใจนำเอาผลกำไรมาแบ่งปันให้ลูกจ้างเกิดความรักบริษัทมากขึ้น บนฐานที่เห็นบริษัทเปรียบเหมือนบ้านอีกหลังที่รอวันได้กลับเข้าทำงาน แต่ภายใต้สถานการณ์เดียวกันกับมีบางบริษัทที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วมกับเขาเลย และไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงกับฉวยโอกาสใช้  ม.75 สั่งให้หยุดงานชั่วคราวจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 บาท (โดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนทางภาคตะวันออก)

                คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ไม่ได้นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ มีนโยบายเร่งด่วน ระดมทุนจากสมาชิกฯ ข้าวสาร อาหารแห้ง สินค้าอุปโภค บริโภค ต่างๆ ลงพื้นที่เปิดศูนย์ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทันที และยังเปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานเพิ่มในเขตพื้นที่อ้อมน้อย สมุทรสาคร เป็นการเปิดศูนย์ที่ไม่ได้ช่วยเหลือแต่พี่น้องแรงงานอย่างเดียว ยังให้การช่วยเหลือพี่น้องในชุมชนใกล้เคียง ไม่เว้นแม้แต่แรงงานข้ามชาติ พม่า กัมพูชา ลาว ช่วยทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน

                ส่วนมาตรการการช่วยเหลือของรัฐบาลในการเหยี่ยวยาในครั้งนี้ที่จ่ายผ่านนายจ้างที่เข้าโครงการ  2,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ถือว่าเป็นการเหยี่ยวยาที่ผิดหลักความเป็นจริงแทนที่จะจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง  กลับจ่ายให้นายจ้างที่เข้าโครงการกับหน่วยงานของรัฐ(กระทรวงแรงงาน) มีเงื่อนไขนายจ้างจะต้องทำMOUs  ที่จะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเป็นเวลา 3 เดือน และต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างเดิมแสดงว่ารัฐบาลไม่ห่วงผู้ใช้แรงงาน แต่กลับกลัวนายทุนไม่ลงทุนต่อ นี่คือวิธีการที่แก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล

                ส่วนคสรท.ก็มีข้อเสนอต่อรัฐ เพื่อให้แก้ปัญหาของแรงงานอย่างมีคุณคือ 1. รัฐบาลต้องหยุดการเลิกจ้างในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมลูกจ้าง 2. รัฐบาลต้องมีมาตรการในการเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ชัดเจนและทั่วถึง 3. ผู้ประสบภัยพิบัติต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการในการเยียวยาและฟื้นฟูตนเองอย่างแท้จริง 4. รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 กับลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม 5. รัฐบาลต้องสำรวจและจัดทำข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างได้รับทราบเกี่ยวกับผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล

                ผลกระทบหลังน้ำลดมีคาดว่าปัญหามากมายที่จะตามมา  คนงานต้องเสี่ยงกับโรคที่มาจากน้ำการถูกเลิกจ้าง การถูกโกงค่าจ้างเวรช้ำกรรมชัดกับมนุษย์เงินเดือนแน่นอน แม้แต่ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยให้ปรับค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันยังถูกน้ำท่วมทั่วประเทศไปด้วย

*********************