ฉันชื่อ อารมณ์ พงศ์พงัน 30ปี ที่เติบโตทุกย่างก้าวเคียงชนชั้นแรงงาน

อารมณ์  พงศ์พงัน เกิดวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2489 ที่ ต.เกาะพงัน  จ.สุราษฎร์ธานี  เรียนชั้นประถมที่ โรงเรียนวัดราษฏร์เจริญ  ชั้นมัธยมที่ โรงเรียนมัธยมพงันวิทยา  จนจบ ม.6 เมื่อปี 2505ปี 2502 – 2507 ไปใช้ชีวิตเป็นชาวประมงจับปลาจะละเม็ดช่วงหนึ่ง เป็นคนแจวเรือที่ท่าเรือเกาะพงัน และไปเป็นคนงานในไร่มันสำปะหลังที่ระยอง ทั้งนี้เป็นเพราะฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี

ปี 2508 กลับเข้ามาเรียนต่อ ม.ศ.4 ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ แผนกวิทยาศาสตร์

ปี 2510 จบ ม.ศ.4 ไปสอบเข้าวิทยาลัยเทคนิค โคราช แผนกวิชาช่างโยธา คุณอารมณ์เป็นคนเรียนเก่งอยู่ในระดับแนวหน้า

ปี 2512 ได้รับกิตติคุณบัตรในฐานะนักศึกษาเรียนดี และได้รับเลือกเป็นประธานชุมนุม ภาษาและหนังสือของมหาวิทยาลัย ทั้งเป็นสาราณียกรจัดทำหนังสือประจำปีของวิทยาลัย

ปี 2513 ได้รับเลือกเป็นประธานนักศึกษา

ปี2514 จบการศึกษา ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และได้อุปสมบทที่วัดราษฎร์เจริญ

ต.เกาะพงัน

ปี 2515 ลาสิกขาบท แล้วเข้าทำงานในการประปานครหลวง และได้สมรสกับคุณอมรลักษณ์ มีบุตรสาวเพียงคนเดียว ชื่อ เบญจาภา  พงศ์พงัน

ปี 2518 จัดตั้งสหภาพแรงงานการประปานครหลวง

ปีเดียวกันนี้ ได้รับการเลือกให้เป็นรองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย  โดยมี นายไพศาล ธวัชชัยนันท์ เป็นประธาน

ปี 2519  ได้เป็นคณะกรรมการพิสูจน์อัตราแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารโดยร่วมกับรัฐบาล

เป็นคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเรื่องบริษัท ฮาร่า

เป็นที่ปรึกษากฎหมายแรงงานให้แก่ลูกจ้างหลายโรงงาน

เดือนมิถุนายน ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO ) ในฐานะผู้แทนจากฝ่ายกรรมกร

รัฐบาลเยอรมันตะวันตก เชิญไปดูงานในประเทศเยอรมันครึ่งเดือน

วันที่ 15 ตุลาคม 2519 คุณอารมณ์ ถูกจับที่บ้านพัก ข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาอื่นๆ ทั้งๆที่คุณอารมณ์ มิได้เข้าร่วมในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เลย ช่วง 2 ปีในคุกนี้เองที่โรคร้ายเริ่มคุกคามอย่างมาก ถึงกระนั้นคุณอารมณ์ก็ใช้เวลาเขียนหนังสือออกมามากมาย ทั้งเรื่องสั้น บทกวี ประวัติศาสตร์ขบวนการกรรมกร

วันที่ 16 กันยายน 2521 ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาได้รับการปล่อยเป็นอิสระ ทันทีที่ออกมาก็เข้าแบกรับงานที่สหภาพแรงงานและสภาองค์การลูกจ้างทันที ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาว่างเขียนหนังสือเท่าที่จะสามารถทำได้

ช่วงปี 2522 ได้เข้าร่วมทำวารสาร ข่าวคนงาน ของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย

ได้รับการไว้วางใจให้เป็น ประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง อีกครั้งหนึ่ง

ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น เรื่อง เพลงลาบทสุดท้าย จากสมาคมภาษาและหนังสือ

ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลที่ทำตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ร่วมกับคุณสุภาพ พัสอ๋อง เงินรางวัล 10,000 บาท

ช่วงตลอดปี 2522 โรคร้ายกำเริบ คุณอารมณ์ ต้องเข้าออกโรงพยาบาล จนวินาทีสุดท้ายเสียชีวิตเมื่อเวลา 08.05 น. ของวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2523

34 ปี ของคุณอารมณ์ พงศ์พงัน

เป็นที่รักของครอบครัวและลูก

เป็นที่รักใคร่ และไว้วางใจของเพื่อผู้ใช้แรงงาน

เป็นแบบอย่างที่ดีของเพื่อนๆ และผู้ใฝ่หาความเป็นธรรม

แต่เป็นปีศาจที่น่ากลัวสำหรับผู้โกงชาติบ้านเมือง

และนักเผด็จการทุกคน

มูลนิธิอารมณ์  พงศ์พงัน ก่อตั้งโดยการิเริ่มของผู้นำคนงานเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2525 เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับคนงานที่จะสืบทอดการต่อสู้ และภารกิจทางประวัติศาสตร์  ได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อ 13 มกราคม 2526 เป็นของผู้ใช้แรงงาน ดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษา ค้นคว้าปัญหาแรงงาน ไห้ความรู้ และเผยแพร่สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทย

กิจกรรมของมูลนิธิฯ

1. การศึกษาวิจัยปัญหาแรงงาน สภาพการจ้าง การทำงานของคนงานในอุตสาหกรรมต่างๆการรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพอันพึงมีพึงได้ ฯลฯ

2. การจัดสัมมนา เสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหาแรงงานสำคัญ และสถานการณ์แรงงานในรอบปี

3. การฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลแรงงาน และความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แรงงาน

4. การจัดพิมพ์หนังสือเล่มและเอกสารข้อมูลด้านแรงงาน

5. จดหมายข่าว แรงงานปริทัศน์เริ่มพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2530

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งมูลนิธิฯ

1. เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการศึกษาเผยแพร่ความรู้ทั้งทางด้านวิชาการ และประสบการณ์ การฝึกอบรมแก่ลูกจ้างตลอดจนเผยแพร่สารคดีเกี่ยวกับวิชาการด้านแรงงาน การแรงงานสัมพันธ์ และการพัฒนาแรงงาน

2. เพื่อให้การช่วยเหลือด้านกฎหมายและสวัสดิการแก่ผู้ใช้แรงงาน

3. เพื่อจัดตั้งสถาบันการคันคว้าให้ผู้ใช้แรงงานได้ทำการค้นคว้าเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและความมั่นคงของผู้ใช้แรงงาน

4. เพื่อร่วมมือกับองค์กรแรงงานและสถาบันอื่นๆที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแรงงาน

แรงงานปริทัศน์

เป็นจดหมายข่าวของ มูลนิธิอารมณ์ฯ กำหนดออกเดือนละ 1 ฉบับ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวขององค์กรแรงงาน สถานการณ์แรงงานในรอบเดือน รวมทั้งเผยแพร่บทความที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน

                แรงงานปริทัศน์ ฉบับที่ 1 ออกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2530 ราคาเล่มละ 5 บาท

                ฉบับต่อๆมาออกเดือนละ 1 ฉบับ รวมทั้งสิ้นออกมาแล้ว 153 ฉบับนับถึงเดือน เมษายน 2543 ราคาปัจจุบัน 12 ฉบับ 200 บาท

                ยังมีฉบับพิเศษ ที่ไม่ได้นับรวมเป็นเล่มประจำ คือฉบับ จับชีพจรการเคลื่อนไหวขององค์กรแรงงานไทย ปี 2542 พิมพ์เมื่อเดือน เมษายน 2543

                นี่คือผลงานของอารมณ์ พงศ์พงัน ที่เดินทางมาครบ 30 ปี วันนี้แม้ว่าฐานะการเงินกับการงานไม่สมดุลกัน แต่อารมณ์ ก็ยังก้าวเท้าเดินคู่เคียงข้างผู้ใช้แรงงานด้วยผลงานทางวิชาการ ยังคงมุ่งมั่นในการให้การศึกษา งานวิจัย และนำเสนอข่าวสารแรงงานอย่างเข้มแข็งด้วยจดหมายข่าวแรงงานปริทัศน์  

ในโอกาสครบรอบ  30 ปี  มูลนิธิอารมณ์  พงศ์พงัน ได้กำหนดจัดงานในวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2555  เวลา  18.00-22.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ การประปานครหลวง ถนนประชาชื่น แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.  โดยเต็มอิ่มกับโต๊ะ สั่งตรงจากนครปฐม  ราคา 300 บาท (โต๊ะละ 3,000)

พบเพื่อนมิตรของ “อารมณ์  พงศ์พงัน”  ผู้นำกรรมกรยุคเผด็จการเรืองอำนาจทศวรรษ  2520  ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ   เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์   วิทยากร เชียงกูล  สุนี  ไชยรส  เทิดภูมิ ใจดี  เจริญ ภัสระ  ฯลฯ  

รำลึกถึงอดีตอย่างเต็มรสจากบทเพลงเพื่อชีวิต  โดย  “หงา” คาราวาน  และ ภราดร เดินตามเวลา   สิบแปดนาฬิกาถึงยี่สิบสองนาฬิกา

ก้าวที่สอง   สิบแปดนาฬิกาสามสิบนาที  กล่าวต้อนรับ โดย สมชาย  ศรีนิเวศน์  ประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง

ก้าวที่สาม    สิบแปดนาฬิกาสี่สิบนาที  สุนทรพจน์เปิดงาน โดย เจริญ  ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง

ก้าวที่สี่      ชมวิดีทัศน์ อารมณ์  ตำนานการต่อสู้ของผู้นำกรรมกรตลอดกาล

ก้าวที่ห้า   เวลาหนึ่งทุ่มโดยประมาณ  สุนี  ไชยรส  เชิญล้อมวง เรียนรู้จากการต่อสู้ของ อารมณ์ พงศ์พงัน  ร่วมเสวนาโดย ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ  กัญญธร พงศ์พงัน  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์     วิทยากร เชียงกูล  ศุ บุญเลี้ยง และ  เทิดภูมิ ใจดี

ก้าวที่หก   เวลาสองทุ่ม ก้าวต่อไปกับ  สุรชัย จันทิมาธร  ต้นตำรับเพลงเพื่อชีวิต  พร้อมเพื่อนร่วมวง  “คาราวาน”

สามารถช่วยกันสนับสนุนกิจกรรมการหาทุนมูลนิธิได้ ติดต่อสอบถาม 02 5161071  02 5161589  081 0127080

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////